เมื่อนักศึกษาก้าวเข้าสู่ช่วงชั้นปีที่สูงขึ้น ปัญหาโลกแตกก็จะผุดขึ้นมาทันที เช่น หาที่ฝึกงานอย่างไรดี เลือกฝึกประสบการณ์สายใดดี อย่าเพิ่งกุบขมับไป วันนี้เราจะพาทุกคนมาจุดประกายปิ๊งไอเดียในการการเลือกที่ฝึกงานแบบฉบับง่าย ๆ แต่มีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน แต่ก่อนอื่นขอบอกเลยว่าการฝึกงานเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วัยทำงานนี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่อาจจะคนละขั้วกับในห้องเรียน
มหาลัยทั่วโลกจึงบรรจุการฝึกงานอยู่ในหลักสูตรของนักศึกษานั่นเอง โดยยิ่งเริ่มศึกษาหาช่องทางตั้งแต่เนิ่น ๆ ช่วงปีหนึ่งปีสองจะช่วยให้มีความพร้อมและไม่ลนลานเมื่อเวลามาถึง เอาล่ะ ใครพร้อมปูเส้นทางสู่อนาคตการทำงานพร้อมกับเสริมความโดดเด่นให้เรซูเม่แล้ว มาดูกันเลยว่าวิธีการเลือกสรรที่ฝึกงานมีอะไรบ้าง
หาที่ฝึกงานต้องทราบอะไรล่วงหน้าบ้าง
ก่อนจะมาเริ่มหาที่ฝึกงานกันเรามาเรียนรู้ข้อมูลพื้นฐานกันก่อนไม่ว่าจะเป็นความหมายของการฝึกงานและช่วงเวลาในการฝึกงาน
การฝึกงาน คือ การนำความรู้จากห้องเรียนในสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยไปใช้จริงในการทำงาน ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้การทำงานจริงว่าเป็นอย่างไร
ซึ่งส่วนมากแล้วแต่ละคณะจะกำหนดว่านักศึกษาจำเป็นต้องผ่านการฝึกงานเสียก่อนจึงจะจบการศึกษาได้ ทั้งนี้ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจะมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขตามความเหมาะสม
ข้อต่อมา คือ ระยะเวลาในการฝึกงาน ซึ่งตามระเบียบการส่วนใหญ่กำหนดขั้นต่ำอยู่ที่ 1 – 2 เดือน โดยแต่ละสถาบันจะกำหนดเงื่อนไขฝึกงาน 2565 แตกต่างกันไป โดยการฝึกงานมักจะเริ่มช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนของปีที่ 3 / 4 หรือปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษา ซึ่งต้องลงทะเบียนและจัดการเอกสารกันไว้ล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาไปฝึกงาน ทางบริษัทก็จะมีการประเมินและสื่อสารกับอาจารย์นั่นเอง
หาที่ฝึกงานยังไงให้เจอบริษัทที่ใช่อย่างง่ายดาย
นักศึกษาหลายคนอาจจะกังวลเรื่องที่ฝึกงานกันไม่น้อย เนื่องจากมีบริษัทจำนวนนับไม่ถ้วนพร้อมเปิดรับน้อง ๆ ฝึกงานในปัจจุบัน บางคนจึงไม่รู้จะเลือกที่ใด กังวลว่าสภาวะแวดล้อมในการทำงานจะดีหรือไม่ แต่อย่าเพิ่งเครียดไป เราได้รวบรวมช่องทางและวิธีการในการหาที่ฝึกงาน หากสนใจบริษัทไหนต้องใช้เวลาศึกษาทั้งวัฒนธรรมองค์กร สภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัย การเดินทางและที่สำคัญคือ ความปลอดภัย
1.เริ่มหาจากเว็บไซต์
แน่นอนว่าการค้นหาข้อมูลบนเว็บไซต์จะมีความหลากหลายละลานตาไปหมด ทั้งนี้นักศึกษาต้องเลือกแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือและคัดกรองบริษัทที่สนใจอีกรอบหนึ่ง สำหรับรายชื่อเว็บไซต์ที่แนะนำมีดังต่อไปนี้
- Jobthai.com
หนึ่งในเว็บหางานของไทยที่มีคุณภาพและสามารถตอบโจทย์นักศึกษาได้ทุกสาขาวิชา เพียงพิมพ์คีย์เวิร์ด ‘ฝึกงาน’ และตำแหน่งที่ต้องการ ก็จะพบรายชื่อบริษัทที่กำลังเปิดรับนักศึกษาฝึกงาน
