อาจดูเป็นเรื่องปกติหากจะรู้สึกเบื่องานที่ทำอยู่ และเกิดความคิดที่จะลาออกหรือเปลี่ยนงานใหม่ แต่เคยสงสัยกันไหมว่า จริง ๆ แล้วเป็นเพราะแค่เบื่องานเฉย ๆ หรืองานที่ทำอยู่มันไม่ใช่สำหรับเรากันแน่
10 สัญญาณบอกว่า งานที่ทำอยู่ “ไม่ใช่”
บทความนี้จะแบ่งเป็นสองส่วนก็คือ สัญญาณที่เราต้องสังเกต และ วิธีแก้ปัญหานี้เมื่อเรารู้ว่างานของเรา ‘ไม่ใช่’
แต่ผมก็ต้องออกตัวก่อนว่าไม่ได้มีแค่สัญญาณเดียวที่จะบอกว่าเราไม่ชอบงานของเรานะครับ เราควรพิจารณาจากปัจจัยต่างๆและดูภาพรวมด้วย จะให้ดีลองนอนให้เต็มอิ่มและกินอาหารมื้ออร่อยๆก่อนค่อยตัดสินใจ
และแน่นอนว่าถึงแม้คำแนะนำหลายๆอย่างในบทความนี้จะพูดเรื่อง ‘ความสบายใจ’ ของคุณมากกว่า แต่เราก็ต้องอย่าลืมสำรวจเรื่องหน้าที่ ความรับผิดชอบของตัวเองด้วยนะครับ ซึ่งแต่ละคนอาจจะให้คุณค่ากับสิ่งนี้ไม่เท่ากัน … เอาเป็นว่าหากเราเข้าใจตรงกันแล้ว ไปดูเนื้อหาจริงกันดีกว่า
1. รู้สึกไม่ชอบงานที่ทำ
สัญญาณแรกที่เห็นได้ชัดเจนว่านี้ไม่ใช่สำหรับเรา แต่ต้องฝืนทำไปตามหน้าที่ ไม่ได้เกิดความรู้สึกกระตือรือร้นที่จะทำงานหรือเกิดแรงบันดาลใจใหม่ ๆ แปลว่างานนี้ยังไม่ใช่แน่ ๆ
ความรู้นี้เราต้องเปรียบเทียบระยะยาวนะครับ เช่น เราอาจจะเป็นคนไม่ชอบตื่นเช้าไปทำงานอยู่แล้ว แต่อยู่ดีๆเราก็อยากจะนอนอยู่กับที่เพิ่มมากขึ้น 1-2 ชั่วโมงโดยไม่มีสาเหต แถมเป็นแบบนี้มาหลายเดือนแล้ว เราก็อาจจะเบื่องานของเราจริงๆ
2. รู้สึกว่าไม่ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
หลังจากทำงานมาหลายปี ในขณะที่เพื่อนร่วมงานได้ปรับตำแหน่งหรือเปลี่ยนแปลงหน้าที่ แต่ตัวเรากลับยังอยู่ในตำแหน่งเดิม ก็ถือเป็นสัญญาณว่างานที่อยู่อาจจะไม่ใช่งานที่เราถนัดหรือทำได้ดี
แต่อย่างไรก็ตามหากเกิดความสงสัย ในเบื้องต้นควรสอบถามและพูดคุยกับหัวหน้าดูก่อนว่า บกพร่องจุดไหน หรือมีทักษะอะไรที่ควรพัฒนาเพื่อดึงศักยภาพของเราออกมาใช้ได้มากกว่านี้บ้าง
3. รู้สึกเข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้
รวมถึงวัฒนธรรมขององค์กรนั้น ๆ เพราะแต่ละที่ต่างมีลักษณะการทำงานที่ไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าไม่อยากไปทำงาน เพราะเข้ากับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการทำงานหรือความสัมพันธ์ส่วนตัว จนเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว เครียด หรือร้องไห้บ่อย ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่างานที่อยู่ไม่ใช่งานของเราด้วยเหมือนกัน
4. รู้สึกว่าไม่ได้พัฒนาความสามารถ
เช่น ในกรณีที่ทำงานรูทีนในรูปแบบเดิมซ้ำกันทุกวันต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนรู้สึกว่าไม่ได้พัฒนาความสามารถหรือใช้ศักยภาพของตัวเองที่อยู่ได้อย่างเต็มที่ และไม่ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาความสามารถจากบริษัท อาจจะถึงเวลาที่ต้องออกไปหาประสบการณ์ใหม่ หรือทดลองเรียนรู้ทักษะอื่น ๆ ท้าทายความสามารถของตัวเองเพิ่มแล้ว
5. เกิดอาการSunday Blues
Sunday Blues หรือมีอารมณ์หดหู่ในวันอาทิตย์ เพราะความกังวลหรือเบื่อหน่ายในงานที่ทำอยู่ และทำให้รู้สึกว่าไม่อยากตื่นมาทำงานวันจันทร์ ซึ่งอาการนี้เบื้องต้นสามารถแก้ไขได้ด้วยการพาตัวเองออกไปพักผ่อน ลองทบทวนหาสาเหตุที่แท้จริง แต่ถ้าพบว่างานไม่ใช่สำหรับเราจริง ๆ ลองมองหางานใหม่ที่เหมาะสมเป็นทางออกที่ดีกว่า
6. ขาดWork Life Balance
เนื่องจากมีสิ่งที่ต้องทำเยอะจะล้นมือ รู้สึกว่าต้องเร่งทำงานให้เสร็จตลอดเวลา จนแทบไม่มีเวลาพักผ่อนหรือทำธุระส่วนตัว แม้กระทั่งในวันหยุดแล้ว จนเกิดความเครียดสะสมและส่งผลกระทบอื่น ๆ ตามมา
เช่น ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวหรือสุขภาพแย่ลง อาจถึงเวลาที่ต้องหันมาทบทวนและให้เวลาดูแลตัวเองเพิ่มขึ้นแล้ว
7. งานเพิ่มขึ้นแต่เงินเดือนเท่าเดิม
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของบริษัท บางที่อาจจะเป็นเพราะมีความจำเป็นต้องลดคนในช่วงวิกฤต แต่หากอยู่ในสถานการณ์ปกติอาจเป็นไปได้ว่ากำลังโดนเอาเปรียบอยู่ ทางออกสำหรับปัญหานี้ควรลองปรึกษากับหัวหน้าดูก่อน แต่ถ้ามีการพูดคุยกันแล้วแต่ผลลัพธ์ยังเหมือนเดิม คงจะดีกว่าหากหาบริษัทและงานใหม่ที่ให้ค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม
8. รู้สึกว่าไม่เป็นตัวของตัวเอง
การจะทำงานได้ดีและทำได้นาน ๆ นั้น สิ่งที่รับผิดชอบอยู่ก็ควรสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์หรือบุคลิกของเราด้วยเช่นกัน แต่ถ้าขัดแย้งกันจนรู้สึกว่าต้องฝืนไปทำงานทุก ๆ วัน ก็แปลว่างานที่ทำอยู่ไม่ใช่นั่นเอง
9. มองไม่เห็นอนาคต
เช่น มองไม่เห็นความก้าวหน้าของตัวเอง บริษัทไม่มีแนวทางชัดเจนว่าสามารถเติบโตในสายงานได้อย่างไร หรืองานไม่สอดคล้องกับความต้องการ คิดภาพของตัวเองไม่ออกว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงจากงานที่ทำได้อย่างไร ถืออีกหนึ่งสัญญาณที่บอกว่าถึงเวลาหางานใหม่แล้ว
10. ตำแหน่งที่ทำอยู่กำลังหมดยุค
หากหน้าที่ความรับผิดชอบของเราเริ่มน้อยลง หน้าที่ของเราแทบจะไม่มีความสำคัญกับบริษัท หรือมีโปรแกรมที่สามารถมาทำหน้าที่แทนเราได้ แถมแนวโน้มในตลาดแรงงานตำแหน่งของเราก็เป็นที่ต้องการน้องลง แสดงว่าถึงเวลาเพิ่มทักษะสำหรับงานใหม่แล้ว
เมื่องานไม่ใช่ แก้ปัญหาอย่างไรดี ?
อย่างที่บอกไปว่าการทำงานเดิมนาน ๆ มีความเป็นไปได้ว่าเกิดจากความเบื่อหน่าย ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจให้ลองทำตามนี้ดูนะครับ
1. ทบทวนความรู้สึกของตัวเอง
เพราะบางทีอาจเป็นเพราะความเครียดสะสม เนื่องจากความกดดันในเนื้องาน ความคาดหวังของเจ้านาย ไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวเริ่มห่างเหิน หากเป็นแบบนี้ไม่ควรรีบตัดสินใจลาออก แต่ควรหาเวลาพักผ่อนเพื่อรีเฟรชตัวเองดูก่อน
2. ลองให้โอกาสกับมันอีกครั้ง
ในกรณีที่เพิ่งเริ่มงานใหม่ ไม่ควรรีบตัดสินใจว่างานนั้นไม่ใช่สำหรับเรา แต่ควรให้เวลากับมันเพิ่มอีกสักหน่อยและใช้เวลาช่วงทดลองงานให้เต็มที่ ทั้งการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ และการเรียนรู้เนื้องานเพิ่มเติม
3. พูดคุยกับหัวหน้างาน
เปิดใจคุยถึงความรู้สึกกันตรง ๆ ว่าตอนนี้ปัญหาของเราคืออะไร มีเรื่องอะไรที่กำลังสงสัยอยู่บ้าง ทั้งนี้ก่อนจะเริ่มพูดคุยควรลิสต์ประเด็นเตรียมไปให้พร้อมด้วย
4. สำรวจความสามารถของตัวเอง
หากต้องการความก้าวหน้าในชีวิต ก็ควรเพิ่มขีดความสามารถให้ตัวเองด้วยเหมือนกัน ลองดูว่าเราขาดทักษะหรือจำเป็นจะต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานที่เราทำอยู่บ้าง หรือสามารถนำงานอดิเรกไปต่อยอดเป็นอาชีพได้บ้างหรือเปล่า ก็จะช่วยให้คุณได้พบกับงานที่ใช่และหางานใหม่ได้เร็วขึ้น
5. มองหางานใหม่
นอกจากนี้อย่าลืมอัปเดตประวัติการทำงานและมองหางานใหม่ไปพลาง ๆ นอกจากจะดูลักษณะงานแล้ว ก็ควรพิจารณาปัจจัยอื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น สวัสดิการ วันและเวลาการทำงาน การเดินทาง พร้อมเตรียมตัวสัมภาษณ์งานใหม่และเหตุผลการลาออกด้วย
6. รักษาความเป็นมืออาชีพ
ระหว่างนี้ก็ควรทำงานไปตามปกติและรับผิดชอบงานของตัวเองให้เต็มที่ หากได้งานใหม่แล้วก็ควรจัดการสะสางและส่งมอบงานของตัวเองให้คนที่มารับผิดชอบต่อให้เรียบร้อยก่อนลาออก จะทำให้เราดูเป็นมืออาชีพและยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้ได้
หากความรู้สึกตอนนี้ตรงกับสัญญาณส่วนใหญ่ที่บอกไป และได้ลองพูดคุยกับหัวหน้างานดูแล้ว ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่างานที่ทำอยู่มันไม่ใช่ ก็ถึงเวลาแล้วที่ควรจะพาตัวเองออกจากเซฟโซน เพิ่มทักษะ และมองหางานใหม่ที่ใช่มากกว่า จะได้ทำงานได้อย่างมีความสุข ไม่ส่งผลเสียกับสุขภาพของตัวเองและความสัมพันธ์กับคนรอบข้างนะครับ