Ecommerce คืออะไร? เหมือนกับการตลาดออนไลน์หรือเปล่านะ?

Ecommerce คืออะไร? Electronic Commerce พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

สำหรับคนในยุคนี้ การซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ ecommerce อาจจะฟังดูเป็นอะไรที่ธรรมดามาก แต่คนที่มีอายุมากหน่อยก็อาจเห็นได้ว่า หลังจากที่อินเทอร์เน็ตถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้นในปี 1980-1990 โลกของเราก็ได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง 

ในบทความนี้เรามาดูกันว่า ecommerce คืออะไรกันแน่ ประเภทของ ecommerce แบบต่างๆมีอะไรบ้าง และกลยุทธ์การทำธุรกิจออนไลน์ที่ดีควรจะเป็นอย่างไร

Ecommerce คืออะไร? (พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์)

Ecommerce หรือ Electronic Commerce แปลตรงตัวว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หมายถึงการซื้อและการขายสินค้าและบริการผ่านอินเทอร์เน็ต และรวมถึงการโอนหรือส่งมอบเงินและข้อมูล เพื่อการทำการพาณิชย์ดังกล่าวด้วย โดยที่ Ecommerce เป็นคำที่มักถูกใช้อธิบายการขายของผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ

ซึ่ง ecommerce หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ก็จำกัดความแค่ว่าธุรกิจต้องทำธุรกรรมในการพาณิชย์ผ่านทางออนไลน์ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของคำว่า ‘ธุรกิจออนไลน์’ ที่มีการดำเนินการและปฏิบัติการส่วนอื่นผ่านระบบออนไลน์ด้วย ซึ่งอาจจะรวมถึงการผลิตสินค้า (การเขียนโปรแกรม) หรือการบัญชีการเงินต่างๆ เป็นต้นเช่น

Ecommerce หมายถึงการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าออนไลน์
แต่ไม่จำเป็นต้องรวมถึงการชำระเงินออนไลน์ หรือการทำระบบส่งมอบสินค้าแบบออนไลน์

เราจะเห็นได้ว่า ecommerce ทำให้การซื้อขายหลายๆอย่าง สะดวกสบายและง่ายขึ้นมาก เพราะผู้ซื้อมีตัวเลือกเยอะขึ้น และไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดตัวเลือกผ่านสถานที่หรือทำเลอีกต่อไป ส่วนผู้ขายก็สามารถเข้าถึงผู้ซื้อได้เยอะขึ้นเช่นกัน โดยที่ช่องทางการขายแบบ ecommerce ก็มีอยู่หลากหลายมาก นับว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับทุกขนาดและทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเจ้าของคนเดียว ธุรกิจ sme หรือธุรกิจขนาดใหญ่ก็ตาม

หากเราเข้าใจความหมายเบื้องต้นของ ecommerce กันแล้ว เรามาลองดูประเภทการทำธุรกิจแบบ ecommerce ในรูปแบบต่างๆกันบ้าง

ประเภทต่างๆของ Ecommerce

การขายของผ่านโลกออนไลน์นั้นมีอยู่หลายวิธีมาก ซึ่งแต่ละวิธีก็เป็นการขายผ่านทางเทคโนโลยีหรือรูปแบบธุรกิจที่ต่างกัน ในส่วนนี้เรามาลองดูกันว่าประเภทของ ecommerce มีอะไรบ้าง

ร้านค้าออนไลน์ (Online Stores) – สิ่งแรกเลยก็คือเว็บไซต์ขายของออนไลน์ทั่วไป ผู้ขายหรือร้านค้าธุรกิจสามารถสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อขายสินค้าของตัวเองได้ โดยที่ข้อความซับซ้อนของเว็บไซต์ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า และพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ซึ่งอาจจะรวมถึงเว็บไซต์ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าของผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ดัง หรือเว็บขายคอร์สออนไลน์ของโค้ชต่างๆ

เว็บไซต์สื่อกลาง (Marketplace) – เป็นธุรกิจขายของออนไลน์ที่ทำตัวเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย คนไทยก็อาจจะรู้จักเว็บไซต์ต่างๆเช่น Shopee Lazada ที่คุณจะสามารถค้นหาสินค้าประเภทไหนก็ได้ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ 

ขายของออนไลน์ผ่านโลกโซเชียล (Social Commerce) – สำหรับบางธุรกิจ การขายของออนไลน์ก็ไม่ได้จำกัดว่าตัวเองต้องมีเว็บไซต์ หรือต้องไปฝากพ่อค้าคนกลางคนอื่นขาย พ่อค้าแม่ค้าบางคนสามารถเปิดร้านบน Facebook หรือ Instagram เพื่อทำการโฆษณา พูดคุยกับลูกค้า และปิดการขายได้ภายในทีเดียว ข้อดีก็คือโลกโซเชียลมีฐานลูกค้าเยอะอยู่แล้ว แต่ข้อเสียก็คือร้านค้าส่วนมากก็ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ของเว็บไซต์นั้นๆ

ข้อคิดหลักของการเลือก ‘ช่องทางในการขาย’ สินค้าออนไลน์ก็คือ ‘ฐานลูกค้า’ ‘การควบคุม’ และ ‘คู่แข่ง’ หากเราพึ่งพาร้านค้าขนาดใหญ่อย่าง Shopee Lazada เราก็สามารถเข้าถึงลูกค้าได้หลายล้านคน แต่ก็จะมีคู่แข่งเยอะเช่นกัน 

แต่ถ้าเราขายของผ่านโลกโซเชียลอย่างการเปิดร้านบน Facebook และ Instagram เราก็จะสามารถสร้างแฟนคลับ สร้างกลุ่มลูกค้าของตัวเองได้ในระดับหนึ่ง แต่การทำแบบนี้ก็ยังเป็นการเอา ‘กลุ่มลูกค้า’ ไปผูกไว้กับกฎเกณฑ์ของเว็บไซต์นั้นๆอยู่ดี ทำให้เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้มาก เวลาเจ้าของเว็บเปลี่ยนกฎเกณฑ์ หน้าร้านเราก็อาจถูกกระทบได้

การพึ่งพาเว็บไซต์ หรือ ช่องทางไหนมากเกินไป ก็คือการ
‘ยืมจมูกคนอื่นหายใจ’

แต่หากเรามีหน้าร้านเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เราก็จะสามารถควบคุมประสบการณ์การซื้อของลูกค้าได้ทุกอย่าง อย่างไรก็ตามเราก็ต้องมีความรู้ทางด้านการสร้างเว็บไซต์ การออกแบบเว็บไซต์ และก็ต้องรู้วิธีทำการตลาดเรียกลูกค้าด้วย ซึ่งก็เป็นความท้าทายของเจ้าของธุรกิจที่ไม่เก่งเทคโนโลยี 

โดยรวมแล้ว ecommerce ที่ทุกคนพูดถึงก็มีอยู่แค่สามรูปแบบด้านบนนั่นเอง แต่ในไม่กี่ปีมานี้ นักธุรกิจออนไลน์หลายคนเริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า Mobile Commerce หรือ ‘พาณิชย์ออนไลน์เคลื่อนที่’ มากขึ้น ซึ่งหลักการของ mobile commerce ก็คือการทำให้การขายของออนไลน์ผ่านมือถือเป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับลูกค้า เพราะเทรนด์ธุรกิจและเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้นมีการค้าขายผ่านมือถืออย่างเดียวมากขึ้นเรื่อยๆ

ในปัจจุบัน ลูกค้าออนไลน์มากกว่า 60%
มาจากโทรศัพท์ Smart Phone

3 ชนิดของสินค้าที่ถูกขายผ่าน Ecommerce

หลังจากที่เราทำความเข้าใจประเภทของ ecommerce แบบต่างๆแล้ว เรามาลองดูกันว่า ประเภทของสินค้าที่ถูกขายผ่านออนไลน์มีอะไรบ้าง 

สินค้าที่จับต้องได้ (Physical Goods) – เป็นประเภทสินค้าที่ทุกคนนึกถึงมากที่สุด เวลาพูดถึงการขายของออนไลน์แบบ ecommerce คนส่วนมากก็นึกถึงการขายสินค้าที่จับต้องได้ทั่วไป ซึ่งก็รวมถึงสินค้าทุกอย่างตั้งแต่คลิปหนีบกระดาษชิ้นเล็กๆไปจนถึงรถยนต์หลายแสนบาท ส่วนมากแล้ว การขายของประเภทนี้ต้องมีการคำนึงถึงการขนส่งสินค้าด้วย 

บริการ (Services) – บริการก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่สามารถขายได้ผ่าน ecommerce ยกตัวอย่างเช่นการนัดร้านทำเล็บ การขายห้องในโรงแรม การจองคิวหมอฟัน ซึ่งส่วนมากธุรกิจพวกนี้ก็จะใช้ช่องทางออนไลน์ในให้ข้อมูลลูกค้า การรับจองบริการ การให้คำปรึกษา และชำระเงิน

สินค้าดิจิตัล (Digital Products) – สินค้าดิจิตอลเป็นประเภทสินค้าที่มีความนิยมมากขึ้นในไม่กี่ปีมานี้ รวมถึงโปรแกรม รูปภาพ หนังสือ ไฟล์เสียง วีดีโอต่างๆเป็นต้น หากเรามองว่าธุรกิจ ecommerce เป็นธุรกิจที่ทำบนโลกดิจิตัล การขายสินค้าดิจิตัลก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเท่าไร

Ecommerce Marketing: การตลาดสำหรับ ecommerce และการตลาดออนไลน์

เวลาพูดถึงคำว่า ecommerce หลายคนก็จะพูดถึง ecommerce marketing หรือการตลาดสำหรับ ecommerce นั่นเอง อย่างไรก็ตาม การตลาดของ ecommerce นั้นก็จะต่างจาก ‘การตลาดออนไลน์’ ที่ทุกคนรู้จักในบางส่วน ซึ่งในบทความส่วนนี้ ผมจะขออธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง ecommerce marketing และ การตลาดออนไลน์แบบสั้นๆนะครับ

Ecommerce Marketing แปลตรงตัวก็คือการทำการตลาดสำหรับธุรกิจแบบ ecommerce ซึ่งก็จะรวมถึงการตลาดต่างๆ เป็นการสร้างแบรนด์ การประชาสัมพันธ์ การเป็นคู่ค้ากับธุรกิจอื่น และ รวมถึงเทคนิคการตลาดออนไลน์ต่างๆเช่นการซื้อโฆษณาออนไลน์ และการทำ seo ด้วย

ส่วนการตลาดออนไลน์ ก็หมายถึงทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น social media การซื้อโฆษณาออนไลน์ การทำseo เป็นต้น

ธุรกิจ ecommerce ไม่ได้จำเป็นต้องใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อทำการตลาดอย่างเดียว บางธุรกิจก็อาจจะไปออก Trade Show ไปงานสัมมนา หรือซื้อป้ายโฆษณาหน้าห้างเพื่อที่จะหาลูกค้าเพิ่มก็ได้ และการตลาดออนไลน์ก็สามารถใช้กับธุรกิจอื่นที่ไม่ได้ทำการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเดียวเช่นกัน

ข้อดี-ข้อเสีย ของ Ecommerce

Ecommerce เป็นวิธีการค้าขายทำธุรกิจอย่างหนึ่ง ซึ่งก็หมายความว่าหากเทียบกับธุรกิจทั่วไปธุรกิจอย่างอื่นแล้ว การทำธุรกิจแบบ ecommerce ก็มีข้อดีข้อเสียเช่นกัน 

การมีข้อดีข้อเสียก็ไม่ได้แปลว่าธุรกิจนี้ดีหรือไม่ดีแต่อย่างไร เพียงแค่คนที่ทำธุรกิจก็ต้องนำข้อดีมาใช้ให้ถูกวิธี และหาวิธีป้องกันตัวเองจากอุปสรรคและจุดด้อยต่างๆของ ecommerce

ในส่วนนี้เรามาลองดูกันว่าข้อดีและข้อเสียของ ecommerce มีอะไรบ้าง

5 ข้อดีของ Ecommerce ที่เปลี่ยนโลกมาแล้ว

#1 เข้าถึงผู้คนได้มากกว่าและตลาดที่ใหญ่กว่า – สิ่งที่คนพูดถึงเวลาพูดถึง ecommerce ก็คือตลาดที่ใหญ่กว่า หมายความว่าเราสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วประเทศทั่วโลก จากเว็บไซต์หรือหน้าร้านออนไลน์แค่หน้าร้านเดียว 

#2 การจัดเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลที่ลึกกว่า – ธุรกิจออนไลน์ส่วนมากจะมีเครื่องมือการจัดเก็บข้อมูลได้ดีกว่า เริ่มจากข้อมูลลูกค้า ข้อมูลการตลาด ข้อมูลการซื้อขาย หรือบางบริษัทก็รวมไปถึงข้อมูลสต็อกสินค้าและข้อมูลการจัดส่งด้วย ซึ่งการมีข้อมูลมากกว่าก็หมายถึงว่าเรามีทรัพย์สินมากกว่า และเราสามารถหาช่องทางในการนำข้อมูลนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ดีขึ้น

#3 ค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า – หลายคนพูดไว้ว่าการมีเว็บไซต์ หากเทียบกับการมีหน้าร้านแล้วก็ถือว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น เราไม่ต้องซื้อที่ดิน ไม่ต้องมีการสร้างตึก ไม่ต้องมีการตกแต่งหน้าร้าน และไม่ต้องมีการจ้างพนักงานมาดูแล ซึ่งโดยรวมแล้วการประหยัดค่าใช้จ่ายพวกนี้ หากเทียบกับค่าใช้จ่ายในการสร้างเว็บไซต์ก็ถือว่าค่าใช้จ่ายของ ecommerce ต่ำกว่ามากจริงๆ

#4 สามารถขยายหรือลดขนาดกิจการได้ง่ายกว่า – ธุรกิจออนไลน์ส่วนมากสามารถปรับตัวได้ง่ายกว่า ทั้งเวลาที่ธุรกิจต้องการที่จะขยายหรือเวลาที่ธุรกิจต้องการลดขนาด ซึ่งส่วนนี้ธุรกิจที่มีหน้าร้านที่มีการลงทุนกับการสร้างพื้นที่เยอะ การจ้างพนักงานเยอะ จะไม่สามารถทำได้ง่ายเพราะจะถูกจำกัดและปัจจัยอย่างจำนวนพื้นที่ที่สามารถซื้อได้และจำนวนพนักงานที่สามารถจ้างได้ในเวลาที่จำกัด

#5 ไม่ได้ถูกจำกัดด้วย ‘พื้นที่ชั้นวาง’ ของ – ข้อจำกัดอีกอย่างในการขยายร้านของกิจการปกติก็คือพื้นที่หน้าร้านหรือชั้นวางของนั่นเอง ชั้นวางของหนึ่งชั้นก็สามารถวางสินค้าได้แค่ไม่กี่ชิ้น หมายความว่าการที่ร้านค้าจะเพิ่มจำนวนสินค้าที่จะขายแต่ละที ก็ต้องหาพื้นที่ในการวางสินค้าเพิ่ม ซึ่งจุดนี้ธุรกิจแบบ ecommerce จะสามารถทำได้ง่ายกว่า ตราบใดที่คนออกแบบเว็บไซต์หรือร้านค้าออนไลน์ยังมีความคิดสร้างสรรค์อยู่

ประโยชน์ของ ecommerce นั้นมีอยู่อีกมากมาย ขึ้นอยู่กับวิธีการออกแบบธุรกิจเลย ร้านออนไลน์ส่วนมากสามารถเข้าถึงลูกค้าและขายสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง แม้วันอาทิตย์หรือวันหยุดราชการก็ยังขายได้ 

บางร้านที่เก่งเทคโนโลยีมากหน่อย ก็สามารถหาเครื่องมือการตลาด เครื่องมือโปรแกรมในการทำธุรกิจมาเสริมธุรกิจ ecommerce ได้ง่ายในราคาถูก ยกตัวอย่างเช่นเครื่องมือส่งอีเมลไปเตือนลูกค้า เครื่องมือการตลาดออนไลน์ต่างๆ เครื่องมือจัดเก็บสต๊อกต่างๆที่สามารถพลิกแพลงให้เข้ากับธุรกิจ ecommerce ได้ง่าย

ข้อเสียของ ecommerce ที่เราต้องระวังให้ดี

#1 ประสบการณ์การเดินร้านของลูกค้าได้หายไป – ข้อเสียอย่างแรกของการซื้อขายแบบ ecommerce ก็คือ ‘ประสบการณ์การเดินร้าน’ ลูกค้าบางคนก็อยากดูสินค้าด้วยตัวเอง บางคนก็อยากพูดคุยปรึกษาพนักงานขาย บางคนก็อยากจะลองใช้สินค้าดูก่อน ประสบการณ์การเดินร้านแบบนี้ธุรกิจแบบ ecommerce ยังไม่สามารถเทียบเทียบกับธุรกิจค้าขายทั่วไปได้

#2 คู่แข่งเยอะและคู่แข่งจะรวมกันอยู่ที่ไม่กี่จุด – ต่อให้จำนวนลูกค้าหรือตลาดใหญ่แค่ไหน กลไกของโลกออนไลน์ก็จะทำให้ลูกค้ามากระจุกอยู่ที่เดียวกันในร้านออนไลน์ไม่กี่ร้าน และในช่องทางการขายไม่กี่ช่องทาง หมายความว่าหากธุรกิจไม่ได้แข็งแกร่ง โดดเด่น แตกต่าง มากเพียงพอ ก็ธุรกิจ ecommerce ทั่วไปก็จะไม่สามารถอยู่รอดได้ เพราะไม่ได้มีกำแพงอย่าง ‘ทำเล’ มาช่วยเกื้อหนุน  

#3 การเปรียบเทียบสินค้าที่ทำได้ง่ายกว่า – การเปรียบเทียบสินค้าเป็นสิ่งที่เกิดได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจที่ใช้พื้นที่ร้านค้าของคนอื่น เช่นการขายของผ่านโซเชียล  และการขายของผ่านตัวกลาง (marketplace) อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ คนที่เดินห้างทั่วไปก็มีการเปิดมือถือเช็คราคาสินค้าออนไลน์ด้วยเช่นกัน อาจจะมีไม่มากแต่ก็เป็นกลุ่มลูกค้าที่เข้าถึงข้อมูลได้เร็วทั้งออนไลน์และออฟไลน์

#4 ลูกค้าจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ต – หมายความว่าลูกค้าบางกลุ่มในประเทศไทย ที่ยังไม่ได้ใช้อินเตอร์เน็ตมากขนาดนั้น อาจจะไม่ใช่กลุ่มลูกค้าที่เหมาะสมสำหรับ ecommerce ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำบางประเภท ในกรณีนี้เจ้าของร้าน ecommerce ก็ต้องเลือกลูกค้าให้เหมาะสมกับวิธีการขาย

#5 วิธีการชำระเงินของลูกค้า – อีกหนึ่งความหนักใจของการขายของออนไลน์ในประเทศไทยก็คือวิธีการชำระเงิน ส่วนมากนั้นวิธีการชำระเงินที่ดีที่สุดก็คือการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตทันทีที่ลูกค้าตัดสินใจซื้อของ แต่ผู้ใช้ในประเทศส่วนมากก็ยังไม่นิยมใช้บัตรเครดิต ซึ่งตัวเลือกรองลงมาจากการใช้บัตรเครดิตก็คือการโอนเงินและการชำระเงินปลายทาง โดยที่การโอนเงินก็มีโอกาสทำให้ลูกค้าหลุด เปลี่ยนใจก่อนที่จะซื้อจริง ส่วนการชำระเงินปลายทาง ก็มีความเสี่ยงในการโดนปฏิเสธสินค้าเช่นกัน

#6 ความเสี่ยงจากการรวมทรัพย์สินไว้อยู่ในที่เดียวกัน – ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจทุกคนต้องคำนึงถึง หาธุรกิจที่มีหลายหน้าร้านในหลายๆพื้นที่ประสบอุปสรรคบางอย่าง เช่นสาขาเกิดไฟไหม้ ธุรกิจนี้ก็ยังจะมีรายได้จากร้านอื่นๆมารองรับ แต่สำหรับธุรกิจ ecommerce ที่มีหน้าร้านเดียว หากเว็บไซต์ล่ม หรือเกิดปัญหาขัดข้องบางอย่าง รายได้ธุรกิจก็จะหายไปทันที ในส่วนนี้ก็เป็นปัญหาทางเทคโนโลยีที่เจ้าของต้องทำความเข้าใจ และหาวิธีแก้ไข

เราจะเห็นได้ว่าข้อดีบางอย่างก็อาจจะไม่ใช่ข้อดีทีเดียว ข้อเสียก็เช่นกัน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์และโอกาส หมายความว่าธุรกิจที่สามารถหาโอกาสให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ก็จะเป็นธุรกิจ ecommerce ที่ยั่งยืนนั่นเอง

ตัวอย่างธุรกิจ Ecommerce ที่ไปรอด

อย่างที่บอกไว้ก็คือธุรกิจ ecommerce เป็นธุรกิจที่ค่อนข้างใหม่ ทำให้ตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จนั้นมีอยู่น้อย โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ยังถือว่ามาหลังแบบช้าๆ หากเทียบกับยักษ์ใหญ่จากประเทศจีนและอเมริกาอยู่มาก 

ในส่วนนี้เรามาลองดูตัวอย่างของธุรกิจ ecommerce ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยและในต่างประเทศกันดูครับ

Lazada/Shopee – เป็นสองยักษ์ใหญ่ ecommerce ในไทยที่มีหน้าที่เป็นตัวกลางให้พ่อค้าแม่ค้าหลายคนมาสร้างหน้าร้านออนไลน์บนเว็บนี้ ถึงแม้สองธุรกิจนี้จะยังขาดทุนอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากว่าธุรกิจสองอย่างนี้มีสายป่านที่ยาว ทั้งสองเจ้ามีผู้สนับสนุนเป็นบริษัทหลักพันล้านเหรียญจากจีนและสิงคโปร์ ทำให้สามารถกดราคาแข่งกันเพื่อแย่งลูกค้าได้อีกหลายปี

Grab – หลายคนอาจจะมองธุรกิจนี้ว่าเป็นบริษัทเรียกแท็กซี่ เรียกมอเตอร์ไซค์ แต่หัวใจของ Grab ก็ยังมีความเป็น ecommerce อยู่เยอะ เนื่องจากมีการทำพาณิชย์บางส่วนผ่านการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เราอาจจะมอง Grab ว่าเป็น ecommerce ที่เป็นตัวกลาง หรือ marketplace ระหว่างผู้ซื้อทั่วไปและบริการอย่างแท็กซี่มอเตอร์ไซค์ ถึงแม้ธุรกิจนี้จะมีอุปสรรคทางด้านกฎหมายอยู่บ้าง และก็ยังไม่สามารถทำกำไรได้ แต่โดยรวมแล้วคนไทยก็ยังนิยมอยู่มาก

JIB – ร้านคอมพิวเตอร์เจไอบี ก็มีหน้าร้านขายออนไลน์เป็นของตัวเอง ผมเคยดูสัมภาษณ์เจ้าของบริษัท ว่ารายได้จากเว็บไซต์ของเจไอบีนั้นเป็นมากถึง 14% ของรายได้ทั้งหมดในบริษัท นอกจากนั้นแล้วตัวบริษัทเองยังโตขึ้นเรื่อยๆปีต่อปี แบบไม่ง้อเศรษฐกิจเลย เรียกว่าเป็นเว็บไซต์จากคนไทย 100% ที่มีความน่าสนใจมาก อาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนเจ้าอื่นๆ แต่ก็เป็นแนวทางธุรกิจที่ยั่งยืน

Ookbee – เป็นตัวกลางจำหน่ายหนังสือออนไลน์ หนังสือ ebook เจ้าใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และเป็นบริษัท Startup ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในประเทศไทย ถึงแม้บริษัทอาจจะไม่ได้มีพนักงานเยอะเทียบกับบริษัท ecommerce ใหญ่ๆหลายเจ้า แต่ Ookbee ก็เป็นบริษัทที่มีการทดสอบอะไรใหม่ๆเยอะ มีการปรับปรุงปรับเปลี่ยนวิธีทำธุรกิจตัวเองอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถอยู่รอดได้มาถึงทุกวันนี้ 

บางบริษัทอาจจะมีธุรกิจหลายโมเดล มีรายได้หลายทาง ยกตัวอย่างเช่น Central Group มีห้าง และก็มีเว็บไซต์ขายของออนไลน์เป็นของตัวเอง ในกรณีนี้เราก็อาจจะบอกว่าเซ็นทรัลมีเครือข่ายธุรกิจที่ทำ ecommerce แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทั้งบริษัทของ Central เป็น ecommerce ทั้งหมด ในกรณีนี้บริษัทอย่าง Grab JIB หรือ Ookbee ก็จะมีโมเดลธุรกิจคล้ายๆกัน คือมีรายได้หลายทิศทาง

การแข่งขันในตลาดจะบังคับให้ธุรกิจปรับตัวมากขึ้น ยิ่งเป็นธุรกิจบนโลกออนไลน์ยิ่งจำเป็นต้องปรับตัวเร็วและปรับตัวให้เยอะเข้าไว้ ยักษ์ใหญ่อย่าง Lazada และ Shopee ที่เห็นว่า ‘กำไร’ จากการขายของออนไลน์เริ่มน้อยลงเรื่อยๆ (รายได้เยอะแต่กำไรน้อย เพราะมีทำการตลาดเยอะ และมีการตัดราคาเยอะ) ก็เริ่มหันมาลองดูโมเดลธุรกิจใหม่ๆเช่นการชำระเงิน (Payment Solution) เป็นต้น

ประเทศไทยเป็นประเทศที่แปลก เพราะกว่า ecommerce จะเริ่มบูมขึ้นมา (กว่าคนไทยจะมีเนตเร็วๆที่บ้าน มีบัตรเครดิต มีขนส่งที่ดี) โมเดลธุรกิจ ecommerce ทั่วโลกก็ได้ปรับไปไกลแล้ว เราได้ ‘ข้ามยุค’ ของการซื้อขายของออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ภายในไม่กี่ปี ข้ามไปยังยุคการซื้อขายบนมือถือ ยุคธุรกิจ startup ยุคธุรกิจ marketplace ต่างๆเลย ทั้งๆที่ผู้ใช้ทั่วประเทศยังไม่ค่อยเข้าใจโมเดลนี้ดี 

ไม่เชื่อก็ลองเปรียบเทียบกับยักษ์ใหญ่ในอเมริกาอย่าง Amazon ที่ใช้เวลากว่า 20 ปีกว่าจะสร้างฐานธุรกิจได้ขนาดนี้ แต่ประเทศไทยข้ามจาก 2.0 ไป 4.0 เลย ภายใน 4-5 ปีเอง ทั้งในรูปแบบเทคโนโลยี โมเดลธุรกิจ และการออกแบบเว็บไซต์ 

เราจะเห็นได้ว่าถึงแม้ ecommerce จะเป็นธุรกิจที่มีความใหม่และอาจเข้าถึงได้ยากสำหรับคนทั่วไป แต่ตัวเลขผู้ใช้งานและขนาดธุรกิจก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า คนไทยพร้อมที่จะเปิดใจเข้าถึง ecommerce มากขึ้นเรื่อยๆ 

เคยมีรายงานวิจัยว่าคนไทยมากกว่า 15 ล้านคนเป็นลูกค้าของธุรกิจ ecommerce ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง (คิดว่าเป็นตัวเลขที่ยังไม่รวมพวกซื้อของผ่าน Facebook/IG) ซึ่งตัวเลขนี้ก็ถือว่ายังเล็กน้อยอยู่หากเทียบกับประชากรในประเทศไทย 70 ล้านคน 

ผมคาดหวังว่าในอนาคตไม่กี่ปีนี้ จำนวนผู้ซื้อของออนไลน์จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ การแข่งขันของร้านค้าออนไลน์ก็จะเยอะขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้เราเริ่มเห็นแล้วว่า SME ขนาดเล็กที่ไม่มีตัวตนออนไลน์เริ่มประสบปัญหาทางด้านรายได้แล้วเพราะถูกแย่งลูกค้าไปหมด แต่ในอนาคตบริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ขยายตัวไปในโลกออนไลน์ก็คงจะเจอปัญหาแบบเดียวกันอย่างแน่นอน

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด