ถึงแม้ว่าการผลิตแบบลีน หรือ Lean Manufacturing จะเป็นแนวคิดที่มีมานานแล้ว แต่ประโยชน์ของการผลิตแบบลีนก็ยังเป็นสิ่งที่จับต้องได้สำหรับโรงงานและบริษัทต่างๆเหมือนเดิม
การผลิตแบบลีน หรือ Lean Manufacturing ก็คือกระบวนการลดของเสีย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งความหมายของเสียก็คือสิ่งที่ลูกค้าไม่เชื่อว่าจะเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าหรือไม่อยากที่จะเสียเงินซื้อ
บทความนี้ผมอยากจะแนะนำ 10 ประโยชน์ของการผลิตแบบลีน ที่รวมถึงการผลิตแบบประหยัดค่าใช้จ่ายแบบโดยตรงและก็ประโยชน์อื่นๆที่คุณอาจจะ ‘คิดไม่ถึง’ มาก่อนด้วย
10 ประโยชน์ของการผลิตแบบลีน Lean Manufacturing
1. การประหยัดค่าใช้จ่าย แบบตรงไปตรงมา
หากพูดถึงประโยชน์ของการผลิตแบบลีน ยังไงเราก็ต้องพูดกันเรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่ายกันก่อน
การผลิตแบบลีนถูกออกแบบมาเพื่อลดค่าใช้จ่าย ด้วยการลดของเสียต่างๆ เช่น กระบวนการที่ลูกค้าไม่ต้องการ การผลิตของเสีย หรือ การรอที่ไม่เกิดประโยชน์ ของเสียส่วนนี้เรียกว่า ‘ของเสียทั้ง 7’ สำหรับคนที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้นะครับ ของเสียทั้ง 7 แต่โดยรวมแล้วการลดสิ่งที่เราไม่ต้องการเหล่านี้ก็จะทำให้เราใช้เวลาและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ทำให้ผลิตของได้มากขึ้นจากเวลาและวัตถุดิบที่เท่าเดิม
2. สร้างมาตรฐานและลดความเสี่ยง
‘มาตรฐาน’ เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่ “นักบริหารการปฏิบัติการ (Operations Management)” ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
โดยเบื้องต้นแล้ว การพัฒนาระบบควรเป็นสิ่งที่เราทำซ้ำได้และทำได้ต่อเนื่องในระยะยาว เพราะฉะนั้นถ้าเราสร้างมาตรฐานที่พนักงานสามารถทำตามได้แบบง่ายๆ เราก็ลดความเสี่ยงที่ ‘ระบบจะผิดพลาด’ จนทำให้เกิดของเสียซ้ำๆได้
เพราะสุดท้ายแล้ว ต่อให้คุณสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ครั้งสองครั้ง แต่หากความผิดพลาดเกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ คุณก็จะไม่สามารถผลิตแบบลีนได้จริงๆ (แถมยังทำให้ทุกคนปวดหัว เหนื่อยกับการทำงานอีก)
3. ทำระบบที่สามารถจ้างพนักงานได้ง่ายขึ้น
หัวใจของระบบลีนก็คือพนักงาน หากเราไม่มีพนักงานเราก็จะไม่มีคนดำเนินระบบให้เรา แต่ปัญหาของระบบที่ดำเนินการด้วยมนุษย์ก็คือหากมีใครป่วยหรือลาออก เราก็ต้องมานับหนึ่งใหม่อีกรอบเรื่องการฝึกคนทำงาน (ใครที่เคยทำงานก็คงเข้าใจปัญหานี้ดี)
ระบบลีนที่แท้จริงต้องดูแลเรื่องการจ้างและการฝึกพนักงานใหม่ด้วย เราสามารถดูได้จากระบบลีนของบริษัทฝั่งญี่ปุ่นที่ดูแลถึงเรื่องการอบรมพนักงานและการจัดมาตรฐานกระบวนการทำงานที่คนสามารถทำตามได้ง่าย ยิ่งระบบทำตามได้ง่ายเท่าไร กระบวนการฝึกพนักงานใหม่ก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น
4. หมดปัญหาสินค้าคงคลัง
สินค้าคงคลังเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่มากับระบบการผลิต ระบบการผลิตส่วนมาก (โดยเฉพาะโรงงาน) จำเป็นต้องผลิตของในปริมาณเยอะเพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด อย่างไรก็ตามการผลิตในปริมาณที่เยอะไปก็จะทำให้เกิดของเสียอย่างการ Overstock หรือการมีสินค้าคงคลังมากไป
ระบบลีนที่ดีต้องดูจากความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และนำหลักการผลิตที่ทำให้เกิดกำไรที่เยอะที่สุด พูดง่ายๆก็คือการผลิตจำนวนที่พอดีกับการขาย แต่ก็ไม่ได้ผลิตเยอะไปจนเกิดการสิ้นเปลืองหรือการเสียโอกาสในการทำอย่างอื่นด้วย
5. ผลิตได้เร็ว ขายได้เร็ว ส่งของได้เร็ว
ผลพลอยได้ของระบบลีนก็คือการผลิตของได้เยอะขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าบริษัทจะมีของขายมากขึ้นนั่นเอง
ระบบผลิตส่วนมากยิ่งผลิตได้เยอะ ก็ยิ่งขายได้เยอะ (ในกรณีที่ไม่ได้มีปัญหาด้านการตลาดและการขาย) ซึ่งบริษัทส่วนมากพลาดโอกาสในการขายไปเยอะเพราะไม่สามารถผลิตได้มากพอ ส่งได้ไม่เร็วพอ หรือไม่หลากหลายพอที่จะขายลูกค้า
ซึ่งในระบบลีน นอกจากเราจะผลิตได้เยอะแล้ว เรายังสามารถผลิตได้ตามความต้องการของลูกค้าอีกด้วย (สร้างระบบที่สามารถตอบรับความคิดเห็นของลูกค้าได้ดีขึ้น) เป็นการเพิ่มรายได้แบบตรงไปตรงมา
6. สร้างจุดขายที่คู่แข่งลอกได้ยาก
เชื่อหรือไม่ว่าจุดบอดของโรงงานส่วนมากไม่ได้อยู่ที่ระบบผลิต แต่อยู่ที่การสร้างแบรนด์และการสร้างจุดขายที่แตกต่าง เจ้าของโรงงานหลายคนมีเงินซื้อเครื่องจักรและจ้างพนักงาน แต่ไม่สามารถสร้างจุดขายได้ จนทำให้บริษัทขาดทุนในที่สุด
จริงๆแล้ว คำว่า ‘ระบบลีน’ เป็นจุดขายที่ดีมาก โดยเฉพาะสำหรับลูกค้าที่ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพเทียบกับราคา ลูกค้าบางคน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีเงินเยอะ กล้าจ่าย) ให้สำคัญกับบริษัทที่ทำงานเป็นระบบ มีคุณภาพ
เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าสินค้าของคุณอาจจะดูคล้ายเจ้าอื่น ตราบใดที่คุณสามารถสื่อสารได้ว่าคุณมีคุณภาพมากกว่า เชื่อถือได้กว่าคนอื่น คุณก็ขายได้ง่ายขึ้นแล้ว
7. เงินสนับสนุนจากรัฐบาล
รัฐบาลไทยมีการสนับสนุนเรื่องการสร้างนวัตกรรม การพัฒนาระบบ และเทคโนโลยีต่างๆเยอะครับ ซึ่งเป็นเรื่องเศร้าที่คนทำธุรกิจหลายคนไม่รู้เรื่องการสนับสนุนเหล่านี้
ซึ่งการสนับสนุนมีหลายแบบมากทั้งการแจกเงิน การลดหย่อนภาษี เช่น ITAP ของ สวทช หรือ โครงการนวัตกรรมมุ่งเป้าของ NIA
8. ความพึงพอใจของพนักงาน (นอกเหนือจากฝ่ายผลิตด้วยซ้ำ)
การผลิตของเสียบ่อยหรือทำงานซ้ำแบบไม่มีประสิทธิภาพไม่ใช่แค่ปัญหาของเจ้าของบริษัท แต่พนักงานหลายคนก็จะรู้สึกเครียด ไม่ภูมิใจในงานที่ตัวเองทำด้วย ซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาพนักงานหมดไฟ ทำงานเลินเล่อ
ปัญหาด้านการผลิตที่ไม่ใช่ลีนกระทบถึงพนักงานฝ่ายอื่นด้วย เช่น ฝ่ายขายสัญญากับลูกค้าแล้วแต่ผลิตไม่ทัน หรือฝ่ายบัญชีไม่พอใจที่มีของเสียเยอะจนทำให้บริษัทของคุณ
เป็นข้อสรุปที่ง่ายๆ ถ้าหากผลประกอบการบริษัทของคุณดีขึ้น ส่วนมากแล้วความพึงพอใจของพนักงานก็จะเยอะมากขึ้น ควบคู่กันไป
9. การขอ ISO ที่ง่ายขึ้น
มาตรฐาน ISO หรือมาตรฐานอุตสาหกรรมของต่างประเทศ เป็นหนึ่งในระบบมาตรฐานที่องค์กรทั่วไปสามารถยอมรับได้
ระบบลีนก็คือระบบที่ใช้สร้างมาตรฐาน และผลพลอยได้จากมาตรฐานที่ดีมากๆก็คือการขอ ISO ได้นั่นเอง (อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มแล้วก็การจัดระบบเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย)
องค์กรขนาดใหญ่พร้อมที่จะทำงานกับบริษัทที่มี ISO เท่านั้น (โดยเฉพาะองค์กรต่างประเทศ) ซึ่งหากบริษัทคุณมีมาตรฐานมากพอ คุณก็จะสามารถเปิดตลาดใหม่ ที่รายจ่ายสูงกว่าได้ด้วย ISO
10. ลดปัญหาการถูกลูกค้าร้องเรียน
หากคุณมองว่าการผลิตของเสียมีแค่ปัญหาด้านค่าใช้จ่าย คุณก็อาจยังไม่เข้าใจปัญหาของการถูกลูกค้าร้องเรียน
ในความคิดเห็นของผม การถูกลูกค้าร้องเรียนนับเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวที่สุดของเจ้าของธุรกิจแล้ว น้อยที่สุดเราก็แค่รับของคืนเพื่อจบปัญหา แต่ในกรณีร้ายแรงก็อาจจะเกิดการฟ้องร้อง การถูกโพสต์ต่อว่าในโลกโซเชียล หรือแม้แต่การร้องเรียน สคบ เพื่อให้คนภาครัฐมาตรวจสอบ
ปัญหาเหล่านี้ทำให้ธุรกิจที่ขายดีๆหลายที่มีต้องปิดตัวมาเยอะแล้ว ซึ่งต้นตอของปัญหาก็มาจากอย่างเดียวก็คือการผลิตและการดำเนินกิจการอย่างไม่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นสู้เราตัดปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ ด้วยการทำระบบให้ดีตั้งแต่แรกก็จะดีที่สุด
สุดท้ายนี้เราก็จะเห็นว่า ระบบลีนงั้นจริงๆแล้วมีประโยชน์และข้อดีเยอะมาก ซึ่งความท้าทายขององค์กรส่วนมากที่ไม่สามารถทำระบบลีนได้ก็เพราะว่าเจ้าขององค์กรความรู้ และวัฒนธรรมองค์กรไม่สามารถเอื้ออำนวยให้พนักงานสามารถทำงานยังมีรายได้
เพราะฉะนั้นกับคนที่สนใจ ผมแนะนำให้อ่านบทความเพิ่มเติมของผมเรื่อง Lean Management นะครับ ซึ่งบทความนี้จะแนะนำวิธีการสร้างระบบลีนแบบง่ายๆ ที่ไม่ว่าองค์กรไหนก็สามารถทำได้จริง (แถมไม่ได้จำกัดแค่แผนกการผลิตเท่านั้นด้วย)