Fake News คืออะไร? การโกหกด้วยตัวเลขและความน่าเชื่อถือปลอมๆ

Fake News คืออะไร? การโกหกด้วยตัวเลขและความน่าเชื่อถือปลอมๆ

บทความนี้ ผมทำขึ้นมาเป็นพิเศษเพราะผมอยากจะให้ทุกคนระวังมากขึ้น เพราะจริงๆแล้วสื่อหลายๆที่กำลังโกหกคุณอยู่

ในยุคสมัยนี้ไม่ว่าใครก็เป็นสื่อได้ และด้วยเหตุผลที่ว่าทั้งกฎหมายและเจ้าของ platform ต่างๆ ไม่สามารถควบคุมคุณภาพของ Content ทุกอย่างได้ ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดนั้นทำได้ง่าย หลายคนเรียกสิ่งนี้ว่า Fake News

Fake News คืออะไร

Fake News หรือ ข่าวปลอมเป็นข้อมูลเท็จหรือข้อมูลที่มีเจตุจํานงค์ทำให้คนเข้าใจผิด มักมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายชื่อเสียงของบุคคลหรือนิติบุคคล หรือสร้างรายได้การหลอกผู้รับข้อมูล Fake News เป็นปัญหาสังคมที่มีมานานแล้ว แต่ถูกทำให้เป็นปัญหามากขึ้นในยุคโซเชียลมีเดีย

ก่อนที่เราจะไปลงรายละเอียดกัน ผมขอถามทุกคนคำถามเองว่า ครั้งสุดท้ายที่คุณอ่านข้อมูลจากโซเชียลต่างๆ แล้วไปค้นหาข้อมูลต้นฉบับเพิ่มเติม หรือไปหาบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมคือเมื่อไหร่กัน …งานวิจัยของ We Are Social บอกไว้ว่าเราใช้เวลาโดยเฉลี่ย 2 ชม 24 นาที ในโลกโซเชียล แต่จริงๆแล้วเราใช้เวลาน้อยมากแค่ไหนเพื่อหยุดคิด หรือหยุดพิจารณาข้อเท็จจริงของข้อมูลที่เรากำลังรับอยู่

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ที่ผมบอกคุณว่าเราใช้เวลาเฉลี่ย 2 ชั่วโมงกว่าๆ คุณคิดว่าผมพูดจริงหรือเปล่า? ถ้าผมพูดมั่วๆ พูดโกหกไปคุณจะรู้ได้ยังไง ยิ่งผมมีการใช้อ้างอิงองค์กรต่าง (ซึ่งคุณรู้จักหรือเปล่าก็ไม่รู้) แถมยังมีการหยิบตัวเลขที่ค่อนข้างจะละเอียดออกมาพูดอีก ข้อเท็จจริงเป็นยังไงเราก็ไม่รู้หรอกครับ … เพียงแต่ว่า ‘มันฟังดูน่าเชื่อถือ’

Fake News บางอย่าง เราก็บอกได้ง่าย เช่นหากมีคนบอกว่าเห็นหมูบินได้ เห็นสุนัข 2 หัว คนทั่วไปก็สามารถบอกได้ว่าน่าจะเป็น Fake News แต่พอมีการอ้างอิงงานวิจัย มีการหยิบยกตัวเลข มีการให้คนหรือให้สื่อที่น่าเชื่อถือออกมาพูด ผู้ฟังส่วนมากก็มักจะการ์ดตก เพราะเนื้อหาที่เราได้ยิน และเพราะคนที่บอกกับเราเคยเป็นฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เราก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อในสิ่งนี้

ปัญหาของ Fake News ในสังคมยุคใหม่

ในโลกการตลาดสมัยก่อน ชอบใช้คำนี้กันครับ ‘หมอ 4 ใน 5 คนเห็นว่า’ หรือ ‘ทันตแพทย์ 9 ใน 10 คนแนะนำ’ ซึ่งประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันเยอะมาก ในสมัยนี้ประเทศส่วนมากก็ไม่ค่อยสนับสนุนการทำการตลาดแบบนี้เท่าไหร่ สาเหตุก็เพราะว่าประโยคเหล่านี้เป็น ‘ความจริงแค่ส่วนเดียว’ ที่ถูกนำมาตีความให้บิดเบี้ยว … ประโยคนี้หมายความว่าอย่างไรเดี๋ยวผมจะอธิบายเพิ่มเติมให้ฟัง

สมมุติว่าผมมีเหรียญ 1 เหรียญ แล้วผมโยนเหรียญครั้งนี้ 5 ครั้ง โชคดีผมได้หัว 4 ครั้ง ผมก็สามารถนำไปโม้ให้เพื่อนผมฟังได้ใช่ไหมครับว่า ผมโยนเหรียญเนี่ยได้ 4 จาก 5 เลยนะ เพราะมันเป็นความจริงที่ผมทำได้ …. แต่ปัญหาก็คือ เราสามารถทำซ้ำได้หรือเปล่า หากผมโยนเหรียญเดิมอีก 100 ปี 1000 ที ผมจะได้หัวกี่ครั้ง

ในมุมมองนี้ ถ้าในโลกการตลาด เราประกาศว่าหมอ 9 ใน 10 คนแนะนำ เพราะว่าเราถามหมอที่เรารู้จัก 10 คน เราก็ไม่สามารถรับประกันได้ใช่ไหมครับว่าถ้าเราไปถามหมอ 100 คน 1,000 คนทั่วประเทศไทย หมอกี่เปอร์เซ็นกันแน่ที่จะแนะนำต่อ?

วันก่อนผมไปเห็นโพสต์อันนึงใน Facebook  ว่า “ส่งออก” ไทย เดือน มิถุนายน ทำ ”นิวไฮ” ในรอบ 11 ปี เติบโต 43.82% ซึ่งประโยคนี้ก็ได้รับการถกเถียงกันเยอะมากในคอมเม้น Facebook

เป้าหมายของโพสต์นี้คือการบอกว่าเศรษฐกิจประเทศไทยกำลังเติบโตขึ้นเพราะการส่งออกโตขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ซึ่งเป็นตัวเลขที่เยอะมากๆ เยอะที่สุดแล้วในรอบ 11 ปีที่ผ่านมา… ทีนี้ปัญหาคืออะไร? หากเรามาดูตัวเลขกันจริงๆนะ เราก็จะเห็นได้ว่า 

รายได้ส่งออก ปี 2562 – 1.9 ล้านล้านบาท ไตรมาส 2
รายได้ส่งออก ปี 2563 – 1.6 ล้านล้านบาท ไตรมาส 2
รายได้ส่งออก ปี 2564 – 2.1 ล้านล้านบาท ไตรมาส 2

ถ้าเราดูแค่ตัวเลขของ 2563 ไป 2564  เราก็พูดได้ใช่ไหมครับว่าโตขึ้นมาจาก 1.6 ไป 2.1 เป็นการโตสี่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์จริงๆ แต่พอเราขยับมาอีก 1 ปี เราก็จะเห็นว่า 2563 เป็นช่วงที่โควิดมาใหม่ๆ ถ้าเราคำนวณตัวเลขจาก 2562-2564 การเติบโตจริงๆแล้วอยู่ที่แค่ 10% สองปี หรือเฉลี่ยแล้วปีละ 5%

ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นเรื่องของสื่อและก็การเล่าเรื่องด้วยตัวเลขด้วย บอกตามตรงครับเขียนคอนเทนต์ว่าส่งออกไทยโตขึ้น 5% ต่อปี กับการเขียนคอนเทนต์ว่าส่งออกไทยโตขึ้น 40% ครั้งแรกใน 11 ปี ยังไงอันที่ตัวเลขเยอะกว่าก็ต้องดูดีกว่าอยู่แล้ว 

โดยรวมแล้วผมมองว่าโลกนี้กำลังจะเปลี่ยนไป เพราะด้วย Social Media และช่องทางออนไลน์ต่างๆทำให้การสื่อสารไปได้เร็วมากขึ้น หัวข้อไหน รูปภาพไหน หรือว่า Content ไหนที่ทำขึ้นมาไม่ดี ไม่ดึงดูดใจคน ก็จะถูกลดการเข้าถึงด้วย algorithm ต่างๆของระบบออนไลน์ เลยกลายเป็นแรงจูงใจให้ สื่อ และ องค์กร ส่วนมากหันมาพาดหัวข่าวแบบนี้มากขึ้น ภาษาในสมัยก่อนก็คือ click bait หรือล่อเป้า

ปัญหา Fake News และนิสัยคนที่ไม่ชอบตรวจสอบข้อมูล

David Ogilvy นักการตลาดชื่อดัง เคยทำการวิจัยว่าหากคนส่วนมากดูรูปภาพหรือว่าอาจจะพาดหัวข่าว คนที่อ่านเนื้อหาจริงๆ หรืออ่านจนจบบทความ จะมีจำนวนอยู่แค่ 20% เท่านั้นเอง (ไม่เชื่อก็ลองไปหาอ่านดูได้ครับ)

ในเชิงตัวเลขนะครับ ข้อมูลนี้บอกได้ว่าคนส่วนมาดูแค่รูปภาพ อ่านแค่พาดหัวข่าว แล้วก็ออกไปตีความเป็นข้อมูล เอาไปกดแชร์ลง Facebook ส่งลงกรุ๊ปไลน์ หรือเอาไปเม้าท์กับเพื่อนแล้ว … อ่านข้อมูลไม่จบก็เอาไปบอกต่อแล้ว

ริงๆแล้วปัญหานี้มีมาตั้งนานแล้วนะครับตั้งแต่สมัยนิตยสารและหนังสือพิมพ์ แต่พอเป็นสื่อจัดพิมพ์ที่มีผู้ผลิตสื่อน้อย องค์กรต่างๆก็เลยสามารถเข้ามาควบคุมความผิดถูกของข้อมูลได้ง่าย แต่ในยุค Social Media ไม่มีใครควบคุมอะไรได้เท่านั้น ขนาดมาร์คซัคเคอร์เบิร์กหรือ Naver เจ้าของบริษัท Line ก็ยังไม่สามารถควบคุมข้อมูลที่ถูกส่งหรือพูดถึงกันในระบบได้เลย

ขนาดในวงการวิทยาศาสตร์ พวกคนที่ตีพิมพ์ Paper ต่างๆ ก็ยังมีบอกว่าเลยครับว่า 70% ของนักวิทยาศาสตร์ส่วนมากเคยมีปัญหาไม่สามารถเอางานวิจัยเก่าๆมาทำซ้ำได้อย่างน้อยหนึ่งครั้ง แปลไทยเป็นไทยนะครับก็คือ งานวิจัยบางอย่างต่อให้ถูกตีพิมพ์ในนิตยสารดัง ต่อให้มีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน ก็มีปัญหาอยู่ดี 

ตัวอย่างง่ายๆครับตอนที่โควิดมาใหม่ๆ WHO เคยบอกไว้ว่า ไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัยก็ได้ ป้องกันไม่ได้หรอก คิดดูสิครับขนาดองค์กรอนามัยโลกยังมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดพลาดได้เลย 

ในตอนนี้ก็เลยกลายเป็นว่าข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญคนเดียว ถึงแม้จะมีการเก็บตัวเลขเยอะ (sample size) ก็ไม่ได้จำเป็นว่าต้องถูกเสมอไป … ตอนนี้โจทย์เรายากแล้วใช่ไหมครับ เราจะอยู่ในโลกนี้ยังไงถ้าเราไม่สามารถเชื่อมข้อมูลอะไรได้เลย 

วิธีแก้ปัญหา Fake News ในสังคมยุคใหม่

วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การถามความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย หากเราเข้าใจว่าองค์กรบางองค์กรหรือคนบางคนถึงแม้จะมีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน แต่ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบ เราก็สามารถตีความได้ว่าข้อมูลบางอย่างที่เราได้จากบุคคลเหล่านี้ก็อาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติคุณป่วยอยู่ แล้วคุณไปหาหมอที่โรงพยาบาล A หมอบอกว่าคุณเป็นมะเร็ง คนหลายคนก็อาจจะบอกว่าหมอคนนี้เก่งนะ โรงพยาบาลนี้ชื่อดังนะ เราต้องเชื่อหมอสิ แต่ในความเป็นจริงแล้วเราก็มีสิทธิ์ในการไปสอบถามความคิดเห็นจากหมออีก 2 คน 3 คนใช่ไหมครับ 

แน่นอนครับในโลกวิทยาศาสตร์ 2-3 คนก็ไม่ได้เป็นตัวเลขที่ดีพอในการเชื่อถือหรอก จริงๆแล้วเราควรจะหาข้อมูลจาก 10 คน 20 คนหรือร้อยคนด้วยซ้ำ…. แต่เราไม่ได้มีเวลาไง เราเป็นแค่คนธรรมดา โดยเบื้องต้นแล้วผมมีคำแนะนำ 2 อย่างแล้วกันนะครับ

  1. ข้อมูลส่วนมาก หากไม่ได้สำคัญอะไรมาก และ คุณดูแล้วไม่ได้มีความน่าเชื่อถือร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมขอย้ำนะครับว่า 100%  เราก็ไม่ต้องไปเชื่อก็ได้ ฟังหูไว้หู โน๊ตเก็บไว้มีเวลาว่างเมื่อไหร่ค่อยไปศึกษาเพิ่มเติม
  2. ข้อมูลที่สำคัญที่ควรจะใช้ในชีวิต ยกตัวอย่างเช่น สุขภาพ การลงทุน หรือข้อมูลอื่นๆที่คุณบอกว่าสำคัญ ฉันจะให้ลูกเรียนโรงเรียนไหนดี พยายามสอบถามหาข้อมูลจากหลายช่องทาง เพราะผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รู้คนเดียวเนี่ยไม่เพียงพอหรอก 

แต่ก่อนอื่นผมก็ต้องบอกก่อนนะครับว่าวิธีที่ผมพูดมา…ถึงแม้จะทำให้คุณสามารถรับข่าวสารที่ดีได้ในชีวิต ซึ่งโดยรวมแล้วก็จะผลักคุณไปในเส้นทางชีวิตที่ถูกต้อง แต่โดยรวมแล้วก็จะทำให้คุณมีเพื่อนน้อยลง เพราะการที่คุณเป็นคนที่ต้องมาสงสัยฐานข้อมูลต่างๆอยู่เสมอ สังคมส่วนมากก็จะมองคุณว่าเป็นคนที่ขวางโลก นึกถึงสมัยที่กาลิเลโอโดนคนประนาม เพราะเห็นต่างบอกว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล

อย่างที่บอกครับสุดท้ายนี้ วิธีที่ป้องกัน Fake News ได้ดีที่สุดก็คือ สติ

เราอ่านอะไรแล้วเราต้องพิจารณาด้วยว่าข้อมูลมาจากช่องทางไหน และช่องทางนี้มีความน่าเชื่อถือจริงหรือเปล่า ซึ่งโดยรวมแล้วหากเราเข้าใจว่าไม่ได้มีใครเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ต่อให้เป็นคนเรียนปริญญาเอก องค์กรระดับชาติ ก็มีการสื่อสารที่ผิดพลาดได้ โดยรวมแล้วสิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะทำให้มนุษย์เราอยู่ร่วมกันได้ง่ายที่สุดก็คือการหาวิธีรับข้อมูลจากคนหลายช่องทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีความคิดที่เห็นต่างกับเรา ว่าเขารับข้อมูลเหล่านี้มาจากไหน และสื่อของเขามีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน

วิธีนี้เป็นแค่วิธีป้องกันพื้นฐานนะครับ บอกตามตรงครับผมก็ไม่ได้เป็นคนที่สมบูรณ์แบบอะไร ทุกวันนี้ต่อให้ตั้งสติมากแค่ไหน บางทีเราก็ไม่ได้มีเวลาเยอะพอที่จะมากลองเฟคนิวส์ที่เข้ามาในชีวิตเรา และประวัติศาสตร์ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าหลายๆครั้งความคิดเห็นของคนส่วนมากหรือว่าผู้เชี่ยวชาญส่วนมากก็ไม่ได้ถูกต้องซะทีเดียว 

เอาเป็นว่าผมอยากให้ทุกคนเชื่อในความเป็นมนุษย์และกันนะครับ ว่ามนุษย์เราเนี่ยไม่ได้สมบูรณ์แบบ และคนส่วนมากก็มีความเห็นต่างกันเยอะ หากเป็นไปได้อยากให้ทุกคนตั้งสติในการเสพและสื่อในการสื่อสาร และหากเป็นไปได้ก็อยากจะให้ทุกคนหาวิธีช่วยเหลือกันเพื่อที่จะทำให้สังคมเราสามารถสื่อที่ดีกว่านี้ได้

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด