ในสมัยนี้คำว่าธุรกิจกงสีเป็นคำศัพท์ที่คนส่วนมาก (โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่) ไม่ค่อยชอบกันเท่าไร ซึ่งอาจจะมาจากคำว่า ‘Generation Gap’ ที่มากขึ้นเรื่อยๆ จากรุ่นอากงอาม่าสู่รุ่นเด็กที่เกิดหลังไป 2000 เรื่องน่าเศร้าก็คือความไม่เข้าใจกันเหล่านี้ทำให้ธุรกิจครอบครัวแบบกงสีนั้นปรับตัวได้ยาก จนมีน้อยธุรกิจที่จะอยู่ได้นานเกินสามรุ่น
บทความจะพูดถึงพื้นฐานว่า กงสีคืออะไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง และ เราจะทำอย่างไรได้บ้างให้กงสีสามารถปรับตัวได้ทันโลกปัจจุบัน
กงสีคืออะไร
กงสี หรือ Family Business คือ ใช้เป็นนิติบุคคลที่จะรวบรวมทรัพย์สินต่าง ๆ ของวงศ์ตระกูลไว้ในลักษณะที่เป็น Holding Company ตรงกับภาษาไทยก็คือบริษัทกงสี (公司)
ที่มาของคำว่า กงสี (kong-si) มีที่ว่ามาจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่มีรากศัพท์มาจาก จากภาษาแต้จิ๋ว 公司 โดยในประเทศไทยได้ให้ความหมาย ตามในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ว่าเป็นคำนาม ที่มี 2 ความหมาย
ความหมายที่หนึ่ง หมายถึง ทรัพย์สินกองกลางที่ใช้ร่วมกันสำหรับคนหมู่หนึ่ง ๆ เช่น กิจการของตระกูลที่แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน ความหมายที่สอง หมายถึง หุ้นส่วน หรือบริษัท
ถ้าผู้อ่านทุกท่านเคยดูละครช่อง 3 เรื่องกรงกรรม อาจได้คุ้นเคยกับคำนี้เพราะเป็นระบบที่ แม่ย้อย ได้ใช้บริหารธุรกิจในครอบครอบครัว แบ่งความรับผิดชอบในการดูแลธุรกิจ สินทรัพย์และสมบัติที่ดินเงินทอง เเบ่งให้กับคนในครอบครัวเเละลูกๆ
โดยแนวคิดการบริหารแบบกงสีเกิดจากความกลัวที่ว่าธุรกิจตั้งแต่ต้นตระกูลก่อร่างสร้างตัวขึ้นนั่นจะสามารถอยู่ต่อและดำเนินการอยู่ต่อได้เป็นระบบที่เป็นการเริ่มส่งต่อกิจการให้รุ่นต่อรุ่น เพื่อไม่ให้ธุรกิจของตระกูลนั่นล่มหายไปในรุ่นของตนเองจึงเป็นจุดกำเนิดของธุรกิจแบบระบบกงสี ขึ้นมาครับ
กงสี มีความสำคัญอย่างไร กับ ยุคสมัยนี้
กงสี เป็นจุดที่สำคัญมากในส่วนของ Family Business มันเป็นส่วนที่เก็บกักความมั่งคั่ง ของครอบครัวเอาไว้ มันก็เหมือนกล่องทรัพย์สินใบหนึ่ง ที่มีไว้ใช้ในการเป็นกองกลาง ที่เป็นเรื่องผลประโยชน์ และเรื่องทรัพย์โดยวัตถุประสงค์หลักๆ ก็จะเอามาใช้ในเรื่องของครอบครัว เช่น ค่าส่วนกลางต่างๆ
และที่สำคัญคือหากเราบริหารจัดการระบบกงสีให้มีประสิทธิภาพ ตัวระบบของกงสีจะปรับตัวตามความก้าวหน้าของทางธุรกิจและปรับตัวตามคนในรุ่นต่างๆ ได้ เช่นถ้าเกิดคนรุ่นใหม่ อยากจะแยกไปทำธุรกิจเอง ระบบของกงสีก็สามารถทำให้ธุรกิจใหม่สามารถเติบโตได้ โดยไม่ขัดแย้งกับธุรกิจเก่า
เเล้ว กงสีจะเริ่มทำงานตอนไหน? ให้เราลองสมมุติขึ้นมาครับว่า ถ้าธุรกิจที่ลูกหลานไปทำขัดแย้งกันเอง (มีลูกตหลานหลายคน) ซึ่งตอนนี้อาจไม่ขัดแต่อนาคตอาจขัด
วิธีการก็คือ กงสีจะเป็นตัวแทนของครอบครัว เข้าร่วมลงทุนช่วยด้วยอีกแรง เราอาจจะทำเป็นระเบียบของกงสีเลยก็ได้ครับว่าให้เงินกองกลางเข้าไปช่วย เช่น ลูกหลานลง 25 กงสี ลงอีก 75 เเล้วเราก็ให้ลูกหลานบริหารไปและกงสีเป็นผู้ถือหุ้นหลักและเปลี่ยนให้เป็นบริษัทในเครือแทนธุรกิจครอบครัวก็ได้ขยายไปอีกจากระบบกงสีตรงนี้ครับ
เราอาจจะนิยาม สั้นๆ ว่ากงสี เป็นเสมือนเกาะคุ้มกันให้ธุรกิจมีเงินกองกลางและป้องกันทายาท ที่จะมาสืบทอดหรือจะขยายไปทำธุรกิจของตัวเองด้วย เพราะเราก็จะมีเงินกองกลางที่สามารถใช้ได้เป็นส่วนที่ กงสี สามารถทำหน้าที่ของมันได้ดีที่สุด
ข้อดีคือ ถ้าเราบริหารจัดการดี เราก็ได้ใช้ประโยชน์ซึ่งกันเเละกันในครอบครัวเเละสามารถขยายกิจการได้ มันมีกฎระเบียบที่ชัดเจน มีวัตถุประสงค์ในการใช้มันก็อยู่ และ มีกระบวนการที่จะสะสมให้ตัวทรัพย์สินต่างๆ ให้มันมั่งคั่งขึ้นเรื่อย ๆ
ข้อเสียคือ ถ้าบริหารไม่ดี มันก็จะเหมือนระเบิด ที่จะทำให้ทุกคนขัดแย้งกันและแย่งกัน และมันก็จะเป็นประเด็นในการขัดแย้ง ซึ่งจะทำให้ส่งผลไม่ดีต่อธุรกิจได้ (และส่งผลต่อความปรองดองของครอบครัวด้วย)
ดังนั้น กงสี ก็ขึ้นอยู่ว่าเรามีทรัพย์กองกลางอยู่เยอะแค่ไหน และจะสามารถบริหารทรัพย์สินส่วนนี้ดีรึป่าว
ถ้าอยากเริ่มทำธุรกิจของเราให้เป็นธุรกิจกงสี ต้องทำอะไรบ้าง?
#1 ต้องมีพยานที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านหรือธุรกิจ ต้องให้ท่านอยู่เเละต้องให้ท่านนั่งเป็นหลักก่อนเป็นคนค่อยตัดสินเมื่อยามที่คนในครอบครัวมีความเห็นต่างกัน
#2 ก่อนจะนำสินทรัพย์และรายได้มาดู ต้องมีการตกลงหลักเกณฑ์ก่อนว่าหลักเกณฑ์ของครอบครัวเรามีเรื่องอะไรบ้างที่ต้องพิจารณาทรัพย์ว่า
เราควรจะแบ่งกันเป็นกี่กองดี เช่น
2.1 แบบเป็นส่วนหนึ่งเป็นส่วนกลาง ส่วนหนึ่งเป็นส่วนตัว แบ่งกันให้ชัดไปเลย ว่าประเภทแบ่งนี้ มันต้องเป็นส่วนกลาง หรือ ประเภทนี้ต้องเป็นส่วนตัวได้
2.2 หรือบ้างครอบครัว อาจจะเป็นแบ่งเป็น 3 กองก็จะมีเช่น เป็นทรัพย์ส่วนกลาง เป็นทรัพย์ส่วนตัว และ เป็นทรัพย์ธุรกิจ
ตัวอย่าง ทรัพย์ธุรกิจ เช่นธุรกิจเรามีที่ดิน มูลค่า 100 ล้าน อยู่ในชื่อบริษัท และเราเป็นเจ้าของร่วมกันผ่านทางการเป็นผู้ถือหุ้น เช่น นาย A ถือหุ้น 50% นาย B ถือหุ้น 30% นางสาว C ถือหุ้น 20% (นั่นก็คือ กองสินทรัพย์ 100% นี้นั่น นาย A เป็นเจ้าของ ครึ่งหนึ่ง)
ดังนั้นการจะโอน ทรัพย์เข้าไปในแบบบริษัทกงสีก็ต้องให้ทุกคนเข้าใจก่อนว่า เราเป็นเจ้าของผ่านทางการถือหุ้นนะไม่ใช่ มันจะเท่ากันทุกคนต้องเข้าใจและอยู่ในหลักการร่วมกันก่อน
#3 ทำข้อมูลเอาทรัพย์ ทั้งหลายที่เรามี เช่นที่ดินมีกี่แปลง อาคารมีอะไรบ้าง และรวมถึงการพิจารณาเรื่อง สิทธิ์ในการเช่าและพวกที่เป็นสังหาริมทรัพย์ เช่น รถยนต์ และตัวแบรนด์ (เราต้องแยกทรัพสินธ์ส่วนตัวกับทรัพสินธ์ธุรกิจให้ดี ส่วนนี้ไม่ได้มีข้อจำกัด เพียงแค่ครอบครัวต้องคุยกับก่อนและห้ามคิดไปเองว่าอีกฝ่ายเข้าใจแล้ว)
#4 กำหนดคนคุมกงสี หรือ กำหนดข้อตกลงแบบมีลายลักษณ์อักษรเพื่อให้ กงสีของเราเป็นระบบธุรกิจที่มีความถูกต้องชัดเจนและจับต้องได้เผื่อเมื่อระยะเวลาผ่านไป เผื่อมีคนลืมข้อตกลงของกงสี หรือว่าเข้าใจเละเลื่อนกันไปก็จะได้วสามารถย้อนมาดูเอกสาร เอาไว้ปกป้องคนในรุ่นต่อไป
เพราะว่ายุคเราอาจจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะเราเป็นคนเริ่มต้นขึ้นมา แต่ถ้าเป็นอนาคตล่ะ รุ่นถัดไป ถ้าเขามารับช่วงต่อจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องของตกลงกันในครอบครัว เพราะมีเอกสารที่ทุกคนในครอบครัวได้เซ็นรับทราบข้อตกลงร่วมกันไว้แล้ว
การปรับตัวของกงสีในยุคสมัยใหม่
ดังนั้นการทำธุรกิจระบบกงสี และจดทะเบียนธุรกิจครอบครัวเป็นนิติบุคคลถือว่าเป็น กลยุทธ์อย่างหนึ่งในการบริหารทรัพย์สินเพื่อลดค่าใช้จ่ายภาษีได้อย่างดีเลยครับ
หมายเหตุ: ในส่วนนี้ผมขออธิบายด้วยคำศัพท์จากภาครัฐ แต่สำหรับคนที่ยังอ่านไม่เข้าใจ เอาเป็นว่าในเบื้องต้นนั้นกงสีที่ไม่ได้จดทะเบียนบริษัทก็จะได้รับผลประโยชน์น้อยกว่ากงสีที่ทำงานเป็นระบบ
เพราะทางรัฐมีมาตราการในการส่งเสริม ออกมาให้คนธรรมดาหรือธุรกิจครอบครัวหรือธุรกิจที่มีเจ้าของเป็นคนเดียว และยังไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลให้เปลี่ยนมาทำธุรกิจครอบครัว แบบนิติบุคคลแทน
โดยรัฐอยากส่งเสริมให้เอาทรัพย์สินพวกนี้ไปลงทุนใน รูปแบบนิติบุคคล ซึ่งธุรกิจก็จะได้สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษี เช่น การโอนที่ดินมาเป็นทุน หรือ ทรัพย์สินอย่างอื่นที่สามารถโอนไปเป็นทุนได้
ในมติ ครม. 9 สิงหาคม 2559 (เป็นกฎหมายแล้ว /สิ้นสุดสิทธิประโยชน์ทางภาษี 31 ธันวาคม 2560) กรมสรรพากร กำลัง “ต่ออายุ” ให้สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2561 “เจ้าของกิจการบุคคลธรรมดา”แปลงทรัพย์สินเป็น “หุ้น” บริษัทใหม่ (10 สิงหาคม2559 –31 ธันวาคม 2560) ทรัพย์สินที่โอนเป็นทุนบริษัทต้องเป็น “ทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการ” มาก่อนวันที่โอนเป็นทุน ”คณะบุคคล” / “ห้างหุ้นส่วนสามัญ”
(มติ ครม.13/6/17และ พรฎ.644) ได้รับยกเว้นภาษียกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา / ภาษีมูลค่าเพิ่ม/ ภาษีธุรกิจเฉพาะ / อากรแสตมป์ (Property & Share Swap) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 5วันที่ 5 มิถุนายน 2560 ลดค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินจาก 2% เหลือ 0.01%
ประโยชน์การใช้รูปเเบบบริษัทกงสี เเบบนิติบุุคคล
#1 บริษัทที่เป็นนิติบุคคลไม่มีการหมดอายุ – หมายถึงธุรกิจจะไม่ล่มหาย ตายจากไปเหมือนบุคคลธรรมดา เพราะบริษัทกงสี จะอยู่ยงคงกระพันไปนับเป็นร้อย ๆ ปี ต่างจากบุคคลธรรมดาที่วันหนึ่งจะต้องแก่และตายจากไปในที่สุด เพราะถ้าบุคคลนั้นเสียชีวิต ทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นกองมรดกเพื่อแบ่งให้กับทายาทเเต่ กงสีจะเป็นเครื่องมือช่วยในการถือกรรมสิทธิ์ควบคุมทรัพย์ต่าง ๆ ของครอบครัว จะทำให้เรามั่นใจได้เลยครับว่าสินทรัพย์เหล่านั้นอยู่กับบริษัทกงสี ต่อไปอีกนานเท่านาน
#2 การใช้บริษัทกงสีเป็นเครื่องมือในการรวบรวมทรัพย์สินของธุรกิจ – เป็นการทำให้ครอบครัวหรือตระกูลของเรานั่น ได้รู้ว่าธุรกิจเรามีทรัพย์สิน หรือหนี้สินอะไรบ้าง เพราะบริษัทกงสีเเบบนิติบุคคล จะต้องจัดทำบัญชีและให้ผู้สอบบัญชีทำการตรวจรับรองจากนั้นก็ต้องยื่นบัญชีต่อกรมพัฒนาธุรกิจและกรมสรรพากรด้วยในทุกสิ้นปี
#3 เพื่อรักษาสิทธิ์ของทรัพย์สินที่มีค่าในปัจจุบันเเละอนาคต เช่น ทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง/ทรัพย์สินทางปัญญา เพราะทั้งคนไทยและต่างประเทศ ต่างก็จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเอาไว้เพื่อรักษาสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ สูตรการผลิตสินค้าประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง หรือ ยา ที่เป็นธุรกิจของครอบครัวเราครับ
โดยให้บริษัทกงสีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินทางปัญญานี้ แล้วให้บุคคลในครอบครัวร่วมกันเป็นผู้ถือหุ้น เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้เป็นเจ้าของร่วมกัน นอกจากนี้ก็ยังเป็นช่องทางในการวางแผนภาษีให้มีความรัดกุมและชำระภาษีเฉพาะส่วนที่กฎหมายบัญญัติไว้
สรุปการใช้รูปเเบบ บริษัทกงสี เป็นเครื่องมือในการรวบรวมทรัพย์สินจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพราะอาจจะทำให้ธุรกิจเสียภาษีน้อย เสียช้า และได้ใช้เครดิตทางภาษีอีกด้วยครับ
แต่ถ้าจะให้สรุป กงสี อีกครั้ง มันก็คือ การบริหารธุรกิจในครอบครัวและเครือญาติโดยทุกคนที่ทำงานในระบบนี้ก็จะแบ่งผลประโยชน์กันในครอบครัวอาจเป็นในรูปแบบได้เงินเดือนตามข้อตกลงของผู้ควบคุมเงินกงสี เเละอาจจะได้เงินเดือนที่ไม่ต่างจากพนักงานทั่วไป เป็นต้นครับ
เราควรทำอย่างไรให้กงสีเป็นธุรกิจที่อยู่ได้นานที่สุด?
ตัวกงสีในปัจจุบันเป็นระบบบริหารจัดการของตัวธุรกิจครอบครัว หมายถึงเป็นการสะสมความมั่งคั่ง เป็นเงินกองกลางเผื่อว่าเราจะลงทุนอะไรใหม่ๆ เราก็เอา กงสี ตัวนี้ไปลงทุนได้ หรือ ถ้าธุรกิจในเครือเกิดตรงนี้มีปัญหาเงินส่วนกลางของกงสี ตรงนี้ก็จะเข้าไปช่วย
และเมื่อมีสมาชิกในครอบครัวบางคน อยากจะออกไปจากระบบกงสี ไม่อยากถือหุ้นต่อแล้ว กงสีก็สามารถจะเอาเงินกองกลางมาเข้าไปซื้อหุ้นไว้ได้ หุ้นของบริษัทจะได้ไม่หลุดไปที่คนอื่น
ปัญหาของกงสีที่เราเคยได้ยินกันมา หรือ เห็นจากละครเรื่อง กรงกรรม จะเห็นได้ชัดว่า มันไม่มีระบบบริหารจัดการที่ชัดเจน ดังนั้นทางผมจะมีวิธีที่อยากจะแนะนำคือ
#1.ในกงสีเราต้อง ตั้งวัตถุประสงค์ของการใช้เงินให้ชัดเจน
#2.เงินในกงสี ต้องมีการบริหารจัดการว่าเงินจะเข้าจะออกยังไงมีการควบคุมและรู้ที่มาของรายได้ มีการประมาณรายจ่าย เหมือนการจัดการบริหารสินทรัพย์โดยทั่วไปเลยครับ
#3 ข้อสุดท้าย คือ พยายามให้ตัว ‘ครอบครัว’ เห็นว่า ระบบกงสีเป็นความภาคภูมิใจของคนรุ่นเก่าๆ ที่พวกท่านนั้น ช่วยกันสะสมมา และทุกรุ่นต้องบริหารให้โปร่งใส ตามวัตถุของคนที่ตั้งกงสีขึ้นมาครับ (ขอแถมก็คือ ความโปร่งใสจะมาจากจริยธรรมคนในครอบครัวและการพยายามสื่อสารกันอย่างต่อเนื่อง)