ทำเว็บไซต์บริษัท – สิ่งที่คุณต้องรู้ก่อนจ้างหรือทำเอง

ทำเว็บไซต์บริษัท - สิ่งที่คุณต้องรู้ก่อนจ้างหรือทำเอง

การทำเว็บไซต์บริษัทนั้นเหมือนเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในสมัยนี้ ไม่ว่าธุรกิจไหนก็ต้องการมีตัวตนออนไลน์ และ ไม่ว่าใครก็ต้องการทำการตลาดออนไลน์ ในมุมมองนี้ หากเรามีทรัพย์สินออนไลน์ที่เรียกว่า ‘เว็บไซต์’ ธุรกิจของเราก็จะสร้างความได้เปรียบได้เยอะมาก

บทความนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อขายบริการสร้างเว็บไซต์ แต่มีไว้เพื่อแบ่งปันความรู้ที่ผมต้องเสียเงิน เสียเวลาเยอะมากในการเรียนรู้ (ไม่มีใครบอกมาก่อน แถมพอทำผิดบางทีก็ต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่ศูนย์เลย) เราจะมาดูกันว่าก่อนที่จะสร้างเว็บไซต์บริษัทนั้น เราต้องรู้อะไรบ้าง

ก่อนทำเว็บไซต์ – เข้าใจรูปแบบเว็บไซต์บริษัทต่างๆ

ในส่วนนี้มีความสำคัญ เพราะว่าหากคุณไม่รู้ว่าธุรกิจของคุณอยากจะมีเว็บไซต์ไปทำอะไร คุณก็จะไม่สามารถไปต่อได้อย่างชัดเจน (และที่สำคัญก็คือหากคนไปจ้างคนอื่นทำเว็บไซต์คุณก็อาจจะโดนขายของต่อนู่นนี่เยอะ ทำให้เสียเงินเพิ่มขึ้นมาอีก)

แต่การเลือกเป้าหมายของเว็บไซต์ก็ง่ายกว่าที่เราคิดครับ เพราะจริงๆแล้วรูปแบบของเว็บไซต์บริษัทก็มีอยู่ไม่เยอะ เราจะสามารถแบ่งเว็บไซต์บริษัททั่วไปได้ดังนี้

ให้ข้อมูลและสร้างแบรนด์ – ก็คือเว็บไซต์บริษัทแบบดั้งเดิม ส่วนมากจะมีไว้ให้คนมาศึกษาข้อมูลบริษัทเพิ่มเติม เช่นทำอะไร ขายอะไร มีประวัติความเป็นมาอย่างไรบ้าง เว็บไซต์ประเภทนี้มีไว้เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ แต่ในทางตรงกันข้ามก็จะมีความสามารถในการสร้างรายได้ได้น้อย 

ให้ลูกค้าติดต่อเข้ามา – หมายถึงเว็บไซต์ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ลูกค้าโทรเข้ามาติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรง ส่วนมากจะเป็นเว็บไซต์ของธุรกิจที่ขายสินค้าที่ใช้งานยาก หรืออาจจะเป็นการให้บริการบางประเภทที่ต้องมีการโทรนัด โทรจอง เว็บไซต์แบบนี้สร้างได้ง่าย และก็สามารถหารายได้ได้อย่างต่อเนื่องด้วย

ซื้อและชำระเงินออนไลน์ – เว็บไซต์ที่สร้างได้ยากที่สุด เพราะเราต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลการเงินลูกค้า (เช่นบัตรเครดิต) เว็บไซต์แบบนี้มักต้องมีทีมนักพัฒนาเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง เหมาะสำหรับธุรกิจที่ใหญ่พอสมควร และเข้าใจการทำธุรกิจในโลกออนไลน์แบบเป็นระบบมากๆ

เว็บไซต์ของบริษัทก็คือช่องทางการติดต่อลูกค้าแบบหนึ่ง และในทุกช่องทางการติดต่อลูกค้าคุณก็ต้องหาวิธีสร้างรายได้และกำไรให้กับบริษัทให้ได้

สำหรับธุรกิจส่วนมาก รายได้ก็จะมาจากการค้าขาย อย่างไรก็ตามเว็บไซต์ที่มีระบบค้าขาย เช่นให้คนเลือกของใส่ตะกร้า และรูดบัตรเครดิต ก็ทำได้ยาก มีราคาหลายหมื่นถึงหลักแสน (คิดภาพเว็บไซต์เหมือน Shopee Lazada)

ซึ่งสำหรับคนที่เริ่มทำเว็บไซต์ใหม่ๆ ส่วนมากก็จะเน้นให้ลูกค้าโทรศัพท์เข้ามาสอบถาม แอด LINE ติดต่อเข้ามา หรืออาจจะส่งลูกค้าไปในหน้าซื้อขายของออนไลน์บนเว็บไซต์อื่นที่มีระบบดีอยู่แล้ว (Shopee Lazada)

ข้อแนะนำเบื้องต้นก็คือ สำหรับเว็บไซต์ธุรกิจส่วนมาก ให้เริ่มจากการทำเว็บให้ลูกค้าติดต่อเข้ามาก่อน (มีข้อมูลสินค้า ข้อมูลธุรกิจ และ ข้อมูลติดต่อ) หลังจากที่ธุรกิจสร้างรายได้ผ่านออนไลน์ได้บ้างแล้ว ค่อยปรับตามทุนทรัพย์และความรู้ขององค์กร

โปรแกรมที่ใช้สร้างเว็บไซต์ ที่คนนิยมใช้

ในส่วนนี้จะพูดถึงโปรแกรมหรือระบบหลังบ้านต่างๆที่คนนิยมใช้กันในการรสร้างเว็บไซต์ ส่วนมากแล้ว หากคุณไม่ได้เป็นคนที่ลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเอง หรือไม่ได้มีความรู้เรื่องการเขียนเว็บเขียนโปรแกรมมากนัก การใช้ระบบเหล่านี้ก็จะทำให้งานของเราง่ายขึ้น

WordPress.org – เป็นระบบหลังบ้านที่ดังที่สุดแล้ว ข้อดีก็คือมีราคาถูกมากและสามารถทำได้ง่าย ทำให่เหมาะกับเว็บไซต์บริษัทแบบง่ายๆ อย่างเว็บที่มีไว้เพื่อให้ข้อมูลลูกค้าอย่างเดียว หรือทำให้ลูกค้าแอดLINE หรือโทรเข้ามา คนที่ทำเว็บไซต์แบบนี้เป็นมีเยอะมาก ต่อให้คุณจ้างคนทำเว็บมาแล้ว หากคุณอยากจะหาคนใหม่ที่ทำเป็นเหมือนกันมาแก้ไข คุณก็สามารถทำได้ง่าย 

Wix – เป็นอีกระบบที่ใช้ทำเว็บไซต์ได้ง่าย โดยรวมแล้วการออกแบบเว็บไซต์ผ่าน WIX ทำได้ง่ายมากกว่า แต่ก็มีข้อจำกัดหลากหลายโดยเฉพาะเรื่องการปรับหน้า ปรับตำแหน่งภาพต่างๆ ผมมองว่า WIX เหมาะสำหรับคนทำเว็บไซต์ด้วยตัวเอง เพราะทาง WIX เขาก็มีทีมงานสนับสนุนอยู่บ้าง (แต่เป็นภาษาอังกฤษ) แต่ถ้าเราอยากจะจ้างคนอื่นก็ใช้เป็น wordpress ดีกว่า

Google Sites – เป็นโปรแกรมทำเว็บง่ายๆผลิตโดยบริษัท Google ที่สำคัญก็คือฟรีด้วย โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าหากเราจะใช้เป็นเว็บไซต์ธุรกิจ การลงทุนทำแบบ WordPress หรือ Wix น่าจะดีกว่า เพราะดูเป็นมืออาชีพมากกว่า ที่สำคัญก็คือเราสามารถควบคุม URL หรือชื่อเว็บไซต์ (.com) ของเราได้ด้วย

ทำเว็บไซต์บริษัทควรมีค่าใช้จ่ายเท่าไร

จริงๆแล้ว การจ้างทำเว็บไซต์นั้นไม่ได้จบแค่การจ่ายเงินจ้างคนช่วยทำ ในส่วนนี้เราจะมาดูกันว่าค่าใช้จ่ายต่างๆในการทำเว็บไซต์มีอะไรบ้าง เวลาเราคำนวณค่าใช้จ่ายเราจะได้ไม่ตกใจมากครับ

ค่าจ้างในการทำเว็บไซต์ – เป็นค่าใช้จ่ายในกรณีที่คุณจ้างบริษัทหรือฟรีแลนซ์ในการสร้างเว็บไซต์ ซึ่งส่วนมากจะเริ่มต้นที่ประมาณ 3,000 บาทไปจนถึงหลายแสนบาทได้เลย แต่ส่วนมากแล้วเว็บไซต์ทั่วไป มีไว้เพื่อแสดงข้อมูล ให้ลูกค้าอ่านรายละเอียดต่างๆ ก็ไม่ควรจะมีราคาแพงมาก

ค่าใช้จ่ายในการทำ Hosting – หมายถึงการไปยืมพื้นที่คอมพิวเตอร์คนอื่น เพื่อทำให้เว็บไซต์เราสามารถออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง (แถมเพิ่มด้วยระบบรักษาความปลอดภัย และระบบการเว็บล่มต่างๆ) หากคุณไม่ได้มีระบบการตลาดที่ทำให้คนเข้าเว็บไซต์เดือนละหลายแสนคน ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็จะอยู่ที่ประมาณ 2-3 พันบาทต่อปี

การซื้อ Domain หรือชื่อเว็บไซต์  – หมายถึงการซื้อชื่อเว็บไซต์ เช่น www.ชื่อบริษัท.com ซึ่งส่วนมากค่าใช้จ่ายก็จะอยู่ที่หลักหลายร้อยถึงหลักพันบาทต่อปี เป็นค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายเงินทุกปี เหมือนการต่ออายุสิทธิ์ในการใช้ชื่อแบบใส

ค่าใช้จ่ายในการออกแบบ – หากเรามองว่าเว็บไซต์มีหน้าที่ในการสื่อสาร หรือขายของให้กับคนเข้าเว็บไซต์ บริษัทส่วนมากก็ต้องมีการลงทุนในด้านการสร้างเนื้อหารูปแบบต่างๆ เช่นการจ้างคนมาถ่ายรูปตัดต่อรูป การจ้างคนมาถ่ายวีดีโอ หรือการจ้างคนมาเขียนบทความหรือเนื้อหาเชิญชวนให้คนอยากจะซื้อมากขึ้น

สรุปค่าใช้จ่ายพื้นฐาน – โดยพื้นฐานแล้วหาเป็นเว็บไซต์แบบง่ายๆ มีไม่กี่หน้า ค่าใช้จ่ายส่วนมากก็น่าจะอยู่ประมาณหลักหมื่นบาทต้นๆสำหรับปีแรก และมีค่าใช้จ่ายหลักพันบาทในปีต่อๆมา อย่างไรก็ตามหากคุณจ้างบริษัทที่มีขนาดใหญ่ ค่าใช้จ่ายนี้ก็อาจจะบานปลายเป็นหลายหมื่นถึงหลักแสนได้ (แต่ก็อาจจะได้คุณภาพและความน่าเชื่อถือที่ดีมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของความปลอดภัยและการออกแบบเว็บไซต์ที่ใช้ง่าย)

สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนจ้างคนทำเว็บไซต์

สำหรับคนที่ไม่รู้พื้นฐานด้านการสร้างเว็บไซต์และอยากจะจ้างคนอื่นมาช่วยทำให้ ในส่วนนี้ผมอยากจะเขียนแนะนำข้อมูลพื้นฐานที่คุณสามารถนำไปคุยกับคนรับทำเว็บไซต์ต่างๆได้ เราจะได้ไม่พลาดอะไรง่ายๆ ลืมหน้าสำคัญที่อาจจะจำเป็นต้องใช้งานจริง

Home Page – เราเรียกสิ่งนี้ว่าหน้าแรก เป็นหน้าที่หลายๆคนจะต้องเข้ามาเวลา Google หาบริษัทเรา หน้าแรกมีหน้าที่เบื้องต้นคือการให้ข้อมูลสรุปรวมแบบสั้นๆ เขียนข้อความว่าบริษัทเราขายอะไรทำอะไรอยู่ภายใน 1-2 ประโยค นอกจากนั้นก็อาจจะมีวิธีการติดต่อง่ายๆเช่น LINE หรือเบอร์โทรศัพท์

Product Page – หมายถึงหน้าสินค้าของเรา หากบริษัทของเรามีสินค้าหลากหลายชนิด เราก็อาจจะต้องทำหน้าย่อยออกมาจัดเรียงเป็นหมวดหมู่เล็กๆอีกที ลองหาแรงบันดาลใจได้จากเว็บไซต์บริษัทอื่น ข้อแนะนำก็คือ เราต้องมีข้อมูลติดต่อลูกค้าอย่างชัดเจนในหน้านี้ เพราะลูกค้าส่วนมากอาจจะขี้เกียจกดไปหน้าอื่นเพื่อหาข้อมูลติดต่อ

Contact Us – เป็นหน้าที่มีไว้เพื่อให้ลูกค้าติดต่อเราอีกที ส่วนมากจะมีข้อมูลอยู่เยอะมาก ตั้งแต่เบอร์โทรศัพท์ LINE Email หรือแม้แต่ที่อยู่ 

About Us – เป็นหน้าที่มีไว้เพื่ออธิบายเกี่ยวกับบริษัท มีไว้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เหมาะสำหรับการให้ลูกค้าศึกษาธุรกิจเราเพิ่มเติม ยิ่งธุรกิจขายของราคาแพง หน้านี้ก็ยิ่งต้องทำให้ดี

หนึ่งอย่างที่ผมอยากจะแนะนำก็คือ เวลาเราใช้เว็บไซต์เราในการโฆษณาและสื่อต่างๆ (โดยเฉพาะสื่อที่เสียเงิน) เราไม่ควรให้ลูกค้าเข้ามาในหน้าแรก (Home Page) แต่ควรส่งลูกค้าเข้าไปในหน้าสินค้าเลย (Product Page) ยิ่งเป็นหน้าสินค้าที่ลูกค้าสามารถแอด LINE หรือโทรเข้ามาได้ทันทีก็ยิ่งดี

สิ่งที่เราต้องจำไว้เวลาทำเว็บไซต์ก็คือ ลูกค้าส่วนมากที่เข้าเว็บไซต์ให้มีสมาธิสั้น แถมคนส่วนมากใช้มือถือในการดูข้อมูลต่างๆ หากเราไม่สามารถให้ข้อมูลลูกค้าได้อย่างกระชับ และอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจอย่างชัดเจนว่าขั้นตอนต่อไปต้องทำอะไรบ้าง (ติดต่อเรา อ่านข้อมูลเพิ่มเติม หรือ ซื้อของทันที) ลูกค้าส่วนมากก็อาจจะหลุดไปได้

ข้อแนะนำในการทำเว็บไซต์บริษัทพื้นฐาน

ในส่วนนี้ผมจะขออธิบายข้อแนะนำต่างๆที่เราควรรู้ก่อนเริ่มทำเว็บไซต์ ของบางอย่างถ้ารู้ก่อนเริ่มทำเว็บไซต์ก็จะช่วยประหยัดเวลาภายหลังให้เราได้มาก ของบางอย่างหากทำได้ไม่ดีก็ทำให้เว็บเราใช้การไม่ได้เลยทีเดียว แนะนำให้อ่านส่วนนี้ให้จบก่อนเริ่มจ่ายเงินจ้างใครนะครับ

มีเว็บไซต์ไม่ได้แปลว่าคนจะเข้าเว็บไซต์ – หมายความว่าหน้าที่คุณไม่ได้หมดแค่การสร้างเว็บไซต์ หากเราอยากให้เว็บไซต์นี้สามารถสร้างรายได้ เราก็ต้องใส่ใจกับวิธีทำการตลาดหลายๆอย่างด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการตลาดออนไลน์

เว็บไซต์เราต้องมีเป้าหมาย – ธุรกิจส่วนมากมีเว็บไซต์ไว้เพื่อที่จะมี คือมีเว็บไซต์แต่ไม่รู้ว่าจะนำเว็บไซต์นี้มาใช้ทำอะไรได้ต่อ โดยเบื้องต้นแล้ว เว็บไซต์ควรส่งลูกค้าไปซื้อของทันทีหากเป็นกรณีสินค้าราคาไม่แพงและขายง่ายๆ แต่สำหรับสินค้าที่ขายยากหน่อย เว็บไซต์ก็มีหน้าที่ในการบอกให้ลูกค้าติดต่อพนักงานขายเข้ามาอีกที หรือทิ้งข้อมูลไว้ให้ทางบริษัทติดต่อกลับ

เตรียมอีเมลก่อนสมัคร – อย่าให้บริษัทอื่นหรือฟรีแลนซ์ใช้อีเมลส่วนตัวทำเว็บไซต์ให้เราเด็ดขาด เพราะเวลาเราจะแก้ไขอะไรนั้นทำได้ยากมาก ในสมัยนี้การสร้างอีเมลใหม่นั้นทำได้ง่ายเหลือเกิน ให้เราสร้างอีเมลกลางมาหนึ่งอันแล้วใช้อีเมลนี้ทำทุกอย่างตั้งแต่สมัคร Domain Hosting และทำเว็บไซต์ด้วย

ความเร็วของเว็บไซต์ – อีกหนึ่งปัญหาที่มือใหม่มักทำพลาดและคนออกแบบเว็บไซต์มักไม่ใส่ใจ ปัญหาหลักก็คือไฟล์ภาพเช่นภาพสินค้า ภาพบริษัท ภาพทีมงาน กล้องสมัยใหม่นั้นถ่ายภาพได้คมชัดมาก แต่ความคมชัดนี้ก็กินพื้นที่ไปหลาย MB เหลือเกิน ในส่วนนี้เราต้องพยายามย่อขนาดภาพให้น้อยกว่า 100 KB แล้วคนเข้าเว็บไซต์ก็จะดูเว็บเราได้นานขึ้น แถมบางทียังทำให้เว็บเราติดอันดับ Google ได้เองอีกด้วย (ลองใช้เว็บนี้ช่วยย่อขนาดไฟล์ได้ https://compressjpeg.com/

สุดท้ายนี้เกี่ยวกับการทำเว็บไซต์

สุดท้ายนี้ผมอยากจะบอกว่าการทำเว็บไซต์บริษัทนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับบริษัทที่อยากจะหันมาจริงจังในด้านการขายและการตลาดออนไลน์ อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าสำหรับธุรกิจที่ไม่เคยทำออนไลน์มาก่อน (และไม่มีบุคลากรที่รู้เรื่องทำเว็บไซต์ที่ดี) การจ้างคนทำเว็บไซต์ก็อาจจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ ‘ไม่คุ้มค่าเงิน’ ได้

ในส่วนนี้จริงๆผมมีคำแนะนำสำหรับมือใหม่อีกเยอะครับ แต่หากคุณเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องทำเว็บไซต์ ผมแนะนำให้เริ่มจากการหาคนทำเว็บ WordPress แล้วก็สร้าง email กลางขึ้นมาเพื่อทำเป็นตัว login เพราะต่อให้ครั้งแรกคุณจ้างออกมาไม่ดี อย่างน้อยคุณก็ยังมี ‘ฐาน’ ที่สามารถจ้างคนอื่นมาแก้ไขภายหลังให้ได้ จะได้ไม่เสียเงินฟรีทั้งหมด

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด