10 รูปแบบ ‘ตรรกะป่วย’ ที่คุณควรเลี่ยง (และคอยสังเกตตัวเอง)

10 รูปแบบ ‘ตรรกะป่วย’ ที่คุณควรเลี่ยง (และคอยสังเกตตัวเอง)

เพียงเพราะว่าการกระทำแต่ละอย่าง ‘มีเหตุผล’ ไม่ได้แปลว่าเหตุผลทุกอย่างนั้น ‘ฟังขึ้น’ เสมอ ในยุคปัจจุบันเราจะเรียกสิ่งนี้ว่าตรรกะป่วยหรือว่าตรรกะวิบัติ ซึ่งหมายถึงการมีมุมมองความคิดหรือว่าการตัดสินใจที่อาจจะไม่ได้ถูกต้อง (ตามเชิงตรรกะ) ซะทีเดียว 

ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่ารูปแบบของตรรกะป่วยแต่ละอย่างนั้นมีอะไรบ้าง และตัวอย่างที่เราจะเห็นได้บ่อยๆในสังคมปัจจุบันคืออะไร

ตรรกะป่วยคืออะไร

ตรรกะป่วย (Logical Fallacies) คือตรรกะหรือการตัดสินใจที่มีความผิดพลาดในทางด้านเหตุผลและการเชื่อมโยงข้อมูล หมายถึงตรรกะที่มีข้อบกพร่อง การหลอกลวง หรือแม้แต่ข้อมูลเป็นเท็จ ซึ่งทำให้การตัดสินใจนี้ฟังดูไร้เหตุผล

ถ้าจะให้พูดจริงๆทุกการตัดสินใจส่วนมากจะผ่านสิ่งที่เรียกว่าการเชื่อมโยงข้อมูลหรือว่าการใช้เหตุผลไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง อาจจะเป็นการตัดสินใจในที่ทำงาน หรือการตัดสินใจในงานวิจัยหรือการศึกษา 

แน่นอนว่าการตัดสินใจบางประเภท อย่าง ‘กินข้าวกลางวันอะไรดี’ หรือ ‘วันหยุดไปเที่ยวไหนดี’ อาจจะเป็นการตัดสินใจที่ไม่มีผิดถูก แต่การตัดสินใจบางอย่าง เช่นในการทำธุรกิจ หรือการเข้าสังคม ก็อาจจะต้องพึ่งพาตรรกะมากเป็นพิเศษ เพราะผลลัพธ์ของการตัดสินใจที่ผิดพลาดอาจจะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้

ซึ่ง ‘ตรรกะป่วย’ เป็นสิ่งที่เราพบเจอได้ในชีวิตประจำวันมากกว่าที่เราคิด ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าตัวอย่างของตรรกะป่วยมีอะไรบ้าง

10 รูปแบบ ‘ตรรกะป่วย’ ที่คุณควรเลี่ยง 

#1 Straw Man

Straw Man หมายถึงการโต้แย้งนอกเรื่องหัวข้อหลักที่กำลังนำเสนออยู่ เป้าหมายก็คือการชี้แจงข้อผิดพลาดที่ไม่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้การโต้แย้งของอีกฝ่ายดูอ่อนแอลง 

เพราะในหลายๆกรณี คนส่วนมากไม่สามารถแยกแยะระหว่าง ‘ความน่าเชื่อถือของคนนำเสนอจากตรระกะ’ และ ‘ความถูกต้องของตรรกะนั้นๆ’ โดยการโต้แย้งตรระป่วยแบบ Straw Man จะจงใจเชื่อมโยงข้อโต้แย้งของอีกฝ่ายไปหัวข้อที่ไม่เกี่ยวข้อง 

ยกตัวอย่างเช่น การโต้แย้งว่า ‘ประชาชนทุกคนควรจ่ายภาษีให้ถูกต้อง’ ถูกเปลี่ยนหัวข้อเป็นเรื่องของการวิจารณ์งานบริหารของภาครัฐ หรือเรื่องของการทำคอรัปชั่น

#2 จริงเพราะไม่มีหลักฐานแย้ง

หมายถึงการโต้แย้งว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีจริงหรือไม่มีจริง เพราะว่าไม่มีหลักฐานมาตอบโต้แย้ง

ตรรกะป่วยแบบนี้สามารถเห็นได้บ่อยในวงการวิทยาศาสตร์ เพราะคนส่วนมากมักคิดว่าอะไรที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ เท่ากับว่าเจ้าของตรรกมีสิทธิ์ในการตัดสินใจขึ้นมาเอง 

ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดก็คือ ‘เอเลี่ยน’ ซึ่งคนอาจจะบอกว่า่เอเลี่ยนมีอยู่จริงหรือเอเลี่ยนไม่มีอยู่จริงเพียงเพราะว่าไม่มีใครเคยค้นพบมาก่อน ซึ่งจริงๆแล้ว คำตอบที่ถูกต้องของตรรกนี้ก็คือ ‘ยังไม่มีใครรู้’ ‘ยังไม่มีการถูกค้นพบ’ ไม่ใช่เป็นการนำการไม่มีหลักฐานมาแปลตามความชอบของเจ้าของประกาศ

#3 ตัวเลือกสุดโต่ง

หมายถึงการโต้แย้งว่าถ้าไม่ใช่ A ก็คือ B ซึ่งเป็นตรรกะความคิดที่เห็นได้บ่อยสำหรับกลุ่มคนที่เชื่อในความคิดใดความคิดหนึ่งเป็นพิเศษ ทั้งที่จริงแล้วตัวเลือกตามความเป็นจริงอาจจะมีมากกว่านี้ก็ได้ 

ตัวอย่างที่เห็นได้บ่อยก็คือเรื่องของความเชื่อทางด้านการเมืองแล้วก็ศาสนา ยิ่งเราเชื่อมั่นในไอเดียหรือความคิดด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ เราก็จะยิ่งแปลว่าหากอีกฝ่ายไม่ได้เชื่อมั่นในสิ่งเดียวกับเรา เท่ากับอีกฝ่ายกำลังสนับสนุนไอเดียที่ตรงกันข้ามกับเราอยู่

ในความเป็นจริงแล้ว ตัวเลือกหลายๆอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความชอบหรือเรื่องการตัดสินใจ นั้นอาจจะมีคำตอบมากกว่า A หรือ B ก็ได้ เพียงแต่ว่าเจ้าของตรรกะไม่สามารถยอมรับได้

#4 บทสรุปเกินความจริง (Slippery Slope)

หมายถึงการมีตรรกะเชื่อมโยงสถานการณ์หรือการกระทำปัจจุบันไปสู่สถานการณ์หรือการกระทำในอนาคตรูปแบบที่เกินความเป็นจริงหรือสุดโต่ง 

ตัวอย่างที่เห็นได้บ่อยก็คือ นักเรียนนักศึกษาที่เชื่อว่าหากเราสอบตกบางวิชา เท่ากับว่าเราจะไม่ประสบความสำเร็จเป็นคนที่ไม่มีงานทำในอนาคต ‘อย่างแน่นอน’ จนลืมไปว่าเรายังมีโอกาสแก้ตัวอยู่หลายครั้ง สามารถสอบซ่อมก็ได้ หรือสามารถหางานทำตามวิชาที่เราเก่งก็ได้

ตรรกะนี้จะสามารถแก้ได้ง่ายๆหากเราเข้าใจภาพรวมของการตัดสินใจหรือสถานการณ์นั้นๆ พูดง่ายๆก็คือแก้ไขได้ด้วยประสบการณ์นั้นเอง

#5 การเหมารวม (Generalization)

การเหมารวมคือตรรกะป่วยที่บอกว่า เพียงเพราะสิ่งใดสิ่งหนึ่งเคยเป็นจริงหรือว่าจะเป็นจริงได้ในบางสถานการณ์ แปลว่าสิ่งนั้นๆต้องเป็นจริงในทุกสถานการณ์ 

ในความเป็นจริงแล้วเราควรจะประเมินสถานการณ์นั้นๆตามข้อมูลและปัจจัยต่างๆที่มีอยู่จริง ไม่ใช่เพราะจากข้อมูลในอดีตที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์นี้

ตรรกะนี้พบได้บ่อยในสังคมมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่นการเหยียดชนชั้น การเหยียดเชื้อชาติ หรือว่าการเหยียดผิว เพียงเพราะว่าบุคคลอื่นๆที่อาจจะมีพื้นเพหรือประวัติคล้ายกันเคยทำผิดพลาดมาก่อน ไม่ได้แปลว่ามนุษย์คนอื่นจะทำผิดเหมือนกัน 

#6 โยงนอกเรื่อง (Red Herring)

Red Herring หมายถึงการยกตัวอย่างอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อ เพื่อสนับสนุนตรรกะหรือการตัดสินใจบางอย่าง

ตรรกะป่วยแบบ Red Herring จะต่างกับ Straw Man ตรงที่ Red Herring จะเป็นการยกตัวอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องมาเพื่อทำให้อีกฝ่ายงงงวย และ Straw Man จะเป็นการโยงนอกเรื่องเพื่อโจมตีความน่าเชื่อถือของคนพูด 

ยกตัวอย่างเช่น คนที่ขับรถเร็วบอกว่าไม่ควรโดนตำรวจจับ เพราะวันนั้นเขารีบจริงๆ ซึ่งในความเป็นจริงคนที่ทำผิดกฎหมายก็คือผิดกฎหมายอยู่ดี เหตุผลเรื่องสถานการณ์ส่วนตัวไม่สามารถมาโต้แย้งได้

#7 ยกตัวอย่างผิดๆ (Appeal to Hypocrisy)

การยกตัวอย่างแบบผิดๆ คือการยกความย้อนแย้งของคนพูดในอดีตออกมา เพื่อทำให้ประโยคนั้นดูมีความน่าเชื่อถือน้อยลง

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติมีนักธุรกิจที่เคยถูกจำคุกเพราะฉ้อโกง ออกมาพูดเรื่องข้อเสียของการฉ้อโกงบริษัท บางคนก็อาจจะบอกว่าเหตุผลของนักธุรกิจคนนี้ฟังไม่เข้าเรื่องเลย เพราะสุดท้ายแล้วเขาก็เคยฉ้อโกงมาก่อน 

ในโลกแห่งความเป็นจริง ถึงแม้ว่าความน่าเชื่อถือของคนพูดจะเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่สุดท้ายแล้วตรรกะที่ดีก็ควรถูกตัดสินด้วยการเชื่อมโยงข้อมูล มากกว่าตัวคนพูดเอง

#8 เหตุผลและความสัมพันธ์ (Causation and Correlation)

หมายถึงการสรุปข้อมูลออกมาแบบผิดๆ เพราะเข้าใจผิดเรื่องความสัมพันธ์และเหตุผลนั้นๆ

ตรรกะป่วยแบบนี้อธิบายได้ยากครับเรามาดูตัวอย่างกันจะเห็นภาพมากกว่า ‘เนื่องจากว่าพระอาทิตย์ขึ้นหลังไก่ขันทุกเช้า แปลว่าการที่ไก่ขันทำให้มีพระอาทิตย์ขึ้น’

ของหลายอย่างในโลกนี้มีความสัมพันธ์กัน (correlate) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกของวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตามเพียงเพราะว่าสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นพร้อมเพียงกัน ไม่ได้แปลว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นต้นเหตุของสถานการณ์นั้นๆ

#9 ผู้มีอำนาจบอกมา (Authority)

หมายถึงการให้ความน่าเชื่อถือกับตรรกะบางอย่าง เพียงเพราะว่ามีผู้มีอำนาจแนะนำมาอีกที

เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่จะเชื่อฟังหรือเชื่อใจคำแนะนำของคนที่เก่งกว่า ยกตัวอย่างเช่น เราต้องฟังหมอแนะนำเรื่องสุขภาพ หรือต้องฟังช่างแนะนำเรื่องการดูแลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพียงแต่ว่าคำแนะนำบางอย่างอาจจะ ‘เกินความเป็นจริง’ ‘ไม่เกี่ยวข้อง’ หรือ ‘ไม่สมเหตุผลก็ได้’

ยกตัวอย่างเช่น ในโลกการตลาดจะมีคำว่า ‘ทันตแพทย์ 4 ใน 5 คนแนะนำยาสีฟันตัวนี้’ ซึ่งก็เป็นการอ้างอิงผู้มีอำนาจอีกที่หนึ่ง ในความเป็นจริงแล้วประโยคนี้มีจุดบกพร่องหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ทันตแพทย์ทันตแพทย์ทั่วประเทศอาจจะมีหลายพันคน หรือ การแนะนำครั้งนี้มีการถูกโน้มน้าวด้วยเงินหรือการสนับสนุนเพิ่มเติมหรือเปล่า

สุดท้ายแล้วโดยธรรมชาติของมนุษย์เราก็ต้องเชื่อใจคนที่เก่งกว่าอยู่ดี เพียงแต่ว่าเราก็ต้องหยุดคิดเพื่อพิจารณาคำแนะนำหลายอย่าง (โดยเฉพาะคำแนะนำที่ส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตเราโดยตรง) ก่อนมาใช้ในการตัดสินใจจริงด้วยครับ

#10 คนอื่นก็ทำกัน (Bandwagon)

หมายถึงการบอกว่าการกระทำหรือการตัดสินใจบางอย่างนั้นมีเหตุผล เพียงเพราะว่าคนอื่นสามารถทำได้หรือว่าก็ทำกันเป็นเรื่องปกติ

ตรรกะป่วยแบบนี้เจอได้บ่อยในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่กฎหมายหรือว่าระบบรักษากฎเกณฑ์ต่างๆนั้นไม่แข็งแรง 

ยกตัวอย่างเช่น มอเตอร์ไซค์สามารถขับรถบนทางเดินคนได้ เพียงเพราะว่ามอเตอร์ไซค์คันอื่นก็ทำกัน หรือเพียงเพราะว่าตำรวจไม่ได้จับ หรือ เราต้องไป 

เกี่ยวกับตรรกะและการตัดสินใจ

สุดท้ายนี้ผมคิดว่าตรรกะป่วยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อยกว่าที่คิด ตัวผมเองก็ยังต้องนั่งจับผิดตัวเองเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตามการที่มานั่งกังวลว่าทุกการตัดสินใจของเราต้องถูกตรรกะตลอดเวลานั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเลยครับ 

ผมคิดว่าเราควรจะใช้สติในการตัดสินใจ แต่ก็ควรจะเลือกว่าการตัดสินใจไหนมีคุณค่าในการใช้สติด้วย ของบางอย่าง เช่น กินข้าวกลางวันอะไรดี อาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ต้องใช้สมาธิในการตัดสินใจมาก แต่ของอีกหลายๆอย่าง เช่น การตัดสินใจทางธุรกิจ การพิมพ์ออก Social Media หรือ การตัดสินใจด้านการเงิน ก็ควรผ่านการไตร่ตรองและใช้สติในระดับหนึ่ง

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด