เทคโนโลยีทำให้การแข่งขันในธุรกิจดุดันมากขึ้นเรื่อยๆ และองค์กรที่จะสามารถปรับตัวให้อยู่รอดในยุคดิจิตอลได้ต้องอาศัยทักษะ ‘ภาวะผู้นำในยุคดิจิตอล’
Digital Transformation เป็นประเด็นหลักที่ไม่ว่าองค์กรขนาดใหญ่ หรือองค์กรขนาดเล็กก็ให้ความสนใจ แต่ผู้นำที่จะเก็บเกี่ยวโอกาสทางธุรกิจจากยุคดิจิตอลต้องเป็นอย่างไรกัน
ภาวะผู้นำในยุคดิจิตอล – ความสำคัญของภาวะผู้นำในยุคดิจิทัล
ภาวะผู้นำในยุคดิจิตอล หมายถึงทักษะและกรอบความคิดที่จะเอื้ออำนวยให้บุคคลหรือองค์กรนำพาสมาชิกอื่นในองค์กรให้สามารถอยู่รอดในยุคดิจิทัลได้ ตัวอย่างของทักษะภาวะผู้นำที่จำเป็นในยุคดิจิทัลได้แก่ ความสามารถในการปรับตัว ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี
เราเห็นได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าหลายองค์กรขนาดใหญ่ในอดีตล้วนถูก ‘ทำลาย’ เพราะไม่สามารถตามเทคโนโลยีใหม่ได้ทัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทมือถืออย่าง Nokia บริษัทผลิตฟิล์มอย่าง Fuji Film หรือแม้แต่บริษัทแท็กซี่
ปัญหาก็คือไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าเทคโนโลยีไหนจะมาแทนเทคโนโลยีปัจจุบัน กระบวนการที่หลายองค์กรคิดว่าเป็น ‘ของตาย’ กลับกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้องค์กรล้มเหลวแทน เพราะฉะนั้นสิ่งที่องค์กรต้องทำให้ได้ก็คือ ‘การปรับตัว’ ให้เหมาะกับยุคดิจิตอล
ในส่วนนี้หากใครสนใจศึกษาเรื่องการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในการพัฒนาธุรกิจ ผมแนะนำให้อ่านบทความนี้ของผมนะครับ Digital Transformation คืออะไร? มีข้อดีข้อเสียอะไร
ความแตกต่างระหว่างภาวะผู้นำในยุคดิจิตอลและภาวะผู้นำทั่วไป
ผู้นำในยุคดิจิตอลจำเป็นที่จะต้องเข้าใจทิศทางการเปลี่ยนแปลงองค์กร โดยการปรับองค์กรให้สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและทำให้องค์กรพร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ๆตลอดเวลา หมายความว่าองค์กรต้องมีความคล่องแคล่วมากขึ้น และผู้นำต้องพร้อมที่จะลงมือเปลี่ยนองค์กรด้วยตัวเอง
ผู้นำที่จะบริหารความเปลี่ยนแปลงได้ดีก็คือผู้นำที่สามารถเข้าใจและพร้อมที่จะลงมือทำเองด้วย ในยุคสมัยก่อนผู้นำหลายคนอาจจะสามารถ ‘กระจายงาน’ ส่วนที่ไม่จำเป็นหรือสามารถทำซ้ำให้กับพนักงานได้ อย่างไรก็ตาม ทิศทางยุคดิจิตอลเป็นสิ่งที่ต้องถูกพิจารณาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ความแตกต่างหลักระหว่างภาวะผู้นำในยุคดิจิตอลและภาวะผู้นำทั่วไปมีอยู่สามอย่างได้แก่
ทิศทางในยุคดิจิตอล – นอกจากเป็นทิศทางที่จะต้องถูกพิจารณาและพัฒนาอย่างต่อเนื่องแล้ว ผู้นำจำเป็นที่จะต้องลงมือทำเอง อาจจะเป็นการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆด้วยตัวเอง หรือลงมือสนับสนุนหรือร่วมมือช่วยพนักงานให้มีองค์กรสามารถขับเคลื่อนไปในยุคดิจิตอลได้อย่างต่อเนื่อง
ความเร็วในการเปลี่ยนแปลง – ความเร็วในการเปลี่ยนแปลงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้หลายองค์กรไม่สามารถปรับตัวเข้ากับยุคดิจิตอลได้ ผู้นำในยุคดิจิตอลต้องรู้จักวิธีปรับตัวพัฒนาองค์กรตลอดเวลา ในทางปฏิบัตินั้น ก็ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรเปลี่ยนแปลงได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยที่สุด
การเตรียมพร้อม และ การตอบโต้ – เนื่องจากว่าเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นได้เร็วมาก ผู้นำในยุคดิจิตอลต้องเตรียมตัว เตรียมพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเสมอ การรอให้เทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นเองแล้วค่อยปรับตัวภายหลังแปลว่าองค์กรอาจจะเสียโอกาสในการทำธุรกิจ และเพิ่มความเสี่ยงที่จะโดนคู่แข่งแย่งตลาดไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆแทน การปรับตัวหลังจากที่โดนแย่งความได้เปรียบทางเทคโนโลยีไปแล้วนั้นสามารถทำได้ยากมาก
แน่นอนว่า ‘ทักษะดิจิตอล’ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเหมือนกัน เช่นการรู้จักเครื่องมือการตลาดใหม่ๆ การรู้จักโปรแกรมเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น บางองค์กรอาจจะผลักดันส่วนนี้ด้วยการจ้าง Chief Technology Officer หรือ Information Officer แต่อย่างไรก็ตาม ผู้นำคนอื่นอย่าง CEO COO หรือแม้แต่ CFO ก็ต้องสามารถตามเทคโนโลยีใหม่ให้ทันด้วย
ถึงแม้ทิศทางการพัฒนาองค์กรจะเปลี่ยนไป วิธีการบริหารองค์กรก็ควรจะเหมือนเดิม เช่นการเพิ่มทักษะให้พนักงาน การที่ผู้บริหารลงมาดูแลการเปลี่ยนแปลงเอง และการปรับวัฒนธรรมองค์กรให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง
ในส่วนถัดไปเรามาดูกันว่าทักษะที่ผู้นำในยุคดิจิตอลควรมีคือะไรบ้าง
ทักษะที่ผู้นำในยุคดิจิตอลควรจะมี
เพื่อที่จะ ‘พัฒนาภาวะผู้นำในยุคดิจิตอล’ เรามาลองดูทักษะที่องค์กรต้องพิจารณากัน
การเรียนรู้ และ เรียนรู้ใหม่ (Learning and Re-learning) – การที่จะผลักดันให้องค์กรสามารถปรับตัวตามเทคโนโลยีใหม่ๆได้นั้น ผู้นำต้องรู้จักที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ แต่ความท้าทายหลักของการเรียนรู้ก็คือเทคโนโลยีแต่ละชนิดมีอายุการใช้งานน้อยลงเรื่อยๆ หมายความว่าความรู้หรือทักษะที่เรียนรู้ในปัจจุบัน อาจจะสูญเสียคุณค่าภายใน 5 ปี 10 ปี ในกรณีนี้ผู้นำก็ต้องรู้จักที่จะเรียนรู้ใหม่ และกล้าที่จะทิ้งสิ่งเก่าๆที่เคยเรียนรู้มา
ตัดสินใจด้วยข้อมูลดิจิตอล (Data driven decision making) – ยุคดิจิตอลทำให้องค์กรสามารถเข้าสู่ข้อมูลได้เยอะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลตลาด ข้อมูลผู้ใช้งาน หรือข้อมูลการทำงานของพนักงาน ผู้นำในยุคดิจิตอลต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนนี้ได้และนำข้อมูลส่วนนี้มาใช้งานให้เกิดประโยชน์ เราจะเห็นได้ว่าหลายองค์กรสามารถเข้าถึงข้อมูลดิจิตอลได้เยอะมาก แต่มีไม่กี่องค์กรที่สามารถนำข้อมูลส่วนนี้มาปฏิบัติสร้างโอกาสให้กับธุรกิจได้จริง
ทดสอบ ทดลอง (Experiment) – หากข้อมูลถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในยุคดิจิตอล ‘การทดสอบ ทดลอง’ ก็คือวิธีหาข้อมูลที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญเช่นกัน เป็นที่รู้กันอยู่ว่าการทำธุรกิจหลายครั้งต้องตัดสินใจในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่ผู้นำในยุคดิจิตอลต้องสามารถหาข้อมูลที่ไม่เคยมีมาก่อนได้ด้วย และการหาข้อมูลเข้ามาในรูปแบบของการทดสอบ-ทดลอง โดยความท้าทายก็คือการหาข้อมูลที่ชัดเจนที่สุดด้วยค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
การบริหารบุคลากรในยุคดิจิตอล – การเปลี่ยนองค์กรให้สามารถรองรับ ‘การทดสอบ ทดลอง’ ได้มากขึ้น องค์กรจำเป็นที่จะต้องปรับวัฒนธรรมและวิธีการบริหาร หมายความว่ากระบวนการหลายๆอย่างที่องค์กรทำเพราะง่าย ประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา องค์กรก็ต้องกลับมาพิจารณาอีกรอบว่ากระบวนการเหล่านี้มีความเหมาะสมหรือเปล่า แปลว่าองค์กรต้องสนับสนุนให้พนักงานกล้าที่จะทำอะไรที่แตกต่าง กล้าที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ทุกส่วนขององค์กรสามารถถูกทดสอบทดลองได้ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
เทคโนโลยีและ ‘คนรุ่นใหม่’ เป็นสองสิ่งที่ถูกนำมาเชื่อมโยงกันมากขึ้น หลายองค์กรผลักดันให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้วยการจ้างคนรุ่นใหม่เยอะขึ้น แต่องค์กรที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริงก็คือองค์กรที่พนักงานทุกคน ทุกรุ่น ทุกแผนก และทุกอายุ สามารถปรับเปลี่ยนไปด้วยกัน
หมายความว่าผู้นำในยุคดิจิตอลต้องสามารถปรับทุกส่วนในองค์กรให้รองรับโลกดิจิตอลให้ได้ บางครั้งอาจจะมาในรูปแบบการจัดฝึกอบรมพนักงาน บางครั้งอาจจะมาในรูปแบบการให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมาอยู่ตำแหน่งสูง แต่ทุกครั้งต้องมีผู้บริหาร ผู้นำในองค์กรเข้าร่วมด้วยเสมอ
ข้อควรระวังสำหรับการสร้างภาวะผู้นำในยุคดิจิตอล
ถึงแม้ว่าการพัฒนาภาวะผู้นำในยุคดิจิตอลจะเป็นสิ่งที่จำเป็น (หรือหลีกเลี่ยงไม่ได้) แต่ก็ไม่ใช่ว่าการปรับองค์กรและการพัฒนาบุคลากรนั้นเป็นเรื่องง่ายที่ทุกองค์กรสามารถทำได้ทันที การสร้างภาวะผู้นำในยุคดิจิตอลมีความเสี่ยงและข้อควรระวังหลายอย่าง
ข้อดีก็คือเครื่องมือในการบริหารของผู้นำในยุคดิจิตอลนั้นเป็นเครื่องมือที่มีอยู่แล้วในโลกธุรกิจ ผู้นำที่ดีถ้าจำเป็นจะต้องนำเครื่องมือนี้มาใช้ให้ถูกที่ ทุกเวลา
การจัดการทรัพยากร – สุดท้ายแล้วพื้นฐานการทำธุรกิจก็คือการที่ผู้นำต้องรู้ว่าต้องลงทุนส่วนไหน ต้องลงทรัพยากรไปกับส่วนไหนถึงจะดีที่สุด ในสมัยก่อนวิธีการลงทุนที่ดีที่สุดก็คือการลงทุนกับสิ่งที่สามารถทำซ้ำได้ ส่วนไหนที่องค์กรทำได้ดีก็ควรที่จะทำเพิ่ม ทำมากกว่าเดิม แต่ในยุคดิจิตอลนั้นองค์กรต้องรู้จักบริหารความเสี่ยงด้วยการย้ายทรัพยากรไปยังกระบวนการใหม่เพื่อสร้างสิ่งที่หมายและแตกต่างอยู่เสมอ
พนักงานและกระบวนการทำงาน – ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะเป็นตัวผลักดันองค์กร แต่พนักงานก็คือฟันเฟืองหลักที่จะใช้ผลักดันเทคโนโลยี หมายความว่าองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีอย่างเดียว โดยไม่มีการฝึกฝน อบรม หรือพัฒนาพนักงาน ก็จะประสบปัญหาไม่จบไม่สิ้น ในกรณีนี้ผู้นำองค์กรต้องเข้าใจว่าทรัพยากรหลักในยุคดิจิตอลก็คือพนักงาน และกระบวนการทำงานที่ดีที่สุดก็คือการฝึกพนักงานให้มีทักษะที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
บริหารความเปลี่ยนแปลง – องค์กรที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้คือองค์กรที่ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันเดินหน้าไปพร้อมกันได้ เพราะคนที่เดินช้าก็จะกลายเป็น ‘ปัญหาคอขวดของบริษัท’ วิธีแก้ปัญหาส่วนนี้ไม่ใช่การไล่พนักงานเก่าออกแล้วเอาคนใหม่เข้ามาแทน แต่วิธีแก้ปัญหาที่แท้จริงก็คือการบริหารความเปลี่ยนแปลง ผู้นำที่ดีต้องรู้จักวิธีการผลักดันพนักงานทุกคนในองค์กรไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้พร้อมกัน
ในส่วนนี้ผมแนะนำให้ศึกษาเรื่อง ‘การบริหารความเปลี่ยนแปลง’ ด้วยครับ
ภาวะผู้นำในยุคดิจิตอลและความจำเป็นที่เลี่ยงไม่ได้
เราจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยียุคดิจิตอลนั้นได้เปลี่ยนแปลงทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคและวิธีการทำงานของพนักงานไปอย่างสิ้นเชิง หมายความว่าทักษะภาวะผู้นำในยุคดิจิตอลก็ต้องสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ด้วย
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนส่วนมากมองเทคโนโลยีว่าเป็น ‘เครื่องมือของคนรุ่นใหม่’ ทำให้ผู้นำองค์กรส่วนมาก (ที่มักจะเป็นคนมีประสบการณ์และมีอายุ) ถูกมองว่าไม่มีทักษะทางด้านนี้ แต่ที่สำคัญกว่าก็คือถูกเข้าใจว่าไม่สามารถเรียนรู้ทักษะภาวะผู้นำในยุคดิจิตอลได้
สุดท้ายนี้เราจะเห็นได้ว่าโอกาสสำหรับผู้นำที่ ‘เข้าใจยุคดิจิตอล’ นั้นมีอยู่มหาศาลมาก และผู้นำในองค์กรไม่ว่าจะเก่งเรื่องเทคโนโลยีหรือ data มากแค่ไหน ก็ควรเริ่มที่จะเปิดรับและเตรียมพัฒนาผู้นำในยุคดิจิตอลให้มากขึ้น