คู่มือทำโฆษณา Google Ads สำหรับมือใหม่ | บทเรียนหลักล้าน

คู่มือทำโฆษณา Google Ads สำหรับมือใหม่ | บทเรียนหลักล้าน

ผมได้ทำโฆษณา Google Ads มาหลายปีแล้ว มาถึงทุกวันนี้คิดว่าใช้เงินค่าโฆษณารวมทั้งหมดหลายล้านบาท ในส่วนนี้ผมอยากจะแบ่งปันความรู้ของผมให้ทุกคน หวังว่าจะเป็นประโยชน์และช่วยทุกคนประหยัดเวลาในการเรียนรู้ (และประหยัดค่าใช้จ่าย) ได้บ้างนะครับ

บทความนี้จะพูดเรื่องพื้นฐานของการทำโฆษณาบน Google ตั้งแต่ โฆษณา Google Ads คืออะไร โฆษณา Google Ads จัดตำแหน่งและคิดราคาอย่างไรบ้าง คำศัพท์เฉพาะทางที่เราต้องรู้ และข้อแนะนำต่างๆที่จำเป็นต่อการทำโฆษณาครับ

โฆษณา Google Ads คืออะไร

Google Ads คือเครื่องมือโฆษณาผ่านระบบออนไลน์ที่ถูกพัฒนาโดย Google ซึ่งผู้ทำโฆษณาสามารถเสนอราคาในการซื้อพื้นที่โฆษณาได้ โฆษณา Google Ads ทำให้เว็บไซต์สามารถจัดอันดับใน Google ได้สูงขึ้น ในระยะสั้น และยังมีระบบโฆษณาแบบรูปภาพได้อีกด้วย

ก่อนที่เราจะพูดเรื่องการทำโฆษณา เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเว็บไซต์ Google (Google.com/Google.co.th) ก็คือเครื่องมือตัวกลางในการจัดอันดับเว็บไซต์ต่างๆในอินเตอร์เน็ต โดยที่ Google จะจัดอันดับว่าคำค้นหาของแต่ละคนเหมาะสำหรับเว็บไซต์แบบไหนบ้าง 

เช่น คนที่ค้นคำว่า ‘facebook.com’ ก็จะเจอเว็บไซต์ Facebook และคนที่ค้นคำว่า ‘ร้านอาหารน่ากินแถวเยาราช’ ก็อาจจะเจอบทความของเว็บไซต์ที่เขียนถึงเรื่องเหล่านี้

จุดสำคัญก็คือ Google นั้นจัดอันดับเว็บไซต์เหล่านี้แบบฟรีๆ คนทั่วไปก็สามารถค้นหาคำได้ฟรี และเจ้าของเว็บไซต์ก็สามารถถูกจัดอันดับได้ฟรี ซึ่งศาสตร์ในการทำให้เว็บไซต์สามารถจัดอันดับได้ฟรีๆบน Google นั้นเรียกว่า SEO ในส่วนนี้หากใครสนใจผมแนะนำให้ลองอ่านบทความแบบละเอียดของผมดูนะครับ การทำ Google SEO

กลับมาที่เรื่องการทำโฆษณาใหม่ เนื่องจากว่า Google นั้นมีผู้ใช้งานเยอะมาก (เป็นหนึ่งในเว็บที่มีคนเข้าชมมากที่สุดในโลก) หลายๆธุรกิจก็สามารถใช้จุดขายนี้ในการเข้าถึงลูกค้าได้เช่นกัน ซึ่งก็ทำให้เกินรูปแบบธุรกิจของการ ‘ซื้อพื้นที่โฆษณา’ เช่น คนที่ค้นหาคำว่า ‘ครีมหน้าเด้ง’ บน Google ก็สามารถเจอร้านค้าของคุณที่จ่ายเงินโฆษณา ก่อนที่จะเห็นการจัดอันดับแบบปกติที่ Google ทำให้แบบฟรีๆ

ทำไมต้องลงโฆษณา Google Ads

คำตอบแบบสั้นๆก็คือ การลงโฆษณา Google Ads ทำให้เราสามารถเข้าถึงคนได้เยอะมากขึ้น ซึ่งก็เป็นโอกาสในการสร้างรายได้และทำกำไรอย่างหนึ่ง

จากประสบการณ์ส่วนตัวผม ที่เคยทำทั้งการโฆษณาบน Facebook โฆษณาบน Google และก็ทำให้เว็บไซต์สามารถจัดอันดับสูงๆได้บน Google แบบฟรี ผมค้นพบว่าการลงโฆษณาบน Google มีข้อดีดังนี้

จัดอันดับได้ดีกว่าคู่แข่งที่ไม่เสียเงิน – การถูกจัดอันดับบน Google หมายความว่าจะมีคนเห็นและติดต่อคุณมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ Google จะให้ความสำคัญกับคนที่ซื้อโฆษณามากกว่าคนที่จัดอันดับแบบฟรีๆ สรุปง่ายๆก็คือการเพิ่มการเข้าถึงอย่างหนึ่ง

ทำให้คนเข้าถึงเราได้ทันที – อีกหนึ่งปัญหาของการพยายามทำให้เว็บไซต์เราจัดอันดับเองบน Google ก็คือเรื่องเวลา ซึ่งสามารถใช้เวลามากตั้งแต่ครึ่งปีขึ้นไป สำหรับธุรกิจส่วนมากการรอนานขนาดนี้ทำได้ยาก เพราะฉะนั้นการจ่ายเงินโฆษณาเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ทันทีก็เลยเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า

ขายได้ง่ายกว่าการจัดอันด้บแบบไม่เสียเงิน – การจัดอันดับสามารถทำให้คุณขายได้ แต่อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือข้อความและเนื้อหาที่คุณใช้ในการโฆษณาเพื่อขาย ปัญหาของการทำ SEO ก็คือเราต้องปรับเนื้อหาของเว็บไซต์ให้เหมาะกับที่ Google และผู้อ่านชอบ ทำให้บางทีเราก็ไม่สามารถแสดงข้อความที่ถูกออกแบบมาเพื่อขายโดยเฉพาะ (ข้อความที่ทำให้ขายง่ายขึ้น) โดยรวมแล้วการปรับข้อความให้เหมาะกับการขายจะทำให้คุณขายได้ดีขึ้นหลายเท่าตัว

ในส่วนนี้คนที่ทำโฆษณาก็ต้องทดสอบเก็บข้อมูลเองว่างบค่าโฆษณาที่ใช้ลงไปกับ Google Ads งั้นคุ้มค่าสำหรับผลตอบแทนที่ได้กลับมาหรือเปล่า

สำหรับหลายๆธุรกิจการทดสอบเพื่อจะเรียนรู้วิธีสร้างเงินผ่าน Google Ads งั้นอาจจะใช้เงินลงทุน 3-40,000 บาทขึ้นไปเลยทีเดียว 

โฆษณา Google Ads จัดตำแหน่งและคิดราคาอย่างไร

โฆษณา Google Ads จะคิดค่าใช้จ่ายต่อจำนวนโฆษณาที่ถูกคลิก (Cost per Click) หมายความว่าจะเป็นการคิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริง ซึ่งราคาต่อคลิกก็จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับผู้ทำโฆษณาและชนิดของสินค้าที่ขาย

เวลาที่เราลงโฆษณา Google Ads เราสามารถเลือกได้ว่าเราอยากจะเสนอราคาเท่าไหร่ หรือเราก็สามารถให้ Google เสนอราคาให้เราเองก็ได้ ซึ่งการเสนอราคานี้ก็จะถูกคิดเป็นค่าใช้จ่ายโฆษณาของเรา และก็จะส่งผลกระทบต่อการจัดตำแหน่ง

หลายคนคงเข้าใจแล้วว่าการทำโฆษณาบน Google นั้นมีข้อดีมาก อย่างไรก็ตาม ‘ค่าใช้จ่าย’ ก็ยังเป็นปัญหาหลักของการทำโฆษณาทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโฆษณาในระบบออนไลน์ ที่มีกระบวนการคำนวณค่าใช้จ่ายซับซ้อนและไม่ชัดเจน

ยกตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายต่อคลิกของโฆษณาเคสใส่มือถือ อาจจะมีราคา 3 บาท แต่ค่าใช้จ่ายต่อคลิกของโฆษณาประกัน อาจจะมีราคาหลายร้อยบาท

ซึ่งระบบโฆษณาออนไลน์ส่วนมาก (Facebook Google) ก็ใช้ระบบการคิดค่าใช้จ่ายแบบนี้ โดย 2 ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อค่าโฆษณาได้แก่

การเสนอราคา (Bidding) – หากมี 2 บริษัท ที่ทำโฆษณาหน้าตาเหมือนกัน ขายของเหมือนกัน มีคุณภาพเท่ากัน บริษัทที่เสนอราคามากกว่าก็จะได้ตำแหน่งที่สูงกว่า

คุณภาพของโฆษณา (Quality Score) – ในหลายกรณี โฆษณาที่ทำออกมาดีกว่า ดึงดูดคนได้มากกว่า ก็จะสามารถจัดตำแหน่งได้ดีกว่าถึงแม้ว่าอาจจะมีงบโฆษณาน้อยกว่าก็ตาม

ผมขอสรุปอีกทีนะครับ หากเรามี 2 บริษัทที่ทำโฆษณาแข่งกัน โดยที่โฆษณาของทั้งสองบริษัทนั้นถือว่าดีพอๆกัน บริษัทที่เสนอราคามากกว่าก็จะได้ตำแหน่งไป

อย่างไรก็ตาม สมมุติว่าคุณขาย ‘กล่องดินสอ’ แต่คุณอยากจะลงโฆษณาในคำค้นหาจำพวก ‘อุปกรณ์มือถือ’ Google ก็จะบอกว่าโฆษณาของคุณนั้นไม่ตรงจุดเป้าหมาย คนที่ค้นหาอุปกรณ์มือถือไม่ได้สนใจกล่องดินสอ ทำให้โฆษณานี้มีคุณภาพไม่ดี ต่อให้คุณเสนอราคาสูงๆ คุณก็อาจจะไม่ได้ตำแหน่งที่ดี

และแม้แต่ในการขายของอย่างเดียวกัน บางคนก็ทำโฆษณาได้ดีกว่าเจ้าอื่นเป็นพิเศษ ทำให้ค่าโฆษณาของตัวเองถูกลง

คีย์เวิร์ด และ เจตนาของคึย์เวิร์ด ใน โฆษณา Google Ads

ในส่วนนี้จะเป็นการอธิบายเรื่องคำค้นหา หรือที่นักการตลาดหลายคนเรียกกันว่า คีย์เวิร์ด (Keywords) ซึ่งที่ผ่านมาผมแนะนำไปแล้วว่าคำค้นหาใน Google มีหลากหลาย บางคนก็ค้นหา อาหารสุนัข บางคนก็หาแคปชั่นฮาๆ บางคนก็หาซื้อเครื่องบินส่วนตัว แต่การที่เราจะหาคีย์เวิร์ดที่เหมาะกับของที่เราขายนั้นต้องทำอย่างไรบ้าง?

คีย์เวิร์ด (Keywords) คืออะไร

คีย์เวิร์ด คือคำหรือกลุ่มคำที่ใช้เพื่อเลือกการเข้าถึงของโฆษณา และ การเลือกคีย์เวิร์ดที่กว้างๆก็จะทำให้โฆษณาแล้วเข้าถึงคนได้เยอะ แต่ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะแสดงโฆษณาให้คนที่ไม่สนใจได้เห็น ซึ่งหมายความว่าอาจจะทำให้ค่าโฆษณาไม่คุ้ม 

ยกตัวอย่างเช่น คำว่า ‘แมว’ ที่คนค้นหาคำนี้อาจจะหารูปแมว อยากซื้อแมว อยากหาวิธีเลี้ยงแมวก็ได้ ซึ่งถ้าเทียบกับคำว่า ‘ราคาแมว เปอร์เซีย’ เราก็จะเห็นได้ว่ากลุ่มคำหลังนั้นมีความเจาะจงมากกว่า

เจตนาของคีย์เวิร์ด (Keyword Intent) คืออะไร

เจตนาของคีย์เวิร์ด (Keyword Intent) หมายถึงการวิเคราะห์ย้อนหลังว่าผู้ค้นหาคำหรือคีย์เวิร์ดนั้นมีความต้องการหาข้อมูลแบบไหนบน Google

ในส่วนนี้ เทคนิคในการเลือกคีย์เวิร์ดที่ดีก็มีเยอะ ตาสำหรับมือใหม่ ผมแนะนำให้เลือกที่การเจาะจงคีย์เวิร์ดแบบเฉพาะ อย่าง ราคาสินค้า รีวิวสินค้า หรือแม้แต่สถานที่ซื้อ เพราะคีย์เวิร์ดเหล่านี้มาจากผู้ค้นหาที่มีความต้องการในการซื้อ ทำให้สร้างกำไรได้ง่าย

ยกตัวอย่างเช่น ‘ร้านหมอสิวแถวสาทร’ ‘รีวิวเกม playstation’ หรือ ‘ราคาองุ่นสีเขียว’

เครื่องมือที่ผมใช้ส่วนตัวในการเลือกคีย์เวิร์ดก็คือ Google Keyword Planner ซึ่งทาง Google เตรียมไว้ให้คนทำโฆษณาใช้ฟรีอยู่แล้ว อย่างที่ทุกคนเข้าใจก็คือ คีย์เวิร์ดบางคำถึงแม้จะมีคนค้นหาเยอะและมีราคาถูก แต่ก็อาจจะไม่ทำกำไรให้เราได้มากนักเพราะคนที่ค้นหาคำนี้อาจจะไม่ได้สนใจในการซื้อของ

ลงโฆษณา Google Ads ต้องดูอะไรบ้าง

โอเคครับ ที่ผ่านมาผมอธิบายเนื้องพื้นฐานไปเยอะแล้ว ในส่วนนี้ผมอยากจะแนะนำค่าตัวเลขต่างๆ (หรือที่หลายคนเรียกว่า KPI) ที่นักการตลาดออนไลน์ต้องให้ความสำคัญในการทำโฆษณา Google Ads

CTR (Clickthrough Rate) หรืออัตราการคลิกโฆษณา – หมายถึงอัตราคนที่คลิกโฆษณาเข้ามาดู เทียบกับอัตราคนเห็นโฆษณา อัตรา CTR สูงก็ยิ่งแปลว่าคนให้ความสนใจกับโฆษณาเยอะ อาจจะแปลว่าคุณแสดงโฆษณาให้คนถูกกลุ่มเป้าหมาย หรืออาจจะแปลว่าคุณเขียนหัวข้อดึงดูดใจคนอ่าน อ่านโฆษณาแล้วอยากคลิกเข้ามาศึกษาเพิ่ม

Ad Spending หรือค่าโฆษณา – หมายถึงงบโฆษณาที่เราใส่ในแต่ละแคมเปญ การตั้งงบจะทำให้เราสามารถควบคุมได้ว่าแต่ละวันจะมีคนเห็นโฆษณากี่คน ซึ่งเราค่าโฆษณาหากนำมารวมกับอัตรา Cost Per Click หรือค่าใช้จ่ายต่อการได้หนึ่งคลิก เราก็จะสามารถคาดการณ์ได้ว่าเราจะมีคนเข้าเว็บไซต์เยอะแค่ไหน

Goal หรือเป้าหมาย – หมายถึงการตั้งเป้าหมายให้กับโฆษณา เช่น การวัดคนที่ Add Line หรือการวัดคนที่ซื้อสินค้าจริง เป้าหมายสำคัญเพราะ Google มีระบบที่สามารถปรับการแสดงโฆษณาเพื่อเพิ่มจำนวนเป้าหมายได้ (เช่น ปรับการเข้าถึงให้หาคนที่อยาก Add Line หรือซื้อสินค้า อย่างเดียว) การตั้งเป้าหมายของคนทั่วไปอยู่ที่จำนวนคนคลิกโฆษณา แต่สำหรับคนที่อยากทำโฆษณา Google Ads แบบจริงจัง ผมแนะนำให้ศึกษาเรื่องการทำ Google Tag Manager ไว้นะครับ (ทำยากนิดหน่อย แต่คุ้มค่ามากๆ)

ขอย้ำว่า Goals หรือ เป้าหมายเป็นอะไรที่สำคัญมาก (บางคนเรียกว่า Conversion Tracking) เมื่อก่อนผมปรับโฆษณาตามจำนวณคนที่คลิกโฆษณา ผมก็ได้ผลลัพธ์แบบหนึ่ง แต่ภายหลังที่ผมเริ่มเก็บข้อมูลคนที่ Add Line แทน รูปแบบการทำโฆษณาก็เปลี่ยนไปหมดเลย ต้องทดสอบ Keyword เก่าๆที่เคยปิดไปเพราะเมื่อก่อน CTR ไม่ดี (แต่ดันมี Cost Per Conversion ต่ำ หรือค่าใช้จ่ายต่ำต่อจำนวณคน Add Line)

เพราะสุดท้ายแล้ว ต่อให้ตัวเลขดีหรือไม่ดีแค่ไหน ตราบใดที่ ‘ทำแล้วยังกำไรอยู่’ เราก็สามารถเปิดโฆษณาทิ้งไว้เรื่อยๆได้ แต่ส่วนนี้เราก็ต้องไปคำนวณหลังบ้านเราเองว่าการขายครั้งหนึ่งเราได้กำไรเท่าไร และเราต้องให้คนคลิกโฆษณากี่คนถึงจะมีคนซื้อของเรา

แต่หากตอนแรกคุณยังทำไม่ได้ก็ให้ลองดูที่ CTR หรือ Cost Per Click ไปก่อน แต่ภายหลังเราก็ควรหาวิธีปรับตามเป้าหมายเราให้ได้อีกที (หรือถ้าทำไม่เป็น ก็จ้างฟรีแลนซ์ทำได้ ราคาไม่เท่าไรเอง)

กลับมาที่เรื่องตัวเลขต่างๆใหม่ เราต้องนำตัวเลขเหล่านี้มาเปรียบเทียบกันหลายๆรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น 

ค่า CTR ในแต่ละ Keyword
ค่า CTR ในแต่ละพื้นที่ (Location)
ค่า CTR ของ Ad Groups และ แต่ละ Ads 

หากเปรียบเทียบตัวเลขในแต่ละช่องทาง และการปิดโฆษณาที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ ก็จะทำให้คุณประหยัดงบโฆษณาได้เยอะ แถมบางทีการเลือกลงแต่โฆษณาที่ดีก็ทำให้เราได้ลูกค้าเยอะขี้นได้ (ทำน้อย แต่ได้มาก เพราะลงเงินถูกจุด)

5 สิ่งที่ควรรู้ก่อนลงโฆษณา Google Ads 

ถึงตรงนี้ผมก็ได้อธิบายมาเยอะแล้วเกี่ยวกับการลงโฆษณา Google Ads (ที่น่าเศร้าก็คือยังอธิบายวิธีทำโฆษณาได้ไม่หมดเลย เพราะพื้นฐานที่ต้องอธิบายเยอะมาก ไว้ผมจะเขียนอีกหนึ่งบทความเพื่อสอนคนทำ Google Ads อีกที) ในส่วนนี้ผมขอทิ้งท้ายเรื่อง Google Ads ไว้ดังนี้ เผื่อคนที่สนใจอยากทำโฆษณาจะได้นำไปเก็บไว้ทำตามภายหลัง รับรองว่าอ่านแล้วประหยัดเวลา ประหยัดงบการตลาดได้เยอะ

#1 Landing Page หมายถึงหน้าเว็บไซต์ที่คุณจะส่งคนคลิกโฆษณาเข้ามาดู ซึ่งหน้าเว็บไซต์นี้ก็เหมือนกับพนักงานขายคนหนึ่ง มีทั้งพนักงานขายที่ปิดลูกค้าได้เยอะ และพนักงานขายที่ไม่ค่อยเก่ง เพราะฉะนั้นหากเราจะเสียงบการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้า เราก็ต้องกลับมาคอยดูว่า Landing Page ของเรานั้นดีพอหรือยัง โหลดเร็วหรือเปล่า อ่านง่ายหรือเปล่า และที่สำคัญที่สุดก็คือเหมาะกับกลุ่มลูกค้าหรือเปล่า

#2 มือถือและคอมพิวเตอร์ หมายถึงการดูว่าโฆษณาของเราบนมือถือระบบคอมพิวเตอร์นั้นมีผลประกอบการต่างกันแค่ไหน ถึงแม้ว่าในสมัยนี้ควรจะใช้มือถือเยอะขึ้น แต่สินค้าบางประเภทก็อาจจะขายดีกว่าบนคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะสินค้าที่ขายธุรกิจด้วยกัน เพราะฉะนั้นอย่าลืมทดสอบและนำมาปรับปรุง ที่สำคัญก็คืออย่าลืมออกแบบ Landing Page ให้อ่านได้ทั้งมือถือและคอมพิวเตอร์ด้วย

#3 คนคลิกโฆษณาแล้วยังไงต่อ อีกหนึ่งปัญหาที่เห็นบ่อยคือการส่งคนคลิกโฆษณาเข้าสู่หน้าแรกของเว็บไซต์ (Home Page) ซึ่งคนเหล่านี้สามารถทำอะไรต่อได้หลายอย่างมาก อิสระทางการเลือกนี้ไม่ค่อยเหมาะสำหรับคนในโลกออนไลน์ที่มีสมาธิสั้น ทางที่ดีเราควรมี Landing Page เพื่อการทำโฆษณาอย่างชัดเจน ที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย และที่สำคัญก็คือเราต้องมี เป้าหมาย หรือ คำแนะนำ ที่ชัดเจนให้กับคนเข้าเว็บ ไม่ว่าจะเป็น ‘ซื้อเลย’ หรือ ‘Add Line’

#4 Google Ads ต้องทำเรื่อยๆ เป็นอีกข้อที่คนไม่เคยทำ Google Ads ไม่เข้าใจ โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า Google Ads มีลูกเล่นเยอะกว่า Facebook Ads มาก หมายความว่าเราสามารถปรับแต่ง ทำให้คนคลิกเข้าได้มากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทขายของออนไลน์หลายที่เปิดมาเป็นสิบปีแล้วก็ยังทำการปรับแต่ง Google Ads ตัวเองเพื่อเพิ่มกำไรเรื่อยๆ ยิ่งเราอ่านข้อมูลและทดสอบเยอะๆ เราก็ยิ่งมีกำไรเยอะขึ้น

#5 Ad Extensions ทำได้หลายอย่างมาก หลายคนคิดว่าเราเลือกคีย์เวิร์ดและเขียนโฆษณานิดหน่อย หน้าที่ Google Ads เราก็จบแล้ว ในส่วนนี้เราสามารถมาปรับ Ad Extensions ได้หลายอย่าง ซึ่งก็คือคำพูดเพิ่มเติมสองสามบรรทัดที่อยู่ใต้หัวข้อหลักโฆษณาเรา การทำ Ad Extensions ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แถมยังเพิ่มโอกาสที่คนจะอ่านและสนใจโฆษณาเราอีกด้วย เพราะฉะนั้นหากเป็นไปได้ให้ลองทำ Ad Extensions ให้มากที่สุด (แต่อันไหนไม่กำไรก็ทดสอบรูปแบบใหม่เรื่อยๆ)

สุดท้ายนี้เกี่ยวกับโฆษณา Google Ads

สุดท้ายนี้ผมคิดว่าหลักการทำโฆษณาออนไลน์นั้นเหมือนกันทุกที่ ก็คือเราต้องทดสอบในจำนวนน้อยๆก่อน แล้วค่อยนำมาปรับและพัฒนาภายหลัง ปัญหาของคนส่วนมากที่ผมเห็นก็คืออ่านข้อมูลไม่เป็นเลยพัฒนาไม่ถูกจุด และ ไม่รู้ตัวเลขอุตสาหกรรมเลยไม่รู้ว่าจะทำให้ดีต้องทำอย่างไร 

ปัญหาข้อแรกสามารถแก้ได้ด้วยการศึกษาเพิ่มเติม (หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณก็ควรรู้ไว้บ้าง อย่าพึ่งพาแต่การจ้างคน) ส่วนปัญหาที่สองขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของคุณ ซึ่งตัวผมทื่ทำโฆษณา Google Ads มาหลายปีก็ยังไม่มั่นใจเลยว่าที่ตัวเองทำนั้นดีที่สุดแล้วหรือยัง

จริงๆแล้วเรื่องเกี่ยวกับ Google Ads ที่ผมอยากพูดยังมีอีกเยอะมาก เพียงแค่บทความนี้เขียนมาเยอะแล้ว กลัวคนอ่านไม่จบกัน ไว้วันหลังผมจะมาเขียนเพิ่มและใส่ลิงค์ไว้ตรงนี้นะครับ

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด