OEM หรือการจ้างโรงงานอื่นผลิตสินค้าในแบรนด์ตัวเอง เป็นคำที่มีมานานแล้ว แต่เพิ่งได้รับความสนใจมากขึ้นเมื่อธุรกิจประเภทโรงงานโตมากขึ้นทั่วโลก ตามกลไกเศรษฐกิจ บริษัทใหญ่ในต่างประเทศก็ใช้ OEM บริษัทเล็กในไทยบางเจ้าก็ใช้ OEM
ในบทความนี้เรามาดูกันว่า OEM คืออะไร ย่อมาจากอะไร และมีประโยชน์ยังไงกับผู้บริโภคและกับธุรกิจ
Table of Contents
OEM คืออะไร – OEM ย่อมาจากอะไร
OEM ย่อมาจาก Original Equipment Manufacturer คือบริษัทผู้รับจ้างผลิตสินค้าหรือชิ้นส่วนของสินค้าเพื่อให้บริษัทอื่นสามารถนำไปขายหรือทำการตลาดต่อได้ในแบรนด์อื่น บริษัท OEM ส่วนมากจะเชี่ยวชาญด้านการผลิตมากกว่าการขาย ตัวอย่างของบริษัทที่ผลิตผ่าน OEM ได้แก่ Apple Huawei และ Nintendo
บางทีแบรนด์ดังระดับโลกก็จ้าง OEM ในการผลิตสินค้า เพราะโรงงาน OEM บางบริษัทก็มีกำลังผลิตเยอะมาก และบางทีแบรนด์เล็กๆที่ไม่มีทุนพอที่จะสร้างโรงงานเองก็จ้าง OEM ผลิตได้เหมือนกัน
คำที่เราได้ยินบ่อยเกี่ยวกับ OEM ก็คือ ‘ไม่ใช่ของแบรนด์ดัง แต่ผลิตจากโรงงานเดียวกัน’ นั่นก็เพราะ OEM บางอย่างเช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ผลิตมาจากโรงงานที่ประเทศจีน และโรงงานเหล่านี้ผลิตสินค้าให้เจ้าของแบรนด์หลายเจ้า
หลายๆคนอาจจะรู้กันแล้ว แต่แบรนด์ใหญ่ๆหลายเจ้าไม่ได้เป็นเจ้าของโรงงานผลิตเอง บริษัทแบรนด์มือถืออย่าง Apple หรือ Samsung ก็ทำแค่การออกแบบ แล้วค่อยจ้างงานบริษัทอื่นผลิตให้อีกที (เรียกว่าการ outsource)
แน่นอนว่าถึงแม้จะมาจากโรงงานหรือผู้ผลิตเดียวกัน ก็ไม่ได้แปลว่าจะใช้วัตถุดิบตัวเดียวกัน และไม่ได้รับประกันว่ากระบวนการสำคัญอื่นๆจะสามารถเทียบเท่าได้ เช่นการควบคุมคุณภาพ หรือการบริการหลังการขาย
ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับ OEM หลายรูปแบบ เช่น ครีมต่างๆ หรือมือถือยิห้อแพงๆ เพราะผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีแบรนดฺ์ก็คือผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีตัวตน และพอไม่มีตัวตน ลูกค้าก็ไม่สามารถคาดหวังให้คุณภาพของสินค้าทุกชิ้น ทุกอัน อยู่ในระดับเดียวกันได้ตลอด
อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถฟันธงได้ว่าสินค้า OEM ทุกชนิดแย่หมด แค่อาจจะเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงมากกว่าเท่านั้นเอง (อาจจะไม่คุ้มเงิน เพราะเสียง่ายกว่า หรือไม่มีประกัน)
OEM ดีไหม – ข้อดีและข้อเสียของ OEM
OEM นั้นมีที่อยู่ในเศรษฐกิจ และมีประโยชน์ทั้งสำหรับผู้บริโภค บริษัทขนาดใหญ่และบริษัทขนาดเล็ก ในส่วนนี้เรามาลองดูข้อดีข้อเสียของ OEM กันบ้าง
ข้อดีและข้อเสียของ OEM สำหรับผู้บริโภค
ราคาถูกกว่าแบรนด์ดัง – สำหรับผู้บริโภคหลายคน ราคาก็คือจุดขายหลัก ซึ่งสินค้าไม่มีแบรนด์หรือแบรนด์ที่ไม่ดังจากโรงงาน OEM ก็มักจะเป็นสินค้าที่ขายในราคาต่ำกว่า โดยอาจจะแลกกับ ‘ฟีเจอร์’ บางอย่างที่ไม่เท่าเทียม เช่นคุณภาพและอายุการใช้งาน
คุณภาพที่อาจไม่เทียบเท่า – ไม่ว่าคนทั่วไปจะพูดอย่างไร โดยเฉลี่ยแล้วสินค้าที่มีแบรนด์ก็มักจะมีคุณภาพที่ดีกว่าสินค้าที่ไม่มีแบรนด์ อย่างไรก็ตาม สินค้าคุณภาพดีก็ไม่ได้แปลว่าจะมีความ ‘คุ้มราคา’ เสมอไป ในส่วนนี้ผู้บริโภคต้องไปชั่งใจเองว่าการซื้อสินค้าราคาถูก เทียบกับคุณภาพที่ต่ำกว่าหรือความเสี่ยงที่มากกว่า นั้นคุ้มราคาหรือเปล่า
การตลาดและบริการหลังการขาย – ในเชิงธุรกิจนั้น การที่สินค้าแบรนด์ดังตั้งราคาแพง ส่วนมากก็เพราะบริษัทเหล่านี้จะนำกำไรไปใช้ในเรื่องการตลาดและการบริการหลังการขาย สำหรับผู้บริโภคการตลาดก็เป็นปัญหาของการเข้าถึง เราไม่สามารถรู้ได้ว่าสินค้าแบรนด์ไหนดีหรือไม่ดีจนกว่าจะได้รับข้อมูลจากการตลาด และเราก็ไม่มีทางรู้ว่าสินค้าไหนมีความเสี่ยงสูงจนกว่าทางเจ้าของแบรนด์จะออกมารับประกัน
สำหรับผู้บริโภค สินค้าจากโรงงาน OEM สามารถแบ่งได้เป็นสามประเภท ก็คือ แบรนด์ใหญ่ที่ใช้โรงงาน OEM แบรนด์รองที่ใช้โรงงาน OEM และ สินค้า OEM ที่ไม่มีแบรนด์ หากเรามองแบรนด์ว่าคือความน่าเชื่อถืออย่างหนึ่งเราก็อาจจะตีความได้ว่าสินค้าที่มีแบรนด์ก็จะมีคุณภาพดีกว่า ถึงแม้ว่าจะผลิตมาจากโรงงาน OEM เดียวกันนั่นเอง
ข้อดีและข้อเสียของ OEM สำหรับบริษัทว่าจ้าง
เลือกโฟกัสให้ธุรกิจ – เทรนด์ธุรกิจสมัยนี้แสดงให้เห็นว่าบริษัทที่ทำทุกอย่างก็อาจจะไม่ได้เก่งทุกอย่างเสมอไป บางครั้ง การที่บริษัทเลือกที่จะออกแบบด้วย ผลิตสินค้าด้วย ทำการตลาดด้วย ก็เป็นการเลือกทำอะไรมากเกินไป จนทำให้ผู้บริหารไม่สามารถดูแลธุรกิจอย่างละเอียดได้
ในกรณีนี้ หากผู้บริหารไม่มั่นใจในทักษะด้านการผลิต หรือคิดว่าการผลิตเองไม่คุ้ม การปล่อยให้ผู้เชี่ยวชาญอย่าง โรงงาน OEM เป็นคนดูแลก็ดีกว่า
การบริหารความสัมพันธ์ – การเลือกโรงงานผลิตสินค้าก็คือการเลือกคู่ค้าทางธุรกิจอย่างหนึ่ง แน่นอนว่าการเลือกคู่ค้าทางธุรกิจนั้นก็เป็นกระบวนการที่ใช้เวลา และอาจจะไม่เหมาะกับธุรกิจบางประเภท ปัญหาบางอย่างที่สามารถแก้กันในองค์กรเองได้ ก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ระหว่างสองบริษัทได้ ซึ่งก็ทำให้หลายบริษัทเลือกที่จะจ้าง ‘พนักงานดูแลความสัมพันธ์’ ระหว่างธุรกิจที่จ้างผลิตและธุรกิจ OEM
คุณภาพ เวลาและเงินลงทุน – สุดท้ายแล้ว ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตก็หนีไม่พ้น 3 ปัจจัยนี้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสินค้าที่คุณอยากจะผลิตด้วย สินค้าบางชนิดก็สามารถหาโรงงาน OEM ผลิตได้ง่าย แถมยังทำได้เร็วและทำได้ในราคาถูก
อย่างไรก็ตาม สินค้าบางอย่างก็ยากที่จะหาวัตถุดิบและโรงงานที่สามารถผลิตได้ตามตัวเลขและตามคุณภาพที่ธุรกิจคาดหวัง
โดยทั่วไปนั้น สินค้าที่สามารถผลิตได้เรื่อยๆ ขายสินค้าเดิมได้ไปตลอด 10 ปี 20 ปี ก็จะมีราคาถูกมากกว่าหากเจ้าของแบรนด์ผลิตเอง เช่นพวกเครื่องดื่มน้ำหวานต่างๆ หรือโรงงานฉีดพลาสติก ที่เป็นสินค้าที่ออกแบบครั้งเดียวแต่ผลิตได้เรื่อยๆ ขายได้เรื่อยๆ
แต่สินค้าบางประเภทที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย เปลี่ยนสูตรบ่อย ก็อาจจะคุ้มกับการจ้างโรงงาน OEM มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่องค์กรไม่มีบุคลากรที่เก่งเรื่องการผลิต ยกตัวอย่างเช่น สินค้าความสวยความงามแบบติดเทรนด์ หรือสินค้าเทคโนโลยี เป็นต้น
นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีเรื่องของเงินลงทุนในระยะสั้นและเงินลงทุนในระยะยาว ที่ถือว่าเป็นปัจจัยชี้นำหรือว่าทิศทางของการทำธุรกิจจะไปทางไหน หากองค์กรไม่ได้มีเงินหลักร้อยหรือพันล้านในการสร้างโรงงาน ในระยะสั้นการจ้าง OEM ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจทางธุรกิจที่ฉลาด
ตัวอย่างของ OEM
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ – เนื่องจากว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีผู้เล่นจำนวนมาก ทำให้การจ้างวานและการบริษัท OEM ผลิตของให้ทำได้ง่าย อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ความลับธุรกิจรั่วไหล เจ้าของแบรนด์ใหญ่ก็จำเป็นที่จะต้องจ้าง OEM หลายบริษัท ในการทำแต่ละขั้นตอน เพื่อไม่ให้แต่ละโรงงาน OEM ถือความลับเยอะเกินไป
สินค้าแฟชั่น – เนื่องจากว่าจุดขายของสินค้าแฟชั่นอยู่ที่การออกแบบและคุณภาพ ทำให้เจ้าของแบรนด์แฟชั่นไม่ได้จำเป็นต้องเป็นคนควบคุมกระบวนการผลิตเองก็ได้ นอกจากนั้น เราจะเห็นได้ว่าสินค้าแฟชั่นหลายอย่างมี ‘ชิ้นส่วนมากมาย’ เช่นกระเป๋ามีซิป ตะขอ ตัวล็อค ห่วง ซึ่งของชิ้นเล็กชิ้นน้อยนี้ก็ต้องอาศัยโรงงานอื่นผลิตให้
โปรแกรมซอฟต์แวร์ – โปรแกรมก็เป็นสินค้าที่เราสามารถจ้างบริษัทอื่นในการผลิตให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรแกรมที่ไม่ได้จำเป็นต้องเริ่มทำใหม่ตั้งแต่ศูนย์ สามารถนำโปรแกรมอื่นๆที่เคยทำมาแล้วมาปรับเล็กน้อยและใส่แบรนด์ใหม่ได้ เช่น ฟิเจอร์ที่มีการใช้งานบ่อยๆ อย่างการคำนวณตัวเลข ระบบซื้อของหลังบ้าน
เครื่องสำอาง-อาหารเสริม – OEM เครื่องสำอางและอาหารเสริมก็เป็นธุรกิจที่เราเห็นได้บ่อยในไทย
แน่นอนว่าธุรกิจโรงงาน OEM ก็มีหลายระดับ มีทั้งระดับที่บริการดี ทำงานเป็นมืออาชีพ ไปจนถึงบริษัทที่ไม่รับผิดชอบเท่าไร เราจะเห็นได้ว่าธุรกิจ OEM นั้นมีความโปร่งใสน้อยและมีช่องว่างเยอะในการเอาเปรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ ‘ความเชี่ยวชาญต่างๆ’ ที่คนว่าจ้างก็มีไม่เท่าเจ้าของที่ผลิตมานานอยู่แล้ว ยกเว้นในกรณีที่ผลิตสินค้าง่ายๆ หรือเป็นแบรนด์ใหญ่อย่าง Apple
บางสินค้าที่มีกระบวนการผลิตหลายขั้นตอนก็จำเป็นที่จะต้องใช้โรงงาน OEM หลายแห่งในการผลิต เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด รถยนต์ก็ต้องมีการผลิตประตู ล้อรถ และชิ้นส่วนอื่นๆ และนำชิ้นส่วนเหล่านี้มาประกอบในโรงงานหลัก สินค้าอื่นๆเช่น มือถือ หรือกระเป๋า ก็ใช้กระบวนการเดียวกัน
ซึ่งเจ้าของแบรนด์อย่าง Toyota ก็เลือกที่จะทำหน้าที่ส่วนมากด้วยตัวเอง ส่วนบริษัทอย่าง Apple ก็เลือกที่จะจ้างบริษัทอื่นทำให้ ในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ขององค์กรอีกที
นอกจากนั้นก็มีเรื่องของชิ้นส่วนชนิดต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น สายชาร์จมือถือ หน้าจอ แบตเตอรี่ ที่ถูกผลิตมาในปริมาณมาก เพื่อใช้ในการซ่อมแซมภายหลัง (OEM for Replacement Parts)
สุดท้ายนี้เกี่ยวกับธุรกิจ OEM
สุดท้ายแล้ว สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจสามารถร่วมงานกับ OEM ได้อย่างประสบความสำเร็จก็คือ ‘ความรู้’ หากเราอยากผลิตครีมแต่เราไม่รู้จักส่วนผสม เราก็คงไม่สามารถผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานและอยู่ในราคาที่เราต้องการได้
ธุรกิจ OEM ส่วนมากมี ‘ข้อได้เปรียบ’ อยู่ที่เครื่องจักรและความเชี่ยวชาญ ส่วนมากแล้ว ธุรกิจประเภทนี้จะไม่ถนัดด้านการตลาดที่เข้าถึงผู้บริโภค ทำให้เจ้าของแบรนด์ที่มีไอเดียต่างๆสามารถร่วมมือกันได้ง่ายเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆในธุรกิจ
เพราะฉะนั้น ในโลกที่สมบูรณ์แบบ เราก็ต้องหาคู่ค้าธุรกิจที่มีความโปร่งใส ใส่ใจในการสื่อสารกับเรา และมีความรับผิดชอบ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในราคา และ คุณภาพ ที่เหมาะสม