- Jobsdb.com
สมัครสมาชิกและอัปโหลด Resume แล้ว นักศึกษาจะสามารถค้นหาตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างครอบคลุมแน่นอนทั้งในไทยและต่างประเทศ ตัวอย่างคีย์เวิร์ด เช่น ‘internship’ และ ‘บริษัทต่างชาติ’ รับรองว่ามีความหลากหลายและตรงความต้องการของน้อง ๆ อย่างแน่นอน ซึ่งใครสนใจงานบริษัทต่างชาติเว็บไซต์ Workventure.com ก็น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
- Facebook group
หรือสามารถหาได้จาก facebook group ที่ประกาศรับสมัครงาน ตัวอย่างเช่น เราถนัดในเรื่องของ Marketing ให้เข้าเกี่ยวกับกลุ่มหางาน การตลาด สามารถเลือกหากลุ่มตามความถนัดของตนเองได้เลย
- เด็กฝึกงาน.com
หนึ่งในเว็บหางานของไทยที่มีคุณภาพ สามารถหางานได้หลากหลายรูปแบบตามความถนัดของเรา เมื่อเข้าไปในเว็บไซต์ จะมีรายชื่อบริษัทที่เปิดรับสมัครงานอยู่ พร้อมทั้งบอกรายละเอียดต่างๆ เราสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับงานได้เลย
2.สอบถามรุ่นพี่
อีกหนึ่งขั้นตอนสุคลาสิกในการหาที่ฝึกงานแต่ได้ข้อมูลอินไซต์ คือ การสอบถามรุ่นพี่นั่นเอง ซึ่งน้อง ๆ จะได้เข้าใจลักษณะการทำงาน วัฒนธรรมองค์กรและสภาพแวดล้อมการทำงานของจริง ซึ่งการเรียนรู้ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้จะทำให้เข้าใจการทำงานและแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ ไม่แน่ไม่นอนว่าอาจจะได้เป็นพนักงานจริงหลังจากที่เรียนจบแล้วก็ได้
3.กิจกรรม Job Fair
กิจกรรม Job Fair คือ งานที่นักศึกษาจะได้พบปะกับผู้ประกอบการจากบริษัทต่างๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการถามข้อมูล นอกจากนี้ยังสามารถส่ง Resume ภายในงานได้อีกด้วย โดยการรับนักศึกษาฝึกงานของแต่ละบริษัทจะมีขั้นตอนแตกต่างกันออกไป จึงจำเป็นต้องทราบว่าขั้นตอนต่อไปดำเนินการอย่างไรบ้าง
4.บอร์ดคณะ
อีกหนึ่งแห่งที่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเปิดรับนักศึกษาฝึกงานของบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ก็คือ บอร์ดคณะ นั่นเอง เมื่อบริษัทต้องการรับน้องฝึกงานจะมีการติดต่อไปโดยตรงกับภาควิชาและทางคณะ แน่นอนว่ามีตำแหน่งว่างรองรับมากมายและมีความน่าเชื่อถือสูง แถมยังเหมาะกับสิ่งที่เรียนรู้มาโดยตรง เช่น สาขาภาษาอังกฤษ มีตำแหน่งเกี่ยวกับโรงแรม สนามบินและสำนักพิมพ์ ซึ่งตอบโจทย์ทุกความสนใจอย่างแน่นอน อีกทั้งยังมีโอกาสได้รับคัดเลือกสูงมากเพราะบริษัทแสดงความต้องการเจาะจงมายังภาควิชาและมหาวิทยาลัยของเราแล้ว
กลยุทธ์การหาที่ฝึกงานที่ใช่สำหรับนักศึกษายุคใหม่ไฟแรง
เป็นอย่างไรบ้างสำหรับวิธีหาที่ฝึกงานฉบับง่ายแบบปลอกกล้วยเข้าปากไม่ว่าน้อง ๆ จะถนัดหาข้อมูลแบบ online หรือ onsite ก็มีให้เลือกไม่ว่าจะเป็น การค้นหาบนเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือ การสอบถามจากผู้มีประสบการณ์ตรง การเข้าร่วมกิจกรรม Job Fair และบอร์ดของคณะ ทั้งนี้บางวิธีอาจต้องใช้เวลาค่อนข้างมากในการคัดเลือกบริษัทเพราะมีความหลากหลายอย่างยิ่ง ทั้งนี้ขอให้น้อง ๆ ทุกคนมีสติและเลือกอย่างรอบคอบ ใช้ความชื่นชอบนำทาง เชื่อว่าจะพบกับตำแหน่งที่ใช่และบริษัทที่ชอบอย่างแน่นอน