เรียนการตลาด ยากไหม? ต้องเก่งอะไรบ้าง?

เรียนการตลาด ยากไหม? ต้องเก่งอะไรบ้าง?

การตลาดถือว่าเป็นหรือสาขาที่กว้างมาก และสาขาการตลาดก็ถือว่าเป็นหนึ่งในสาขาที่มีคนให้ความสนใจมากที่สุด ซึ่งในบทความนี้ผมอยากจะอธิบายในมุมมองของผมว่าการตลาดยากแค่ไหนและหากเราอยากจะเรียนการตลาดเราต้องเก่งอะไรบ้าง 

เรียนการตลาด ยากไหม

การตลาดเป็นสาขาที่เรียนและเข้าใจได้ง่าย แต่ยากในการนำมาใช้ในชีวิตจริง โรงเรียนการตลาดจะสอนใช้เครื่องมือและแนวคิดต่างๆ แต่สุดท้ายแล้ว คนที่จะเรียนแล้วได้คะแนนดี หรือเรียนจบออกมาแล้วเป็นนักการตลาดชั้นนำ ก็คือคนที่คิดวิเคราะห์เก่ง

ก่อนอื่นเลยเราก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ‘ความยากง่าย’ ในความหมายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เพื่อเป็นข้อเปรียบเทียบ ผมจะขอพูดว่าคณะอย่าง ‘หมอ’ (คณะแพทย์) ถือว่าเป็นคณะที่ยากในสายตาหลายๆคน หรือสำหรับมงคลคณะวิศวะหรือวิทยาศาสตร์ก็อาจจะเป็นสาขาที่ยาก 

แต่ในกรณีตรงกันข้าม หากเรามองว่าการตลาดเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการออกแบบต่างๆ (เช่นสำหรับการทำโฆษณา การทำสื่อ) เราก็จะเห็นได้ว่ามีอีกหลายคณะที่สอนเรื่องนี้โดยตรง

ในมุมมองของผม ความท้าทายของนักการตลาดก็คือ การที่เราต้องอยู่ระหว่าง ‘โลกของการคิดวิเคราะห์’ ‘โลกของการออกแบบและการสื่อสาร’ และ ‘โลกที่ต้องตัดสินใจด้วยเซนส์ธุรกิจ’ (Business Sense) พูดอีกแบบนึงก็คือ ถึงแม้เราจะไม่ได้มีทักษะสุดโต่ง แต่เราก็สามารถเอาทักษะหลายๆอย่างมารวมกันให้เกิดคุณค่าและสร้างเงินได้ (ทำให้ขายของได้)

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมอยากจะให้ทุกคนภาพก็คือ ‘การเปลี่ยนคำถาม’ เพราะอย่างที่บอกว่าความยากง่ายไม่มีอยู่จริง แต่สิ่งที่เราต้องถามก็คือ เนื้อหาของการตลาดที่สอน เหมาะกับความชอบหรือทักษะของเราแค่ไหน

ซึ่งในหัวข้อต่อไปผมจะมาวิเคราะห์กันว่า เราต้องเก่งอะไร ต้องชอบอะไร ถึงจะเหมาะกับการเรียนด้านการตลาด

เรียนการตลาด ต้องเก่งอะไรบ้าง

ในส่วนนี้ผมจะขอแนะนำทักษะต่างๆ ที่หากเรามีแล้ว ชีวิตด้านการเรียนด้านการตลาดจะสบายมากขึ้น อย่างไรก็ตามในส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิชาที่เรียนแล้วก็เนื้อหารายละเอียดอีกทีนึงด้วย ยกตัวอย่างเช่น บางวิชาอาจจะเน้นการคำนวณเลขเยอะ แต่บางวิชาก็อาจจะเน้นเรื่องการเขียนรายงานเป็นต้น

การวิเคราะห์ธุรกิจ – หลายๆวิชาด้านการตลาดต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจต่างๆ เช่นเราเรียนเครื่องมือนี้มา อาจารย์ก็ให้เอาเครื่องมือนี้ไปลองใช้วิเคราะห์ธุรกิจดู หมายความว่าเราก็ต้องชอบธุรกิจต่างๆ อุตสาหกรรมต่างๆ หรือสินค้าต่างๆอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว หากเราไม่ชอบส่วนนี้เราก็อาจจะไม่มีความสุขกับเนื้อหาที่เราเรียน

การเขียนรายงาน – นอกจากเรื่องของการวิเคราะห์ด้านบนและ หลายครั้งที่เราต้องนำความรู้เหล่านี้มาเขียนเป็นรายงานส่งอาจารย์ ยกตัวอย่างเช่นการเขียนแผนการตลาด การเขียนแผนธุรกิจต่างๆ วิชาการตลาดส่วนมากจะเน้นเรื่องการทำรายงาน แถมรายวิชาเป็นการทำงานกลุ่มอีกด้วย 

การสื่อสาร – หากเราเขียนรายงานเสร็จแล้ว เราก็ต้องนำมานำเสนอ (presentation) หน้าห้องด้วย ซึ่งก็จะรวมถึงทักษะการพูดหน้าห้อง หรือการสื่อสารข้อมูลวิเคราะห์หน้าแค่คนในห้องเข้าใจได้ง่าย 

การเก็บข้อมูล – เวลาเราเขียนรายงาน เราก็อาจจะต้องไปหาข้อมูลเก็บข้อมูลเองเพิ่มเติมอีกทีนึง ซึ่งก็จะรวมถึงการหาข้อมูลผ่านระบบ Internet (ทักษะการ Google) แต่หลายๆคนก็ต้องวิ่งทำแบบสอบถามหรือไปสัมภาษณ์ลูกค้าจริงด้วย 

การออกแบบสื่อ – ยกตัวอย่างเช่นการออกแบบโฆษณาต่างๆ ซึ่งส่วนนี้ก็อาจจะไปคล้ายกับคณะนิเทศศาสตร์นิดหน่อย บางวิชาเราก็อาจจะต้องไปเก็บข้อมูลลูกค้ามา เขียนรายงานส่งอาจารย์วิเคราะห์ลูกค้า แล้วก็ลองออกแบบสื่อพื้นฐานเป็นตัวอย่างว่าโฆษณาเราจะมีหน้าตาแบบนี้

การคำนวณ – การคำนวณด้านการตลาดจะไม่เหมือนกับการคำนวณสายวิศวะ อาจจะไม่ได้มีการใช้แคลคูลัส แต่หลายครั้งก็อาจจะต้องรวมถึงการทําตาราง Excel หรือการเข้าใจสถิติพื้นฐาน แต่ไม่ใช่ทุกมหาลัยที่จะบังคับให้เราเรียนวิชาด้านการคำนวณ หลายมหาลัยจะมีส่วนนี้เป็นวิชาเลือกที่เรายังพอจัดตารางเรียนเลี่ยงได้

เซนส์ธุรกิจ – ผมให้ไว้เป็นข้อแถม เพราะเซนส์ธุรกิจนั้นสอนกันยากมาก แต่หากเราเข้าใจลูกค้า เข้าใจว่าคู่แข่งกำลังทำอะไรอยู่ เราก็จะสามารถเป็นนักการตลาดที่ดีได้ (หรือจะมาใช้ต่อยอดให้กลายเป็นนักธุรกิจหรือเจ้าของกิจการภายหลังเลยก็ได้มีการ) 

ในบริบทนี้ ผมก็ต้องออกตัวก่อน (อีกแล้ว) ว่าเนื้อหาการตลาดนั้นขึ้นอยู่กับมหาลัยที่สอนและตัวอาจารย์ที่สอนด้วย เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะสมัครเรียน เราก็ควรจะดู ‘รายละเอียดหลักสูตร’ (Course Syllabus) หรือข้อมูลวิชาที่สอนอีกทีนะครับ

ไม่เก่งเลข เรียนการตลาดได้ไหม?

ต่อให้ไม่เก่งเลข เราก็สามารถเรียนการตลาดได้ แต่เราก็อาจจะเจอบางวิชาที่เราไม่ชอบหรือไม่เก่งซึ่งก็จะทำให้เรามีคะแนนไม่ดีบ้าง หากเราไม่เก่งเลข เราก็ต้องหาทักษะอื่นมาทดแทนเพื่อทำให้เราสามารถแบ่งการตลาดได้ดีขึ้น เช่น ความเข้าใจธุรกิจ การเขียนรายงาน การนำเสนอ 

สรุปสั้นๆก็คือ เนื่องจากว่าการตลาดเป็นสาขาที่กว้างมาก ต่อให้เราไม่เก่งเลขเราก็สามารถใช้ทักษะอื่นมาทดแทนได้ ยกตัวอย่างเช่น การทำรายงาน การนำเสนอ หรือแม้แต่เซนส์ธุรกิจ

ผมขอบอกตามตรงนะครับ หากเราอยากอยู่ในโลกธุรกิจ (ซึ่งการตลาดก็คือการทำธุรกิจแบบหนึ่ง) เราก็ไม่สามารถหนีเรื่องการคำนวณตัวเลขได้ครับ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ใช้ในเรื่องของธุรกิจก็ไม่ได้เป็นตัวเลขแบบเดียวกับที่เราคำนวณในวิชาเลขหรือวิชาฟิสิกส์

โดยพื้นฐานแล้วเราก็ต้องบวกลบคูณหาร คิดกําไรขาดทุนให้เป็น หากบางครั้งเราเจอกรณีศึกษาธุรกิจขายส่งมีสินค้า 1,000 ประเภท เราก็อาจจะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลต้นทุนการตลาดของแต่ละสินค้า หรือหากเราไปลงวิชาการวิจัยตลาดเชิงปริมาณ (Quantitative Marketing Research) เราก็อาจจะต้องทำความเข้าใจเรื่องสถิติ หรือบางทีก็อาจจะต้องเรียนโปรแกรมคำนวณสถิติด้วย

เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะเลือกคณะ ให้เราลองดูก่อนว่าเราเก่งอะไร และเนื้อหาในแต่ละวิชาที่คณะสอนมีอะไรบ้าง (ติดต่อมหาลัยไป ขอดูข้อมูลวิชา) 

ยิ่งไปกว่านั้น หากเราอยากจะจบออกมาทำงานด้านการตลาดจริง ในยุคนี้ เราก็จะเห็นได้ว่างานการตลาดหลายอย่างถูกย้ายไปอยู่ในโลกของการตลาดออนไลน์มากขึ้น ซึ่งในโลกของการตลาดออนไลน์ก็จะยิ่งมีเรื่องของการคำนวณเข้ามาเยอะเต็มไปหมดเลยครับ ยกตัวอย่างเช่นการคำนวณต้นทุนโฆษณา Facebook  หรือ การคิดมูลค่าของลูกค้าในระยะยาว (Customer Lifetime Value) 

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด