หนึ่งในคำถามที่ผู้สมัครงานต้องเจอกันแน่ๆก็คือเรื่องของการทำ CV ซึ่งแม้ว่าคุณจะเป็นนักเรียนจบใหม่ หรือเป็นคนที่ทำงานมา 10 ปีแล้วกำลังหางานใหม่ก็ต้องกลับมาทบทวนเรื่อยๆ ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่า CV คืออะไรและแปลว่าอะไร มีองค์ประกอบอะไรบ้าง และวิธีการเขียน CV ที่ดี จนผู้รับสมัครต้องเรียกคุณมาสมัครงานให้ได้เลย มีอย่างไรบ้าง
สำหรับคนที่รู้ข้อมูลพื้นฐานแล้วอยากจะข้ามไปส่วนองค์ประกอบและวิธีการเขียนเลย สามารถกดตรงนี้ได้เลยนะครับ
CV คืออะไร (Curriculum Vitae)
Curriculum Vitae หรือ CV แปลว่าประวัติย่อ หมายถึงการจัดทำเอกสารเพื่อ อธิบายเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของคุณด้านการทำงานและด้านการเรียน CV ส่วนมากรวมถึงประสบการณ์ทำงานการเรียน และ ความสำเร็จหรือรางวัลต่างๆ มักใช้ในการสมัครงานแนววิชาการหรือที่ต้องลงรายละเอียดเยอะ
ในประเทศไทย คนส่วนมากแนะนำว่า CV ควรจะมีความยาวประมาณ 2 หน้าขึ้นไป อย่างไรก็ตามความยาวส่วนนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ทำงานและสิ่งที่คุณเรียนมาอีกทีด้วย บริษัทในต่างประเทศหลายที่ก็ระบุไว้ว่า ‘CV จะยาวเท่าไหร่ก็ได้ตราบใดที่มีข้อมูลครบทุกอย่าง’
และแน่นอนว่าฝ่ายบุคคลในบางบริษัทก็ยังใช้คำว่า CV และ Resume สลับกันไปมา ซึ่งในส่วนนี้ผมจะอธิบายข้อแตกต่างกันอีกที แต่โดยเบื้องต้นแล้วก่อนที่จะยื่นเอกสารสมัครงาน เราก็ควรสังเกตเนื้องานที่สมัครและวิเคราะห์ว่าต้องให้ข้อมูลด้านไหนบ้างถึงจะเหมาะสม
CV กับ Resume ต่างกันอย่างไร
Curriculum Vitae (CV) จะเป็นเอกสารสมัครงานด้านวิชาการที่ลงรายละเอียดการทำงานและการศึกษาของคุณที่มีความยาวอย่างน้อย 2 หน้ากระดาษขึ้นไป ส่วน Resume จะเป็นเอกสารสมัครงานทั่วไปที่จะรวมถึงทักษะ คุณสมบัติ ล้างประวัติการทำงาน โดยรวมแล้ว Resume ที่ดีไม่ควรยาวเกิน 1-2 หน้า
อย่างแรกเลยก็คือข้อแนะนำด้านบนเป็นแค่ข้อแนะนำสำหรับคนที่เพิ่งจบใหม่หรือทำงานมาไม่กี่ปีเท่านั้น หากคุณทำงานมา 10 ถึง 20 ปี โอกาสที่คุณจะย่อยข้อมูลทุกอย่างให้อยู่ใน 1 ถึง 2 หน้ากระดาษก็คงทำได้ยาก (ยกเว้นว่าคุณจะคัดมาแค่เนื้อหาส่วนที่จำเป็นจริงๆ) ในกรณีนี้ Resume ของผู้ที่มีประสบการณ์ก็เลยอาจจะดูคล้าย CV นิดหน่อย
อีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของ ‘การใช้คำศัพท์’ บริษัทจากประเทศอเมริกาจะนิยมใช้คำว่า Resume ส่วนบริษัทฝั่งยุโรปจะชอบคำว่า CV ซึ่งหลายบริษัทจากประเทศเหล่านี้ก็มักใช้เป็นคำทดแทนกันไปเลย ทางที่ดีที่สุดก็คือให้เราศึกษาจากเนื้องานที่กำลังสมัคร แล้วค่อยตัดสินอีกทีว่าจะเขียนยาวหรือลงรายละเอียดมากแค่ไหน
สรุปก็คือ หากเป็นงานวิชาการก็ลงรายละเอียดหน่อย ถ้าหากเป็นงานทั่วไปก็ให้ใส่รายละเอียดแค่ส่วนที่จำเป็นสำหรับการทำงาน โดยให้เน้นประสบการณ์หรือความสำเร็จที่เกี่ยวข้องกับเนื้องาน
หากคุณกำลังเขียน CV อยู่ ในส่วนต่อไปผมจะมีตัวอย่างแล้วก็องค์ประกอบต่างๆของ CV อธิบายไว้ ให้นำสิ่งเหล่านี้ไปปรับให้เหมาะกับประสบการณ์ทำงานและการเรียนของคุณได้เลยนะครับ
องค์ประกอบของ CV ที่ดี (ต้องใส่ให้ครบ)
ถึงแม้ว่า CV ควรจะลงข้อมูลให้ละเอียดเข้าไว้ แต่โดยรวมแล้วเราก็ต้องปรับเนื้อหาใน CV ให้เหมาะกับสถานที่หรือเนื้องานที่เรากำลังจะสมัครเข้าไปด้วย และเพื่อที่จะทำให้ CV ของคุณมีความโดดเด่นเหนือคนอื่น คุณก็ควรใส่องค์ประกอบดังนี้
รูปภาพของคุณ*
ข้อมูลการติดต่อ
ประวัติการศึกษา (ประวัติด้านวิชาการ)
ประสบการณ์ทำงาน
คุณสมบัติและทักษะต่างๆ
สิ่งพิมพ์ด้านวิชาการ (Publications)
ทุนเรียนและทุนวิจัยต่างๆ
ใบอนุญาตและใบรับรอง
งานอาสาสมัคร
ข้อมูลส่วนตัว (ใส่ได้แต่ไม่จำเป็น)
งานอดิเรกและสิ่งที่สนใจ (ใส่ได้แต่ไม่จำเป็น)
*รูปภาพ เป็นองค์ประกอบของ CV ที่ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทเลย จากประสบการณ์ของผม องค์กรประเทศไทยยังใช้รูปภาพในการสมัครอยู่ แต่สำหรับองค์กรต่างประเทศอย่างของอเมริกาหรือยุโรปก็อาจจะไม่ได้ยอมการใส่รูปภาพ แต่ตราบใดที่คุณยังมีรูปภาพให้ดูเป็นมืออาชีพอยู่ ส่วนนี้ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร
วิธีเขียน CV ให้คนสัมภาษณ์ถูกใจ
ในส่วนที่แล้วผมได้อธิบายองค์ประกอบต่างๆไปแล้ว ที่นี้ผมจะลงรายละเอียดอีกทีว่าในแต่ละองค์ประกอบต้องเขียนอย่างไรบ้าง
#1 ข้อมูลติดต่อของคุณ
ในส่วนนี้รวมถึงชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์มือถือ อีเมล และที่อยู่ โดยข้อมูลที่ควรระวังที่สุดก็คือชื่ออีเมลของคุณ หากคุณยังใช้อีเมลที่ตั้งเล่นๆตอนอยู่โรงเรียน ผมก็แนะนำให้คุณสร้างอีเมลใหม่ที่ดูเป็นมืออาชีพมากกว่านี้
#2 เรียกประวัติการศึกษาจากล่าสุดในอดีต
รวมถึงประวัติการศึกษาตั้งแต่ปริญญาเอกย้อนลงมาถึงระดับมัธยมปลายเลย อย่างน้อยที่สุดก็ควรที่จะรวมประวัติการศึกษา 2 สถาบันล่าสุด (แปลว่าหากคุณเรียนถึงปริญญาเอก คุณก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่คุณเรียนตอนมปลายก็ได้)
สาเหตุที่นำประวัติการศึกษาขึ้นก่อนก็เพราะว่า CV เป็นเอกสารสมัครงานด้านวิชาการที่ให้ความสำคัญกับความรู้เป็นอย่างมาก นอกจากนั้นแล้ว ผู้อ่านส่วนมากของบทความนี้น่าจะยังเป็นคนที่เพิ่งเริ่มสมัครงานใหม่ๆ อาจจะไม่ได้มีประสบการณ์ทำงานที่โดดเด่นมากนัก
#3 เรียงประสบการณ์จากล่าสุดไปอดีต
เช่นเดียวกันกับประวัติการศึกษา เราก็ควรที่จะเรียงประวัติการทำงานจากล่าสุดไปยังอดีตเหมือนกัน หากเป็นไปได้ให้พยายามอธิบายเนื้อหางานให้กระชับและอยู่ในประโยคสั้นๆพอ เพราะพื้นที่ส่วนมากในช่วงนี้ควรจะเน้นไปที่ความสำเร็จและโปรเจคใหญ่ๆ ที่สามารถวัดผลได้แล้วจะทำให้คุณโดดเด่นจากผู้สมัครคนอื่น
หลายๆคนที่เรียนจบมาสักพักแล้ว (หรือรู้สึกว่าประสบการณ์ทำงานตัวเองโดดเด่นกว่าประวัติการศึกษา) ก็สามารถขยับประสบการณ์ทำงานขึ้นมาก่อนประวัติการศึกษาก็ได้
#4 คุณสมบัติและทักษะต่างๆ
เป็นการแยกพื้นที่ออกมาเพื่ออธิบายลักษณะและคุณสมบัติต่างๆ ที่คุณคิดว่าช่วยสนับสนุนและทำให้ CV ดูโดดเด่นขึ้นมาได้ ให้เลือกเฉพาะคุณสมบัติหรือทักษะที่โดดเด่น หรือมีความเกี่ยวข้องกับเนื้องานที่คุณกำลังสมัคร
เช่น หากคุณไม่ได้สมัครงานเกี่ยวกับด้านดนตรี คุณก็อาจจะไม่จำเป็นต้องบอกว่าเล่นกีต้าร์ก็ได้ ยกเว้นว่าคุณจะเป็นแชมป์กีตาร์ระดับมหาลัยหรือเคยออกอัลบั้มส่วนตัว
#5 สิ่งพิมพ์ด้านวิชาการที่เกี่ยวข้อง
ส่วนนี้ก็เหมาะสำหรับการเขียน CV ที่ใช้สมัครงานด้านวิชาการเป็นพิเศษ ซึ่งก็รวมถึงงาน Presentation งานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ หนังสือต่างๆ หรือข้อมูลต่างๆที่คุณเผยแพร่ออกไปที่เกี่ยวข้องกับอาชีพหรือการศึกษาของคุณ
สำหรับสื่อตีพิมพ์ ใช้ใส่ชื่อผู้แต่ง วันที่ถูกตีพิมพ์ คำอธิบาย และข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้หมดนะครับ ส่วนสำหรับงานพรีเซ้นต์ ให้ใส่ชื่อหัวข้อ วันที่ และสถานที่ที่เราไปพรีเซ้นต์งาน
#6 ข้อมูลอื่นๆที่สนับสนุนประวัติคุณ
อย่างที่ผมอธิบายไว้ว่า CV นั้นควรที่จะรวมข้อมูลให้เยอะที่สุดเพื่อที่จะทำให้ประวัติของเราดูโดดเด่นและแตกต่างจากคนสมัครคนอื่น ในส่วนนี้คุณสามารถใส่ข้อมูลอื่นๆเช่น ทุนวิจัยทุนการศึกษาต่างๆ ใบอนุญาตใบรับรอง หรือแม้แต่งานอาสาสมัครก็ได้
แน่นอนว่าควรจะเลือกข้อมูลที่สำคัญและทำให้คุณโดดเด่นออกมาก่อน ยิ่งสามารถวัดผลได้ หรือสามารถเปรียบเทียบให้ดูโดดเด่นได้ก็ยิ่งดี
สุดท้ายนี้เกี่ยวกับการ CV
เนื่องจากว่า CV เป็นเอกสารที่เราต้องใช้เวลานานในการเขียน ผมแนะนำให้เรียบเรียงข้อมูลที่คุณอยากจะนำเสนอเอามาก่อนแล้วค่อยนำมาจัดเตรียมให้อยู่ในรูปแบบ CV อีกที อย่าลืมว่า CV ก็คือการสื่อสารอย่างหนึ่ง (ในรูปแบบเขียน) และการสื่อสารทุกอย่างก็มีทั้งแบบดีและไม่ดี ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายและผู้อ่านเข้าใจได้ยาก
ข้อแนะนำอย่างไรก็คือให้ไปลองดูในเว็บไซต์ของบริษัทที่กำลังสมัครงานอยู่ก่อน บริษัทหลายๆที่ (โดยองค์กรด้านวิชาการ) มักจะมีตัวอย่างของ CV ให้เรานำไปปรับใช้ ซึ่งในแต่ละบริษัทก็อาจจะมีข้อจำกัดหรือข้อแนะนำที่แตกต่างกันไป หากเป็นไปได้เราก็ควรศึกษาข้อมูลก่อนสมัคร อย่างน้อยที่สุดเราก็จะได้ไม่พลาดอะไรง่ายๆ
อย่างที่สองก็คือให้เอา CV ให้เพื่อนหรือคนรู้จักดูหลายๆคน ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับงานหรือวิชาการที่คุณสมัครก็ได้ บางครั้งเราอาจจะใช้คำศัพท์เฉพาะทางมากเกินไป (ใช้ได้เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราเชี่ยวชาญจริง แต่อย่าใช้เกินจำเป็น) ซึ่งจริงๆแล้วผู้คัดกรอง CV ที่อาจจะเป็นฝ่ายบุคคล ก็อาจจะไม่ได้เข้าใจคำศัพท์วิชาการแบบเฉพาะทางมากๆเหล่านี้ก็ได้