9 ตัวอย่างวัฒนธรรมองค์กร ของบริษัทที่เรารู้จักกันดี

9 ตัวอย่างวัฒนธรรมองค์กร ของบริษัทที่เรารู้จักกันดี

บริษัทที่ดี ใครก็อยากที่จะทำงานด้วย 

วัฒนธรรมองค์กรของแต่ละบริษัท รวมถึงความเชื่อและพฤติกรรมของพนักงานในบริษัท และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหาร พนักงานทุกระดับ และลูกค้าด้วย ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรที่แท้จริงก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้บริหารพูดว่าองค์กรเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่คือภาพรวมของทุกอย่างที่เกิดขึ้นจริงในองค์กร

แน่นอนว่าองค์กรที่มีวัฒนธรรมที่โดดเด่น ก็ย่อมที่จะสามารถดึงดูดพนักงาน คู่ค้าทางธุรกิจ และก็ลูกค้าเข้ามาหาได้ ในทางกลับกันองค์กรที่มีวัฒนธรรมที่แย่ก็จะเจอปัญหาพนักงานลาออกบ่อย และการทำงานที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ 

ในบทความนี้เรามาดูกันว่าวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทใหญ่ๆที่เรารู้จักกันดีนั้น เป็นอย่างไรบ้าง มีข้อดีข้อเสียอย่างไร และที่สำคัญก็คือเราสามารถที่จะเรียนรู้จากวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทพวกนี้ได้อย่างไรบ้าง

สำหรับคนที่อยากศึกษาเรื่องวัฒนธรรมองค์กรเพื่อเติม ผมแนะนำให้อ่านบทความนี้ของผมนะครับ 

9 ตัวอย่างวัฒนธรรมองค์กร ของบริษัทที่เรารู้จักกันดี

ในบทความนี้ผมมีตัวอย่างวัฒนธรรมองค์กรของ 9 บริษัทใหญ่มาเล่าให้ทุกคนฟัง ซึ่งก็มีทั้งบริษัทใหญ่ในอเมริกา ในประเทศไทย หรือแม้แต่บริษัทฝั่งญี่ปุ่นและเกาหลีด้วย แต่ละบริษัทถึงแม้จะมีขนาดใหญ่ มีพนักงานเยอะเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมองค์กรอย่างชัดเจน

ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างเหล่านี้เองก็เป็นหนึ่งในกระบวนการบริหารพนักงาน ที่ทำให้พนักงานแต่ละคนรู้ (หรือไม่รู้) ว่าในแต่ละสถานการณ์ต้องปฏิบัติตัวหรือตัดสินใจอย่างไรบ้าง

#1 วัฒนธรรมองค์ของบริษัท การบินไทย

หากพูดถึงบริษัท การบินไทย คนทั่วไปก็คงนึกถึงพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรือถ้าจะมองอีกแนวนึงบริษัทการบินไทย ก็เป็นบริษัทที่สร้างรายได้จากการ ‘ให้บริการลูกค้า’ นั่นเอง 

ขึ้นชื่อว่าการบิน ‘ไทย’ วัฒนธรรมหลายๆอย่างของบริษัทก็แสดงให้เห็นความเป็นไทย ตั้งแต่การแต่งตัวของพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน รวมถึงกิริยามารยาทต่างๆ และแน่นอนว่าระบบโครงสร้างขององค์กรก็มีความเป็นไทยมากด้วย โดยเฉพาะในส่วนที่ให้ความสำคัญเรื่องวัยวุฒิในการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ‘วัฒนธรรมขององค์กรในรูปแบบสายการบิน’ ก็โดนผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจเยอะมาก ในปัจจุบันการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินมีอยู่สูง ทำให้หลายบริษัทรวมถึง การบินไทย เกิดอาการขาดทุนเป็นจำนวนมาก มาหลายปี ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความกดดันระหว่างพนักงานในองค์กรแล้ว ยังระทบมาถึงคุณภาพการบริการต่างๆ เช่น จำนวนชนิดเครื่องบินสมัยใหม่ที่การบินไทยมีน้อยกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเจ้าอื่นพอสมควร 

จุดเด่นของการบินไทย ก็คือเป็นการเป็นสายการบินที่มีจุดขายเรื่องความเป็นไทยสูง อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าบริษัทการบินไทยจะเลือกที่จะลงทุนกับ ‘ผู้โดยสารรายได้ดี’ แบบผู้โดยสารชั้นหนึ่งและผู้โดยสารชั้นธุรกิจ มากกว่าการลงทุนให้กับผู้โดยสารกลุ่มธรรมดาทั่วไป 

ธุรกิจให้บริการลูกค้าส่วนมากจะเป็นธุรกิจที่มีความกดดันสำหรับพนักงานสูง และธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันเยอะ มีกำไรน้อยก็เป็นธุรกิจที่มีความกดดันระดับพลังงานสูงเช่นกัน หากเอาสองปัจจัยนี้มารวมกันแล้ว เราจะเห็นได้ว่าสภาวะขององค์กรอย่างการบินไทยอาจจะไม่ได้ Smooth as Silk เหมือนที่โฆษณาไว้

#2 วัฒนธรรมองค์กรของบริษัท ปตท

บริษัทปตท ขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทมหาชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แล้วก็เป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่มีพนักงานหลักหมื่นคน

โดยรวมแล้วบริษัทที่มีขนาดใหญ่แบบปตทนั้น จะต้องทำการบริหารงานแบบรอบคอบ ยอมทำช้าดีกว่าทำพลาด  เพราะความผิดพลาดแต่ละทีอาจจะทำให้เกิดปัญหาหลายล้านบาทได้

ขนาดขององค์กรแบบปตท ก็ทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรแบบเฉพาะทางเช่นกัน เพราะนอกจากปตทเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่แล้ว ยังเป็นบริษัทที่มีพนักงานหลายระดับ ตั้งแต่ผู้บริหารเรียนถึงปริญญาเอก ไปจนถึงพนักงานชนชั้นแรงงาน ซึ่งการที่องค์กรขนาดใหญ่จะสามารถขับเคลื่อนพนักงานเป็นจำนวนมากได้ ก็ต้องอาศัยกระบวนการทำงานที่มีความรัดกุมและทั่วถึง แต่ถ้าพูดในบทของบริษัทปตทก็คือ งานเอกสารจะมีเยอะ ต้องได้รับการอนุมัติหลายระดับนั่นเอง

หากเราดูค่านิยมขององค์กรปตทนั้น เราจะเห็นคำว่า ‘ร่วมใจ ร่วมพลัง ร่วมสร้าง’ เพราะหลายๆสิ่งที่องค์กรปตทกำลังจะทำไม่ใช่สิ่งที่พนักงานคนใดคนหนึ่งสามารถทำได้ด้วยตัวเอง กิจกรรมส่วนมากเป็นสิ่งที่พนักงานทุกระดับ ต้องร่วมมือกันถึงจะทำได้สำเร็จ

และเพื่อที่จะทำให้พนักงานสามารถร่วมมือกัน (และร่วมมือกันได้ในระยะเวลายาว) บริษัทอย่างปตท ก็ต้องสร้าง ‘ความมั่นคง’ ให้กับพนักงาน ซึ่งก็จะมาในรูปแบบ สวัสดิการต่างๆ ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่หลายๆคนอยากจะสมัครเข้าไปทำงานกับบริษัทปตทนั้นเอง

#3 วัฒนธรรมองค์กรของบริษัท ฮอนด้า

บริษัท ฮอนด้า ก็เป็นบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่โดดเด่น เพราะกระบวนการทำงานหลายๆอย่างได้รับอิทธิพลมาจากเจ้าของประเทศญี่ปุ่น ที่ขึ้นชื่อเรื่องการสร้างระบบ การทำงานอย่างมีระเบียบ และการทุ่มเทจิตวิญญาณให้กับองค์กร

วัฒนธรรมการทำงานของพนักงานเงินเดือนที่ญี่ปุ่นนั้น จะเชื่อมั่นในการทุ่มเทจิตวิญญาณให้กับบริษัท ส่วนมากพนักงานบริษัทที่ญี่ปุ่นจะไม่ย้ายบริษัทเพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ทุ่มเทและไม่รักองค์กร

ฮอนด้า ได้อธิบายวัฒนธรรมองค์กรของตัวเองไว้ในหัวข้อ ‘ความยินดีสามประการ’ (Three Joys) รวมถึงความยินดีในการซื้อ ความยินดีในการขาย และ ความยินดีในการสร้างสรรค์ หมายความว่าฮอนด้าให้ความสำคัญเกี่ยวกับ กระบวนการผลิต กระบวนการขาย และ ความพึงพอใจของลูกค้า เป็นอันดับต้นขององค์กร 

วัฒนธรรมขององค์กรญี่ปุ่นมีความเหมาะสมกับบริษัทการผลิตอย่างฮอนด้ามาก เพราะบริษัทแนวนี้ให้ความสำคัญเรื่องการทำซ้ำ การทุ่มเท และระเบียบในการทำงาน ซึ่งก็จะทำให้กระบวนการผลิตรถยนต์เกิดของเสียน้อย ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากที่สุด

แต่การทำซ้ำอย่างเดียวก็ไม่สามารถทำให้ธุรกิจที่ต้องสร้างสินค้าใหม่ได้เรื่อยๆทุกปีอย่างฮอนได้อยู่รอดได้ เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทญี่ปุ่นสมัยใหม่ก็เลยต้องปรับให้เข้าถึงความสำคัญของนวัตกรรม (หรือในมุมมองฮอนด้าก็คือความคิดสร้างสรรค์) 

องค์กรญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับพนักงานมาก เพราะเชื่อว่าพนักงานเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานที่มีระเบียบ อย่างไรก็ตาม ‘การให้ความสำคัญกับพนักงาน’ ในรูปแบบขององค์กรญี่ปุ่นนั้นก็อาจจะมีความผิดแปลกจากที่คนทั่วไปเข้าใจกัน ตรงที่องค์กรเชื่อว่าการทำงานเยอะคือเป็นการ ‘สร้างเกียรติ’ ให้กับพนักงานเป็นต้น

ฉลาดรู้ ฉลาดทำธุรกิจ

#4 วัฒนธรรมองค์กรของบริษัท CP

บริษัท CP ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทมหาชนยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย และสิ่งที่โดดเด่นสำหรับวัฒนธรรมองค์กรของบริษัท CP ก็คือความเป็นไทยที่ผสมกับความเป็นจีน 

คล้ายๆกับบริษัทอย่างปตท บริษัท CP มีพนักงานหลากหลายและมีมากกว่าแสนคน แต่ด้วยที่ว่าบริษัท CP นั้นทำการค้าขายกับผู้อุปโภคบริโภคโดยตรงมากกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างปตท ทำให้วัฒนธรรมองค์กรของ CP มีการเน้นไปด้านการบริการลูกค้ามากกว่า

องค์กรที่มีความเป็นไทย และมีขนาดใหญ่ โดยรวมแล้วจะให้ความสำคัญทางด้านคุณวุฒิและวัยวุฒิเป็นอย่างมาก หมายความว่าผู้บริหารระดับสูงจะมีอำนาจการตัดสินใจเยอะกว่าพนักงานระดับอื่นมาก และพนักงานส่วนมากก็จำเป็นจะต้องทำงานเป็นเวลาหลายปีในองค์กรเพื่อที่จะพิสูจน์ตัวเอง ก่อนที่จะได้รับการยอมรับจากผู้บริหาร 

เนื่องจากว่าบริษัท CP มีพนักงานเยอะมาก มีบริษัทย่อยก็เยอะ แต่ละบริษัทก็ทำงานไม่เหมือนกันตั้งแต่โรงงานผลิต ไปจนถึงการเปิดร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ทำให้รูปแบบการบริหารและวัฒนธรรมองค์กรในหลายๆส่วนมีความหลากหลายพอสมควร 

โดยรวมแล้วดูเหมือนว่า บริษัท CP จะให้ความสำคัญเรื่องการ ‘พัฒนาผู้นำ’ มากเป็นพิเศษ เพื่อที่พนักงานจะได้สามารถทำงานกับพนักงานคนอื่นได้

#5 วัฒนธรรมองค์กรของบริษัท SCG

SCG ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรไทยที่มีขนาดใหญ่ มีระบบกระบวนการทำงานและโครงสร้างองค์กรที่คงที่ และ ค่านิยม (Core Value) ของบริษัทก็มีความคล้ายคลึงกับบริษัทใหญ่อื่นๆ เช่นให้ความสำคัญเรื่องนวัตกรรม การทำงานร่วมกัน และการพัฒนาบุคลากร

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราเห็นได้บ่อยจากในอินเตอร์เนตก็คือว่าพนักงานหลายคนของ SCG มีความรักองค์กรมาก และพร้อมที่จะช่วยโฆษณาองค์กรตัวเองเสมอ ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่บริษัทลงทุนกับการพัฒนาบุคลากรมาก เช่น การให้ทุนการศึกษาจำนวนเยอะกว่าบริษัทอื่น สวัสดิการที่ดี เป็นต้น

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทใหญ่ทุกบริษัทก็คือ เนื่องจากว่าบริษัทมีบริษัทย่อย มีพนักงานหลายทีม หลายแผนก ทำให้วัฒนธรรมย่อย (sub-culture) มีเยอะ หมายความว่าประสบการณ์ของพนักงานองค์กรใหญ่หลายที่อาจจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับชนิดงานที่ทำ

แน่นอนว่าการที่ องค์กรมี ‘วัฒนธรรมย่อย’ เยอะและหลากหลายก็เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งว่าระบบการทำงานของบริษัทยังไม่นิ่งในบางส่วน

#6 วัฒนธรรมองค์กรของบริษัท Google 

บริษัท Google ถือว่าเป็นไอดอลเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่หลายๆบริษัทอิจฉามากมาย ไม่ว่าจะเป็นคนเก่งหรือคู่ค้าที่ดีก็ล้วนอยากจะทำงานกับ Google ทั้งนั้น ก็เลยทำให้ Google กลายเป็นแนวหน้าเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่หลายบริษัทต้องมาศึกษากัน แต่อะไรคือสิ่งที่ทำให้ Google แตกต่างกันนะ?

เราจะเห็นได้ว่า ข้อดีของบริษัทอย่าง Google ไม่ได้มีแค่อาหารฟรี การจัดทริปธุรกิจ การให้เงินพนักงานมากกว่าที่อื่น หรือแม้แต่การอนุญาตให้พนักงานพาสุนัขมาทำงานได้ แต่สิ่งที่ Google ให้กับพนักงานมากที่สุดก็คืออิสระในการใช้ชีวิต ความท้าทายในการทำงาน และก็เกียรติด้วย

เรื่องเงินกับเรื่องความท้าทายในการทำงานเป็นสิ่งที่อธิบายได้ตรงไปตรงมา ปรับเงินเดือนให้พนักงานเยอะๆ ให้อิสระพนักงานเยอะๆ แล้วก็ให้งานที่เหมาะสมกับความสามารถพนักงาน หากเรามีเวลาและเงินทุนมากพอ สิ่งเหล่านี้หลายบริษัทก็สามารถที่จะมอบให้พนักงานได้ (แต่อาจจะต้องมีรายได้หลักแสนล้านบาทต่อปี หากจะอยากให้ทุกอย่างกับพนักงานหนึ่งแสนคนในบริษัท)

แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ ‘เกียรติในการทำงาน’ ในประเทศไทยเราคงเห็นว่าหลายคนอยากจะเป็นตำรวจ อยากเป็นครู อยากทํางานราชการ เพราะงานพวกนี้มีเกียรติ ได้ช่วยเหลือคนอื่น เป็นงานที่สังคมยอมรับ ซึ่งหากมองดูแล้วการทำงานกับบริษัทที่น่าตื่นเต้น ได้ทำอะไรใหม่ๆ แถมรายได้ก็ดีแบบ Google ก็กลายเป็นงานที่ถือว่า ‘มีเกียรติ’ และน่าอิจฉาในระดับหนึ่งเลย และนี่ก็เป็นหัวใจหลักของการสร้างวัฒนธรรมองค์กรของบริษัท Google นั่นเอง 

#7 วัฒนธรรมองค์กรของบริษัท Apple

บริษัท Apple เป็นองค์กรที่ขึ้นชื่อเรื่องการสร้างนวัตกรรม ซึ่งก็เป็นผลมาจาก CEO เก่าอย่าง Steve Jobs ที่เปิดตัวสุดยอดสินค้านวัตกรรมแห่งยุคอย่าง iPhone ออกมา แถมยังสามารถสร้างตลาดสินค้าใหม่มูลค่าหลักหลายพันล้านดอลล่าร์อย่าง iPad ได้ด้วย

แต่ Steve Jobs ก็ไม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นคนนิสัยดี ใจดีกับพนักงานมากมายขนาดนั้น ภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมองค์กรบริษัท Apple ก็คือ ‘การแข่งขันที่สูง’ เพราะในบริษัท Apple ทุกขั้นตอนกระบวนการทำงานต้องมี ‘ชื่อพนักงาน’ ที่รับผิดชอบเสมอ และถ้าหากกระบวนการไหนเกิดการผิดพลาดและทำบริษัทเสียหาย พนักงานก็จะโดนเล่นงานไม่ใช่น้อย

สำหรับองค์กรเทคโนโลยีทั่วไปอย่าง Facebook Google Microsoft เราจะเห็นได้ว่าพนักงานฝั่งสายวิทย์จะมีอำนาจพอกับพนักงานฝ่ายบริหารจัดการเลย แต่ในองค์กรของ Apple อีกหนึ่งแผนกที่มีอำนาจในการตัดสินใจในระดับสูงก็คือฝ่ายออกแบบ (Designer) ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่สินค้าของ Apple มีการออกแบบที่สวยงามแต่เรียบง่ายถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมองค์กรของบริษัท Apple ในยุคที่ Steve Jobs ไม่อยู่แล้ว ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยที่ CEO ใหม่อย่าง Tim Cooks จะให้ความสำคัญเรื่องการบริหารการปฏิบัติการ (Operations Management) เพื่อทำกำไร และก็เป็นสาเหตุที่ทำให้สินค้า Apple ช่วงหลังๆดูขาด ‘ความว้าว’ เหมือนสมัย Steve Jobs

#8 วัฒนธรรมองค์กรของบริษัท AIS

AIS เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่คนไทยรู้จักกันดี ถ้าคุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่มือถือของคุณก็อาจจะใช้อินเตอร์เนตของ AIS อยู่ก็ได้

ด้วยการที่การปฏิบัติการบางส่วนของบริษัท AIS เป็นการทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีและสินค้าดิจิตัล ทำให้ด้านโครงสร้างของบริษัท AIS มีความคล้างคลึงกับบริษัทเทคโนโลยีต่างประเทศ (อย่างน้อยก็คล้ายคลึงมากกว่าบริษัทอย่าง SCG ปตท) เราจะเห็นได้ว่า AIS มีการออกสื่อเรื่องการจ้างพนักงานต่างประเทศและการจ้างพนักงานรุ่นใหม่มากกว่า 

ผมเน้นคำว่า ‘ออกสื่อ’ เพราะในความจริงแล้วเราวัดได้ยากว่า ปตท SCG CP จ้างพนักงานแนวนี้ และให้เนื้อหางานทำในระดับเท่าเทียมกันแค่ไหน

AIS เป็นบริษัทที่ลงทุนกับเทคโนโลยีใหม่เยอะมาก ทั้งการประมูลคลื่นความเร็วสูง และการสร้างผลิตภัณฑ์ดิจิตัลใหม่ๆขึ้นมาเรื่อยๆ และสำหรับบริษัทเทคโนโลยีแล้ว การลงทุนด้านผลิตภัณฑ์ก็คือการลงทุนด้าน ‘คนผลิต’ หรือพนักงานนั่งเอง (คนเขียนโปรแกรม คนออกแบบ คนหาวิธีสร้างรายได้)

ถึงแม้ว่าจะเป็นองค์กรมหาชนเหมือนกัน แต่จำนวนพนักงานของ AIS ก็มีน้อยกว่าเจ้าใหญ่อื่นๆในบทความนี้ (จำนวน หมื่นคนต้นๆ เทียบกับหลายหมื่นคนและหลักแสนคน) จำนวนพนักงานที่น้อยกว่าก็จะทำให้กระบวนการทำงานหลายๆอย่างสั้นลง องค์กรขับเคลื่อนได้เร็วกว่า นับว่าก็เหมาะสมกับบริษัทสายเทคโนโลยี-ดิจิตัล

และความท้าทายหลักของการสร้างวัฒนธรรมองค์กร AIS ก็น่าจะเป็นวิธีการขยายบริษัท – จ้างพนักงานเพิ่มอย่างไรให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนได้เร็วเหมือนเดิม

#9 วัฒนธรรมองค์กรของบริษัท ซัมซุง

สุดท้ายนี้เราก็มาลองดูพนักงานของบริษัท ซัมซุงกันดูบ้าง 

ถึงแม้ว่าซัมซุงจะเป็นบริษัทแบรนด์ใหญ่ แต่การขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์-อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งก็ถือว่าเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงมาก มีทั้งคู่แข่งตลาดอเมริกาและจีน ทำให้บริษัทซัมซุงถือว่าเป็นองค์กรที่มีความกดดันสูงทีเดียว

เราสามารถมองบริษัทซัมซุงว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก…แต่มีวิธีการทำงานเหมือนคนเอเซีย 

ดูเหมือนว่าซัมซุงจะพยายามเน้นการจ้าง ‘ผู้บริหารต่างประเทศ’ ที่เป็นคนเกาหลี เพื่อที่จะควบคุมวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทให้คงที่ทั่วโลก (อย่างการนำคนเกาหลีมาบริหารแผนกสำคัญๆในประเทศไทย แทนที่จะหาคนทไทยมาทำ 100%) แปลว่าอำนาจของ ‘ผู้บริหารกับพนักงานทั่วไป’ ก็จะเหลื่อมกันพอสมควรเลย นอกจากนั้นแล้ววัฒนธรรมการทำงานของเกาหลีก็ยังส่งเสริมให้พนักงานทำงานดึก ทำงานเยอะอีกด้วย

แต่นี่ก็เป็นมุมมองของคนต่างชาติ ในประเทศเกาหลี คนส่วนมากก็อยากที่จะทำงานกับซัมซุงกันทั้งนั้นครับ เงินดี งานมีความท้าทาย และก็เป็นงานมีเกียรติ

บทความอื่นๆที่เราแนะนำ

วัฒนธรรมองค์กรคืออะไร? วัฒนธรรมองค์กรที่ดีมีอะไรบ้าง?
Leadership ภาวะผู้นําคืออะไร [ความสำคัญ ประโยชน์ และตัวอย่าง]
จริยธรรมทางธุรกิจคืออะไร – ความสำคัญของจริยธรรมในองค์กร




Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด