Feasibility study คืออะไร? ดีอย่างไรบ้าง?

Feasibility study คืออะไร? ดีอย่างไรบ้าง?

สิ่งที่ธุรกิจไม่ชอบเลยก็คือ ‘ความเสี่ยง’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘โอกาสในการล้มเหลว’ ซึ่งจริงๆแล้ววิธีลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจหรือการลงทุนก็มีหลายอย่าง แต่วิธีที่คนส่วนมากให้ความสนใจเยอะก็คือการทำ Feasibility Study หรือ ‘การศึกษาความเป็นไปได้’

ในบทความนี้เรามาดูกันว่า Feasibility Study คืออะไร ดีอย่างไรบ้าง และ หากเราอยากเริ่มทำ Feasibility Study เราต้องรู้อะไรบ้าง

Feasibility Study คืออะไร?

Feasibility Study คือการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการต่างๆ ที่ธุรกิจมีแนวคิดที่จะทำหรือดำเนินการเพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เป็นเครื่องมือที่ธุรกิจนำมาใช้เพื่อวางแผนในการดำเนินงานโครงการก่อนการปฏิบัติจริงจะได้ใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น

ธุรกิจหลายแห่งใช้ Feasibility Study เป็นองค์ประกอบสำคัญของการดำเนินงานโครงการ หรือก็คือสิ่งที่ธุรกิจจะต้องทำเมื่อมีแนวคิดในการดำเนินงานโครงการใดโครงการหนึ่งซึ่งจะต้องเกิดจากการศึกษาข้อมูล และจัดทำเอกสารประกอบที่มีเหตุผลสนับสนุนในงานโครงการ

กิจกรรมเหล่านี้มีไว้เพื่อชี้ให้เห็นว่าโครงการที่ธุรกิจจะดำเนินการสามารถปฏิบัติได้จริง และมีผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุน สาเหตุที่ต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อนก็เพื่อให้เจ้าของโครงการได้มีข้อมูลในมิติต่างๆ มาใช้ในการตัดสินใจว่าสมควรจะดำเนินการโครงการที่ตั้งใจไว้ต่อหรือไม่

Feasibility Study ดีอย่างไรบ้าง?

ตามปกติแล้วโครงการใดๆ ก็ตามที่ธุรกิจมีการคิดค้นขึ้นตามกลยุทธ์ก็ดี ตามการปรับเปลี่ยนก็ดี ล้วนต้องมีการวางแผนธุรกิจ (Business Plan) ก่อนการดำเนินการ เพื่อสร้างเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานโครงการ รวมถึงต้องมีแนวทางในการประเมินผลโครงการพัฒนาหรือต่อยอดสำหรับโครงการต่อๆ ไป

Feasibility Study จึงกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการประเมินศักยภาพขององค์กรหรือปัจจัยแวดล้อมที่มีส่วนหรือส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานโครงการได้ เพราะ Feasibility Study จำเป็นต้องศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ 6 ด้านคือ

  1. ความเป็นไปได้ด้านตลาดหรืออุปสงค์ (Market or Demand Feasibility) เช่น ความเป็นไปได้ของสินค้าและบริการของธุรกิจที่เป็นที่ต้องการของตลาด
  2. ความเป็นไปได้ด้านเทคนิค (Technical Feasibility) ศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีที่ต้องใช้ในการผลิตที่เหมาะสมกับขนาดของโครงการ
  3. ความเป็นไปได้ด้านการเงิน (Financial Feasibility) เน้นการวิเคราะห์ศักยภาพด้านการเงินของธุรกิจไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนหรือการบริหารกระแสเงินสดที่เหมาะสมของโครงการ
  4. ความเป็นไปได้ด้านเศรษฐกิจ (Economic Feasibility) พิจารณาถึงเรื่องต้นทุนและผลตอบแทนทางการเงินจากโครงการ ที่ส่งผลต่อการใช้ทรัพยากรในการปฏิบัติงานโครงการ
  5. ความเป็นไปได้ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Feasibility) ต้องดูว่าโครงการมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหนหรือไม่มีเลย
  6. ความเป็นไปได้ด้านกฎหมาย (Law & Regulation Feasibility) การศึกษาผลกระทบด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการ

จากข้อมูลที่จะต้องศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทั้ง 6 มิติข้างต้น ถ้าจะให้วิเคราะห์กันแบบง่ายๆ ว่า Feasibility Study ดีอย่างไรต่อธุรกิจ คำตอบคือ Feasibility Study มีประโยชน์ต่อการประเมินศักยภาพขององค์กรถึงความสามารถในการปฏิบัติงานโครงการให้ครอบคลุมในทุกมิติได้ก่อนที่จะเริ่มต้นโครงการ

การทำ Feasibility Study นอกจากช่วยลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจในภาพรวมได้แล้ว ยังใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานโครงการแต่ละขั้นแต่ละตอนอย่างเป็นระบบเพื่อให้ผลลัพธ์สุดท้ายของโครงการสามารถเสร็จสิ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่มีการสูญเสียทรัพยากรแบบสูญเปล่าและคุ้มค่าต่อการลงทุนในโครงการมากที่สุด

การทำ Feasibility Study ที่ดีต้องรู้อะไรบ้าง

การทำ Feasibility Study ที่ดีจำเป็นต้องศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการให้ครอบคลุม 6 มิติประกอบด้วย

#1 การศึกษาความเป็นไปได้ด้านการตลาด

การศึกษาความเป็นไปได้ด้านการตลาด (Market or Demand Feasibility) ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รวบรวมไว้ทั้งในอดีตและปัจจุบัน นำมาคาดคะเนถึงขนาดความต้องการในสินค้าหรือบริการ ความสามารถในการผลิตและปริมาณที่จะขายได้

ซึ่งการจะสรุปความเป็นไปได้ด้านการตลาดได้นั้นธุรกิจต้องตอบคำถาม 3 ข้อให้ได้คือ

A) ขนาดตลาดมีมากน้อยเพียงไร คาดคะเนได้จากพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย
B) อัตราการเพิ่มของตลาดและปริมาณที่คาดว่าจะขายได้ในอนาคต อาจใช้การคาดคำนวณจากการขายสินค้าหรือบริการตามภาคส่วนต่างๆ ของธุรกิจ
C) ตลาดกลุ่มใดหรือพื้นที่ใดที่จะเข้าไปทำการแข่งขัน หากเป็นตลาดเดียวกับคู่แข่งที่มีมาก่อนควรใช้กลยุทธ์ใดในการแข่งขัน

#2 การศึกษาความเป็นไปได้ด้านเทคนิค

การศึกษาความเป็นไปได้ด้านเทคนิค (Technical Feasibility) ด้วยการพิจารณาศักยภาพของเทคนิคการผลิตในปัจจุบันว่าเพียงพอต่อความเป็นไปได้ด้านการตลาดที่คาดการณ์หรือไม่ จำเป็นต้องมีการนำเข้าเทคโนโลยีใหม่มาใช้เพื่อการผลิตหรือไม่ หรือสามารถพัฒนาได้จากเทคโนโลยีที่มีอยู่ แล้วการพัฒนาหรือการนำเข้ามาใหม่คุ้มค่าต่อการลงทุนมากน้อยเพียงไร ทั้งนี้การศึกษาความเป็นไปได้ด้านเทคนิคต้องครอบคลุมถึง ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ฐานข้อมูล แวร์เฮ้าส์ และการสื่อสารข้อมูล

#3 การศึกษาความเป็นไปได้ด้านการเงิน

การศึกษาความเป็นไปได้ด้านการเงิน (Financial Feasibility) เน้นการวิเคราะห์ด้านการลงทุนในโครงการและผลตอบแทนที่จะได้คืนกลับของโครงการโดยเฉพาะในรูปแบบของผลกำไรทางธุรกิจ และอาจยังรวมถึงแนวทางการระดมเงินลงทุนในโครงการ การบริหารกระแสเงินสดที่ต้องใช้ตลอดทั้งโครงการ โดยรวมแล้วคือโครงการต้องมีรูปแบบการเงิน การลงทุน ตลอดจนผลตอบแทนของโครงการที่เพียงพอต่อการจูงใจให้โครงการสามารถริเริ่มหรือมีผู้ร่วมสนับสนุนโครงการได้

#4 การศึกษาความเป็นไปได้ด้านเศรษฐกิจ

การศึกษาความเป็นไปได้ด้านเศรษฐกิจ (Economics Feasibility) เป็นการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการลงทุนในโครงการระหว่างต้นทุนกับผลตอบแทนที่ได้รับ แบ่งเป็น

ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบ
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
ผลกำไร
ผลประโยชน์ที่จับต้องไม่ได้เช่น ความพึงพอใจของลูกค้า

#5 การศึกษาความเป็นไปได้ด้านสิ่งแวดล้อม

การศึกษาความเป็นไปได้ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment Feasibility) คือการศึกษาถึงกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งอาจจะมีทั้งด้านดีและไม่ดี รวมถึงแนวทางแก้ไขหากเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งนี้อาจเชื่อมโยงไปถึงด้านผลตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการจัดหาสถานที่การผลิตของโครงการที่เหมาะสม

#6 การศึกษาความเป็นไปได้ด้านกฎหมาย

การศึกษาความเป็นไปได้ด้านกฎหมาย (Law & Regulation Feasibility) ศึกษาข้อมูลระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการ เพื่อสร้างนโยบายหรือหาแนวทางการรับมือในเชิงกฎหมาย เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคหรือ PDPA ที่โครงการจำเป็นต้องสร้างระบบเพื่อขอรับความยินยอมจากกลุ่มเป้าหมายเป็นต้น

เราจะเห็นได้ว่าการทำ Feasibility Study นั้นมีหลายอย่าง หลายวิธีมาก ซึ่งจริงๆแล้วก่อนที่เราจะทำ Feasibility Study เราก็ควรทำความเข้าใจก่อนว่า ‘เป้าหมายคืออะไร’ และ ‘ใครจะเป็นคนใช้ข้อมูลชุดนี้’ เพราะหากเราไม่ได้ตีโจทย์สองอย่างนี้มาตั้งแต่แรก เราก็อาจจะวิเคราะห์ข้อมูลออกมาเยอะไปหรือผิดจุดประสงค์ ซึ่งก็จะทำให้การวิเคราะห์ครั้งนี้ ‘ใช้งานไม่ได้’

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด