5 ตำแหน่งงานการตลาด (ไม่เก่งเลขก็ทำได้)

5 ตำแหน่งงานการตลาด (ไม่เก่งเลขก็ทำได้)

ในบทความนี้เราจะมาดูหน้าที่ ตำแหน่ง หรืออาชีพนักการตลาดที่อาจจะไม่ได้ใช้การคำนวณเยอะขนาดนั้น 

มีน้องๆหลายคนถามกันเข้ามาไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องเรียนต่อหรือเรื่องหางานก็ตาม ซึ่งในคำถามยอดฮิตก็คือเรียนการตลาดต้องเก่งเลขหรือเปล่า ถ้าเราไม่เก่งเลขเราจะเรียนได้ไหม จบไปเราจะทำงานยังไง

การตลาดจริงๆแล้วเป็นสาขาที่กว้าง เรารู้เรื่องการคำนวณก็ดีครับ แต่ส่วนมากรู้แค่เรื่องบวกลบกำไรขาดทุนก็สามารถไปต่อได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องสถิติหรือแคลคูลัสมากก็ได้ (มีงานที่ต้องรู้ แต่สำหรับส่วนมากก็ไม่จำเป็น) ในส่วนนี้มี ‘ทักษะทดแทน’ หลายอย่างที่เราสามารถทำได้

ปล. ขอออกตัวก่อนว่า ผมไม่ได้บอกว่าอาชีพพวกนี้ง่ายนะ เพียงแต่ว่าอาชีพเหล่านี้มักจะต้องใช้ทักษะอย่างอื่นนอกเหนือกว่าการคำนวณ ซึ่งหากเราเก่งเรื่องพวกนี้ ต่อให้เราไม่ต้องเก่งเลขมากแต่เราก็ยังสามารถทำงานเหล่านี้ได้อยู่ พูดง่ายๆก็คือเราสามารถใช้ทักษะอื่นมาทดแทนทักษะเลขได้

5 ตำแหน่งงานการตลาด (ไม่เก่งเลขก็ทำได้)

#1 Advertising การทำโฆษณา 

การทำโฆษณา จริงๆแล้วมีหลายแบบมาก ทั้งการทำวิดีโอ ทำรูปภาพ ซึ่งจะมาในรูปแบบของการตลาดในบริษัททำกันเองก็ได้ หรือในขนาดใหญ่จริงๆ ก็จะมีบริษัท creative รับทำ production โฆษณาแบบใหญ่ๆ

ซึ่งจริงๆแล้ว การทำโฆษณาส่วนมากขึ้นอยู่กับคำว่า Customer Insight (ความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับลูกค้า) แน่นอนว่าเป็นส่วนประกอบของการทำการวิจัยตลาดและประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับลูกค้า ยิ่งโฆษณางบเยอะแค่ไหน เราก็ยิ่งต้องใส่ใจ แต่โดยรวมแล้ว คนทำโฆษณา กับ คนทำวิจัยตลาดเพื่อหา customer insight จะเป็นคนละทีมกันครับ

สรุปก็คือการตลาดฝั่งนี้จะเป็นเรื่องของการออกแบบและการสื่อสารกับลูกค้าในแนวกว้าง ผ่านสื่อโฆษณาในรูปแบบต่างๆ พัฒนาทักษะที่จำเป็นก็คือเรื่องของการสร้างข้อความ การออกแบบต่างๆ หรือแม้แต่ว่าการทำงานกับคนหลายๆฝ่าย 

#2 Public Relations การประชาสัมพันธ์

การทำโฆษณาอาจจะเป็นเรื่องของการออกแบบ ซึ่งอาจต้องใช้เซ้นส์ (sense) หรือใช้ความรู้ทางด้านศิลปะมากหน่อย แต่งานด้านประชาสัมพันธ์จะเป็นงานเกี่ยวกับเรื่องของการสื่อสารแล้วก็พูดคุยกับคนหลายๆฝ่าย รวมถึงคนในบริษัทของตัวเอง แล้วก็คนนอกบริษัทด้วย

ยกตัวอย่างเช่นหากบริษัทอยากจะเปิดผลิตภัณฑ์สินค้าใหม่ เราก็ต้องไปติดต่อพวกสื่อต่างๆให้ช่วยโปรโมทให้เราหน่อย 

อย่างในสมัยใหม่ พวกสื่อออนไลน์เขาก็ให้ความร่วมมือมากกว่าที่คิดนะครับ ติดต่อได้ง่ายกว่า จะโพสต์อะไรก็โพสต์ได้ง่าย ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าพื้นที่ใน Social Media มันไม่ได้มีจำกัด เหมือนพื้นที่ในหนังสือพิมพ์ หรือในนิตยสาร คือในหนึ่งวันเราจะโพสต์หลายโพสต์ก็ได้  

คนที่ทำประชาสัมพันธ์ ส่วนมากจะมี contact หรือช่องทางติดต่อสื่อของตัวเองอยู่แล้ว บางคนที่ผมรู้จักก็คือจะมีเส้นสายสื่อต่างๆ แบบเรียนนิเทศมา มีเพื่อนทำสื่อเยอะ ทำให้ติดต่อหลายเพจหรือหลายสื่อได้ง่าย

นอกจากนั้น ก็จะมีแขนงการตลาดที่คล้ายๆกันก็คือ การจัดอีเวนท์ หรือ event marketing เช่นการไปออกบูท ไปทำการตลาดนอกสถานที่ ซึ่งก็จะอาศัยทักษะทำงานกับหลายๆฝ่าย และบริหารงานหลายอย่างพร้อมกันครับ

#3 Social Media (การตลาดสาย Social Media)

Social Media เป็นการตลาดออนไลน์ที่อาศัยการสร้างคอนเทนต์ และ การพูดคุยกับลูกค้าเยอะ (อันนี้เราต้องแยกเรื่อง Social media อย่างการทำเพจ Facebook กับการทำซื้อโฆษณาที่เรียกว่ายิงแอดนะครับ)

คือเราก็จะเห็นพวกบริษัทที่ทำงานเป็นระบบจริงๆนะครับ ทุกอาทิตย์หรือว่าทุกเดือนอะไรอย่างนี้ก็จะมานั่งรีวิวกันว่าโพสต์ไหน engagement เยอะเข้าถึงคนได้เยอะ ส่วนนี้ก็มีการเอาตัวเลขมาใช้ในการทำงาน แต่โดยรวมแล้วผมมองว่ามันเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจเครื่องมือหลังบ้านของ Social Media อย่าง Facebook มากกว่า 

โดยรวมแล้วงาน Social Media ในสมัยนี้คือการดูว่าโพสต์แบบไหนที่ทำให้เข้าถึงคนได้เยอะ และเราจะทำยังไงให้เราสามารถสร้างโพสต์คล้ายๆกันให้ได้มากขึ้นอีก และที่สำคัญก็คือสามารถทำซ้ำได้เรื่อยๆ หัวข้อนี้จะเป็นเรื่องของการทำ Content Marketing ซึ่งหากใครสนใจก็ไปลองศึกษาได้

และอีกหนึ่งเรื่องที่กำลังเป็นเทรนในสมัยนี้ ก็คือการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อพูดคุยแล้วก็สานสัมพันธ์กับลูกค้า คือเราจะไม่ได้เน้นใช้เพื่อการขายอย่างเดียวแล้วเราจะใช้เพื่อทำให้แบบตีสนิทหรือว่าทำให้ลูกค้าชอบแบบแบรนด์เรามากขึ้น ซึ่งส่วนนี้เขาจะมีพวกทักษะพูดคุยกับลูกค้า การทำคอสตูมเมอร์เซอร์วิส ลูกค้าสัมพันธ์ รวมเข้าไปด้วย

#4 B2B Marketing (การตลาดธุรกิจกับธุรกิจด้วยกัน)

ในฐานะคนผู้บริโภคทั่วไป เวลาเราพูดถึงเรื่องการตลาดเราก็มักจะนึกถึงแต่เรื่องของการตลาดที่เรามองเห็นกันง่ายๆใช่ไหมครับ โฆษณาต่างๆ หรือแม้แต่พวก Social Media 

แต่จริงๆแล้วในโลกธุรกิจ ก็ยังมีอีก 1 ด้านที่ผู้บริโภคทั่วไปอาจจะไม่ได้คิดถึงกัน ก็คือเรื่องของธุรกิจที่ทำงานกับธุรกิจอื่นแล้วกัน เช่นแบบ เราเป็นโรงงานเราขายของให้กับร้านค้าขายส่ง หรือเราเป็นร้านค้าขายส่งเราส่งของให้กับร้านค้าขายปลีก หรือเราจะเป็นคนผลิตวัตถุดิบส่งให้กับโรงงานผลิตก็ได้ 

ตัวอย่างของธุรกิจที่ทำงานกับธุรกิจและการมีอยู่เยอะแยะไปหมดเลย ซึ่งสำหรับธุรกิจแนวนี้ อาจจะมีลูกค้าจำนวนไม่เยอะเท่ากับลูกค้าผู้บริโภคทั่วไป แต่ว่าลูกค้าซื้อของทีนึงเป็นหลักแสน หลักล้านบาท และที่สำคัญก็คือมีแนวโน้มที่จะซื้อซ้ำนานกว่าด้วย เช่นลูกค้าทั่วไปอาจจะมาซื้อครั้งเดียวแล้วก็หายจากกันไปใช่ไหมครับ แต่ลูกค้าธุรกิจอาจจะทำงานด้วยกันยาวนาน 5 ปี 10 ปี

เพราะฉะนั้นในมุมมองในการตลาดที่ขายของให้กับธุรกิจด้วยกันเนี่ยมันก็จะมีความพิเศษมากกว่า หลายคนอาจจะเรียกสิ่งนี้ว่าการทำ Partnership (แปลว่าหุ้นส่วนธุรกิจ) หรือจะให้พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือการซื้อขายกันในระยะยาว 

ซึ่งจริงๆแล้วการตลาดแบบธุรกิจกับธุรกิจด้วยกัน ก็อาจจะมาในหลายรูปแบบ สมมุติเราขายอุปกรณ์ Packaging ให้กับร้านอาหาร เราก็อาจจะทำโฆษณาบน Google ไปออกงาน trade show ด้านอาหารด้านการทำแพคเกจจิ้ง หรือก็อาจจะมีทีมวิ่งเข้าหาลูกค้าใหญ่ๆโดยตรงเลยก็ได้

#5 Branding (นักสร้างแบรนด์)

หัวข้อสุดท้ายที่ผมอยากจะแนะนำก็คือเรื่องของการสร้างแบรนด์ ซึ่งจริงๆแล้วเป็นหัวข้อที่ใหญ่นิดนึง ซึ่งแผนกแบรนด์ในแต่ละบริษัทเนี่ยก็ทำงานไม่ค่อยเหมือนกันเท่าไหร่ด้วย

บางบริษัทที่ผมรู้จัก คำว่าการสร้างแบรนด์คือการคิดกลยุทธ์ว่าเราจะทำยังไงให้สินค้าเราติดตลาดได้เยอะที่สุด บางทีก็มาในรูปแบบการทำโฆษณาจ้างดาราดัง บางทีก็จะเป็นเรื่องของการหาช่องทางการขายที่แบบสามารถเข้าถึงคนได้เยอะๆทีเดียว

แต่บางบริษัท เขาก็เรียกการสร้างแบรนด์ให้เป็น ‘การควบคุมคุณภาพของการสื่อสาร’ ก็ได้ครับ หลายคนเรียกสิ่งนี้ว่าการ QC พูดง่ายๆก็คือเราจะมีแผนกการตลาดอื่นๆที่ทำการพูดคุยกับลูกค้าอยู่แล้วในแต่ละช่องทาง เช่นอาจจะมีเซลล์วิ่งหาลูกค้า อาจจะมีแผนกการตลาดออนไลน์ อาจจะมีแผนกการประชาสัมพันธ์ 

ส่วนแผนกการสร้างแบรนด์เนี่ยก็คือแผนกที่จะทำงานกับพวกแผนกเราเนี่ย เพื่อทำการแนะแนวว่า โฆษณาที่ออกไปชุดนี้ควรจะเปลี่ยนเป็นอย่างนี้ หรือว่าข้อความที่เราใช้ในการประชาสัมพันธ์ควรจะพูดแบบนี้มากกว่า มันจะได้ตรงกับ แบรนด์ของบริษัท ภาษาที่เราจะได้ยินกันบ่อยคือ Brand Identity (เอกลักษณ์ของแบรนด์) หรือ Brand Awareness (การรับรู้ของคนต่อแบรนด์) 

สุดท้ายนี้เกี่ยวกับงานการตลาด และ การคิดเลข

สุดท้ายนี้นะครับ ผมต้องบอกอีกทีนะว่า ยังไงผมก็คิดว่าการคิดเลขได้เนี่ย มันเป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่ง และโดยพื้นฐานแล้วไม่ว่าเราจะอยู่ตำแหน่งไหนก็ตามหากเราอยากเชื่อเติบโตในโลกธุรกิจ เราก็ควรที่จะรู้พื้นฐานของตัวเลขธุรกิจ อาจจะไม่ต้องรู้ลึกถึงขนาดทำสถิติ ทำแคลคูลัส แต่อย่างน้อยที่สุดก็ต้องรู้กำไรขาดทุน หรือการคำนวณผลตอบแทน ROI อะไรพวกนี้

แน่นอนว่ามีทักษะอย่างเดียวไม่ คิดเลขเก่งอย่างเดียวก็ไม่พอ เพราะสุดท้ายแล้วการที่เราจะเติบโตในอาชีพสายการงานทั่วไป มันก็ต้องใช้ทักษะอย่างอื่นอีกมากมายเช่นการเข้าสังคม การทำความเข้าใจลูกค้า 

หรือถ้าจะให้พูดในมุมมองของตัวผมที่เป็นสายคำนวณแบบมากกว่าสายศิลปะ ส่วนตัวแล้วผมก็รู้สึกอิจฉาคนที่แบบออกแบบได้เก่งๆ สามารถทำแพคเกจจิ้งสวยๆเป็น ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามคนที่เก่งสายทั้งด้านออกแบบกับคนที่เก่งทางด้านซ้ายเลขมักจะไม่ใช่คนๆเดียวกันในบริษัท 

และก็เป็นเหตุผลที่ดีที่คนทั้งสองประเภทนี้สามารถทำงานร่วมกันได้ โดยส่วนมากแล้วนักการตลาดที่เก่งก็จะเป็นตัวกลางระหว่าง 2 แผนกนี้แหละครับ 


Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด