จริยธรรมทางธุรกิจเป็นสิ่งที่คนมักมองข้ามกัน…จนถึงวันที่ปัญหาเกิดขึ้นจริงๆ
เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว (ปลายปี 2001) บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่แห่งประเทศอเมริกา Enron ประกาศล้มละลายในช่วงข้ามคืน ซึ่งเหตุผลหลักก็คือผู้บริหารตบแต่งงบการเงิน เขียนผลประกอบการออกมาให้เกินจริงเพื่อหลอกให้นักลงทุนเชื่อใจ
ซึ่งผลลัพธ์ก็ออกมาพังพินาศต่อเศรษฐกิจมาก พนักงานหลายพันคนตกงาน ผลประกอบการบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้องกับ Enron ก็ยำแย่จนต้องล้มละลายตามกันไป หากคุณคิดภาพไม่ออก ก็ลองคิดดูสิว่าถ้าบริษัทอย่าง ปตท อยู่ดีๆปิดตัวไปชั่วข้ามคืน ประเทศไทยจะถูกกระทบมากแค่ไหน
และผู้ที่ต้องรับผิดชอบกับคดีของ Enron ก็คือ Jeff Skilling, CEO ของ Enron ตอนนั้นนั่นเอง โดยคดีนี้สร้างความอื้อฉาวมากจนโรงเรียนบริหารธุรกิจ MBA ระดับโลกอย่าง Harvard Business School ถึงออกมาเปลี่ยนหลักสูตร ‘จริยธรรมทางธุรกิจ’ (Business Ethics) เลยทีเดียว
…ตั้งแต่นั้นมา โรงเรียนบริหารธุรกิจทั่วโลก ก็บังคับให้นักเรียนทุกคนลงวิชาจริยธรรมทางธุรกิจทั้งนั้น
แต่ก่อนที่เราจะไปลงรายละเอียดกันมากกว่านี้ เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าจริยธรรมทางธุรกิจคืออะไรกันแน่
จริยธรรมทางธุรกิจคืออะไร (business ethics)
จริยธรรมทางธุรกิจ คือจริยธรรมที่เกี่ยวกับนโยบายการบริหารและวิธีปฏิบัติงานของธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องละเอียดอ่อน เช่น แรงงานขั้นต่ำ การติดสินบน การกีดกันทางโอกาส และความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากกำไรและยอดขายแล้ว ธุรกิจยังต้องอยู่ในบรรทัดฐานของกฎหมายและจริยธรรมที่ดีด้วย
การทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องของกำไรขาดทุนอย่างเดียวแล้ว ธุรกิจสมัยนี้ต้องใส่ใจกับความต้องการของสังคมด้วย
ในโลกของธุรกิจ การตัดสินใจบางอย่างไม่ได้มีแค่ผลลัพธ์แบบขาวดำหรือผิดถูกอย่างเดียว หลายครั้งที่การตัดสินใจของเรามีผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์อยู่ การตัดสินใจแบบแรกอาจจะไปกระทบคนกลุ่มหนึ่ง การตัดสินใจแบบที่สองก็จะไปกระทบคนอีกกลุ่มหนึ่ง บางครั้งก็เหมือนว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้
สำหรับกรณีเหล่านี้ คำแนะนำที่ดีที่สุดก็คือการศึกษาจริยธรรมทางธุรกิจ หาข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการตัดสินใจทุกอย่างให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วค่อยเลือกปฏิบัติและตัดสินใจให้เหมาะสมที่สุดตามความคิดของเรา
ความสำคัญของจริยธรรมในองค์กร
ยิ่งเรามีอายุมากขึ้น เราก็จะยิ่งเห็นได้ว่าคำถามหลายๆอย่างทั้งในชีวิตและในการทำธุรกิจไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว หลายครั้งที่เราต้องเจอกับการตัดสินใจที่อาจจะมีผลลัพธ์บางอย่างที่ตัวเราหรือตัวธุรกิจไม่พึงประสงค์ที่จะได้
ความสำคัญของจริยธรรมในองค์กร ก็คือการวาดเส้นที่จะช่วยให้เราตัดสินใจกับเรื่องยากๆ (หรือเรื่องที่คลุมเครือ) ให้ง่ายขึ้น
การทำธุรกิจและการเป็นเจ้าของธุรกิจ หมายความว่าคุณมีความรับผิดชอบมากกว่าแค่การรับเงินเดือนมาหาเลี้ยงครอบครัว คุณต้องรับผิดชอบชีวิตของพนักงาน รับผิดชอบกับเงินของลูกค้าที่จ่ายให้กับคุณ แล้วถ้าคุณเป็นบริษัทที่ใหญ่มากพอ คุณก็ต้องรับผิดชอบกับเงินผู้ลงทุนและกับเศรษฐกิจของประเทศด้วยซ้ำ
และเมื่อความรับผิดชอบพวกนี้สั่งสมขึ้นมาจากหลายฝ่าย หลายด้านธุรกิจ เราก็จะเริ่มรู้สึกว่าการตัดสินใจในธุรกิจบางอย่างไม่ได้ง่ายดายอย่างเคยแล้ว บางครั้งการเลือกทำบางอย่างก็หมายความว่าเราต้องทำให้อีกฝ่ายเสียใจหรือเสียเปรียบเป็นต้น
เพราะฉะนั้นสำหรับธุรกิจแล้ว หลายครั้งที่การตัดสินใจต้องคำนึงถึงมากกว่าแค่กำไรและรายได้ เราต้องคิดถึงจริยธรรมด้วย
อ่านมาถึงขนาดนี้แล้ว ผมคิดว่าคุณคงสนใจในเรื่องศาสตร์การบริหารธุรกิจไม่มากก็น้อย หากใครชอบเรียน ชอบศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการทำธุรกิจ การบริหาร ผมได้เขียนอีบุ๊คเรื่องข้อมูลการทำธุรกิจ ที่ถูกสอนในโรงเรียนบริหารธุรกิจทั่วโลก ผมตั้งใจทำมาก หวังว่าทุกคนจะชอบครับ อีบุ๊ค ฉลาดรู้ ฉลาดทำธุรกิจ
ในส่วนถัดไปของบทความนี้ ผมจะอธิบายเรื่องประโยชน์ของจริยธรรมทางธุรกิจเพิ่มนะครับ
ตัวอย่างจริยธรรมทางธุรกิจที่คุณต้องเจอ
ตัวอย่างจริยธรรมทางธุรกิจที่ผมได้เรียนใน MBA ก็คือ คุณเป็นเจ้าของกิจการที่ทำการซื้อขายสินค้าผ่านทางเรือ ในระหว่างทางที่กำลังขนสินค้าอยู่ มีโจรสลัดได้ยึดเรือสินค้าแล้วจับพนักงานของคุณเป็นตัวประกันเรียกค่าไถ่…ในฐานะเจ้าของธุรกิจ คุณพร้อมที่จะจ่ายค่าไถ่ให้พนักงานของตัวเองไหม เพราะถ้าไม่จ่ายพนักงานของคุณคงตายแน่ๆ (เป็นกรณีจริงที่เราเห็นได้ในย่านน้ำระหว่างประเทศ)
มาถึงขั้นนี้เพื่อนในห้องของผมก็ล้วนบอกว่ายอมจ่ายอยู่แล้ว เพราะชีวิตคนสำคัญกว่าเงิน
…แต่คำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าเรารู้ว่าโจรสลัดจะเอาเงินค่าไถ่ไปซื้ออาวุธเพิ่มเพื่อสร้างสงครามทำร้ายคนอื่นอีกมากมาย เราจะยังอยากจ่ายค่าไถ่อีกหรือเปล่า
…และเพื่อนในห้องของผมส่วนมากก็ยกมือลง เหลือเพียงหนึ่งหรือสองคนที่ยังยอมจ่ายเงินช่วยพนักงานตัวเอง
คำว่า ‘จริยธรรมทางธุรกิจ’ บางครั้งก็ยากที่จะหาคำว่าผิดหรือถูกเลยชัดเจน เราจะเห็นชีวิตพนักงานตัวเองเหนือกว่าชีวิตเพื่อนร่วมโลกคนอื่นได้หรือเปล่า และถ้าพนักงานพวกนี้เป็นคนที่เราทำงานด้วย เรารู้จักครอบครัวเขาดี เราจะยังกล้าตัดสินใจอย่างนี้อยู่หรือเปล่า…
หรือถ้าเราจะมาดูตัวอย่างที่ใกล้ตัวเราหน่อย สมมุติระหว่างทำธุรกิจเรามีคดีที่ต้องให้ตำรวจช่วยเหลือ เราจำเป็นต้องจ่ายสินน้ำใจให้พนักงานทางราชการหรือเปล่านะ…
ประโยชน์ของจริยธรรมทางธุรกิจ
ถึงแม้ว่าคำว่าจริยธรรมมีความหมายไม่เหมือนกันสำหรับแต่ละคน แต่การมีจริยธรรมทางธุรกิจก็เป็นสิ่งที่ดีเสมอครับ
อย่างแรกเลยก็คือเรื่องกฏหมาย แค่คุณพยายามทำธุรกิจด้วยจริยธรรมที่ดีงาม ปัญหาด้านกฎหมายธุรกิจควรจะต้องเจอก็คงน้อยลงไปด้วย ประโยชน์ของจริยธรรมทางธุรกิจมีดังนี้ครับ
- กำลังใจของพนักงาน – การที่พนักงานเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก็จะทำให้พนักงานมีความตั้งใจในการทำงานมาก สาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานสูญเสียกำลังใจในการทำงานก็คือ การรู้สึกว่างานไม่แฟร์ และการรู้สึกว่าการทำงานเป็นสิ่งที่ผิด ถ้าเราสามารถทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรมที่ดีได้ ปัญหาด้านนี้ก็จะลดน้อยลง
- พนักงานลาออกน้อยลง – พนักงานที่มีกำลังใจดี ก็จะลาออกน้อยลง บางครั้งต่อให้เงินเดือนสวัสดิการของบริษัทของเราน้อยกว่าบริษัทอื่น แต่ถ้าพนักงานเชื่อว่าบริษัทของเราทำสิ่งที่ถูกต้องก่อนสิ่งที่ดี พนักงานพวกนี้ก็อยากจะอยู่กับบริษัทเรามากขึ้น (ยกตัวอย่างเช่น คนที่ชอบทำงานกับองค์กรเพื่อสังคม)
- ซื้อใจลูกค้า – ยุคสมัยนี้ทุกคนก็ชอบสิ่งที่ถูกต้องกันหมด พนักงานก็ชอบ ลูกค้าก็ชอบ คงไม่มีลูกค้าคนไหนอยากซื้อสินค้ากับบริษัทที่ไม่มีจริยธรรม นอกจากจะกลัวว่าจะโดนร้านค้าเอาเปรียบแล้ว ลูกค้าส่วนมากก็คงไม่อยากสนับสนุนองค์กรที่เอาเงินของลูกค้าไปเอาเปรียบคนอื่นมากกว่าเดิม ในทางตรงข้าม ลูกค้าอยากจะเอาเงินไปให้กับบริษัทที่มีจริยธรรมดีงาม
- สร้างชื่อเสียงให้บริษัท – และจริยธรรมก็ไม่ได้จบแค่เพียงพนักงานและลูกค้า ‘ชื่อเสียงของบริษัท’ สามารถทำอะไรได้หลายอย่างมาก ตัวอย่างเช่นการดึงดูดนักลงทุนและหุ้นส่วนทางธุรกิจ หากคุณเป็นบริษัทที่ขึ้นชื่อว่ามีจริยธรรมดี ไม่ว่าบริษัทไหน ประเทศอะไรก็อยากทำงานร่วมกับคุณทั้งนั้น
- ลดปัญหาด้านกฎหมาย – บริษัทที่มุ่งหวังแต่จะสร้างกำไรสร้างรายได้ โดยที่ไม่สนปัจจัยอื่นๆก็จะเจอปัญหาทางด้านกฎหมายอยู่เรื่อยๆไป บางครั้งก็อาจจะโดนตักเตือน โดนปรับเงินไม่เท่าไร แต่ในบางกรณีแล้วผู้บริหารอาจโดนจับติดคุก หรือบริษัทจะโดนฟ้องล้มละลายเลยก็ได้
ทฤษฎี จริยธรรมทางธุรกิจ
ทฤษฎีของจริยธรรมทางธุรกิจมีอยู่หลายอย่าง บางอย่างก็ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม บางอย่างก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ บางอย่างก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามทฤษฎีทางจริยธรรมที่คนดูเหมือนจะยอมรับได้ดีที่สุดก็คือทฤษฎีของประโยชน์ส่วนรวม
แต่ประโยชน์ส่วนรวมหมายถึงอะไรกัน?
ทฤษฎีประโยชน์ส่วนรวม (utilitarianism)
ถ้าจะให้อธิบายง่ายๆ เราก็คงต้องยกตัวอย่างพวกหนัง hollywood มาเป็นต้นครับ ทฤษฎีประโยชน์ส่วนรวมในหนังก็คือการที่คนหนึ่งคนเสียสละเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มใหญ่ เพราะจากทฤษฎีนี้ ชีวิตคน 1 คนมีค่าน้อยกว่าชีวิตคนทั้งกลุ่ม
เพราะฉะนั้นสมมุติว่าถ้าการตัดสินใจมีตัวเลือกระหว่างทำให้คน 10 คนเสียใจ กับทำให้คน 100 คนเสียใจ เราก็ควรจะเลือกตัวเลือกแรกที่ทำให้คนเสียใจน้อยที่สุด…ถึงแม้ว่าจะมีคนเสียใจอยู่เล็กน้อยบ้างก็ตาม
แต่ทฤษฎีนี้ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบ ยกตัวอย่างเช่นชีวิตเด็กหนึ่งคนกับชีวิตผู้ใหญ่หนึ่งคน แบบไหนสำคัญกว่ากัน…แล้วชีวิตผู้นำของประเทศกับชีวิตประชากรทั่วไปแบบไหนสำคัญกว่ากัน
บริษัทมหาชนหลายที่ตีคุณค่าของพนักงานไม่เท่ากัน ไม่อย่างนั้นบริษัทใหญ่อย่าง Facebook คงไม่เสียเงินหลายล้านเหรียญเพื่อจ้างบอดี้การ์ดให้มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก
ยิ่งเรามีข้อมูลเยอะ ยิ่งเรารู้เยอะขึ้น การตัดสินใจก็จะเริ่มยากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะคนทำธุรกิจ บางครั้งเราก็ ‘ตัดสิ่งยุ่งยาก’ พวกนี้ออกไปด้วยการอ้างว่าแบบนี้กำไรเยอะกว่า แบบนี้กำไรน้อยกว่า…แต่การตัดสินใจแบบนี้ดีจริงแล้วหรือเปล่า?
เรื่องทฤษฎีและแนวคิดทางจริยธรรมเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานหลายร้อยปีแล้ว ส่วนตัวผมคิดว่าจริยธรรม ‘ส่วนมาก’ ไม่มีอะไรถูกและไม่มีอะไรผิดเป็นเส้นตาย เราต้องดูกันเป็นกรณีต่อกรณี (กรณีที่ผิดโดยชัดเจนก็อย่างเช่นสงครามโลก ฆาตกรต่อเนื่อง)
จริยธรรมทางธรุกิจ เปลี่ยนไปตามกาลเวลา
นอกจากนั้นแล้ว คำว่าผิดกับคำว่าถูก ก็มีความหมายไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับเวลา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว การที่เราให้เงินเดือนพนักงานน้อย การจ้างแรงงานเด็ก หรือแม้แต่การมีทาส ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ของธุรกิจ
ยิ่งเราเรียนรู้เรื่องจริยธรรมมากเท่าไร เราก็ยิ่งมีคำถามมากขึ้นว่า ‘จริยธรรมคืออะไรกันแน่’
ยกตัวอย่าง คำถามทางด้านจริยธรรมทางธุรกิจ ที่เกิดขึ้นจริงกับบริษัททั่วโลกนะครับ
- การที่บริษัทเทคโนโลยีใช้ช่องว่างของกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี…ถือว่าเป็นการกระทำที่มีจริยธรรมทางธุรกิจหรือเปล่า
- การที่บริษัทออกแบบมือถือไปจ้างโรงงานในประเทศจีนผลิตมือถือ โดยที่บริษัทผลิตสินค้าจ่ายเงินพนักงานน้อยกว่าเกณฑ์ แถมบังคับให้ทำงานเกินเวลาจนเป็นอันตรายต่อชีวิต…ถือว่าเป็นการกระทำที่มีจริยธรรมหรือเปล่า
และการที่ผู้บริโภครับรู้ว่าบริษัทพวกนี้ทำอย่างนี้อยู่ แต่ก็ยังสนับสนุนด้วยการซื้อสินค้าของบริษัทพวกนี้ ซื้อหุ้นเก็งกำไรเป็นประจำ…ถือว่าเป็นการกระทำที่มีจริยธรรมหรือเปล่า
โลกของเราถูกผลักดันด้วยระบบทุนนิยมก่อนเสมอ และเราจะเห็นได้ว่าบางครั้งโลกก็เปลี่ยนไปเร็วเกินกว่าที่กฎหมายและนิยามของจริยธรรมของมนุษย์จะตามได้ทัน
อย่างไรก็ตาม ทั้งคำว่ากฎหมาย คำว่าจริยธรรม และคำว่าธุรกิจ ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์นิยามขึ้นมาทั้งนั้น ทุกอย่างมีขั้นมีตอนเป็นของตัวเอง และทุกอย่างที่มนุษย์สามารถสร้างขึ้นมาได้ มนุษย์ก็สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้เสมอ
สุดท้ายแล้ว คำตอบของคำว่าจริยธรรมทางธุรกิจ…ก็คือการพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้…เพราะเราก็ไม่รู้หรอกว่าในโลกนี้ที่มีปัจจัยร้อยอย่างพันอย่าง…อะไรคือการตัดสินใจที่ถูกต้องกันแน่
สำหรับคนที่ชอบบทความบนบล็อกนี้แล้วรู้สึกว่าอยากอ่านเพิ่ม ผมได้ทำ ‘สารบัญ’ ที่เรียบเรียงบทความพื้นฐานในการทำธุรกิจมาให้ทุกคนแล้ว สามารถ โหลดฟรีได้ที่นี่ ครับ
ข้อมูลในการทำธุรกิจอื่นๆที่เราแนะนำ
- ทํายังไงให้พนักงานรักองค์กร – วิธีทำให้พนักงานมีความสุข
- Human Resource (HR) คือใคร? ทำอะไรบ้าง? (คุณสมบัติ HR ที่ดี)
- วัฒนธรรมองค์กรคืออะไร? วัฒนธรรมองค์กรที่ดีมีอะไรบ้าง?