5 เครื่องมือทำ SEO ฟรีน่าใช้ (และของแถมสำหรับมือใหม่)

5 เครื่องมือทำ SEO ฟรีน่าใช้ (และของแถมสำหรับมือใหม่)

เครื่องมือทำ SEO ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องมือที่ผมใช้จริงๆในเว็บไซต์ แต่ละอาทิตย์ต้องเข้าอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เครื่องมือพวกนี้ใช้งานง่ายครับ หลายคนรู้จักอยู่แล้ว หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเครื่องมือธรรมดา ไม่ได้ดูแปลกใหม่อะไร แต่สิ่งที่ผมอยากจะให้ทุกคนสังเกตุคือ ‘วิธีที่ผมนำมาใช้’ เพราะจะเป็นวิธีที่เราสามารถนำเครื่องมือง่ายๆ มาทำให่เว็บไซต็จัดอันดับได้มากขึ้น

และในตอนท้ายของบทความ ผมจะมีแถมตัวอย่างของไฟล์ google sheet ที่ผมมีไว้ตรวจสอบสถิติของบทความและจำนวนคนเข้าเว็บไซต์ของตัวเองนะครับ สามารถโหลดไปใช้ได้ฟรี เหมาะสำหรับคนที่อยากเริ่ม แต่ไม่รู้ว่าจะดูตัวเลขอะไรดี วัดผลไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มเก็บข้อมูลอะไรก่อน

5 เครื่องมือทำ SEO ฟรี (และวิธีใช้ให้เกิดผลที่สุด)

#1 Google Auto Suggest / Google Related Keywords

เป็นสองวิธีที่ไว้หาหัวข้อในการเขียนบทความ หรือที่เรียกว่าการหา keyword นั่นเหล่ะครับ

ซึ่งข้อดีก็คือเป็นเครื่องมือที่ Google ก็ทำให้เราใช้ฟรีอยู่แล้ว โดย google ก็จะเอาข้อมูลมาจากที่ผู้ใช้งานหลายคนใช้จริงๆ

ก่อนอื่นนะครับใน Browser เว็บไซต์ เข้าไปใน incognito (Control Shift N) สำหรับ google chrome หรือ File > New Private Window สำหรับ safari การทำแบบนี้จะเป็นการล้างข้อมูลของคุณไป ทำให้ Google จะไม่แนะนำคำค้นหาที่คุณเคยค้นหาแล้ว พูดง่ายๆก็คือเป็นการบอก Google ว่าให้แนะนำคำค้นหาที่คนส่วนมากเจอกัน ไม่เอาคำค้นหาที่เหมาะสำหรับคุณคนเดียว

หลังจากนั้น ก็ให้เริ่มพิมพ์คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่คุณอยากจะเขียนนะครับ ตัวอย่างเช่นหากคุณทำหัวข้อเกี่ยวกับการออกกำลังกาย ให้พิมพ์เข้าไปว่าออกกำลังกาย หลังจากนั้น Google ก็จะแนะนำคำค้นหาที่คนค้นหาจริงๆเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายออกมาให้คุณ 

เครื่องมือ Google Auto Suggest สำหรับการทำ SEO

หรือหากอยากจะให้ลงลึกมากหน่อย ก็ให้ลองใส่เครื่องหมายดาว * หรือให้พิมพ์ ก ข ค ง หรือ a b c ตามคำค้นหาไปด้วย ในส่วนนี้ google ก็จะแนะนำคำค้นหาให้มากขึ้น

โดยรวมแล้วยิ่งคุณลงลึง คุณก็จะมีคู่แข่งน้อย แต่โดยรวมแล้วก็จะเป็นคำค้นหาที่มีคนค้นหาน้อยเช่นเดียวกัน เหมาะสำหรับเว็บไซต์ใหม่ๆที่ต้องสร้างตัว คือไม่ได้อยากจะไปแข่งขันเยอะ แต่อยากได้คำค้นหาที่มีคนค้นหาพอประมาณ

หลังจากที่เราพิมพ์คำค้นหาแล้วกดค้นหาใน Google แล้ว ถ้าเราไปตรงด้านล่างของ Google… 

Google ก็ว่าจะทำการแนะนำคำค้นหาที่ใกล้เคียง กับคำค้นหาหลักเอามาให้ด้วย ยกตัวอย่างเช่นสมมุติว่าผมค้นหาคำว่าวิธีออกกำลังกาย Google เขาก็จะบอกว่าคนส่วนมากค้นหาคำว่าท่าเต้นออกกำลังกายด้วยนะ ในส่วนนี้เราก็จะเอาคำว่าวิธีออกกำลังกาย และท่าเต้นออกกำลังกาย ไปเป็นหัวข้อได้

เครื่องมือ Google Related Keywords สำหรับการทำ SEO การค้นหาที่เกี่ยวข้อง

#2 NeilPatel.com

Neil Patel เป็นนักการตลาดออนไลน์ที่ดังที่สุดคนหนึ่งเลย ซึ่งนอกจากจะเป็นคนที่หาทริกการตลาดออนไลน์ใหม่ๆมาให้คนทั่วโลกใช้กัน ทางเจ้าของก็ได้มีการสร้างเครื่องมือฟรีๆเพื่อมาช่วยคนทำ SEO ด้วย 

ในเว็บไซต์ของ NeilPatel เราสามารถเข้าไปที่ Competitive Analysis > Keyword by Traffic

เครื่องมือ NeilPatel Competitive วิเคราะห์คู่แข่ง SEO

ในส่วนนี้เราสามารถใส่เว็บไซต์ของคู่แข่งหรือเว็บไซต์ของใครก็ได้เข้าไป เพื่อให้เครื่องมือนี้วิเคราะห์ว่า ‘keywords’ หรือ คำค้นหาแบบไหนในเว็บไซต์คู่แข่งที่มีคนค้นหามากที่สุด

ซึ่งเราก็สามารถเอาข้อมูลนี้ไปทำอะไรก็ได้ หากเรามองว่าคำค้นหานี้น่าจะมีคนค้นหาเยอะ เราก็สามารถทำบทความที่อยู่ในหัวข้อเดียวกันออกมา ถ้าโชคดีจัดอันดับได้ดีกว่าเราก็จะได้คนเข้าเว็บไซต์เยอะ แต่ถ้าเป็นคำที่คนค้นหาเยอะจริงๆ ให้ได้อันดับ 2 อันดับ 3 ก็ยังโอเคอยู่ 

ก่อนอื่นเลยผมต้องอธิบายว่า ไม่มีเครื่องมือการตลาดอันไหนที่สามารถประเมินตัวเลขคนค้นหา (Search Volume) ได้ถูกต้อง 100% โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคำค้นหาภาษาไทย

สิ่งที่เครื่องมือเหล่านี้ทำก็คือการประเมินจากข้อมูลที่ตัวเองมี ซึ่งก็ไม่ได้ครอบคลุมถึงข้อมูลทุกอย่างที่ Google มี โดยรวมแล้วสามารถใช้เป็นแนวทางพื้นฐานได้ แต่เราก็ไม่ควรใช้เป็นหัวใจหลักของการดำเนินการเรา

#3 PageSpeed

Google PageSpeed Insights เป็นเครื่องมือที่ Google สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเว็บไซต์ของตัวเองนั้นถูกต้องตามความต้องการของ Google มากแค่ไหน โดยเครื่องมือนี้ก็จะแนะนำจุดต่างๆที่เราสามารถนำไปปรับเพื่อให้เว็บไซต์เราดีขึ้นได้ 

อย่างไรก็ตาม คำแนะนำส่วนมากถูกออกแบบมาให้สำหรับ ‘นักพัฒนาเว็บไซต์’ ไม่ใช่คนทำ SEO… แปลว่าหากเราไม่รู้เรื่องการแก้ Code หรือข้อมูลหลังบ้าน โอกาสที่เราจะนำข้อมูลจากเครื่องมือนี้ไปใช้จริงได้ก็มีน้อย

ในฐานะที่ผมก็ไม่ได้เก่งเรื่องการเขียนโปรแกรมหรือการเขียนเว็บไซต์มากนัก (ไม่ได้เป็นสายโปรแกรมเมอร์) ผมก็ไม่แนะนำให้มือใหม่ใช้เครื่องมือนี้เท่าไหร่ 

โดยรวมแล้วเครื่องมืออีกอันนึงจะดีกว่าสำหรับมือใหม่ครับ … Gtmetrix

Gtmetrix เป็นเครื่องมือที่เราสามารถใช้เพื่อวัดความเร็วในการโหลดเว็บไซต์ของเราได้ (เป็น millisecond) อย่างน้อยที่สุดเราก็เอาตัวเลขนี้ไปเปรียบเทียบกับเว็บไซต์อื่นๆได้ เราจะได้รู้อย่างชัดเจนว่าเว็บไซต์เราเทียบกับเว็บไซต์อื่นนั้นโหลดเร็วหรือไม่เร็ว ถ้าโหลดไม่เร็วหรือว่าได้คะแนนไม่ดี เราค่อยหาวิธีแก้ไขเพิ่มเติม

ซึ่งโดยรวมแล้ววิธีแก้ไขเบื้องต้นสำหรับมือใหม่ก็มีดังนี้

  1. พยายามทำให้ด้านบนของเว็บไซต์โหลดเร็วมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในส่วนนี้หมายถึงการใช้ไฟล์ภาพที่ไม่ได้ใหญ่มาก หรือการไม่เอาวีดีโอไฟล์ใหญ่ๆไว้ตรงด้านบนของเว็บไซต์
  2. หากเราใช้ wordpress เราก็ไม่ควรใส่ plugin เยอะเกินไป ข้อแนะนำนี้เหมาะมากสำหรับมือใหม่ที่ทำเว็บไซต์ครั้งแรก เพราะคนส่วนมากเห็นว่า plugin เป็นของฟรี ยิ่งมีเยอะก็เหมือนเว็บไซต์เรามีลูกเล่นเยอะ แต่หลายครั้งที่ plugin มากเกินไปจะทำให้เว็บไซต์โหลดช้า ประสบการณ์ที่ผมเจอก็คือ plugin บางอันทำเว็บไซต์ล่มด้วยซ้ำ หากเรามี 100 อันแล้วก็ต้องมานั่งปวดหัวว่าอันไหนเป็นต้นเหตุของปัญหา

#4 CompressJPEG

เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือที่คนมองข้ามมากที่สุด แต่ก็เป็นเครื่องมือที่ผมใช้บ่อยที่สุดด้วยเช่นเดียวกัน ใช้ทุกครั้งที่ผมมีบทความใหม่ๆ 

หากคุณทำเว็บไซต์หรือว่ามีการเขียนบทความ ไม่ว่ายังไงเราก็ต้องมีการใช้ภาพประกอบ อาจจะเป็นภาพปกสำหรับบทความ ภาพสินค้าเพื่อใช้ในการขาย หรือการใช้ภาพเพื่อประกอบการสื่อสารต่างๆ ซึ่งส่วนนี้เป็นปัญหาที่นักทำ SEO มือใหม่ไม่ค่อยคิดถึงกัน

ไม่ว่าจะเป็นภาพที่เราถ่ายจากมือถือ หรือภาพฟรีๆที่เราไปโหลดมาจาก Canva.com หรือ Pexels.com (เป็นเว็บไซต์โหลดภาพแบบไม่ผิดลิขสิทธิ์และสามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ได้) ปัญหาของภาพในยุคสมัยใหม่ก็คือไฟล์ใหญ่มาก ใหญ่เกินกว่าที่เราจำเป็นต้องใช้ในการประกอบเว็บไซต์เรา … ใหญ่จนทำให้เว็บไซต์เราโหลดช้านั้นเอง

ไฟล์ส่วนมากจะมีขนาดเป็นหลาย megabyte แต่สำหรับรูปประกอบในเว็บไซต์หรือบทความทั่วไป จริงๆเราใช้แค่ 100 kb ก็เพียงพอแล้ว ในกรณีนี้เราก็แค่เอารูปที่เราได้มาจากช่องทางต่างๆ ไปใส่ไว้ในเว็บไซต์นี้ ซึ่งเราก็จะสามารถปรับคุณภาพของรูปได้ โดยรวมแล้วหากเราปรับให้อยู่ที่ประมาณ 100kb คุณภาพของภาพก็จะไม่โดนกระทบมาก (เปิดจากมือถือดูได้ไม่เป็นไร ภาพไม่แตก)

หากคุณอยากจะทำเรื่อง SEO และกังวลเรื่องความเร็วของเว็บไซต์ จุดแรกที่ต้องสังเกตก็คือขนาดไฟล์ของภาพนั้นเอง

#5 Google Doc (Speech Text)

Google Doc เป็นเครื่องมือสุดท้ายที่ผมอยากจะแนะนำ เพราะเราเริ่มต้นด้วยเครื่องมือฟรีของ Google ผมก็อยากจะจบด้วยเครื่องมือฟรีของ Google เช่นเดียวกัน ซึ่งเครื่องมือนี้ก็ถือว่าเป็นเคล็ดลับในการเขียนบทความ SEO ของผมเลย

ฟีเจอร์ที่ผมอยากจะแนะนำของ Google Doc ก็คือ Speech Text หรือการพิมพ์ด้วยเสียงนั้นเอง หากเราไปที่ Tools (เครื่องมือ) > Voice Typing เราก็จะสามารถพูดภาษาไทยใส่ Google เพื่อให้ Google แปลออกมาเป็นตัวอักษรได้

ข้อแรกก็คือ Google Doc สามารถทำให้ผมเขียนบทความได้เร็วขึ้นมาก หากผมรถติดอยู่กลางถนน ผมก็สามารถพูดใส่มือถือตัวเอง สำหรับคนที่มีเวลาว่างไม่ค่อยเยอะ ผมแนะนำให้ใช้เครื่องมือนี้ เพราะเราจะสามารถ ‘เค้นจำนวนคำ’ มาได้มากกว่าเดิม บางคนบริหารเวลาเก่งๆ สามารถพิมพ์เพิ่มได้วันละหลายพันคำเลย 

แต่ข้อดีอีกอย่างหนึ่งที่จะไม่พูดก็ไม่ได้ก็คือเรื่องของ ‘ภาษาที่เราใช้’

เทรนด์ของการทำ SEO ในสมัยใหม่ก็คือการสื่อสารที่เป็นมนุษย์มากขึ้น ผู้ใช้งาน Google อยากจะอ่านอะไรที่เข้าใจได้ง่าย ไม่ได้อยากจะอ่านงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หรือ หัวข้อที่ใช้คำศัพท์เฉพาะทางเยอะเกินไป (ลองไปอ่านพวกบทความด้านหุ้นหรือเรื่องวิทยาศาสตร์และคุณก็จะเข้าใจ) 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือการใช้ ‘ภาษาพูด’ ในการเขียนบทความ และวิธีการเขียนภาษาพูดที่ตรงไปตรงมาที่สุด ก็คือการพูดใส่มือถือเรานั่นเอง เวลาที่หลายๆคนชมว่าบทความผมอ่านง่ายเข้าใจง่าย ก็เพราะว่าผมเลือกที่จะใช้ภาษาพูดในการอธิบาย

โบนัสแถม: Google Sheet สำหรับเก็บข้อมูล SEO

ก่อนที่จะไปลงรายละเอียดการ ผมอยากให้ทุกคนไปศึกษาเรื่อง Google Analytics และ Google Search Console ก่อน ซึ่งก็เป็นเครื่องมือฟรีที่ Google มีไว้ให้ทุกคนสามารถดูข้อมูลหลังบ้านตัวเองได้ หากใครยังไม่มีก็ไปลองศึกษาวิธีติดตั้งใน YouTube ดูนะ มีวีดีโอสอนอยู่เยอะเลย

เรื่องการเข้าถึงข้อมูลก็เป็นหนึ่งหัวข้อใหญ่ๆ แต่ในส่วนนี้ผมจะมาสอนว่าเราจะเอาข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ยังไงได้บ้าง โดยผมก็อยากจะมาแบ่งว่าปกติแล้วผมดูข้อมูลส่วนไหนบ้าง 

Google Sheet ตัวนี้ ผมทำขึ้นมาเพื่อแจกนักทำ SEO มือใหม่ มีอยู่แค่ 2 หน้าเท่านั้น ซึ่งในหน้าแรกเราจะจดข้อมูลดังนี้นะครับ

