การตลาด หางานยากไหม? เคล็ดลับก่อนหางานต้องรู้อะไรบ้าง

การตลาด หางานยากไหม? เคล็ดลับก่อนหางานต้องรู้อะไรบ้าง

แม้จะมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลให้อัตราการจ้างงานลดลง โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในช่วงชะลอตัว แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “สายงานการตลาด” ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งในระดับพนักงานเจ้าหน้าที่ หัวหน้างาน และระดับบริหาร ต่อให้เป็นเด็กจบใหม่ก็มีโอกาสที่จะได้งาน หากมีความรู้เฉพาะในสายอาชีพนี้ ทักษะที่เกี่ยวข้องทั้งซอฟท์สกิลและฮาร์ดสกิล รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมที่ดีพอสำหรับการสัมภาษณ์งาน

การตลาด หางานยากไหม?

งานการตลาด เป็นอีกหนึ่งสายงานที่โตสวนกระแส เพราะแม้จะมีอุปสรรคจากเรื่องเศรษฐกิจ แต่ยังเป็น 1 ใน 10 อันดับสายงานที่ตลาดต้องการ โดยเฉพาะสายงานการตลาดดิจิตอลหรือการตลาดออนไลน์ ที่หลายบริษัทเริ่มหันมาให้ความสำคัญกันมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามเพื่อเพิ่มโอกาสในการหางาน นอกจากทักษะต่าง ๆ ที่นักการตลาดควรมีแล้ว ก่อนไปสัมภาษณ์ก็ควรเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งเรื่องของเอกสารและการพรีเซนต์ตัวเองให้ดี  

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า สายงานการตลาดนั้นยังเป็นทีต้องการของตลาดแรงงานอย่างมาก หากเทียบจากสถิติ 10 อันดับสายงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานปี 2564 จาก JobsDB แพลตฟอร์มหางานระดับเอเชีย พบว่า ความต้องการงานด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ (PR หรือ Public Relations) อยู่ในอันดับ 4 คิดเป็น 8% เป็นรองจากสายงานไอที งานการขายและพัฒนาธุรกิจ และวิศวกรรม และในขณะนี้มีรองรับกว่าพันตำแหน่ง 

ซึ่งในสายงานการตลาดนั้นก็มีตำแหน่งแยกย่อยออกไปอีก ได้แก่ การตลาดทางตรง วิจัยตลาด การตลาดทั่วไป บริหารแบรนด์สินค้าหรือส่งเสริมการตลาด จัดงานอีเว้นท์ งานประชาสัมพันธ์ สื่อสารการตลาด งานตลาดดิจิตอลหรือการตลาดออนไลน์ รวมไปถึง Copywriter และ Digital Content ด้วย

แต่ละตำแหน่งก็มีอัตราจ้างงานสูงเมื่อเทียบกับสายงานอื่น ๆ สอดคล้องกับสถิติภาพรวมทิศทางตลาดแรงงานปี 2564 ของ Manpower ที่ระบุว่า สายงานการตลาดในประเทศไทยยังคงมีการเติบโตเป็นอันดับแรก อยู่ที่ประมาณ 23.10% 

โดยเฉพาะส่วนของการตลาดดิจิตอลหรือการตลาดออนไลน์ หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้หลายองค์กรมีการปรับตัวการบริหารงาน การปรับโครงสร้าง และหันมาให้ความสำคัญกับด้านนี้มากขึ้น

ดังนั้นสำหรับคนที่มีประสบการณ์หรือจบสาขาการตลาดมาโดยตรงก็ค่อนข้างได้เปรียบและมีโอกาสหางานได้มากกว่า เนื่องจากการทำงานนั้นต้องใช้ความรู้ความเข้าใจการตลาดเชิงลึก เช่น เรื่องการหาข้อมูล การใช้เครื่องมือทางการตลาด การวิเคราะห์ข้อมูลสินค้า การทำความเข้าใจกลุ่มผู้บริโภค การกำหนดกลยุทธ์ และเลือกกลยุทธ์มาใช้เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อช่วยเพิ่มยอดขายให้ได้มากที่สุด 

สิ่งที่ต้องรู้ก่อนเริ่มหางานการตลาด

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการได้งานในสายการตลาดให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กจบใหม่ มีประสบการณ์แล้ว หรือสำหรับคนที่อยากเปลี่ยนสายงานมาจับด้านการตลาดบ้าง ควรมีการเตรียมตัวที่ดี ลดความผิดพลาดทั้งการเขียนเรซูเม่ไปจนถึงการสัมภาษณ์งาน ดังนี้ 

หาข้อมูลเรื่องหน้าที่งานและบริษัท

เรียกได้ว่าเป็นอันดับแรกที่ควรให้ความสำคัญ ซึ่งปกติจะบอกรายละเอียดคร่าว ๆ เอาไว้แล้วในเว็บไซต์หางานต่าง ๆ หลัก ๆ แล้วก็จะมีในส่วนของหน้าที่ความรับผิดชอบ คุณสมบัติของผู้สมัคร ตำแหน่งงานที่ต้องการ และธุรกิจของบริษัท แต่อย่างไรก็ตามควรจะหาข้อมูลอื่น ๆ จากช่องทางต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

โดยเฉพาะสินค้าหรือบริการของบริษัทนั้น ๆ พร้อมกับศึกษาข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์และสื่อโซเชียลต่าง ๆ อาทิ Facebook Instagram Youtube ช่องทางเหล่านี้ก็จะทำให้ทราบมากขึ้นว่าบริษัทกำลังโฟกัสไปที่เรื่องอะไร เน้นสินค้าหรือบริการตัวไหนเป็นพิเศษ

เมื่อถึงวันสัมภาษณ์แม้จะได้อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบมาแล้ว ก็ควรจะมีการพูดคุยถึงรายละเอียดกันอีกรอบถึงขอบเขตงานที่ต้องทำ ขั้นตอนการทำงาน ส่วนงานที่ต้องดูแล รวมไปถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น วัฒนธรรมองค์กร แผนกที่เกี่ยวข้องหากต้องมีการประสานงาน เพื่อใช้ในการพิจารณาหากมีการตอบรับเข้าทำงาน ในขณะเดียวกันการสอบถามรายละเอียดเนื้องานยังส่งผลดี เพราะเป็นการแสดงถึงความตั้งใจที่จะมาร่วมงานและเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานอีกด้วย  

พัฒนาทักษะการตลาดและเก็บประสบการณ์ที่ใช้หางานได้

สำหรับทักษะและประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการสายการตลาดหลัก ๆ แยกย่อยเป็น 5 ด้านดังนี้

การสื่อสาร : กลุ่มเป้าหมายจะไม่สามารถเข้าถึงสินค้าได้เลย หากขาดการสื่อสารที่ดี ดังนั้นนักการตลาดเปรียบเหมือนตัวกลางที่จะช่วยอธิบายข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงความจำเป็นที่ควรซื้อสินค้าของบริษัทไปใช้ แล้วควรจะใช้ช่องทางไหนในการโปรโมทเพื่อให้สินค้าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้มากที่สุด ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ 

ความคิดสร้างสรรค์ : หรือความครีเอทีฟ ในปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนการขายสินค้าใหม่ จากการอธิบายคุณสมบัติโดยตรง เป็นการสร้าง Story ให้กับสินค้าแทน ดังนั้นนักการตลาดควรมีความคิดสร้างสรรค์ในการครีเอทคอนเทนต์ออกมาให้น่าสนใจมากขึ้น เช่น การวางคอนเซ็ปต์ การวางแผนงาน การโปรโมทสินค้า การทำประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงการคิดคำที่ใช้ในการโฆษณา เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งและทำให้สินค้ากลายเป็นที่สนใจ ซึ่งในปัจจุบันมีหลายรูปแบบด้วยกัน ทั้งการทำรีวิว บทความ รูปภาพ อินโฟกราฟิก โพสต์ผ่านโซเชียล รวมไปถึงการทำวิดีโอ 

การวิเคราะห์ : ทักษะที่มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับนักการตลาด ตั้งแต่การค้นหาความต้องการของตลาด เพื่อนำมาสร้างเป็นจุดเด่น จุดขาย และความแตกต่างให้กับสินค้าที่อยู่ในตลาดและบริษัทคู่แข่ง รวมไปถึงการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย การกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะนำมาใช้  การใช้เครื่องมือช่วยวิเคราะห์ตลาดได้อย่างเหมาะสม รวมไปถึงการสรุปข้อมูลเพื่อนำใช้ไปวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์ของตลาดล่วงหน้า

การเจรจาต่อรอง : อีกหนึ่งทักษะที่นักการตลาดควรมี เพราะอีกหนึ่งงานที่จะต้องติดต่อประสานงานกับหลายฝ่ายทั้งภายในและภายนอกองค์กร ดังนั้นควรมีการเจรจาต่อรองที่ดี เช่น การทำความตกลงเรื่องงาน ไทม์ไลน์ การวางงบประมาณกับลูกค้า หรือการทำข้อตกลงร่วมกับฝ่ายขายและทีมงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้งานราบรื่น นอกจากนี้ควรมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่าย รู้ว่าควรจะใช้คำพูดแบบไหนอย่างไร โดยเฉพาะกับคู่ค้า เพื่อโน้มน้าวใจให้และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาว

เทคโนโลยี : เพราะการตลาดเป็นงานที่ต้องคอยอัพเดทข่าวสาร เทรนด์ความเคลื่อนไหวในแวดวงที่เกี่ยวข้องอยู่ตลอด เพื่อให้ทันกับความต้องการของลูกค้า ดังนั้นจึงควรมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยในการทำงานด้วย โดยเฉพาะการตลาดออนไลน์ ปัจจุบันมีหลายเครื่องมือและหลายช่องทางในการทำการขาย และแต่ละช่องทางมีวิธีการใช้ไม่เหมือนกัน เช่น การใช้ Search Engine ค้นหา SEO/SEM การกำหนดงบประมาณ การสร้างแคมเปญโฆษณา และวิธีการยิงโฆษณาผ่านสื่อโซเชียล เป็นต้น

เตรียมพรีเซนต์ตัวเองให้ดี

นอกจากการเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ให้พร้อมแล้ว ควรจะเตรียมการนำเสนอตัวเองและผลงานที่ผ่านมาให้น่าสนใจเพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์ด้วย เริ่มจากการเตรียมเรซูเม่ และ Portfolio ให้พร้อมเพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเรามีทักษะอะไรบ้าง และแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จที่ผ่านมาอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับเด็กจบใหม่อาจจะเป็นผลงานที่มาจากชั้นเรียนหรือการฝึกงานก็ได้ รวมไปถึงเอกสารอื่น ๆ เช่น ใบรับรองจากการเข้าคอร์สเรียนหรือการอบรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงาน โดยซอฟท์สกิลอย่างการสื่อสาร หรือโปรแกรมต่าง ๆ ทีสามารถใช้กับงานได้ อาทิ Google Analytics

นอกจากนี้ควรเตรียมการสื่อสารด้วยคำพูดที่เข้าใจง่าย และพูดด้วยน้ำเสียงที่มีความมั่นใจ ที่สำคัญควรพูดสิ่งที่เป็นจริง ไม่โกหก หากมีส่วนงานที่ไม่เคยทำ ก็พยายามแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่อยากจะพัฒนาตัวเอง พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และอยากจะเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร รวมไปถึงทักษะการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กรในฐานะที่เป็นคนกลาง และต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบริษัทกับลูกค้าไปพร้อม ๆ กัน หรือคุณสมบัติอื่น ๆ ของตัวเองที่คิดว่าเหมาะสมกับตำแหน่ง หรือสามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับหน้าที่และช่วยทำให้งานเกิดความสำเร็จได้

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด