การเป็นเจ้าของธุรกิจประกอบไปด้วยงานหลายอย่างเลย เพราะธุรกิจจริงๆแล้วก็ประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่างตั้งแต่บัญชี การตลาด การขาย กฎหมาย และการบริหารส่วนอื่นๆ ข้อดีก็คือเจ้าของธุรกิจไม่ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองก็ได้ แต่ข้อเสียก็คือหากเจ้าของธุรกิจไม่รู้ภาพรวมของการทำงาน เจ้าของธุรกิจก็จะไม่สามารถคุมพนักงานได้
ในบทความนี้เราจะมาดูกันครับว่าเจ้าของธุรกิจทำอะไรบ้าง และสิ่งสำคัญที่เจ้าของธุรกิจควรจะใส่ใจเพื่อผลักดันให้ธุรกิจเติบโตขึ้นนั้นมีอะไรบ้าง
เจ้าของธุรกิจ ทําอะไรบ้าง?
#1 เจ้าของคือคนวางทิศทางของธุรกิจ
การวางทิศทางของธุรกิจหมายถึงการที่คุณต้องรู้ว่าธุรกิจต้องทำอะไรบ้างในปัจจุบันและในอนาคต หลายคนอาจจะมองสิ่งนี้ว่าเป็นการวางแผน บางคนก็อาจจะเรียกสิ่งนี้ว่า ‘วิสัยทัศน์’ (Vision)
โดยรวมแล้ว ทิศทางของธุรกิจจะประกอบไปด้วยการวางแผนหลักอยู่ 3 อย่าง 1) การเพิ่มรายได้ระยะสั้น 2) การเพิ่มรายได้ระยะยาว และ 3) การลดความเสี่ยงของธุรกิจ ซึ่งทั้งสามอย่างนี้ก็จำเป็นอย่างมากต่อความอยู่รอดของบริษัท
เคยมีคนพูดไว้ว่า ‘เจ้าของธุรกิจพอใจแค่ไหน ธุรกิจก็จะจมอยู่แค่ในระดับนั้น’ หมายความว่าหากเจ้าของพอใจกับรายได้หลักล้านบาทต่อปี ธุรกิจก็จะอยู่แค่รายได้หลักล้านบาท เช่นเดียวกันกับรายได้หลัก 10 ล้าน 100 ล้าน หรือแม้แต่ 1000 ล้าน
ทิศทางธุรกิจที่ชัดเจนที่สุดก็คือเรื่องของรายได้ ซึ่งผมจะอธิบายเพิ่มเติมอีกทีในหัวข้อถัดไป แต่โดยรวมแล้ว เจ้าของธุรกิจก็ต้องเข้าใจว่ากิจกรรมไหนในบริษัทที่ทำให้เกิดรายได้ระยะสั้น และ กิจกรรมไหนที่ทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำเรื่อยๆในห้าปีสิบปี ธุรกิจที่สามารถหาจุดกึ่งกลางระหว่างสองอย่างนี้ได้ก็คือธุรกิจที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
ในขณะเดียวกันธุรกิจก็ต้องรู้จักการลดความเสี่ยง ซึ่งในยุคสมัยนี้ ที่ปัจจัยภายนอกสามารถส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้ตลอดเวลา (เทคโนโลยี การเมือง กฏหมาย หรือ คู่แข่งในและนอกประเทศ) เราก็จะเห็นได้บ่อยๆว่าธุรกิจที่ไม่ได้มีทิศทางอย่างชัดเจนและไม่รู้จักวางแผนลดความเสี่ยง มักจะพลาดอะไรง่ายๆที่ทำให้ธุรกิจเจ๊งได้เลย
ตัวอย่างของการวางทิศทางธุรกิจได้แก่การที่เจ้าของมองว่าธุรกิจต้องไปตีตลาดที่ไหน หากลุ่มลูกค้าใหม่ที่ไหน หรืออาจจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนขึ้นมาหน่อย เช่นการคาดเดาว่าเทคโนโลยีใหม่จะมาทดแทนสินค้าของเราได้หรือเปล่า (บริษัท Nokia พลาดจุดนี้ พอผ่านมาไม่กี่ปีเจอตลาด Smartphone เอาลูกค้าไปหมดเลย)
#2 เจ้าของต้องมองหาวิธีเพิ่มยอดขายเรื่อยๆ
หลายคนมองว่าธุรกิจอยากจะเพิ่มรายได้เป็นเรื่องของ ‘ความโลภของเจ้าของ’ ซึ่งการที่เจ้าของอยากจะเห็นธุรกิจตัวเองเติบโตขึ้น หรือการที่อยากจะมีเงินในบัญชีเยอะๆก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น แรงกดดันภายนอกหลายๆอย่างก็บังคับให้กิจการต้องหาวิธีเพิ่มยอดขายได้เรื่อยๆ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีผู้ถือหุ้นคอยประเมินผลประกอบการของบริษัทตลอดเวลา เมื่อใดที่ธุรกิจไม่สามารถเติบโตได้ ผู้ถือหุ้นก็จะหมดความมั่นใจในบริษัทและสุดท้ายมูลค่าของบริษัทก็จะลดน้อยลง
หรือในกรณีของธุรกิจขนาดเล็กอย่าง SME เจ้าของธุรกิจหลายคนอาจจะลืมคิดไปว่าหากบริษัทไม่หาวิธีเพิ่มรายได้เรื่อยๆ พนักงานก็จะไม่สามารถเติบโตได้ และหากพนักงานไม่สามารถเติบโตได้ (เจ้าของไม่เลื่อนตำแหน่ง ไม่เพิ่มเงินเดือน) พนักงานส่วนมากก็มีแนวโน้มที่จะลาออกไปอยู่กับที่อื่น
เพราะฉะนั้นอย่าว่าแต่การอยู่กับที่เลย หากธุรกิจไม่พยายามเพิ่มรายได้ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจก็จะถดถอยไปเอง ซึ่งปัจจัยหลักก็จะมาจากการที่ลูกค้าเก่าหายไปหรือพนักงานคนสำคัญต้องลาออกไปเพราะไม่สามารถเติบโตได้
อีกหนึ่งตัวอย่างที่เราก็ต้องพูดถึงการก็คือเรื่องของ ‘การสร้างกำแพงป้องกันตัวเอง’ หรือบางคนเรียกสิ่งนี้ว่าการลงทุนระยะยาว หมายถึงการแบ่งกำไรมาส่วนหนึ่งเพื่อหาวิธีป้องกันไม่ให้คู่แข่งแย่งตลาดไปได้ หรือ้ป้องกันไม่ให้มีเจ้าใหม่มาขโมยลูกค้า หากธุรกิจไม่ได้ลงทุนส่วนนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปีทุกปี สักวันหนึ่งก็จะถูกคู่แข่งแซง…ซึ่งการที่จะนำกำไรมาลงทุนเพิ่มได้ทุกปีทุกปี ก็ต้องมาจากปัจจัยพื้นฐานอย่างการเพิ่มรายได้บริษัท
เปรียบเทียบได้เหมือนกับนักกีฬาโอลิมปิก ที่การฝึกซ้อมทั่วไปก็อาจจะทำให้ตัวเองคงที่อยู่ได้ แต่หากนักกีฬาไม่หาวิธีพัฒนาตัวเองเพิ่มเติม ซักวันหนึ่งก็จะมีเด็กรุ่นใหม่ที่ทำได้ดีกว่าและเก่งกว่ามาแย่งตำแหน่งเรา
#3 เจ้าของธุรกิจต้องบริหารพนักงาน
บริษัทส่วนมากไม่สามารถดำเนินการด้วยเจ้าของกิจการคนเดียวได้ อย่างที่ทุกคนรู้ คนหนึ่งคนก็สามารถทำงานได้จำกัด แต่หากคนหลายๆคนมาร่วมมือกัน บริษัทก็จะสามารถทำของได้หลายอย่างมากขึ้น
ตัวอย่างง่ายที่สุดก็คือการที่เรามีคนรู้เรื่องการตลาด คนรู้เรื่องการผลิต คนรู้เรื่องการขาย คนรู้เรื่องการบริการลูกค้า หากเรานำคนเหล่านี้มาร่วมมือกัน เราจะสามารถสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าได้มากขึ้น
ใน 2 หัวข้อที่ผ่านมาผมได้พูดเกี่ยวกับเรื่องของภาพรวมของเจ้าของธุรกิจแล้ว ในหัวข้อนี้ถือว่าเป็นกิจกรรมที่เจ้าของธุรกิจต้องใส่ใจและดูแลอย่างต่อเนื่อง เพราะในกรณีส่วนมาก เจ้าของธุรกิจจะไม่ใช่คนที่รู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งมากที่สุด แต่จะเป็นคนที่ต้องบริหารหรือคุมลูกค้าที่ทำเรื่องพวกนี้ให้ดี
สิ่งแรกที่เราต้องดูในเรื่องของการบริหารพนักงานก็คือการสร้างระบบ หมายถึงกระบวนการที่พนักงานต้องสามารถทำซ้ำให้ได้ แม้ว่าจะไม่ได้มีเจ้าของมาดูแลทุกๆวัน ธุรกิจที่ไม่มีระบบแบบนี้ก็จะไม่สามารถอยู่รอดได้ เพราะถ้าเป็นแบบนี้เจ้าของก็ต้องทำงานอย่างเดิมเรื่อยๆทุกวัน วันไหนที่เจ้าของป่วยธุรกิจก็จะไม่เดินหน้า
แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือในธุรกิจที่ไม่มีระบบ เจ้าของธุรกิจจะมัวแต่ยุ่งกับการแก้ไขปัญหาวันต่อวัน จนไม่มีเวลามาวางแผนหรือวางทิศทางของธุรกิจ (ตามข้อที่ 1 และ 2) ซึ่งก็มักจะทำให้เกิดปัญหาภายหลังอีกที
อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถคาดหวังให้ระบบบริหารพนักงาน (ที่มีปัจจัยมนุษย์เยอะมาก) ดำเนินการให้ด้วยตัวเองโดยไม่ดูแลอะไรเลย ในส่วนนี้ธุรกิจขนาดเล็กกับขนาดใหญ่ก็อาจจะมีวิธีบริหารที่แตกต่างกัน ธุรกิจขนาดเล็กก็ตาจะต้องพึ่งพาพนักงานคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษเพื่อให้ดำเนินการต่อไม่ได้ แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ก็อาจจะมีพนักงานที่คอยสั่งการพนักงานคนอื่น (ผู้จัดการ ผู้บริหาร ผู้อำนวยการ) เป็นเจ้าของธุรกิจก็มีหน้าที่คอยดูแลพนักงานระดับสูงเหล่านี้อีกที
#4 เจ้าของต้องดูแลเรื่องการเงินพื้นฐาน
ปัจจัยสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้ปัจจัยอื่นๆเลยก็คือเรื่องของการเงิน หมายถึงตัวเลขผลประกอบการบริษัททั่วไปแบบ รายได้ ค่าใช้จ่าย และ กำไร แต่ก็รวมถึงตัวเลขอื่นๆด้วย เป็นจำนวนเงินสดที่ถือไว้ จำนวนลูกค้าใหม่ลูกค้าเก่า มูลค่าสินค้าที่ค้างสต๊อก ซึ่งตัวเลขเหล่านี้มียิบย่อยมากมาย และมีความสำคัญแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของธุรกิจ
ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่โรงเรียนบริหารธุรกิจส่วนมากให้ความสำคัญกับวิชาบัญชีและการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการอ่านงบการเงินต่างๆ เพราะในหลายกรณีเจ้าของธุรกิจจะไม่สามารถเห็นภาพรวมของกิจการทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ซึ่งในส่วนนี้การอ่านรายงานงบการเงินก็จะทำให้เห็นภาพได้มากกว่า
ยกตัวอย่างง่ายๆก็คือ หากคุณเป็นธุรกิจที่มีการขายสินค้า 5-10 ชนิด และมีการขายสินค้าเหล่านี้ใน 4-5 ช่องทาง ซึ่งในแต่ละช่องทางก็จะมีพนักงานขายและพนักงานการตลาดที่คอยดูแลตัวนี้อยู่ หากเรามาลองมองดูจริงๆ ก็คงไม่มีใครที่สามารถบริหารเรื่องยิบย่อยพวกนี้ได้ เพราะฉะนั้นการย่อยปัญหาให้ออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจนก็จะทำให้เจ้าของธุรกิจตัดสินใจได้ง่ายมากขึ้น
แต่ก็ไม่ใช่เจ้าของธุรกิจทุกคนที่จะเก่งเรื่องการเงินนะครับ เจ้าของธุรกิจส่วนมากก็ต้องอาศัยพนักงานแผนกการบัญชีหรือแผนกการเงินที่คอยทำรายงานส่งขึ้นมาให้ดูอีกทีนึง อย่างไรก็ตามการที่เราจะสามารถดูรายงานของพนักงานหรือว่านำข้อมูลเหล่านี้มาใช้พัฒนาธุรกิจนั้น เราก็ต้องเข้าใจพื้นฐานการเงินของบริษัทเราก่อน
สุดท้ายนี้เกี่ยวกับหน้าที่ของเจ้าของกิจการ
เราจะเห็นว่าหน้าที่ของเจ้าของกิจการนั้นมีอยู่เยอะมาก จริงๆแล้วหน้าที่หรือกิจกรรมที่เจ้าของกิจการต้องทำในแต่ละวันนั้นก็ขึ้นอยู่กับขนาดของบริษัทหรือแม้แต่ชนิดของอุตสาหกรรมด้วย เพราะการที่เราจะคาดหวังให้เจ้าของโรงงานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่มีหน้าที่เหมือนกับเจ้าของร้านเสื้อผ้าขนาดเล็กก็คงเป็นไปไม่ได้
สรุปนะครับ เจ้าของกิจการที่ดีก็คือคนที่สามารถทำความเข้าใจสถานการณ์ของตัวเองและรู้ว่าในสถานการณ์นี้เราต้องไปหาข้อมูลแบบไหนเพิ่มนั้นเอง ในภาษาธุรกิจเราเรียกสิ่งนี้ว่าความสามารถในการปรับตัว