  • หัวข้อบทความที่เราเขียน
  • คำค้นหาหลักของแต่ละบทความ
  • จำนวนคำของแต่ละบทความ
  • วันที่ที่เราเผยแพร่บทความลงบนเว็บไซต์
  • ต้นทุนของบทความ (ในกรณีที่เราไปจ้างคนอื่นเขียน)
เครื่องมือ Google Sheet สำหรับการทำ SEO - เขียนบทความ

ทุกครั้งที่คุณเผยแพร่บทความหมายลงไปในเว็บไซต์ ให้มากรอกข้อมูลลงมาใน Google Sheet นี้ หากเราทำแบบนี้ไปเรื่อยๆพอถึงเวลาครบ 6-12 เดือน เราก็จะมีฐานข้อมูลว่าที่ผ่านมาเว็บไซต์เราได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว เวลาเราอยากจะกลับมาประเมินผลว่าแต่ละบทความจัดอันดับดีแค่ไหน เราก็สามารถทำได้ง่าย

ในหน้าที่ 2 เราจะมาวัดผลเว็บไซต์โดยรวมของเรา ซึ่งเราต้องจดข้อมูลดังนี้

  • จำนวนบทความที่เราเผยแพร่ในแต่ละเดือน
  • จำนวนคำที่เราพิมพ์ในแต่ละเดือน
  • Impression ต่อเดือน
  • Click ต่อเดือน
  • CTR ต่อเดือน
  • Page/Session ต่อเดือน
  • Page View (All sources) ต่อเดือน
  • การเติบโตของ Page View (ส่วนนี้เป็นสูตรครับ สามารถลอกไปใช้ได้ทุกครั้งที่คุณเริ่มเดือนใหม่)
เครื่องมือ Google Sheet สำหรับการทำ SEO - เก็บข้อมูล Google Analytics

จำนวนคำและจำนวนบทความมีไว้เพื่อให้คุณรู้ว่าในแต่ละเดือนคุณทำอะไรได้บ้าง หากเดือนไหนที่คุณไม่ได้ลงบทความใหม่หรือว่ามีจำนวนคำไม่เยอะพอ มันก็อาจจะเป็นสัญญาณว่าเดือนต่อๆมาคนเข้าเว็บไซต์คุณอาจจะน้อยลงหรือว่าไม่ได้โตมากขึ้น

จำไว้ว่าบทความและจำนวนคำมีความสัมพันธ์โดยตรงกับจำนวนคนเข้าเว็บไซต์

ตัวเลขอื่นอย่าง Impression Click CTR Page/Session เป็นข้อมูลมาจาก Google Analytics ส่วน Search Console > Landing Page ส่วน Pageview มาจาก Behavior (เวลากรอกข้อมูลก็เลือกดึงมาให้ทุกเดือนด้วย)

ทุกๆต้นเดือน ให้ไปเอาข้อมูลใน Google Analytics ตัวเองมากรอกลงไปใน Google Sheet นี้ หลังจากที่บทความคุณได้จัดอันดับไปแล้ว คุณก็จะเห็นว่าเว็บไซต์ของตัวเองนั้นมีคนเข้ามากขึ้นเรื่อยๆ จริงๆสามารถเก็บตัวเลขอื่นๆอีกมากมายเลย สำหรับคนส่วนมากผมแนะนำให้ดูแค่นี้ก่อน

หากคนเข้าเว็บไซต์ไม่เยอะ เราก็ต้องไปดูจำนวนบทความและปริมาณคำ แต่หากเราเห็นว่าจำนวนบทความและคำมากพออยู่แล้ว ก็ให้กลับไปพิจารณาว่าเราเลือกหัวข้อที่ถูกต้องแล้วหรือยัง

ผมจะมี ลิงค์ให้โหลดไฟล์ Excel ที่ตรงนี้นะครับ ถ้าใครไม่เข้าใจไปดูวิธีที่ผมอธิบายสอนในวีดีโอนี้ก็ได้ พูดเหมือนกับในบทความนี้เลย แต่บางคนอาจจะชอบเป็นรูปแบบวีดีโอมากกว่า

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด