วิธีการวิเคราะห์ SWOT เชิงปริมาณ [Quantitative SWOT]

วิธีการวิเคราะห์ SWOT เชิงปริมาณ [Quantitative SWOT]

หลายคนอาจคิดว่าการวิเคราะห์ SWOT ใช้งานจริงไม่ได้หรอก ส่วนมากไว้ทำรายงานมากกว่า ในส่วนนี้เรามาลองลงรายละเอียดการวิเคราะห์ให้เยอะขึ้น เพื่อดูว่าเราใช้ SWOT ในการทำธุรกิจจริงๆได้อย่างไร (หรือจะใช้ในการวิเคราะห์เรื่องอื่นก็ได้ครับ) ซึ่งก็คือการทำ SWOT เชิงปริมาณ (Quantitative SWOT) นั่นเอง

การวิเคราะห์ SWOT เชิงปริมาณคืออะไร

การวิเคราะห์ SWOT เชิงปริมาณ (Quantitative SWOT) หมายถึงการเปรียบเทียบ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และ อุปสรรค ผ่านการตีค่าทุกปัจจัยให้เป็นตัวเลข สวอตเชิงปริมาณ ทำให้องค์กรสามารถได้จัดความสำคัญและคัดเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับการบรรลุเป้าหมายได้อย่างชัดเจน

การวิเคราะห์ SWOT เชิงปริมาณจะเป็นการวิเคราะห์ต่อยอดจาก SWOT อีกที หากใครยังไม่ถนัดการทำ SWOT ผมแนะนำให้อ่านบทความนี้ก่อน วิธีวิเคราะห์ SWOT

โดยทั่วไปแล้ว การทำ SWOT ที่ทุกคนรู้จักก็คือการทำ SWOT เชิงคุณภาพ ซึ่งเป็นการอธิบายว่าปัจจัยต่างๆ มีอะไรบ้าง สามารถส่งผลเสียได้แค่ไหน อย่างไรก็ตาม ยิ่งเราคิดเยอะ เราก็จะยิ่งค้นพบปัจจัยต่างๆเยอะขึ้น และในองค์กรที่มีทรัพยากรต่างๆจำกัด เช่น เวลา เงินทุน หรือ จำนวนพนักงาน เราจะเลือกปัจจัยไหนในการดูแลก่อนกันนะ?

คำตอบแบบสั้นๆก็คือเราต้องตีค่าปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น จุดแข็งจุดอ่อน โอกาสอุปสรรค ให้ออกมาเป็นตัวเลขที่สามารถวัดผลได้ เช่นส่งผลดีผลเสียแค่ไหน มีโอกาสเกิดขึ้นแค่ไหน ก่อนที่จะทำการตัดสินใจอะไรทั้งนั้น

อย่างไรก็ตามสำหรับผู้บริหารที่มีประสบการณ์มาแล้ว บางครั้งเราเห็นปัจจัยต่างๆเราก็สามารถรับรู้ได้ว่าแต่ละอย่างมีความสำคัญมากแค่ไหน แต่สำหรับองค์กรที่อยากจะทำให้ทุกอย่างมีกระบวนการอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันความผิดพลาดจริงๆ หรืออยากจะให้หลายๆคนเข้ามาช่วยร่วมในการทำ SWOT การทำ SWOT เชิงปริมาณก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากๆ

วิธีวิเคราะห์ SWOT เชิงปริมาณ

สิ่งแรกที่เราต้องทำก็คือการ ‘สร้างตาราง’ ที่มี โอกาสและอุปสรรคอยู่ด้านบนและจุดแข็งจุดอ่อนอยู่ด้านข้าง โดยที่เราจะนำ โอกาสและอุปสรรค กับ จุดแข็งและจุดอ่อน มาวิเคราะห์คู่กัน (ดูตามภาพตัวอย่างด้านล่างได้)

หลังจากนั้นเราก็จะนำทุกจุดมาให้คะแนนอีกทีว่า แต่ละจุดมีความสำคัญมากแค่ไหนจาก 0 ไปถึง 10 โดยที่ 0 คือน้อยสุดและ 10 คือมากสุด สิ่งสำคัญก็คือเราต้องไม่มักง่ายให้คะแนนทุกส่วนเท่ากัน เราควรจะตั้งใจวิเคราะห์ว่าส่วนไหนสำคัญจริงๆและส่วนไหนไม่จำเป็นต่อธุรกิจของเรา 

การให้คะแนนส่วนมากก็ยังมาจากประสบการณ์และความเข้าใจธุรกิจของผู้ทำอยู่ดี แต่ในส่วนถัดไปเราจะมาดูวิธีลดความ ‘ไม่แน่นอน’ จากปัจจัยมนุษย์ในการให้คะแนนกันอีกที

ตัวอย่างการวิเคราะห์ SWOT เชิงปริมาณ

ร้านกาแฟร้านหนึ่งแถวอโศกอาจจะลองวิเคราะห์ SWOT ของตัวเอง หากเป็นการวิเคราะห์เชิงคุณภาพแบบคร่าวก็จะออกมาแบบนี้

การวิเคราะห์ SWOT - Strength (จุดแข็ง) Weakness (จุดอ่อน) Opportunity (โอกาส) Threat (อุปสรรค)

แต่ถ้าเราจับการวิเคราะห์แบบ SWOT ทั่วไปมาทำให้เป็นเชิงปริมาณ เราก็จะได้แบบนี้

วิธีการวิเคราะห์ SWOT เชิงปริมาณ [Quantitative SWOT]

หมายเหตุ วิธีนี้ผมได้รับไอเดียมาจากเว็บ MGRush ครับ ซึ่งอาจจะคล้ายวิธีวิเคราะห์ที่คนเรียกว่า TOWS (การจัด ‘จุดแข็งจุดอ่อน’ มาชนกับ ‘โอกาสอุปสรรค’ เพื่อหากลยุทธ์ที่เหมาะสม) แต่วิธีตามตารางด้านบนจะให้ตัวเลขที่ชัดเจนมากกว่า

จากการวิเคราะห์ด้านบนเราจะเห็นได้ว่า คู่แข่ง แทรนด์กาแฟ รสชาติ และ ทำเล เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในธุรกิจของเรา ส่วนสิ่งที่เราควรจะโฟกัสก็คือ 

  • รสชาติ-คู่แข่ง
  • รสชาติ-แทรนด์กาแฟ
  • บริการ-คู่แข่ง
  • การตลาด-คู่แข่ง
  • แบรนด์-คู่แข่ง
  • แบรนด์-เศรษกิจไม่ดี

พอเราทำมาถึงตรงนี้ ตัวเลขก็จะเริ่มหมดหน้าที่แล้ว ต่อไปจะเป็น ‘ศิลป์’ ของการคิดกลยุทธ์แก้ทางมากกว่า

บทสรุปจากการวิเคราะห์ – คู่แข่งเป็นปัจจัยที่น่ากลัวที่สุด เพราะฉะนั้นเราควรรีบสร้างแบรนด์เพื่อสร้างความแตกต่าง โดยที่แบรนด์ของเราต้องโฟกัสที่รสชาติและบริการที่ไม่เหมือนคนอื่น ‘เทรนด์การแฟ x รสชาติ x คู่แข่ง’ น่าจะเป็นสามอย่างที่เราควรหาวิธีผสมผสานให้ดี หากเราจับได้ถูกจุด เราจะสามารถเอาชนะการแข่งขันที่สูงในทำเลนี้ได้

การวิเคราะห์ SWOT เชิงปริมาณ…ด้วยคนหลายคน

การวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือธุรกิจทุกอย่างย่อมมีปัจจัยความผิดพลาดของคน (human error) อยู่แล้ว การวิเคราะห์ SWOT ในเชิงปริมาณสามารถลบปัญหานี้ได้ด้วยการเพิ่มจำนวนคนที่ทำ SWOT และหาค่าเฉลี่ยจากตัวเลข

จากประสบการณ์ของผม หากเราให้พนักงานแต่ละแผนกทำการวิเคราะห์ SWOT เชิงปริมาณแบบด้านบน แล้วนำข้อมูลรวมกันอีกที (อาจจะหารเฉลี่ยตัวเลขที่เหมาะสม เพื่อความง่ายในการวิเคราะห์ตัวเลข) เราก็จะได้ SWOT ที่ค่อนข้างกว้างแล้วครับ แต่หากคุณเป็นคนรวมรวบข้อมูล คุณก็อาจจะต้องให้แต่ละคนเขียนอธิบายหน่อยว่าแต่ละจุดที่ดูสำคัญ (จุดที่มีตัวเลขเยอะ) มีเหตุผลในการให้คะแนนยังไงบ้าง

หลักจากนั้นคุณอาจจะนำไอเดียทั้งหมดมาสรุปเองอีกทีเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เข้าใจง่ายอีกที

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด