ปัญหาหลักของธุรกิจก็คือการเพิ่มยอดขายและกำไร ซึ่งหากเราอยากได้ผลประกอบการที่โตอย่างก้าวแระโดด หนึ่งในทางออกก็คือการเพิ่มช่องทางการขายใหม่ เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่อยากเริ่มทำธุรกิจ หรือคนที่มีธุรกิจอยู่แล้ว ผมได้รวมทุกช่องทางการค้าขายมาให้คุณเลือกใช้ได้เลย
โดยบทความนี้ผมจะแบ่งออกมาเป็น ช่องทางค้าขายออฟไลน์ และ ช่องทางค้าขายออนไลน์ นะครับ แน่นอนว่าบางหัวข้อคุณก็น่าจะรู้อยู่แล้ว แต่ผมรับรองว่าบางหัวข้อคุณต้องไม่เคยรู้มาก่อนแน่นอน
20 ช่องทางการค้าขาย ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ช่องทางค้าขายออฟไลน์
#1 ค้าปลีก – การค้าปลีกเป็นวิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุด คุณมีสินค้าคุณก็ขายให้ลูกค้าโดยตรง ค้าปลีกออฟไลน์ส่วนมากคือการเปิดหน้าร้านแล้วก็รอลูกค้าเดินเข้ามา แปลว่าคุณก็ต้องมีทำเลและวิธีทำการตลาด หากมาคิดจริงๆแล้วการค้าปลีกด้วยตัวเองนั้นใช้ทรัพยากรเยอะมาก แต่ข้อดีก็คือคุณจะมีคู่แข่งน้อยกว่าหากคุณติดตลาดแล้วและคุณสามารถเข้าใจความต้องการผู้ใช้งานสินค้าได้ง่ายกว่า
#2 ขายส่ง – สิ่งมาคู่กับการขายปลีกก็คือขายส่ง ขายส่งเป็นเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า โดยถึงแม้เราจะได้กำไรเป็นเปอร์เซ็นต์น้อยกว่า แต่หากดูยอดขายและกำไรที่เป็นก้อนใหญ่มากขึ้น บวกกับการที่ลูกค้าเจ้าใหญ่จะสั่งของซ้ำๆในอนาคต หลายธุรกิจก็รวยจากการขายส่งได้เร็วมากๆเลย
#3 การขายตรง – ถึงแม้ว่าขายตรงอาจจะเป็นคำที่หลายคนรู้สึกไม่ดีด้วย แต่จริงๆแล้วบริษัทใหญ่ๆหลายที่ก็รวยจากวิธีการขายแบบนี้ (แถมยังยั่งยืนด้วย) การขายตรงคือการออกแบบระบบที่ทำให้เราสามารถหานักขายได้เยอะ แปลว่าเราจะสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้เยอะเช่นกัน เหมาะกับการขายสินค้าที่ต้องใช้การแสดงวิธีการใช้ แสดงข้อดี หรือใช้คนในการโน้มน้าวลูกค้าเยอะๆ
#4 ส่งออก – หมายถึงการส่งของเราไปขายต่างประเทศ ซึ่งส่วนมากจะเป็นการขายส่งในปริมาณเยอะๆ การส่งออกคือการหาคู่ค้าธุรกิจที่ต่างประเทศ แปลว่าเราต้องเน้นเรื่องการวิ่งเข้าหาลูกค้าและการสร้างความสัมพันธ์เช่นกัน ข้อเสียก็คือการส่งออกต้องมีเรื่องการเดินเอกสารบ้างและต้องอาจต้องใช้เวลาหาลูกค้าให้ถูกช่องทาง (เช่น การไปออกงานเทรดแฟร์ หรือการลงทุนบินไปหาคู่ค้าเอง)
#5 เข้าห้าง – การขายเข้าห้างก็เป็นฝันของหลายธุรกิจ เพราะเพียงแค่เราเจรจาดีลเสร็จเราก็สามารถเข้าถึงลูกค้าได้หลักล้านคนต่อเดือน (คนเดินห้าง) แต่การเข้าห้างมีข้อเสียเรื่องค่าใช้จ่ายและกฎเกณฑ์ต่างๆของทางห้าง โดยรวมแล้วการเปิดช่องทางนี้ได้ก็ถือว่าดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย แต่เราก็ไม่ควรพึ่งพาห้างใดหรือบริษัทใดมากเกินไป เพราะทำให้การค้าขายมีความเสี่ยงสูงในระยะยาว (เป็นการยืมจมูกคนอื่นหายใจ)
#6 คู่ค้าทางธุรกิจ – หมายถึงการขายสินค้าผ่านผู้ค้าธุรกิจอื่น ซึ่งก็รวมไปถึงการฝากขาย การเช่าที่ หรือการร่วมมือกันสร้างสินค้าใหม่ๆ ส่วนมากแล้วผู้ค้าธุรกิจควรที่จะเป็นบริษัทที่มีขนาดใกล้เคียงกัน หรือสามารถสร้างผลประโยชน์ร่วมกันได้ ยกตัวอย่างเช่นร้านอาหาร 2 ร้านร่วมมือกันทำเมนูพิเศษ
#7 ตลาดนัด – ตลาดนัดนั้นใช้โมเดลเดียวกันกับการค้าขายในห้างเลย หลังจากที่เราเจรจาหาพื้นที่ขายได้แล้ว เราก็สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เดินตลาดนัดได้ โดยข้อดีข้อเสียก็ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มลูกค้าหลักของคุณคือใคร อยู่ที่ไหน และคุณมีงบในการเปิดช่องทางการขายใหม่มากแค่ไหน
#8 แผ่นพับ-แค็ตตาล็อก – หมายถึงการไปจ้างคนอื่นช่วยแจกแผ่นพับ หรือการไปฝากแผ่นพับไว้ตามสถานที่ต่างๆก็ได้ โดยรวมแล้วกระบวนการนี้เหมือนจะเป็นช่องทางการตลาดมากกว่า เพราะคุณก็ต้องมีกระบวนการปิดการขายมาสนับสนุนอีกที เหมาะสำหรับการทดลองสถานที่หรือทำเลใหม่ๆ โดยไม่ต้องลงทุนเยอะ
#9 ขายทางโทรศัพท์ – เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่คนส่วนมากอาจจะไม่ชอบแต่บริษัทขายประกันต่างๆก็พิสูจน์แล้วว่าการโทรหาลูกค้าก็ยังเป็นวิธีการขายที่ดี การขายทางโทรศัพท์เป็นเรื่องของการสร้างระบบ ยิ่งเราหาเบอร์โทรได้เยอะ ยิ่งเราโทรหาลูกค้าได้เยอะ เราก็ยิ่งขายได้ ข้อแม้อย่างเดียวคือเราต้องมั่นใจว่าลูกค้ายินยอมในการรับโทรศัพท์ หมายความว่าเราต้องไปซื้อรายชื่อลูกค้าหรือไม่ก็ต้องเก็บรายชื่อเอง
#10 พนักงานขาย – หมายถึงพนักงานขายที่วิ่งประจำช่องทางหรือทำเลต่างๆ จริงๆพนักงานขายถือว่าเป็นกลุ่มคนที่บริหารยากเพราะมีนิสัยชอบทำอะไรของตัวเอง แต่ก็เหมาะกับการวิ่งเปิดตลาดใหม่ๆหรือทำเลใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่ต้องใช้เวลาในการโน้มน้าวเยอะ
#11 นายหน้า – นายหน้าคือการหาคนที่ช่วยแนะนำลูกค้าให้เรา (หรือแนะนำเราให้ลูกค้า) เรียกว่าเป็นลูกครึ่งระหว่างพนักงานขายและคนช่วยเราทำการตลาดก็ได้ นายหน้าสามารถช่วยเราต่อรองกับลูกค้าได้ แต่มักจะไม่ค่อยได้เข้าร่วมในกระบวนการชำระเงินส่งมอบสินค้า และนายหน้าส่วนมากชอบขายสินค้าที่มีค่าคอมเยอะ เห็นได้บ่อยในวงการอสังหา
#12 พนักงานขายฟรีแลนซ์ – พนักงานขายฟรีแลนซ์ส่วนมากจะมีกลุ่มลูกค้าในมืออยู่แล้ว แต่ก็อยากได้สินค้ามาขายเพิ่มเพื่อต่อยอด เหมาะสำหรับกลุ่มลูกค้าที่เป็นธุรกิจด้วยกัน เช่นพนักงานขายถือลูกค้าผู้รับเหมาเยอะ เลยอยากได้สินค้าพวกอุปกรณ์ก่อสร้างหลายอย่าง
ช่องทางค้าขายออนไลน์
#13 ร้านค้าตัวเอง – หมายถึงการเปิดร้านค้าหรือเว็บไซต์ตัวเองออนไลน์ โดยข้อดีก็คือเราสามารถควบคุมทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาเจ้าอื่น แต่ข้อเสียก็คือเราต้องใช้เวลาและเงินลงทุนบ้างในการเรียกลูกค้าให้เข้ามาดู และในการออกแบบระบบขายของ (จริงก็ทำได้ง่ายให้ลูกค้าดูเว็บไซต์และ แอด LINE เข้ามาซื้อของก็ได้) ยกตัวอย่างเช่น Inwshop, WordPress และ Shopify
#14 ร้านขายของออนไลน์ในประเทศ – หมายถึงการใช้เว็บไซต์ขายของออนไลน์อื่นๆในการขายของ ข้อดีก็คือเราสามารถใช้กลุ่มลูกค้าของเว็บไซต์เหล่านี้ได้เลย แถมเว็บไซต์พวกนี้ก็มีระบบชำระเงินติดตามสินค้าให้เราอยู่แล้วด้วย แต่ก็หมายความว่าเราต้องแข่งกับคู่แข่งเจ้าอื่นๆ และก็ต้องทำตามกฎของเว็บไซต์เหล่านี้ด้วย เช่น Lazada, Shopee, Kaidee
#15 ร้านขายของออนไลน์ต่างประเทศ – มาถึงการใช้ร้านค้าออนไลน์ที่มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นลูกค้าต่างประเทศ โดยรวมแล้วลูกค้ากลุ่มนี้จะมีคู่แข่งน้อยกว่า แถมระบบการขายของก็ดีกว่าด้วย แต่ข้อจำกัดและก็คือเราต้องใช้ภาษาอังกฤษให้เป็น แล้วก็ต้องตั้งใจศึกษาวิธีการขายของต่างประเทศ ซึ่งความรู้ฟรีๆมีอยู่น้อย ตัวอย่างเช่น Ebay, Amazon, Etsy
#16 Social Media – หมายถึงการใช้เว็บไซต์โซเชียลมีเดียเพื่อขายของ ตัวอย่างที่เราเห็นได้บ่อยๆก็คือ Facebook และ Instagram ข้อดีก็คือมีกลุ่มลูกค้าเยอะ แต่เราก็ต้องทำตามกฎเกณฑ์ของบริษัทเหล่านี้ และโดยรวมแล้วระบบชำระเงินระบบติดตามสินค้าก็ไม่ได้ดีเท่าพวกเว็บไซต์ขายของออนไลน์เฉพาะทาง ซึ่งตัวเลือกการขายของผ่าน Social media ก็มีเยอะมาก เช่น Facebook ตัวเอง, Facebook Page, Facebook Group, Market Place เป็นต้น
#17 Google – หมายถึงการใช้กลุ่มลูกค้าที่ใช้งาน google เพื่อขายของ ส่วนมากก็คือการทำเว็บไซต์ให้จัดอันดับได้ดีๆบน google เช่นการทำ SEO หรือการซื้อโฆษณา แน่นอนว่าเราก็ต้องทำตามกฎเกณฑ์ของ google แล้วก็ต้องแข่งขันกับคู่แข่งเจ้าอื่นๆด้วยเช่นกัน
#18 YouTube – YouTube เป็นช่องทางการพูดคุยกับลูกค้าสมัยใหม่ที่ดีมาก เพราะลูกค้าในยุคนี้ชอบการพูดคุยกับคน มากกว่าผ่านเว็บไซต์หรือเพจต่างๆ (ดูน่าเชื่อถือมากกว่า) ที่สำคัญก็คือ YouTube มีคู่แข่งน้อยและก็มีกลุ่มลูกค้าใหญ่มาก แต่ปัญหาหลักก็คือการทำวีดีโอนั้นทำได้ยาก
#19 SMS – จริงๆแล้ว SMS เป็นช่องทางพูดคุยกับลูกค้าที่ดี เหมาะที่จะใช้เพื่อส่งเสริมช่องทางการขายที่มีอยู่แล้ว ค่าใช้จ่ายในการส่ง SMS สำหรับธุรกิจนั้นคิดเป็นหลักสตางค์ หากเทียบกับค่าโฆษณาผ่านช่องทางอื่นๆนั้นถือว่าถูกกว่ามาก
#20 LINE OA/Email – เป็นช่องทางในการติดต่อพูดคุยกับลูกค้าที่คนไทยนิยม เหมาะสำหรับการปิดการขาย เพียงแต่ว่าต้องหาวิธีทำให้ลูกค้าแอด Line หรือให้อีเมลเข้ามา คนไทยส่วนมากใช้ Line กันอยู่แล้ว ส่วนอีเมลก็เป็นช่องทางเป็นลูกค้าที่ทำงานเหมือนกันเลย เพียงแต่เป็นวิธีที่ต่างประเทศนิยมใช้มากกว่า
ในบทความนี้ผมได้แนะนำช่องทางในการค้าขายกับลูกค้าหลายวิธี อย่างไรก็ตามเราก็ต้องพิจารณาเรื่องของการเข้าถึงลูกค้า (การตลาด) และการพัฒนากระบวนการขายของเราด้วย (เช่น การพูดโน้มน้าว หรือการออกแบบระบบให้ลูกค้าซื้อของได้เร็วขึ้น)
สุดท้ายนี้ หากคุณยังสงสัยเรื่องของการเลือกช่องทางการค้าขายที่ดีที่สุดอยู่ ผมก็แนะนำให้ลองศึกษาคู่มือหลักการขายและการตลาดพื้นฐานก่อน เช่นกันเริ่มจากสินค้าที่เราอยากขายและกลุ่มลูกค้าที่น่าจะชอบสินค้าเรา หากเราสามารถตอบโจทย์สองอย่างนี้ได้ การเลือกช่องทางการขายก็จะง่ายมากขึ้น
ผมแนะนำให้อ่านคู่มือเรื่อง การเลือกกลุ่มลูกค้า และ บทความขายอะไรดี