รายได้ของธนาคารมาจากไหน? (ธนาคารพาณิชย์และแบงค์ชาติ)

รายได้ของธนาคารมาจากไหน? (ธนาคารพาณิชย์และแบงค์ชาติ)

หลายคนอาจจะสงสัยว่ารายได้ของธนาคารมาจากไหน เพราะธนาคารมีการจ้างพนักงานมากมาย แถมมีการให้คนยืมเงินปีละหลายร้อย หลายพันล้านบาท ที่สำคัญ บางทีก็โดนโกงหนี้ ลูกค้ายืมเงินไปแล้วก็จ่ายคืนไม่ได้ด้วย

ในส่วนนี้เรามาดูกันว่า ธนาคารมีรายได้แยกออกมาเป็นยังไงกันบ้าง และวัตถุประสงค์ของธนาคารในโลกธุรกิจมีอะไรบ้าง

รายได้ของธนาคารมาจากไหนกันนะ? วัตถุประสงค์ของธนาคาร คืออะไรกันนะ

เวลาพูดถึงรายได้ของธนาคาร หลายคนก็จะนึกถึงธนาคารพาณิชย์ เช่นธนาคารกสิกร ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือแม้แต่ธนาคารออมสิน โดยรวมแล้วธนาคารพาณิชย์เหล่านี้มีช่องทางสร้างรายได้คล้ายๆกัน อย่างไรก็ตามก็ยังมีธนาคารอีกประเภทหนึ่งที่เราก็ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงค์ชาตินั่นเอง

ในส่วนนี้ผมขอแยกการวิเคราะห์รายได้ของธนาคารเป็น 2 แบบก็คือรายได้ของธนาคารพาณิชย์แล้วก็รายได้ของธนาคารแห่งประเทศไทยนะครับ

รายได้ของธนาคารพาณิชย์ – การบริการของธนาคาร มีไว้เพื่ออะไรกันแน่

รายได้หลักของธนาคารพาณิชย์ มาจากสามช่องทาง ได้แก่ รายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ รายได้จากค่าธรรมเนียมต่างๆ และรายได้จากการลงทุนของธนาคาร โดยที่ธนาคารมีผลิตภัณฑ์ต่างๆเพื่อช่วยส่งเสริมการขาย เช่น บริการโอนเงิน กับ Mobile Banking เพื่อดึงดูดลูกค้า หรือประกันต่างๆเพื่อเพิ่มช่องทางหารายได้ 

#1 รายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้

แต่ไหนแต่ไรแล้วรายได้หลักของธนาคารก็มาจากดอกเบี้ยเงินกู้ หรือที่ธนาคารเรียกกันว่า ‘สินเชื่อ’ ในสมัยนี้ ‘เงินกู้’ มาได้ในหลายรูปแบบ เช่นเงินกู้ส่วนบุคคล เงินกู้ธุรกิจ หนี้บัตรเครดิต (เหมือนการยืมเงินธนาคารมาใช้ แต่จ่ายไม่ตรงเวลา) 

หลายๆคนคงจินตนาการได้ว่าสินเชื่อส่วนบุคคลนั้นใช้ทำอะไรได้บ้าง มีทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ และการทำให้ลูกค้าจ่ายง่ายขึ้นอย่างบริการผ่อนชำระต่างๆ ก็ถือว่าเป็นกลยุทธ์การตลาดในการดึงดูดลูกค้าอย่างหนึ่ง (แต่การผ่อน 0% ที่เราเห็นสมัยนี้คือการสร้างรายได้จากค่าปรับที่ลูกค้าชำระเงินสาย และการคิดค่าบริการบัตรเครดิต 2-3% จากร้านค้า) 

เราจะเห็นได้ตามกระทู้ต่างๆใน Pantip ว่ามีหลายคนใช้บัตรเครดิตเกินตัว ทำให้ตกเป็นหนี้ธนาคารถึงขั้นฟ้องร้องก็มี ถึงแม้ว่าธนาคารจะได้รายได้จากหนี้บัตรเครดิตที่ชำระสาย แต่ส่วนมากแล้วรายได้ส่วนนี้ก็ถือว่าเป็นรายได้ที่มีความเสี่ยง เพราะลูกค้าติดหนี้ไม่จ่ายรายเดือน ต่อให้ลูกหนี้ติดคุก ธนาคารก็อาจจะไม่ได้อะไรเลย ทำให้ธนาคารต้องตั้งแผนกวิเคราะห์หนี้ วิเคราะห์เครดิตบูโร (ที่มักจะไม่ค่อยประสานงานกับแผนกขายประกัน ขายสินเชื่อสักเท่าไหร่ 555)

#2 รายได้จากค่าธรรมเนียม ค่าบริการต่างๆ

อีกหนึ่งกรณีที่เราเห็นได้บ่อยก็คือรายได้จากค่าธรรมเนียม เป็นค่าธรรมเนียม ATM ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตบางประเภท ค่าสมัครบริการ SMS ค่าใช้จ่ายเหล่านี้หากเราคิดเป็นต่อผลิตภัณฑ์แล้วก็คงไม่ได้เยอะอะไร แต่สำหรับลูกค้าที่ใช้หลายผลิตภัณฑ์ของธนาคาร บางคนก็อาจจะเสียเป็นหลายพันต่อปี ซึ่งธนาคารส่วนมากก็มีจำนวนลูกค้าหลายล้านคนอยู่แล้ว 

หากเรามองดูจริงๆแล้วธนาคารแทบไม่มีต้นทุนผันแปร (variable cost) ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์พวกนี้เลย ต่อให้เพิ่มจำนวนลูกค้ามากแค่ไหน ค่าใช้จ่ายหลักก็คือระบบคอมพิวเตอร์และค่าจ้างพนักงานเป็นส่วนมาก แต่คนที่ทำธุรกิจก็คงเข้าใจดีว่าตราบใดที่ลูกค้าพร้อมจ่าย บริษัทต่างๆก็พร้อมที่จะคิดเงินค่าบริการอยู่แล้ว 

เวลาที่คุณสมัครบัญชีกับธนาคาร ธนาคารจะมีให้คุณ ‘ติ๊กช่อง’ ว่าคุณยินยอมให้ธนาคารนำข้อมูลคุณไปใช้ เพื่อนำเสนอสินค้าตัวอื่น หรือขายให้กับบริษัทอื่นหรือเปล่า (โดยเฉพาะบริษัทประกัน บริษัทกองทุน และบริษัทขายสินเชื่ออื่นๆ) ซึ่งธนาคารก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปขายให้กับบริษัทเหล่านี้ได้เช่นกัน 

‘การแลกเปลี่ยนเงินตรา’ และ ‘การเทรดหุ้น’ เป็นสองผลิตภัณฑ์ที่เราจะเห็นได้ว่ามีค่าใช้จ่ายอย่างชัดเจน ยิ่งเราแลกเปลี่ยนเงินเยอะ ยิ่งเราเทรดหุ้น เราก็จะยิ่งต้องเสียเงินให้กับธนาคารเยอะ ที่สำคัญก็คือผลิตภัณฑ์ 2 อย่างนี้สามารถเติบโตได้พร้อมกับเศรษฐกิจและจำนวนประชากร 

ค่าธรรมเนียมสุดท้ายที่น่าสนใจก็คือค่าธรรมเนียมจากบริษัทต่างๆที่ทำงานกับธนาคาร บัญชีบริษัทส่วนมากก็จะมีค่าธรรมเนียม การโอนเงินให้กับพนักงาน (ที่ต้องทำทุกเดือน) ก็มีค่าธรรมเนียม หากบริษัทจะให้ลูกค้ารูดบัตรเครดิตที่ร้านก็ต้องมีค่าธรรมเนียม (ซึ่งส่วนมากร้านค้าก็จะนำไปคำนวนเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อมาขึ้นราคาสินค้าภายหลัง สรุปก็คือเป็นภาระของผู้บริโภคทางอ้อม) หรือถ้าบริษัทอยากจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็ต้องใช้บริการของธนาคาร

#3 รายได้จากการหมุนเงินฝากไปลงทุน

ในสมัยนี้คงไม่มีใครคิดแล้วว่า ‘ธนาคารใจดีจัง ยอมเสี่ยงเก็บเงินให้เรา แถมมีดอกเบี้ยเงินฝากด้วย’ ผมคิดว่าหลายคนคงเข้าใจแล้วว่าธนาคารนำเงินฝากของเราไปใช้หมุนเงินอย่างอื่นชั่วคราว เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ทุกธนาคารรู้ว่าคนไทย 70 ล้านคนทั่วประเทศคงไม่ถอนเงินพร้อมกันหมดทุกคน ในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้นทุกวินาที ทุกชั่วโมงและ ทุกวัน ธนาคารจะมีเงินเย็นกองอยู่ที่ตัวเองเสมอ 

ธนาคารนำเงินเย็นเหล่านี้มาหมุนไปลงทุนในกิจกรรมต่างๆ เช่นการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ขยายตลาด ขยายสาขา ธนาคารส่วนมากก็จะมี ‘แผนกลงทุน’ เป็นของตัวเอง (เงินจากการซื้อกองทุนของคุณ) ซึ่งกำไรส่วนหนึ่งจากการบริหารกองทุนเหล่านี้ก็จะกลับเข้ามาหาธนาคาร ส่วนที่ธนาคารจะไปลงทุนกับส่วนไหนก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละที่

เราสามารถมอง ‘ประกันต่างๆ’ ว่าเป็นการฝากเงินลงทุนกับธนาคารได้เช่นกัน เพียงแค่เงื่อนไขของผลตอบแทนจะมาไหนรูปแบบต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น คุณต้องป่วยก่อน บ้านต้องไฟไหม้ 

เราจะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์หลายๆอย่างของธนาคารนั้นมีความเกื้อหนุนกันเป็นอย่างมาก ข้อมูลจากการให้บริการฟรีๆ เช่นการรับเปิดบัญชี ก็สามารถนำไปใช้ได้ในการขายประกัน ขายสินเชื่อต่างๆ เปิดบัตรเครดิต เงินฝากที่ได้จากคุณก็สามารถนำไปหมุนลงทุนเพิ่มได้อีก 

และการที่คู่ค้าธุรกิจจะทำธุรกรรมต่างๆ เช่นชำระเงินเดือนพนักงาน หรือให้บริการรูดบัตรเครดิต ธุรกิจเหล่านี้ก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้ธนาคารด้วย หลายคนเรียกโมเดลธุรกิจแบบนี้ว่า ‘ธุรกิจรายได้สองทาง’ 

ถึงแม้จะชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ แต่โดยรวมแล้วธนาคารหนึ่งบริษัท (เช่น Kbank SCB TMB หรือ อื่นๆ) ก็มีหลายแผนก หลายบริษัทย่อย ที่ครอบคลุมลูกค้าหลายประเภท เช่นลูกค้าทั่วไปเหมือนทุกคนที่อ่านบล็อกของผมอยู่ ลูกค้าจำพวกบริษัท ตั้งแต่บริษัทขนาด SME ขนาดเล็ก จนไปถึงบริษัทมหาชนข้ามชาติ 

ซึ่งแน่นอนว่าทั้งค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยเงินกู้ และได้อื่นๆ ของธนาคารก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ กลยุทธ์การทำธุรกิจของธนาคาร (เช่น การลดดอกเบี้ยเงินกู้ธุรกิจชั่วคราวเพื่อดึงดูดลูกค้าเพิ่ม) และเทรนด์เศรษฐกิจด้วย

รายได้ของธนาคารแห่งประเทศไทย – แบงค์ชาติเอาเงินมาจากไหน

ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ควบคุมธนาคารอื่น และก็มีหน้าที่ในการควบคุมความเสถียรของค่าเงิน กำหนดนโยบายให้กับธนาคารอื่น เช่นมีหน้าที่ในการให้ธนาคารกู้ยืมเงิน พิมพ์ธนบัตร 

จากที่ผมเข้าใจ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงค์ชาติ ‘สร้างรายได้’ ด้วยการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม หากพูดในภาษาที่เข้าใจง่ายก็คือ ‘เงินหมดเมื่อไร ก็พิมพ์แบงค์เพิ่ม’ ซึ่งก็เป็นกิจกรรมที่ต้องทำอย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันปัญหาค่าเงินบาทลอยตัว เพราะผลร้ายอาจทำให้เงินสดในมือประชาชนมีค่าน้อยลง จริงๆแล้วแบงค์ชาติสามารถกู้เงินเพิ่มได้ อย่างไรก็ตามในหลายปีที่ผ่านมาก็ไม่มีรายงานว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทยมีการกู้เงินเพิ่มเติม

จริงๆแล้วทางธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้มีการตีพิมพ์รายงานส่วนนี้ไว้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะเขียนเป็นคำศัพท์อุตสาหกรรมการเงินมากเกินไปหน่อยทำให้อ่านยาก สำหรับคนที่สนใจสามารถศึกษากันได้นะครับ ข้อมูลแบงค์ชาติ

สุดท้ายนี้เกี่ยวกับรายได้ของธนาคาร

ผมคิดว่าทุกคนก็คงเห็นภาพแล้วว่ารายได้ของธนาคารนั้นมาจากอะไรบ้าง อย่างไรก็ตามแต่ละธนาคาร แต่ละบริษัท ก็มีกลยุทธ์ ทักษะเฉพาะทาง และความได้เปรียบทางธุรกิจเป็นของตัวเอง ซึ่งก็อาจจะทำให้กลุ่มลูกค้าและช่องทางการหารายได้ของธนาคารแต่ละที่ไม่เหมือนกัน

โดยรวมแล้วผมคิดว่าธุรกิจทางด้านการเงินในธนาคารเป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจมาก เพราะเป็นธุรกิจที่เล่นกับการ ‘บริหารความเสี่ยง’ ได้อย่างชาญฉลาด และสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายเพื่อเพิ่ม “คุณค่าของลูกค้าระยะยาว” (Customer Lifetime Value) จนหลายบริษัทสามารถสร้างรายได้ได้หลายแสนล้านบาท 

สุดท้ายนี้ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีใหม่ๆจะเปลี่ยนแปลงนิสัยผู้บริโภคไปบ้าง แต่ธนาคารและสถาบันการเงินก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อประชาชนและธุรกิจในประเทศไทยอยู่ดี สิ่งที่น่าจับตามองในอนาคตก็คือองค์กรใหญ่อย่างธนาคาร จะสามารถปรับตัวได้อย่างไร และสามารถสร้างผลิตภัณฑ์การงานแบบใหม่ที่เหมาะกับยุคดิจิตอลได้หรือไม่

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด