5 คำถามที่ต้องตอบให้ได้ เมื่อขายดีแต่ไม่มีเงินเก็บ

5 คำถามที่ต้องตอบให้ได้ เมื่อขายดีแต่ไม่มีเงินเก็บ

ขายดีแต่ไม่มีเงินเก็บเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายกับเจ้าของธุรกิจและควรทำอาชีพค้าขายครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจหรือค้าขายครั้งแรก แต่หากคุณมีปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่ต้องกังวลใจไปมาก ลองวินิจฉัยสถานการณ์ของตัวเองตามคำแนะนำของผม แล้วคุณก็จะรู้วิธีแก้เอง

บทความนี้ผมจะแนะนำ 5 ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับธุรกิจคุณหากคุณรู้สึกว่าตัวเองขายดีแต่ไม่มีเงินเก็บ ซึ่งในแต่ละหัวข้อผมก็จะบอกว่าคุณควรที่จะแก้ปัญหาให้ตัวเองได้อย่างไรบ้าง

5 ทำไมถึงขายดีแต่ไม่มีเงินเก็บ

ก่อนที่เราจะไปดูรายละเอียดกัน ผมต้องขออธิบายก่อนว่าการทำธุรกิจหรือการทำอาชีพค้าขายเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความใส่ใจในรายละเอียดเยอะ ขอแนะนำแต่ละอย่างคุณอาจจะบอกว่าดูยิบย่อย ดูยุ่งยาก แต่ข้อเท็จจริงก็คือคนที่ทำธุรกิจและอาชีพค้าขายที่ประสบความสำเร็จเขาก็ต้องทำกันแบบนี้ทั้งนั้น (ส่วนถ้าทำประสบความสำเร็จแล้วอยากจะหาคนอื่นมาช่วยทำก็อีกเรื่องหนึ่ง)

#1 ขายของขาดทุนหรือเปล่า

หากคุณบอกว่าการขายดีหมายถึงการที่มีลูกค้าทักเข้ามาเยอะแล้วก็ขายของได้เรื่อยๆทุกวัน ปัญหาเบื้องต้นที่สุดสำหรับมือใหม่ก็คือเรากำลังขายขาดทุนอยู่ ซึ่งเกิดได้บ่อยๆเวลาที่เราตั้งราคาไม่เป็น คำนวณต้นทุนไม่เป็น พอมาเจอคู่แข่งขายราคาต่ำเราก็เลยต้องตั้งราคาต่ำเพื่อแย่งลูกค้าให้ได้

ธุรกิจที่มี ‘การผลิต’ ต้องรู้จักวิธีคำนวณต้นทุนตัวเองให้ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้บ่อยก็คือธุรกิจร้านอาหาร ให้คำนวณต้นทุนขายดีว่าผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นใช้วัตถุดิบอะไรบ้างและมีต้นทุนเท่าไหร่กันแน่ 

สำหรับธุรกิจซื้อมาขายไปทั่วไป คุณก็อาจจะคำนวณต้นทุนสินค้าได้ง่าย อย่างไรก็ตามคุณก็ต้องอย่าลืมเริ่มต้นทุนอื่น หากเป็นการขายของทั่วไปก็ต้องมีต้นทุนด้านค่าเช่าที่ หากเป็นการขายของออนไลน์ก็ต้องมีต้นทุนด้านการทำโฆษณา

#2 สต็อกจมหรือเปล่า

ปัญหานี้ก็เกิดขึ้นได้บ่อยเช่นเดียวกันสำหรับธุรกิจซื้อมาขายไป ตัวอย่างง่ายๆก็คือธุรกิจความสวยความงามหรือธุรกิจขายเสื้อผ้าแฟชั่น ที่ถึงแม้อาจจะได้กำไรเบื้องต้นจากการขายเยอะ ถ้าหากเราต้องซื้อสินค้ามาสต๊อกไว้หลายตัว หลายรูปแบบ บางทีกำไรส่วนหน้าของเราก็อาจจะไปจมอยู่กับสต็อกก็ได้

อย่างแรกที่สุดก็คือคำนวณก่อนว่าสต๊อก ณ ปัจจุบันของคุณมีมูลค่าเท่าไหร่กันแน่ (รวมต้นทุนทั้งหมดที่คุณใช้ในการซื้อสต๊อกที่เหลืออยู่) หากคุณมีสินค้าหลายชนิดก็ให้แยกออกมาเป็นแต่ละหมวดหมู่ แต่ละสินค้าเลย ในฐานะคนขายของ ผมก็คิดว่าคุณน่าจะรู้ว่าตัวไหนขายดีหรือขายไม่ดีอยู่แล้ว

หลักการทำธุรกิจก็คือถึงแม้สินค้าบางอย่างจะขายได้ แต่ถ้าคุณต้องสต๊อกสินค้าเหล่านี้ไว้นานหลายเดือน ตามพื้นฐานแล้วคุณก็ควรจะขายสินค้าพวกนี้ออกไปในราคาถูก (ล้างสต็อก) แล้วเอาเงินมาซื้อสินค้าที่ขายได้เรื่อยๆจะดีกว่า เอาเป็นว่าอย่างน้อยที่สุดสินค้าไหนที่ขายไม่ได้มาหลายเดือนแล้วก็ตัดทิ้งออกไปนะครับ 

#3 ได้แบ่งเงินเดือนให้ตัวเองหรือเปล่า

เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กหลายๆชอบนำกำไรของธุรกิจมาซื้อของส่วนตัว ซึ่งหากคุณคิดจะยึดอาชีพค้าขายเป็นอาชีพหลักในระยะยาว คุณก็ต้องรู้จักการจัดระเบียนส่วนนี้ให้ดี เพราะธุรกิจไปหลายที่ก็เจ๊งกันเพราะเรื่องแบบนี้นี่แหละ 

สำหรับธุรกิจค้าขายมือใหม่ เงินเดือนพื้นฐานของเจ้าของธุรกิจไม่ควรที่จะเกิน 10% ของยอดขาย หมายความว่ายอดขายของคุณอยู่ที่หลักแสนต่อเดือน เงินที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตจริงก็มีแค่หมื่นบาทเท่านั้นเอง ส่วนที่เหลือควรจะเป็นเงินที่จะหมุนเข้ามาใช้พัฒนาธุรกิจเพิ่มเติม (แต่ถ้าปลายปีมีกำไรเหลือเยอะก็นำมาใช้จ่ายเป็นโบนัสให้ตัวเองบ้างก็ได้)

จริงๆแล้วจากใน 10% เนี่ยควรจะรวมถึงเงินที่คุณเก็บไว้ใช้เอง เงินที่คุณเก็บไว้เกษียณ และเงินที่คุณเก็บไว้ลงทุนส่วนตัวเพิ่มด้วย…ใช่ครับ การบริหารเงินไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่เราค่อยๆปรับทั้งเรื่องเงินเดือนและเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนตัวภายหลังก็ได้ (อยู่ดีๆมาหักดิบทำทุกอย่างทันทีจะเครียดเกินไป)

แน่นอนว่านี่เป็นแค่คำแนะนำในฐานะคนที่อยากทำธุรกิจ (และอยากให้ธุรกิจอยู่ไปในระยะยาว) ถ้าคุณอยากจะค้าขายเล่นๆเป็นอาชีพเสริมเวลาว่างก็ไม่จำเป็นต้องจริงจังขนาดนี้ก็ได้

#4 ได้ทำบัญชีรายจ่ายหรือเปล่า

สุดท้ายแล้ว ตัวเลขก็จะตอบคุณได้ดีที่สุดว่าจุดบอดของธุรกิจของคุณอยู่ที่ตรงไหนกันแน่ ในส่วนนี้เราต้องพยายามจดข้อมูลและเก็บเอกสารทุกอย่างให้อย่างชัดเจนที่สุด เราจะได้รู้ยังทันทีว่าค่าใช้จ่ายของธุรกิจมีอะไรบ้าง เราจะได้รู้ว่าค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่เยอะผิดปกติเป็นพิเศษ (ที่สำคัญก็คือเอกสารเหล่านี้ใช้ทำภาษีส่งสรรพากรได้ง่าย)

ถ้าคำตอบก็คือคุณใช้เงินกับชีวิตส่วนตัวมากเกินไป เช่นกินอาหารหรู จ่ายค่าเล่าเรียนให้ลูก นำมาผ่อนบ้านผ่อนรถตัวเอง ในส่วนนี้คุณก็ต้องมาพิจารณาอีกทีว่าเงินเดือนที่ได้มาจากรายได้ธุรกิจเหล่านี้ เพียงพอที่จะใช้ในชีวิตคุณจริงๆหรือเปล่า 

อีกเรื่องหนึ่งก็คือนอกจากบัญชีรายจ่ายของธุรกิจแล้ว คุณก็ควรทำบัญชีรายจ่ายส่วนตัวของตัวเองด้วย (ทำแยกกัน) เวลาธุรกิจมีปัญหาหรือเวลาคุณมีเงินส่วนตัวใช้ไม่มากพอ คุณจะได้รู้จุดแก้ไขได้ทันที

#5 คุณมีลูกหนี้เยอะหรือเปล่า 

ข้อนี้เกิดขึ้นได้บ่อยนะครับเวลาที่คุณทำธุรกิจที่ขายของให้ธุรกิจอื่น (ภาษาเชิงบริหารเขาเรียกว่า B2B) 

คือธุรกิจที่ขายให้ธุรกิจด้วยกันเองส่วนมากจะมีการซื้อขายกันด้วย ‘เครดิต’ ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้ามาซื้อของเราแต่บอกว่าจะกลับมาจ่ายเงินในอีก 30 วัน ธุรกิจที่มีคู่แข่งเยอะแต่ไม่สามารถตัดราคาแข่งได้แล้ว บางทีก็ต้องมาแข่งกันด้วยการให้เครดิตนี่เหล่ะครับ

ปัญหาจะเกิดถ้าคุณมีลูกค้าที่มีเครดิตเยอะมาก แต่ธุรกิจของคุณไม่ได้มีเงินสดเยอะ ซึ่งต่อให้คุณขายของมีกำไรคุณก็จะเกิดอาการช็อตเงินได้เรื่อยๆ วิธีแก้เบื้องต้นก็คือเราต้องตั้งข้อจำกัดไว้ว่าในแต่ละเดือน เราจะขายเครดิตให้กับลูกค้าได้กี่เจ้ากัน…การทำแบบนี้ถึงแม้ว่าอาจจะทำให้เสียลูกค้าไปบ้าง แต่อย่างน้อยธุรกิจของคุณก็จะได้มีการหมุนมาจ่ายเจ้าหนี้ของคุณได้ด้วย

จริงๆแล้วนะปัญหาด้านเงินหมุนเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่เลย ผมแนะนำให้คุณอ่านบทความนี้ของผมเพื่อศึกษาเพิ่มเติมนะครับ 

สุดท้ายนี้หากคุณรู้สึกว่าตัวคุณหรือธุรกิจของคุณกำลังลำบากเพราะว่าไม่มีกำไร ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีเงินหมุน ผมแนะนำให้อ่านบทความเหล่านี้ดูนะครับ (ไม่ต้องห่วงครับผมไม่ได้มาขายสินเชื่อ แค่ให้คำแนะนำในฐานะคนทำธุรกิจด้วยกัน)

ขายของควรคิดกําไรกี่เปอร์เซ็นจากการขายกันนะ?
ขายของแต่โดนตัดราคาทำอย่างไรดี? ต้องตัดราคาแข่งหรือเปล่า?
11 เคล็ดลับทำให้ธุรกิจมีกำไร แก้ปัญหาขาดทุน แน่นอน

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด