ทําไมต้องวิเคราะห์ SWOT – ความสำคัญของ SWOT ที่ควรรู้

ทําไมต้องวิเคราะห์ SWOT - ความสำคัญของ SWOT ที่ควรรู้

เครื่องมือ SWOT Analysis ก็คงเป็นเครื่องมือที่หลายคนคงเคยได้ยินมาอยู่บ้าง จะเรียนหนังสือเราก็ต้องวิเคราะห์ SWOT จะทำงานเราก็ต้องวิเคราะห์ SWOT แต่บางครั้งการใช้เครื่องมือวิเคราะห์เพียงเพราะคนอื่นบอกว่าดี ก็คงไม่พอใช่ไหมครับ หลายคนคงคิดว่าเราวิเคราะห์ SWOT ไปเพื่ออะไรกัน 

ในบทความนี้เราจะมาตอบคำถามกันว่าทำไมเราต้องวิเคราะห์ SWOT และความสำคัญของการวิเคราะห์ SWOT ที่หลายคนอาจคิดไม่ถึงมีอะไรกันบ้าง 

ทําไมต้องวิเคราะห์ SWOT – 5 เหตุผลที่คุณต้องทำ SWOT Analysis (และต้องทำให้ดี)

อย่างที่ทุกคนรู้กัน SWOT ก็คือเครื่องมือในการวิเคราะห์ จุดแข็งจุดอ่อน-โอกาสและอุปสรรค ขององค์กร หรือบุคคล เป็นการจัดโครงสร้างความคิดเตือนให้เราคิดถึงปัจจัยต่างๆได้อย่างถี่ถ้วน ก่อนที่จะเริ่มสร้างกลยุทธ์หรือทำกิจกรรมทางธุรกิจ 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากว่าคนส่วนมากไม่ได้เข้าใจข้อดีหรือวัตถุประสงค์ของการทำประวัตินัก ทำให้หลายคนวิเคราะห์แบบ ‘ขอไปที’ จนไม่สามารถนำข้อมูลจากการวิเคราะห์มาใช้ได้จริง ในส่วนนี้หากใครสนใจจะศึกษาพื้นฐานการวิเคราะห์ SWOT หรือข้อแนะนำที่จะทำให้คุณวิเคราะห์ได้ดีขึ้น ผมแนะนำให้อ่าน คู่มือการวิเคราะห์ SWOT ของผมนะครับ

อธิบายเบื้องหลังการทำ swot มามากพอแล้ว เราไปลองดู 5 เหตุผลที่คุณต้องทำ SWOT Analysis กันดีกว่า

#1 การแสดงปัจจัยธุรกิจที่คุณไม่เคยคิดมาก่อน

เป็นที่รู้กันนะครับว่าหากเราอยากจะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เราก็ต้องใส่ใจในการตัดสินใจแต่ละอย่าง ในแต่ละวัน เพราะการตัดสินใจที่ดีจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีตามมา อย่างไรก็ตาม เราก็คงไม่สามารถตัดสินใจให้ดีได้ หากเราไม่คำนึงถึงปัจจัยต่างๆเกี่ยวกับธุรกิจให้ถี่ถ้วน

ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งเราก็คิดถึงคู่แข่งมากเกินไป จนลืมพิจารณาถึงลูกค้าของเรา หรือบางครั้งเราก็สนใจแต่ความต้องการของลูกค้า จนลืมคิดถึงค่าใช้จ่ายและความต้องการของพนักงานในบริษัท ปัญหาพวกนี้ถึงแม้ว่าจะฟังดูแก้ไขได้ง่าย แต่ส่วนมากแล้วสิ่งที่หลายธุรกิจค้นพบก็คือ ‘เส้นผมบังภูเขา’ ยิ่งเราจดจ่อกับปัญหาด้านหน้ามากเท่าไหร่ โอกาสที่เราจะลืมคำนึงถึงปัจจัยอื่นก็มีมากขึ้นเท่านั้น

นั่นก็เป็นเหตุผลให้การวิเคราะห์ SWOT นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะ SWOT จะบังคับให้เราคำนึงถึงปัจจัยต่างๆรอบตัวธุรกิจ เช่นปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอก ปัจจัยที่สนับสนุนเรา และปัจจัยที่ทำให้แย่ลง ถึงแม้ว่าจะไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งที่ทำให้เรา ‘ตรัสรู้’ มองเห็นปัจจัยทุกอย่างอย่างชัดเจนตั้งแต่วินาทีแรก แต่การทำ SWOT ก็ช่วยลดโอกาสที่คุณจะลืมคำนึงถึงปัญหาบางอย่างที่ขัดขวางโอกาสทางธุรกิจของคุณได้แน่ๆ

#2 การคาดเดาอนาคต เพื่อหาโอกาสและป้องกันอุปสรรค 

ความไม่แน่นอนก็คือความท้าทายที่สุดของการทำธุรกิจ เราไม่รู้ว่าผู้บริโภคจะทำอะไร เราไม่รู้ว่าคู่แข่งจะทำอะไร และเราก็ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะไปในทิศทางไหน เพราะฉะนั้นการมีเครื่องมือที่สามารถทำให้เรามองเห็นปัจจัยเกี่ยวกับอนาคตได้บ้างก็เป็นเรื่องดี

เจ้าของธุรกิจหลายคนให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จนลืมคำนึงว่าเป้าหมายของธุรกิจจริงๆแล้วคือ ‘การอยู่รอดระยะยาว’ ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจ SME ขนาดเล็ก ส่วนมากต้องปิดตัวไปใน 3-5 ปีแรกอย่างน่าเสียดาย

แน่นอนว่า ‘ภัยของการไม่รู้อนาคต’ ก็ทำพิษกับบริษัทใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน บริษัทแท็กซี่ แพ้ Uber บริษัทมือถือสมัยก่อน ก็แพ้ Apple ขนาดบริษัทน้ำมัน บริษัทลงทุน ยังต้องหวั่นกับปัจจัยอนาคตหลายอย่างที่คาดเดาไม่ได้เลย

#3 จัดลำดับความสำคัญ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ข้อนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่หลายคนยังทำผิดกันอยู่ระหว่างการทำ SWOT เพราะหน้าที่ของ SWOT ไม่ได้จบเพียงแค่การรู้ว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง แต่สิ่งทีเราต้องบอกให้ได้ก็คือ ปัจจัยแต่ละอย่างนั้นควรให้ความสำคัญมากแค่ไหน

ยกตัวอย่างง่ายๆก็คือการเลือกช่องทางการตลาด สมมุติคุณรู้แล้วว่าคุณอยากจะเพิ่มช่องทางการตลาด และคนก็รู้แล้วว่าช่องทางต่างๆที่คุณน่าจะทำได้มีอะไรบ้าง เช่น Facebook Google Instagram Twitter คำถามก็คือคุณมีทรัพยากรและเวลามากพอที่จะทำทุกอย่างพร้อมกันหรือเปล่า 

ตราบใดที่คำตอบของคุณคือไม่ คุณก็จำเป็นที่จะต้องเลือกว่าอะไรสำคัญที่สุด ในรูปแบบเดียวกัน จุดแข็งจุดอ่อนโอกาสอุปสรรคแต่ละอย่างใน SWOT ก็ควรถูกจัคค่าว่า ‘น่าตอบสนองมากแค่ไหน’ 

ในส่วนนี้ผมแนะนำให้ทุกคนอ่าน การวิเคราะห์ SWOT เชิงปริมาณ (Quantitative SWOT) ของผมนะครับ ถึงแม้ชื่อจะเหมือนกับว่ายุ่งยาก มีการคำนวณเยอะ แต่จริงๆแล้วทำได้ง่ายมากครับ

#4 สร้างกลยุทธ์ ที่เหมาะสมที่สุด 

อีกหนึ่งปัญหาที่เรามักเห็นสำหรับคนที่ทำ SWOT ก็คือวิเคราะห์ออกมาแล้วแต่ไม่มี ‘ขั้นตอนต่อไป’

ปัญหาในส่วนนี้ก็เหมือนกับคำพังเพยสมัยก่อนที่ว่า ‘ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด’ ครับ แปลว่าเราใช้เวลาในการวิเคราะห์ SWOT ทำการเขียนปัจจัยต่างๆออกมาอย่างเรียบร้อย ละเอียดลงลึก แต่กลับลืมนำข้อมูลนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์จริง

หาคุณวิเคราะห์ออกมาว่าผลิตภัณฑ์ขององค์กรมีคุณภาพดีกว่าคู่แข่ง แต่ราคาก็แพงกว่า คำถามก็คือสิ่งที่คุณควรจะทำต่อไปคืออะไร ในส่วนนี้ถึงแม้ว่า SWOT จะไม่สามารถช่วยคุณตอบโจทย์ได้ทันที แต่การวิเคราะห์กลยุทธ์ต่อยอดมาจาก SWOT ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ เหมือนคุณเข้าห้องน้ำแล้วคุณไม่ล้างมือ นับว่าผิดมารยาทการวิเคราะห์ธุรกิจ

ในส่วนนี้หากคุณคิดว่าคุณยังไม่ค่อยเก่งเรื่องการสร้างกลยุทธ์ ก็อาจจะลองพิจารณาจากการวิเคราะห์ TOWS Analysis ซึ่งเป็นเครื่องมือแนะแนวทางง่ายๆที่จะช่วยให้คุณสร้างกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ SWOT ของคุณได้

ข้อแนะนำนี้ไม่ได้จำกัดแค่สำหรับคนวิเคราะห์ SWOT ธุรกิจนะครับ หลายคนใช้ SWOT เพื่อวิเคราะห์ตัวเอง ในส่วนนี้คุณรู้ตัวเองแล้ว แต่คุณรู้หรือเปล่าว่าคุณควรจะทำยังไงต่อไปให้ดีขึ้น

#5 SWOT เป็นกระบวนการที่ทำซ้ำได้เรื่อยๆ 

ในโลกของธุรกิจ อะไรที่ทำแล้วดีก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เราควรเก็บเกี่ยว รีบทำรีบหาประโยชน์ สิ่งที่นักธุรกิจระดับชั้นนำของโลกให้ความสำคัญมากกว่าก็คือสิ่งที่สามารถทำซ้ำได้ 

หากคุณเป็นคนที่ทำ SWOT เพื่อการวิเคราะห์ธุรกิจอย่างแท้จริง คุณก็จำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ SWOT อย่างต่อเนื่อง หมายความว่าเราต้องวิเคราะห์ SWOT ทุกปี เพื่อบังคับให้เราพิจารณาปัจจัยต่างๆได้อย่างถี่ถ้วนทุกปี (เพราะคงไม่มีใครสร้างกลยุทธ์ทีเดียว แล้วก็ไม่กลับมาคิดวิเคราะห์ผลประกอบการภายหลัง ใช่ไหมครับ)

นอกจากคุณจะสามารถใช้ SWOT ทำซ้ำได้ทุกปีเพื่อเปรียบเทียบแล้ว คุณยังสามารถทำ SWOT กับหลายแผนก และกลับพนักงานหลายตำแหน่ง ซึ่งควรจะมั่นใจได้เลยว่าข้อมูลความคิดเห็นที่ได้จากแผนกอื่น ตำแหน่งอื่นนี้จะต้องแตกต่างกับความคิดเห็นของคุณแน่นอน หลังจากนั้นก็จะเป็นแค่เรื่องของการตอบคำถามว่าคุณเปิดใจรับความคิดเห็นของพนักงานคนอื่นในองค์กรได้มากแค่ไหน

สุดท้ายนี้เกี่ยวกับความสำคัญของการทำ SWOT Analysis

บทความนี้ผมตั้งใจเขียนให้เป็นบทความสั้นๆ เพราะเห็นว่าหลายๆคนที่อ่านบทความ SWOT หลักของผมน่าจะยังสามารถวิเคราะห์ให้ดีกว่านี้ได้อีก 

แน่นอนว่าจุดอ่อนหลักของ SWOT ก็เหมือนกับจุดอ่อนของการสร้างกลยุทธ์ทุกอย่าง ‘สิ่งที่เราวางแผนไว้ ไม่ได้แปลว่าจะทำได้จริงเสมอ’ โดยเฉพาะในองค์กรที่มีปัจจัยมนุษย์และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อยู่เยอะ เพราะฉะนั้นหลักการบริหาร (Leadership and Management) จึงมีความสำคัญมากพอกับหลักการวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning)

อย่าลืมนะครับว่า ปัญหาหลายๆอย่างของธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จ อยู่แค่เพียงว่าธุรกิจไม่รู้ว่าต้องทำอะไร หากมองในมุมมองนี้ ไม่มีเครื่องมือไหนที่จะตอบโจทย์การไม่รู้ได้ดีเท่า SWOT แล้ว เพราะไม่ว่าคำตอบคือการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ หรือจ้างพนักงานใหม่ SWOT ก็ช่วยคุณได้

สุดท้ายนะครับ สำหรับคนที่คิดว่า SWOT เป็นเครื่องมือเด็กๆ มีไว้ให้มือใหม่ใช้กัน ผมก็ขอบอกว่า

กระบี่อยู่ที่ใจ หากเยี่ยมยุทธแล้วไซร้ แค่กิ่งไผ่ก็ไร้เทียมทาน

หากคุณชอบบทความนี้ ผมแนะนำให้ทุกคนอ่านบทความที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะอธิบาย ประวัติของผู้คิดค้น SWOT ใครเป็นคนคิด SWOT –  ประวัติของเครื่องมือสุดโด่งดัง

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด