9 มุมมองธุรกิจที่ไม่มีคู่แข่ง (ถึงไม่ใหญ่ แต่ไร้เทียมทาน)

9 มุมมองธุรกิจที่ไม่มีคู่แข่ง (ถึงไม่ใหญ่ แต่ไร้เทียมทาน)

ธุรกิจที่ไม่มีคู่แข่งคงเป็นธุรกิจในฝันของหลายๆคน เวลาที่เราไม่มีคู่แข่งเราก็เหมือนจะขายของที่ราคาเท่าไรก็ได้ เราจะบริการลูกค้าดีหรือแย่แค่ไหนก็ได้ แต่ธุรกิจที่ไม่มีคู่แข่งนั้นมีจริงหรือเปล่า ในบทความนี้ผมมี 9 มุมมองธุรกิจที่ไม่มีคู่แข่งมาแนะนำ พร้อมด้วยตัวอย่างธุรกิจที่หลายๆคนน่าจะรู้จักกันดีด้วย!

หมายเหตุ: เพียงเพราะว่าธุรกิจเหล่านี้ไม่มีคู่แข่งไม่ได้แปลว่าจะเป็นธุรกิจที่ดี ทำกำไรเยอะ หรือเหมาะสำหรับการที่คุณจะเข้าไปแข่งด้วยนะครับ ไว้เห็นตัวอย่างแล้วคุณจะเข้าใจเอง

9 มุมมองธุรกิจที่ไม่มีคู่แข่ง

#1 ใหญ่เกินกว่าจะมีูคู่แข่ง

เราจะเห็นได้ว่าบริษัทใหญ่ๆนั้นไม่ได้มองธุรกิจขนาดเล็กบางที่เป็นคู่แข่ง เช่น บริษัท CP-All ที่เป็นเจ้าของ 7-11 ก็คงไม่ได้มองร้านโชห่วยขนาดเล็กเป็นคู่แข่ง 

ส่วนมากแล้วบริษัทเหล่านี้จะใหญ่และมีรายได้เยอะมาก ให้ลองเทียบบริษัทที่มีรายได้หลักพันล้านเทียบกับบริษัทหลักที่มีรายได้หลักไม่ถึงล้าน ต่อให้บริษัทขนาดเล็กพยายามมากแค่ไหนก็คงไม่สามารถโตได้เร็วเท่าบริษัทใหญ่

จริงๆเราก็สามารถย่อยปัจจัยนี้มาเป็นปัจจัยที่เล็กกว่านี้ได้ เช่น เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดในช่องทางนี้ ในทำเลนี้ (ร้านขายส่งที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ หรือ ร้านขายมือถือที่ใหญ่ที่สุดใน Lazada)

#2 เป็นเจ้าของสิ่งที่คนอื่นลอกไม่ได้

ผมหมายถึงการเป็นเจ้าของทำเล ทรัพยากร หรือเทคโนโลยีที่คู่แข่งไม่สามารถลอกได้ ทรัพยากรและทำเลบางที่มีจำกัดหากเราเป็นเจ้าของแล้วคู่แข่งก็จะมีน้อยลง เช่น ธุรกิจน้ำมัน หรือ ธุรกิจเหมืองแร่ และในกรณีเดียวกัน เทคโนโลยีบางประเภทก็จะทำให้คู่แข่งลอกได้ยาก (ติดสิทธิบัตรหรือขาดองค์ความรู้)

เราสามารถเห็นได้ว่าในแต่ละจังหวัดอาจจะมีธุรกิจขนาดใหญ่ที่ไม่มีคู่แข่ง ส่วนมากก็เพราะว่าบริษัทเหล่านี้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั้งหมดในพื้นที่ได้ ในส่วนนี้ถึงแม้ว่าอาจจะไม่มีคู่แข่งแต่ก็ทำให้บริษัทมีข้อจำกัดในการขยายกิจการ เช่นหากขายดีในชลบุรีและอยากจะขายเยอะมากขึ้นก็ต้องเข้ามาแข่งกับธุรกิจในใจกรุงเทพฯ

#3 ผูกขาดกับลูกค้า

ธุรกิจที่มีคู่แข่งก็คือธุรกิจที่ต้องกลัวการถูกแย่งลูกค้าเรื่อยๆ แต่ธุรกิจบางประเภทก็ไม่ต้องมีความกลัวแบบนี้เลย

ธุรกิจที่ผูกขาดกับลูกค้าก็คือธุรกิจที่มีความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า เหมือนเป็นสัญญาใจ (หรือสัญญาทางกฎหมาย) ว่าลูกค้าจะไม่ไปซื้อของที่อื่น

ตัวอย่างง่ายๆก็คือธุรกิจที่ได้งานสัมปทานภาครัฐ ซึ่งก็แปลว่าสามารถรับงานจากลูกค้าเจ้าใหญ่ (รัฐบาล) ได้เป็นเวลานาน 

อีกหนึ่งกรณีก็คือการที่ธุรกิจของคนในครอบครัวขายของให้กันเอง ถึงแม้อาจจะไม่ได้ให้ราคาที่ดีที่สุดแต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องซื้อ ในกรณีเดียวกัน ธุรกิจที่มีบริษัทแม่เดียวกันก็อาจจะต้องขายของให้กัน เช่นธุรกิจต่างๆในเครือ CP SCG ปตท เป็นต้น

#4 เป็นตลาดที่ไม่สร้างกำไร

ในหลายๆกรณี เราก็จะเห็นได้ว่าธุรกิจที่ไม่มีคู่แข่งเลยก็คือธุรกิจที่อาจจะไม่ได้กำไรมากเท่าที่เราคิด

แปลว่าธุรกิจบางประเทศอาจจะดูเหมือนขายดีจากข้างนอก แต่หากเรามาวิเคราะห์ตัวเลขกันข้างในจริงๆแล้ว ก็ขาดทุนอยู่เรื่อยๆ ธุรกิจเหล่านี้อาจจะได้การสนับสนุนจากนายทุนใหญ่บางที่เพราะนายทุนมองเห็นโอกาสในอนาคต

ยกตัวอย่างเช่น Youtube Facebook ที่หากเราดูตอนนี้ก็คือเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่มาก แต่ถ้ามองกลับไปตอนที่ธุรกิจเหล่านี้เพิ่งเริ่มต้น เราก็จะเห็นว่าธุรกิจเหล่านี้ไม่สามารถทำกำไรได้ด้วยตัวเองในตอนแรก บางที่ก็ขาดทุน 5 ปี 10 ปี

#5 ธุรกิจมีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนมาก

ในบางกรณี ถึงแม้ว่าจะขายของเหมือนกันในพื้นที่เดียวกัน แต่ตราบใดที่ลูกค้ายังไม่เหมือนกันก็ไม่นับว่าเป็นธุรกิจคู่แข่ง 

ในภาษาการตลาด เราเรียกสิ่งนี้ว่า Segmentation หมายความว่าลูกค้าบางกลุ่มถึงถึงแม้ว่าดูผิวเผินอาจจะมีความต้องการสินค้าอย่างเดียวกัน แต่ถ้าเราวิเคราะห์เชิงลึกแล้วน้องก็จะเห็นว่าลูกค้าต้องการสินค้าแบบพิเศษตามความต้องการตัวเอง

เราจะเห็นได้ว่าสินค้าที่มีราคาแพงและสินค้าที่มีราคาถูกงั้นอาจจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่กลุ่มลูกค้าโดยรวมนั้นไม่เหมือนกันเลย เช่นโรงแรมหรูและโรงแรมราคาย่อมเยาที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน หรือน้ำเปล่าธรรมดากับน้ำแร่ราคาแพงที่อยู่ในร้านสะดวกซื้อ 

กลุ่มลูกค้าก็สามารถแตกมาให้ยิบย่อยได้มากกว่าแค่ราคาถูกราคาแพง เรายังต้องคำนึงถึงอายุ เพศ หน้าที่การงาน หรือแม้แต่พฤติกรรมต่างๆของลูกค้าอีกด้วย ธุรกิจที่เข้าใจความต้องการลูกค้าและสามารถแบ่งกลุ่มลูกค้าได้อย่างชัดเจนก็จะไม่มีคู่แข่ง

#6 ธุรกิจมีแบรนด์ที่โดดเด่นมาก

ในข้อที่ 2 ผมได้บอกไปแล้วว่าหากเรามีของที่คนอื่นลอกไม่ได้ เราก็จะไม่มีคู่แข่ง ซึ่งในมุมมองนี้ ‘แบรนด์’ ก็คืออย่างหนึ่งที่คู่แข่งลอกไม่ได้

ทุกคนคงรู้ว่าโค้กกับเป๊ปซี่เป็นคู่แข่งกัน Apple กับ Samsung ก็เป็นคู่แข่งกัน แต่คุณก็คงมีเพื่อนบางคนที่กินโค้กไม่กินเป๊ปซี่ ยอมใช้ Apple ไม่ยอมใช้ Samsung 

ลูกค้าบางประเภทอาจเจอของที่ถูกใจแล้วจะไม่ย้ายไปใช้ของเจ้าอื่น แบรนด์ที่ดีคือแบรนด์ที่มีลูกค้าที่ชัดเจนและสามารถทำให้ลูกค้ารู้สึกผูกพันกับเราได้

#7 คุณเป็นของหายาก (Influencer)

หากคุณว่าการสร้างแบรนด์คือหลักการธุรกิจที่ยากไป ในส่วนนี้ผมก็อยากจะแนะนำตัวอย่างของธุรกิจสมัยใหม่ ซึ่งก็คือการเป็นคนดังหรือว่าอินฟลูเอนเซอร์นั้นเอง

ประเทศไทยมี ‘เบิร์ดธงชัย’ กี่คน? มี ‘ตูน Bodyslam กี่คน?

หากเราเข้าใจว่าลูกค้าบางคนรู้สึกผูกพันกับคนดังบางคน และถ้าคนดังบางคนเป็นตัวตนที่มีอยู่จำกัด การที่เรามีทรัพยากรเหล่านี้ก็คือการที่เราเป็นเจ้าของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม 

2 ตัวอย่างที่ผมชื่นชมมากก็คือ ‘แฟนคลับนักร้องเกาหลี’ และ ‘ยูทูบเปอร์’ ที่เหมือนจะสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าได้อยู่หมัด 

#8 ขายสิ่งที่คุณสร้างขึ้นมาเอง

ถ้าคุณขายของที่คุณสร้างขึ้นมาเอง ธุรกิจอื่นก็ไม่สามารถมาแย่งของเหล่านี้ได้ เพราะธุรกิจอื่นก็จะไม่ได้ขายของชิ้นนี้โดยเฉพาะ

หมายความว่าเราจะไม่มีคู่แข่ง แต่เราอาจจะมีสินค้าทดแทนบางชนิด (หากลูกค้าไม่ชอบกินโค้ก ก็อาจจะไปกินน้ำหวานอย่างอื่นแทน)

ธุรกิจที่ผลิตสินค้าของตัวเอง (สร้างแบรนด์ตัวเอง ซึ่งเป็นการขายของที่มีจำนวนจำกัดอย่างหนึ่ง) ก็สามารถเป็นผู้นำในตลาดได้ง่าย

ยกตัวอย่างเช่น หนังสือ ‘แฮร์รี่พอตเตอร์’ ในฐานะผู้สร้างสินค้านี้ คุณมองว่าคู่แข่งคือใครกัน? Star Wars? Lord of The Ring?

#9 คู่แข่งยังไม่เกิด

สุดท้ายแล้วคำตอบที่ดีที่สุดก็คือคู่แข่งของคุณแค่ยังไม่เกิดเท่านั้นเอง

เพราะไม่มีใครรู้อนาคตได้ ต่อให้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ก็อาจจะมีบริษัทอื่นๆในอนาคตถูกก่อตั้งขึ้นมาแข่งก็ได้ Lazada อาจจะเป็นคู่แข่งของ 7-11 เป็นต้น

เราจะเห็นได้บ่อยในโลกธุรกิจ ว่าธุรกิจที่ไม่มีคู่แข่งอย่าง Nokia ก็ถูก Apple แย่งตลาดไปหมด ขนาดธุรกิจที่เปิดมานานแล้วอย่างบริษัทแท็กซี่ ก็ยังถูก application Grab/Uber แย่งกลุ่มลูกค้าได้เลย

สรุปก็คือ ธุรกิจไหนที่ดูมีเงินเยอะ ดูทำกำไรได้ ยังไงก็คงมีคู่แข่งอยู่ดี อย่างในไทยที่เมื่อก่อนไปรษณีย์ไทยเป็นเจ้าของตลาด ก็ยังมีบริษัทอื่นพยายามมาแย่งลูกค้าในยุคปัจจุบัน

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด