7 รูปแบบการบริหารธุรกิจ ที่คุณสามารถนำมาปรับใช้ได้จริง!

7 รูปแบบการบริหารธุรกิจ ที่คุณสามารถนำมาปรับใช้ได้จริง!

รูปแบบการบริหารธุรกิจสำคัญอย่างไร? การบริหารธุรกิจก็คือการบริการคน ต่อให้เรามีเครื่องจักรหรือระบบรัดกุมแค่ไหน ถ้าพนักงานหรือคนคุมระบบของเราไม่รู้สึกอยากทำงาน ผลผลิตของธุรกิจของเราก็จะน้อยลง

คนที่ทำธุรกิจคงจะเข้าใจว่าลูกค้าของเรามีนิสัยและความชอบไม่เหมือนกัน หากใครที่ชอบคุณค่าที่ธุรกิจเขาเราสร้างขึ้นมาก็จะถือว่าเป็น กลุ่มลูกค้าหลัก 

ก่อนที่เราจะเริ่มดูรูปแบบการบริหารธุรกิจต่างๆ ผมขอบอกก่อนว่าไม่มีรูปแบบบริหารไหนที่ดีที่สุดสำหรับทุกกรณี เราควรดูปัจจัยต่างๆ เช่นรูปแบบงานของเรา จำนวนพนักงาน หรือสไตล์การทำงานของเราเพื่อเลือกรูปแบบการบริหารที่เหมาะสมกับสิ่งที่เรามี ซึ่งคุณสามารถคลิกตรงนี้ เพื่อข้ามไปดู 7 รูปแบบการบริหารธุรกิจ ในบทความนี้ได้ทันที

รูปแบบการบริหารธุรกิจคืออะไร (Management Styles)

รูปแบบการบริหารธุรกิจ (Management Styles) คือวิธีที่ผู้บริหารธุรกิจใช้ในการวางแผน จัดความสำคัญ และ จัดระเบียบความพยายามในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์กร รวมถึงการตัดสินใจและวิธีใช้อำนาจต่างๆในองค์กร รูปแบบการบริหารธุรกิจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับองค์กร ระดับการจัดการ และความต้องการของคนในองค์กร

ผู้บริหารที่ดีคือคนที่สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารธุรกิจให้เหมาะสมที่สุดแต่ในสถานการณ์ แต่ก่อนที่เราจะเลือกรูปแบบการบริหารธุรกิจที่เหมาะสมที่สุด เราต้องคำนึงถึงปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกของบริษัทด้วย 

  • ปัจจัยภายใน – ตัวอย่างปัจจัยภายนอกที่เราควรพิจารณาก่อนเลือกรูปแบบการบริหารธุรกิจได้แก่ นโยบายบริษัท ลำดับความสำคัญในธุรกิจ วัฒนธรรมองค์กร ระดับทักษะของพนักงาน แรงจูงใจพนักงาน และ โครงสร้างการจัดการ
  • ปัจจัยภายนอก – ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้า ซัพพลายเออร์ คู่แข่ง เศรษฐกิจ และ กฎหมาย

สำหรับคนที่สนใจเรื่องปัจจัยภายในและภายนอกบริษัท สามารถอ่านบทความเรื่อง วิธีทำ SWOT ของเราได้

ความสำคัญของการเลือกรูปแบบการบริหารธุรกิจให้เหมาะสม

หากเราสามารถยอมรับว่าลูกค้ามีความชอบไม่เหมือนกันแล้ว เราก็ควรยอมรับว่าพนักงานของเรามีความชอบและความถนัดไม่เหมือนกันเช่นกัน และการปรับความชอบความถนัดของพนักงานใหเหมาะกับรูปแบบการบริหารธุรกิจของเราได้จะทำให้ผลผลิตของบริษัทเราออกมาดีสุด

พนักงานบางคนต้องการคำแนะนำเยอะ พนักงานบางคนต้องการอิสระในการคิด พนักงานบางคนต้องการความมั่นคง ความท้าทายของธุรกิจขนาดเล็กที่ยังไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะเติมเต็มความต้องการของพนักงานทุกคนก็คือการเลือกรูปแบบการบริหารที่เหมาะสมที่สุด ณ ปัจจุบัน

แค่เพียงเราเลือกผู้บริหารผิด ทีมหรือองค์กรของเราก็แย่แล้วครับ เพราะฉะนั้นเราแทบไม่ต้องคิดเลยว่าถ้ารูปแบบการบริหารธุรกิจผิดทั้งบริษัทจะแย่แค่ไหน เราจะเห็นได้ว่ารูปแบบการบริหารธุรกิจเป็นอะไรที่สำคัญมากในการทำธุรกิจ แต่หลายองค์กรกลับเลือกรูปแบบที่ไม่เหมาะกับตัวเอง … และส่วนมากสาเหตุนี้ก็ทำให้ธุรกิจไปไม่รอด

บางครั้งเราก็โทษผู้บริหารว่า ไม่เก่ง หรือ ตัดสินใจผิดมากไปหน่อย แต่หากเราลองดูบริษัทใหญ่ๆที่คัดแต่คงเก่งๆเข้ามาทั้งนั้น เราก็เห็นได้ว่าผู้บริหารบางคนกลับโตได้มากกว่าทั้งๆที่ถ้าเราดูประสบการณ์ทำงานหรือระดับการศึกษาแล้ว ผู้บริหารพวกนี้ก็อยู่ในระดับเก่งพอๆกัน

รูปแบบการบริหารธุรกิจต้องมีความเหมาะสมกับชนิดขององค์กร โดยเฉพาะวัฒนธรรมขององค์กร ทุกโปรเจค ทุกทีม ทุกชนิดงาน ทุกธุรกิจมีความต้องการไม่เหมือนกันและเราต้องเลือกรูปแบบการบริหารธุรกิจให้เหมาะสมกับแต่ละงาน หากผู้บริหารไม่สามารถปรับวิธีการบริหารให้เหมาะกับความต้องการของตำแหน่งและของบริษัท 

การเลือกผู้บริหารที่ไม่สามารถปรับรูปแบบการบริหารได้เหมาะสมได้นอกจากจะเสียทรัพยากรแล้วยังเสียเวลาอีกด้วย ซึ่งผลกระทบพวกนี้ไม่ได้มีแค่เฉพาะทีมเท่านั้น มันกระทบทั้งบริษัทเลย 

หากทีมของเราไม่รู้สึกผูกมัดกับงานที่ตัวเองทำ เราจะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพการทำงาน คุณภาพของงานจะเป็นสิ่งแรกที่โดนกระทบ หลังจากนั้นเราก็จะเห็นว่าพนักงานลาออกบ่อยและกำไรของธุรกิจจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ

บทสรุปก็คือหากเราเลือกรูปแบบการบริหารธุรกิจผิด พนักงานของเราจะรู้สึกหมดกำลังใจทำงาน และคุณภาพและประสิทธิภาพของงานจะลดลงทันที แต่รูปแบบการบริหารธุรกิจมีอะไรบ้าง และแต่ละรูปแบบมีข้อดีข้อเสียยังไงบ้าง

7 รูปแบบการบริหารธุรกิจ ที่คุณควรรู้

#1 บริหารแบบเผด็จการ

คำว่าเผด็จการอาจจะทำให้เรารู้สึกไม่ดี แต่การบริหารแบบเผด็จการเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดถ้าเราเลือกใช้ให้ถูกเวลาและถูกที่ การบริหารแบบเผด็จการเป็นการบริหารโดยการให้ทิศทางที่ชัดเจนผ่านการควบคุม ส่วนมากแล้วการบริหารแบบนี้จะให้อำนาจกับผู้นำแค่หนึ่งคนหรือหนึ่งกลุ่มเท่านั้น ซึ่งคำสั่งจากผู้บริหารกลุ่มนี้คือจุดสูงสุดและต้องการความภักดีไม่ต้องสงสัย

เพื่อที่จะให้การบริหารแบบนี้มีผลมากที่สุด เราต้องสามารถขีดเส้นอธิบายได้ว่าหน้าที่ของแต่ละคนคืออะไรและระดับการสั่งงานในบริษัทเป็นยังไง พนักงานไม่ควรต้องถามว่าใครรับผิดชอบส่วนนี้ หรือส่วนนี้ควรถามใครดี การเป็นผู้นำเผด็จการในรูปแบบธุรกิจได้ดีที่สุด ผู้นำต้องสามารถสั่งการและทำการตัดสินใจได้ทุกเวลา

จริงๆแล้ว บิล เกต ผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft ก็ใช้วิธีการบริหารแบบนี้ บิล เกต มีเป้าหมายในใจอย่างชัดเจนว่าธุรกิจจะไปในทิศทางไหน ซึ่งส่วนมากพนักงานอาจจะไม่เข้าใจมากนักเพราะ ‘วิสัยทัศน์’ อาจจะไม่กว้างมากเท่าของบิล

หากพนักงานไม่สามารถเห็นภาพที่เจ้าของธุรกิจวาดไว้ สิ่งที่เจ้าของธุรกิจสามาถทำได้ก็คือการเก็บการตัดสินใจที่สำคัญไว้กับตัวเอง ส่วนพนักงานมีหน้าที่จัดการและบริหารตามคำแนะนำของเจ้าของเท่านั้น

ข้อดี

ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม การบริหารแบบเผด็จการเป็นการบริหารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเลยครับ ซึ่งตัวอย่างของการบริหารแบบนี้ก็จะเห็นได้ตามวัฒนธรรมต่างประเทศจีนเป็นต้น บริษัทที่มีระยะห่างของอำนาจระหว่างเจ้าของกิจการและพนักงานก็จะนิยมใช้การบริหารแบบนี้ หรือหากพนักงานของเราเป็นพนักงานที่ใหม่ ยังไม่มีประสบการณ์หรือไม่สามารถตัดสินใจเองได้ การบริหารแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี

ข้อเสีย

หากเราเลือกใช้การบริหารแบบเผด็จการมากเกินไปในกรณีที่ไม่เหมาะสม เราก็อาจจะสร้างสภาพแวดล้อมที่แย่ในการทำงานก็ได้

ยกตัวอย่างเช่นหากเราเลือกที่จะควบคุมการทำงานของพนักงานมากเกินไป โอกาสที่พนักงานหลักหรือพนักงานที่เก่งของเราจะลาออกก็มีเยอะ นอกจากนั้นแล้วการพยายามควบคุมทุกสัดส่วนของธุรกิจนั้นใช้ทั้งเวลาและความพยายามเยอะด้วย ถ้าเป็นเนื้องานที่มีขนาดใหญ่เกินที่จะทำได้คนเดียว วิธีการบริหารแบบนี้ก็ไม่เหมาะสมเท่าไร

#2 บริหารด้วยวิสัยทัศน์

บริหารด้วยวิสัยทัศน์คือสิ่งที่เรียกว่าบริหารด้วยแรงบันดาลใจและเสน่ห์ ผู้บริหารจะสื่อสารแค่ภาพวิสัยทัศน์โดยรวมให้ทีมของตัวเองฟัง สิ่งที่แตกต่างจากการบริหารแบบก็คือผู้บริหารแบบนี้จะไม่เข้าไปยุ่งกับการทำงานประจำวันเท่าไรแต่จะโฟกัสไปกับการทำให้ทีมตั้งใจทำงานและทำให้ความเข้าใจของเป้าหมายของแต่ละคนตรงกัน รูปแบบการบริหารด้วยวิสัยทัศน์ใช้ความเชื่อใจในพนักงานเป็นอย่างมาก เช่นการปล่อยให้พนักงานเก็บรายละเอียดของตัวงานทั้งหมดเป็นต้น

หากคุณเป็นคนที่มีเสน่ห์หรือชอบเข้าสังคม คุณคงจะรู้สึกว่าการบริหารคนแบบนี้ทำง่ายมาก แต่สำหรับคนชอบเก็บตัวหรือคนที่ไม่ชอบออกสังคม การบริหารด้วยวิสัยทัศน์จะใช้พลังงานเยอะมากและอาจทำให้หลายคนรู้สึกอึดอัด แน่นอนว่าหากเราจะจูงใจคนด้วยเหตุผลและเป้าหมายเราก็ต้องมีความสามารถในการเข้าใจคนอื่น และเราก็จำเป็นต้องปล่อยวางรายละเอียดและให้ความเชื่อใจคนอื่นได้ด้วย

ข้อดี

ข้อดีของการบริหารด้วยวิสัยทัศน์ก็คือเราสามารถจูงใจพนักงานได้ดี เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับการทำให้ทุกคนปรับความคิดและตั้งเป้าหมายใหม่ให้ตรงกัน การบริหารแบบนี้จะถูกใช้บ่อยเวลาที่บริษัทหรือองค์กรต้องการความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ข้อเสีย

เราจะเห็นได้ว่าการบริหารแบบนี้จะไม่ค่อยสนใจในรายละเอียดเท่าไร หากทีมของเรามีความใหม่หรือยังไม่มีประสบการณ์การปล่อยให้ทีมออกไปทำงานด้วยตัวเองจะทำให้เกินความผิดพลาดได้เยอะ ยิ่งเรามีทีมที่เก่งแค่ไหนการบริหารด้วยวิสัยทัศน์ก็ยิ่งดีมากขึ้นครับ

#3 การบริหารด้วยการแลกเปลี่ยน

ผมคิดว่าธุรกิจทุกรูปแบบก็ต้องใช้การบริหารแบบนี้ในระดับใดก็ระดับหนึ่ง การบริหารด้วยการแลกเปลี่ยนก็คือการใช้รางวัลเช่น เงินเดือน หรือ โบนัส ในการจูงใจพนักงานเพื่อที่จะทำให้ผลงานออกมาดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการให้ค่าคอมของฝ่ายขาย หรือการแจกโบนัสเพิ่มถ้าผลประกอบการออกมาดี รูปแบบการบริหารแบบนี้คือการบริหารโดยเชื่อว่าทุกคนสามารถถูกจูงใจได้ด้วยรางวัลนอกกาย

ข้อควรระวังก็คือหากเราปรับการให้รางวัลพนักงานตามผลงาน พนักงานบางคนก็อาจจะไม่พอใจได้ ซึ่งก็จะทำให้เกิดการฟ้องร้องภายหลัง เพราะฉะนั้นเราควรเลือกให้ดีว่าการแลกเปลี่ยนระดับไหนถึงจะพอดีสำหรับการบริหารของเรา

ข้อดี

รูปแบบการบริหารด้วยการแลกเปลี่ยนโดยรวมแล้วจะมีประสิทธิภาพในระยะสั้นมากกว่า เช่นการเร่งทำโปรเจคให้จบในเวลาที่กำหนดหรือการโน้มน้าวให้พนักงานทำงานที่ไม่อยากทำ 

ข้อเสีย

ในสมัยนี้คนเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่ารางวัลนอกกายมีค่าน้อยลงเรื่อยๆ พนักงานไม่สามารถถูกจูงใจผ่านเงินได้อย่างเดียวในระยะยาว หากเราต้องการจะเพิ่มเวลาทำงานหรือเพิ่มงานให้พนักงานเรื่อยๆ การให้เงินจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้หรอกครับ นอกจากนั้นแล้วการจูงใจด้วยเงินไม่เหมาะสำหรับงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และพึ่งพานวัตกรรม (ในกรณีที่เราผูกรางวัลไว้กับผลลัพธ์โดยตรง)

#4 ผู้นำคือผู้รับใช้

รูปแบบการบริหารธุรกิจแบบนี้มีมานานแล้วครับ หลายคนเรียกวิธีนี้ว่าการสอน การทำเทรนนิ่ง หรือการเป็นโค้ชก็ได้

การบริหารแบบนี้คือการสนับสนุนพนักงาน ผู้บริหารที่ใช้วิธีนี้จะใช้เวลาสอนและสนับสนุนพนักงานเป็นส่วนใหญ่ บางคนมองตัวเองว่าเป็นครูหรือเรียกตัวเองว่าโค้ชเลยด้วยซ้ำ หากเทียบกับการบริหารแบบเผด็จการแล้ว วิธีเข้าหาพนักงานของทั้งสองแบบนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง 

การที่เราจะเป็นผู้นำผู้รับใช้ที่ดีเราต้องรู้จักงานของพนักงานของเราและเราก็ต้องมีทักษะในการสอนด้วย แน่นอนว่าเราก็ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเพราะเราต้องทำให้พนักงานอยากจะเรียนรู้จากเรา และเชื่อในสิ่งที่เราสอน

ข้อดี

รูปแบบการบริหารธุรกิจแบบนี้เหมาะสำหรับการช่วยให้พนักงานของเราพัฒนาตัวเองได้ เราสามารถสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับพนักงานเพื่อที่จะสร้างโอกาสทำธุรกิจต่อไป รูปแบบนี้เหมาะสำหรับเนื้องานที่ต้องอาศัยทักษะและความเชื่อใจสูง อย่างไรก็ตามวิธีนี้ไม่ใช่การอบรมแต่เป็นการช่วยเหลือและสอนมากกว่า เราต้องให้เวลาพนักงานลองอะไรใหม่และเรียนรู้กับความล้มเหลวด้วย

ข้อเสีย

การบริหารแบบนี้ไม่ได้เหมาะสำหรับพนักงานทุกคน พนักงานที่ไม่ได้กระตือรือร้นหรือมีความคิดแง่ลบเยอะก็อาจจะไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ การพยายามสนับสนุนคนพวกนี้อาจจะไม่สร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อทั้งสองฝ่าย 

การที่เราโฟกัสเรื่องการสอนแปลว่าโฟกัสเรื่องผลลัพธ์จะลดน้อยลง หากธุรกิจเราพึ่งพาคุณภาพเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะฝ่ายผลิตและฝ่ายบริการลูกค้า เราอาจจะเจอปัญหาจากความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆของพนักงาน สุดท้ายแล้ววิธีนี้ยังใช้เวลาของผู้บริหารเยอะมากด้วย หากเราไม่สามารถให้คำแนะนำกับพนักงานหรือมีเวลาสนับสนุนการทำงานในระยะยาว เราก็จะไม่เห็นผลของรูปแบบการบริหารแบบนี้

#5 การบริหารด้วยเป้าหมาย

การบริหารด้วยตัวอย่างคือการตั้งเป้าหมายสำหรับทีมให้สูงเข้าไว้ แต่ผู้บริหารจะเข้ามาแสดงตัวอย่างให้พนักงานด้วย ส่วนมากแล้ววิธีนี้เหมาะสำหรับการผลักดันให้ทีมของเราสร้างผลงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม ตัวอย่างที่เห็นได้บ่อยของการบริหารแบบนี้ก็คือพนักงานขาย ส่วนมากผู้จัดการฝ่ายขายจะปิดดีลลูกค้าเป็นตัวอย่างให้ลูกน้องในทีมดูเพื่อเป็นการสร้างกำลังใจและการสอนในทีเดียว 

ข้อดี

รูปแบบการบริหารนี้เหมาะกับทีมที่มีทักษะและความพยายาม หากใช้ให้ถูกวิธีเราสามารถใช้การแข่งขันในทีมเพื่อทำให้ผลพัลธ์งานออกมาดีขึ้น วิธีนี้เหมาะเวลาเราอยากให้ทีมทำงานที่มีความท้าทายหรือทำงานยากๆในระยะสั้นให้เสร็จ

ข้อเสีย

ถ้าเราตั้งเป้าหมายให้สูงเกินไปอย่างต่อเนื่องพนักงานจะรู้สึกเหนื่อยและหมดไฟได้ง่าย ยิ่งถ้าทีมของเราไม่มีทักษะมากพอที่จะทำงานพวกนี้ได้ โอกาสที่งานจะออกมาล้มเหลวยิ่งมีเยอะ และถ้างานออกมาล้มเหลวจริงพนักงานก็จะเสียกำลังใจในการทำงานอีก

การมีเป้าหมายก็หมายความว่าไม่ใช่พนักงานทุกคนที่สามารถจะทำได้ดี หากเราคัดพนักงานด้วยผลงานมากเกินไปเราก็จะสร้างความบาดหมางระหว่างทีมได้

#6 การบริหารด้วยรูปแบบประชาธิปไตย

เราพูดถึงเรื่องเผด็จการไปแล้ว เรามาลองดูเรื่องประชาธิปไตยในธุรกิจกันบ้าง วิธีการบริหารแบบนี้อาศัยการตัดสินใจร่วมกัน การทำงานร่วมกัน และการตกลงร่วมกันมากเป็นพิเศษ การบริหารแบบนี้คือการเชื่อในระบบสองหัวดีกว่าหัวเดียวเพราะทุกคนมีความคิดดีๆที่เราสามารถนำมาใช้ได้เสมอ

ผู้จัดการที่ใช้ระบบประชาธิปไตยจะชอบให้พนักงานแบ่งบันไอเดียและอยากให้พนักงานเข้าร่วมในการตัดสินใจต่างๆ โฟกัสของการบริหารแบบนี้คือการแชร์ความคิดและคำแนะนำเพื่อที่ธุรกิจจะได้มีตัวเลือกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และ อาศัยการร่วมมือกันของพนักงานเพื่อที่จะทำให้บริษัทโตขึ้น ในระบบประชาธิปไตย ผู้จัดการต้องเป็นคนรวบรวมไอเดียและเลือกไอเดียที่ดีที่สุด ไม่ว่าไอเดียนี้จะมาจากพนักงานใหม่หรือเจ้าของบริษัทก็ตาม

ข้อดี

การบริหารแบบประชาธิปไตยจะทำให้ทุกคนรู้สึกว่าไอเดียและความคิดตัวเองมีค่า และยังเป็นการสนับสนุนให้ทุกคนพยายามหาวิธีแก้ไขปัญหาต่างๆด้วยตัวเองอีกด้วย วิธีนี้เหมาะสำหรับการสอนให้พนักงานคิดด้วยตัวเองและมีความรับผิดชอบในการตัดสินใจมากขึ้น นอกจากนั้นแล้ววิธีนี้ยังมีระบบคำแนะนำของผู้อื่นที่จะเข้ามาขัดเกลาให้ระบบตัดสินใจดีขึ้นอีก

ข้อเสีย

ทุกคนคงเข้าใจว่าการตัดสินใจผ่านประชาธิปไตยนั้นใช้เวลามากกว่าการตัดสินใจแบบอื่น หากคุณอยู่ในสถานการณ์ที่ทุกอย่างต้องรีบตัดสินใจหรือมีปัญหาที่ต้องแก้ทันที เราก็อาจจะไม่มีเวลารวบรวมเสียงมากขนาดนั้น 

นอกจากนั้นแล้วคนที่ ‘ไม่ได้ถูกเลือก’ ก็อาจจะรู้สึกว่าไม่ได้รับความสำคัญหรือไม่ได้ถูกรับฟัง ซึ่งก็จะสร้างความบาดหมางในอนาคตระหว่างพนักงานได้ วิธีแก้ก็คือเราควรสร้างระบบคำแนะนำแบบไม่ระบุชื่อ เพื่อที่จะลดการเล่นพรรคเล่นพวก หรือ ลดความสำคัญของทักษะการโน้มน้าวของคนบางกลุ่ม เราต้องเน้นที่ไอเดียเท่านั้น

#7 การบริหารแบบอิสระ

รูปแบบการบริหารแบบนี้คือการปล่อยให้พนักงานมีอิสระในการตัดสินใจเต็มที่ โดยที่เจ้าของจะเข้ามายุ่งน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

สำหรับเจ้าของธุรกิจบางคนอ่านแล้วคงรู้สึกว่า ‘จะรอดเหรอ’ การบริหารแบบนี้สนับสนุนให้ทีมตัดสินใจด้วยตัวเองและจะเข้ามาช่วยต่อเมื่อมีการ ‘ข้อให้ช่วย’ เท่านั้น ผู้บริหารแบบนี้จะเข้ามาในช่วงเริ่มต้นกับช่วงตอนจบของระบบทำงานเท่านั้น ตอนเริ่มเพื่อให้ข้อมูล คำแนะนำ และตอนจบเพื่อดูผลงานและรีวิวการทำงานสำหรับงานต่อๆไป

หลายบริษัทที่เน้นการสร้างนวัตกรรมจะแบ่งเวลาให้พนักงานทำโปรเจคส่วนตัวด้วย ซึ่งเราก็เห็นได้ว่าความคิดสร้างสรรค์หลายอย่างมาจากการบริหารแบบนี้ 

ข้อดี

การบริหารแบบอิสระเหมาะกับทีมที่มีทักษะเยอะมาก คนพวกนี้จะเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีอิสระเยอะ นอกจากนั้นแล้วการบริหารแบบนี้จะทำให้พนักงานมีความพอใจและรักองค์กรมากขึ้น และช่วยในการพัฒนานวัตกรรมและความคิดสร้างสรรคในองค์กรได้อย่างดี

ข้อเสีย

หากทีมของเราไม่ใช่ทีมที่มีความกระตือรือร้น หรือไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆด้วยตัวเองได้ การบริหารแบบนี้ก็จะส่งผลแย่มากกว่าดี พนักงานจะทำงานไม่ทันและผลงานจะออกมาได้ไม่ดี ในกรณีที่เป็นงานที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความสำคัญมาก การที่หัวหน้างานไม่ดูรายละเอียดเลยก็อาจจะทำให้มีปัญหาได้

รูปแบบการบริหารธุรกิจแบบไหนเหมาะที่สุด

รูปแบบการบริหารธุรกิจที่เหมาะที่สุดของคุณควรจะมีลักษณะดังนี้

  • ทักษะ ประสบการณ์ และ ความชอบของคุณ – หากคุณไม่ชอบเก็บรายละเอียดเยอะคุณก็อาจจะเหมาะกับการบริหารที่ดูภาพรวมมากกว่า
  • ความต้องการของทีม – ทีมที่มีทักษะหรือประสบการณ์น้อยก็ต้องการเวลาและคำแนะนำมากกว่าทีมที่เก่งแล้ว
  • วัฒนธรรมองค์กร – วัฒนธรรมขององค์กรและของทีมจะเป็นตัวบอกว่าระบบการบริหารแบบไหนเหมาะสมที่สุด และระบบไหนง่ายหรือยากในการเปลี่ยน

ปัญหาหลักก็คือผู้บริหารส่วนมากไม่เคยคิดว่าทีมหรือบริษัมเหมาะกับการทำงานแบบไหนและผู้บริหารสามารถทำได้เหมาะสมหรือเปล่า คนส่วนมากเลือกที่จะทำสิ่งที่ตัวเองรู้จักหรือคุ้นเคยมากกว่าการหารูปแบบการบริหารที่เหมาะสมที่สุดกับสถานการณ์ ซึ่งความ ‘ไม่สามารถปรับตัว’ นี้เป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจเจอปัญหามาบ่อยมาก

ผู้บริหารที่ดีคือคนที่สามารถปรับวิธีการบริหารธุรกิจให้เหมาะกับทุกสถานการณ์ การเลือกสิ่งที่เราคุ้นเคยหรือถนัดที่สุดอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดก็ได้ เราควรดูว่าตอนนี้บริษัทของเราต้องการอะไร พนักงานตอนนี้มีทักษะมากแค่ไหน และเราจะจูงใจพนักงารด้วยวิธีไหนดี

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด