เมื่อพูดถึงการทำงานในสมัยนี้แล้ว การเปลี่ยนงานเองก็เป็นเรื่องปกติของชาวออฟฟิศที่ทำงานมาถึงจุดหนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยความต้องการความก้าวหน้าในชีวิต ความจำเป็น หรืออยากออกไปเจอสภาพแวดล้อมใหม่ก็ตาม การลาออกจากที่ทำงานเดิมก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่คนที่เคยเปลี่ยนงานมาแล้วคงเข้าใจดีถึงความกระอักกระอ่วนและน่าลำบากใจในการลาออก โดยเฉพาะเมื่อเราไม่รู้จะพูดอย่างไรกับเจ้านายดี แถมอาจเกิดปัญหาเสียความรู้สึกแล้วมองหน้ากันไม่ติดอีกต่างหาก
บทความนี้ผมจะขอแนะนำเคล็ดลับและวิธีการพูดเพื่อการลาออกอย่างเป็นมืออาชีพ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ตัดสินใจและไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนดีแล้ว มาดูกันครับว่าเราจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้การลาออกของเรานั้นเป็นไปด้วยดี และเพื่อที่เราจะได้บอกลาที่ทำงานเดิมและก้าวออกมาได้อย่างสวยงามครับ
วิธีพูดลาออกจากงาน ให้มีชั้นเชิง และเป็นมืออาชีพ
คิดอย่างถี่ถ้วน และรวบรวมความมั่นใจก่อนลาออก
แม้ผมจะบอกว่าการเปลี่ยนงานเป็นเรื่องธรรมดาของคนทำงาน แต่การตัดสินใจว่าจะลาออกดีหรือไม่ก็ยังเป็นเรื่องที่ชวนให้ครุ่นคิดอย่างหนักอยู่ดี ธรรมชาติของมนุษย์เราย่อมกลัวการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดาครับ
ดังนั้นเมื่อคุณได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าการลาออกคือคำตอบสุดท้าย ขอให้รวบรวมความมั่นใจเพื่อเตรียมตัวบอกกับเจ้านายไปตรงๆ ครับ
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือบางคนอาจจะได้รับข้อเสนอใหม่ หรือการต่อรองจากเจ้าฝ่ายหรือฝ่ายบุคคล ซึ่งบางครั้งข้อเสนอนั้นอาจดูน่าสนใจโดยเฉพาะถ้าเราได้รับประโยชน์มากขึ้น
แต่ผมอยากให้ทุกคนลองไตร่ตรองให้ดีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากเราเลือกลาออกจากงานเนื่องจากปัญหาภายในองค์กร นั่นหมายความว่าเราอาจต้องทนอยู่ที่บริษัทเดิมต่อไป โดนสาเหตุที่ทำให้เราอยากออกจากงานแต่แรกนั้นไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมเลยนั่นเอง
วิธีการคุยกับเจ้านาย โดยไม่ให้เสียน้ำใจ
อย่าลืมว่าการลาออกจากงานนั้นไม่ได้หมายความว่าคุณต้องตัดความสัมพันธ์และมิตรภาพอันดีกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานด้วย
เมื่อเราตัดสินใจลาออกแล้ว ผมมีคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ในการพูดคุยกับนายจ้างของคุณเพื่อให้เรายังรักษาความสัมพันธ์อันดีกับเจ้านายไว้ได้อย่างสบายใจดังนี้ครับ
#1 แจ้งหัวหน้าด้วยตัวเอง
ไม่มีนายจ้างคนไหนอยากทราบข่าวร้ายจากปากของเพื่อนร่วมงานคุณหรือคนอื่นหรอกครับ ดังนั้นอย่างน้อยเราควรสงวนเรื่องที่จะลาออกไว้กับตัวเองก่อน รวมถึงเตรียมตัวให้พร้อมและมองหาโอกาสที่จะได้คุยกับหัวหน้าเป็นการส่วนตัวจะดีกว่า พยายามอย่าแจ้งการลาออกผ่านข้อความหรืออีเมลจะดีที่สุด
#2 หาโอกาสเข้าพบและแจ้งอย่างเป็นทางการ
แม้ว่างานที่ทำอยู่จะยุ่งแค่ไหน ก็ขอให้ลองจังหวะเหมาะๆ ขอคุยกับหัวหน้าเป็นการส่วนตัวครับ คุณอาจจะลองบอกเลี่ยงเป็นนัยๆ ก็ได้ว่าขอปรึกษาเรื่องงาน แต่เจ้านายที่ได้ยินแบบนี้ส่วนใหญ่ก็รู้แล้วครับว่าลูกน้องจะมาขอลาออกนั่นเอง
อีกอย่างคือหัวหน้าส่วนใหญ่เข้าใจครับว่าถ้าลูกน้องเดินมาคุยเพื่อขอลาออกโดยตรงแบบนี้แสดงว่าผ่านการคิดมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ถ้าหากคุณมีเหตุผลหนักแน่นเพียงพอ คนเป็นนายส่วนใหญ่ก็พร้อมจะเข้าใจครับ
#3 เตรียมคำพูดให้พร้อม ตรงไปตรงมา และสุภาพ
ก่อนที่จะไปพูดคุยกับหัวหน้านั้น อย่างน้อยๆ คุณควรทำการบ้านและเตรียมบทพูดไว้สักหน่อยครับ ซึ่งถึงแม้คุณอาจจะรู้สึกไม่ชอบงานหรือนายจ้างตัวเองมากแค่ไหน สิ่งสุดท้ายที่คุณควรทำคือการเอาแต่สรรธยายข้อเสียของงานหรือบริษัทที่ทำอยู่
อย่าลืมว่าคุณยังต้องทำงานต่อจนถึงวันสุดท้าย และมีโอกาสที่ฝ่ายบุคคลของที่ทำงานใหม่ที่คุณไปสมัครจะโทรกลับมาหานายจ้างคุณเพื่อสอบถามข้อมูล ดังนั้นอย่าเพิ่งตัดโอกาสหรืออนาคตตัวเองเพียงแค่เพราะอารมณ์ชั่ววูบครับ
ไม่ว่าใครก็ไม่ชอบได้ยินคำพูดในแง่ลบเกี่ยวกับตัวเองหรือบริษัทที่ตัวเองอยู่หรอกครับ (แม้ว่าอาจจะเป็นความจริงก็ตาม) ดังนั้นเราควรใช้คำพูดหรือเลือกเหตุผลที่ตัดสินใจลาออกที่แสดงออกไปในเชิงบวกมากกว่า ผมแยกประเภทคร่าวๆ ดังนี้ครับ
- ความจำเป็น เช่น ลาออกเพราะต้องดูแลครอบครัว, ต้องย้ายบ้าน-ไปต่างประเทศ, มีปัญหาสุขภาพ
- ความก้าวหน้า เช่น งานที่ทำอยู่ไม่ตอบโจทย์ , ต้องการเปลี่ยนสายงาน หรือได้งานใหม่
- ความต้องการส่วนตัว เช่น ต้องการเปิดธุรกิจของตนเอง หรือไปเรียนต่อ
อย่างที่เห็นว่าเราสามารถหาเหตุผลได้มากมายทีเดียวครับ ดังนั้นอย่างน้อยคุณควรรักษาน้ำใจเจ้านายที่เคยรับคุณเข้าทำงานและช่วยเหลือคุณไว้สักหน่อย อย่าลืมว่าโลกธุรกิจนั้นกลมกว่าที่คุณคิด ไม่แน่ว่าคุณอาจจะมีโอกาสได้กลับมาเจอหรือร่วมงานกับหัวหน้าอีกครั้งในภายภาคหน้าก็ได้
นอกจากนั้นแล้ว หัวหน้าของพวกเราส่วนใหญ่มักจะยุ่งหรือมีธุระงานต้องสะสางอยู่แล้ว ดังนั้นเราควรแจ้งเหตุผลอย่างกระชับและตรงไปตรงมาครับ
#4 ตัวอย่างบทพูดขอลาออก
“ผมคิดเรื่อง(ลาออก)นี้มาสักพักแล้วครับหัวหน้า หลังจากลองคิดเหตุผลดู ตอนนี้ผมตัดสินใจได้แล้วว่าผมอยากจะออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ ถึงงานที่ทำอยู่อาจจะไม่ตอบโจทย์ความฝันของผมในตอนนี้ แต่ผมก็ซาบซึ้งนะครับที่ได้รับโอกาสจากการทำงานกับหัวหน้าด้วย ดังนั้นผมขออนุญาตแจ้งลาออกอย่างเป็นทางการล่วงหน้าครับ”
“หลังจากที่ทำงานที่นี่มาสักพักแล้ว ผมคิดว่างานนี้คงไม่เหมาะกับตัวเองเท่าไหร่ค่ะ ผมคงถนัดในสายงานอื่นมากกว่า อีกอย่างคือมีอีกบริษัทหนึ่งมาเสนองานใหม่ให้ ซึ่งผมได้ตอบตกลงไปก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ทราบว่าหากผมจะลาออกในวันที่… หัวหน้ามีเหตุขัดข้องไหมครับ”
#5 แจ้งลาออกล่วงหน้า ไม่ออกปุบปับ
ในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายไม่มีการบังคับว่าพนักงานต้องแจ้งบริษัทล่วงหน้าเป็นเวลานานเท่าไรถึงจะลาออกได้ครับ ดังนั้นถ้าหากบริษัทไม่เคยให้เราเซ็นสัญญาจ้างที่ระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เราก็สามารถแจ้งขอลาออกกับหัวหน้าแล้วออกจากความเป็นพนักงานได้ทันที
แต่อย่าลืมว่าในสังคมการทำงานนั้น การลาปุ๊บออกปั๊บเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ โดยเฉพาะในคนทำงานที่เป็นมืออาชีพครับ ดังนั้นอย่างน้อยตามมารยาทแล้ว เราควรแจ้งลาออกล่วงหน้าสัก 1-2 เดือนให้เจ้านายและผู้เกี่ยวข้องทราบ เพื่อให้พวกเขาได้หาคนมารับช่วงต่อจากเราได้โดยที่งานไม่ขาดตอนนั่นเอง
#6 บอกลาออกแล้ว ต้องทำอย่างไรต่อ?
แม้เราจะได้พูดคุยกับหัวหน้าเพื่อแจ้งความประสงค์ลาออกแล้ว แต่งานของเรายังไม่เสร็จสิ้นครับ
ดังนั้นช่วงนี้จะเป็นโอกาสสุดท้ายที่คุณจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ในบริษัท ซึ่งกำลังจะกลายเป็นที่ทำงานเก่าของคุณให้คุ้มค่าที่สุด รวมถึงสร้างทัศนคติที่ดีก่อนที่เราจะจากไปด้วยนั่นเอง
แน่นอนว่าภารกิจหลังการแจ้งลาออกนั้นไม่ได้มีกฎตายตัวเพราะขึ้นอยู่กับสภาพและเงื่อนไขของบริษัท ดังนั้นผมจะขอลิสต์ภาพรวมเป็นข้อๆ ไว้ให้ทุกคนลองปรับใช้กันดูครับ
- ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรและแจ้งบริษัท ล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 เดือน
- สะสางและเคลียร์งานที่ทำอยู่ให้เรียบร้อย เคลียร์คอมพิวเตอร์และจัดการเอกสารให้เป็นหมวดหมู่เพื่อเตรียมส่งงานต่อ พยายามอย่าเหลืองานทิ้งค้างไว้
- อย่าลืมบอกข่าวกับเพื่อนร่วมงานล่วงหน้าก่อนออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทำงานเป็นทีมเพราะคนในทีมอาจต้องมารับช่วงงานของเราต่อในช่วงที่ยังหาคนไม่ได้
- ถ้าหากตำแหน่งของเรามีการติดต่อประสานงานกับลูกค้าหรือบุคคลนอกบริษัท อย่าลืมอีเมลแจ้งลูกค้าหรือผู้เกี่ยวข้องด้วยว่าเรากำลังจะลาออก
- คุยกับฝ่ายบุคคลเพื่อเช็กวันลาพักร้อนที่ยังเหลืออยู่และสวัสดิการอื่นๆ
- ถ้าหากบริษัทมี Exit Interview หรือการพูดคุยครั้งสุดท้ายก่อนออก ให้ใช้โอกาสนี้ชี้แจงปัญหาที่เราเจอในบริษัทไม่ว่าจะเป็นตัวงาน บุคคล หรือระบบต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพนักงานที่เหลืออยู่
- ถ้าหากเราลาออกโดยที่ยังไม่มีงานใหม่มารองรับ ควรไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานจัดหางานของรัฐเพื่อรับเงินชดเชยจากการว่างงาน