ขายของใน Shopee ดีไหม? 7 ข้อดีที่คุณต้องรู้ก่อนเริ่ม

ขายของใน Shopee ดีไหม? 7 ข้อดีที่คุณต้องรู้ก่อนเริ่ม

การขายของใน Shopee ยังทำเงินให้กับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้เรื่อยๆ หากจะให้ผมสรุปสั้นๆ ผมก็จะบอกว่าเริ่มขายของบน Shopee ก็ไม่ได้เสียหายอะไร อย่างน้อยที่สุดก็เป็นช่องทางการหาเงินง่ายๆที่เราสามารถทำได้ทันที…แถมเริ่มได้ฟรีด้วย แต่จริงๆแล้วข้อดีของการทำ Shopee นั้นมีมากกว่านั้น

ในบทความนี้ผมมี 7 ข้อดีเฉพาะแต่ละสถานการณ์ ที่ทำให้ Shopee เป็นตัวช่วยคุณขายของออนไลน์ได้ดีมากขึ้น ผมแนะนำให้ลองอ่านดูเพื่อปรับวิธีการขายของหรือวิธีการทำธุรกิจให้เหมาะสมนะครับ

7 ข้อดีที่คุณต้องรู้ก่อนเริ่มขายใน Shopee

#1 เปิดร้านบน Shopee ได้ด้วยมือถือเครื่องเดียว

สาเหตุแรกที่หลายๆคนรักใน Shopee ก็เพราะว่าเราสามารถเริ่มเปิดร้านบน Shopee ได้ง่ายดายมาก กดเพียงไม่กี่ปุ่มก็สามารถเปิดร้านได้แล้ว แถมยังสามารถทำได้บนมือถือด้วย พูดง่ายๆก็คือแค่คุณมีเวลาว่างไม่กี่ชั่วโมงคุณก็เปิดร้านได้แล้ว (ซึ่งแตกต่างกับคู่แข่งอย่าง Lazada ที่ไม่รู้ทำไมออกแบบมาให้ใช้ยากอย่างนี้)

อย่างไรก็ตาม ข้อแนะนำที่ทุกคนห้ามลืมก็ลืมคือ ‘การแต่งรูปเพื่อการขาย’ ที่แม้แต่ในสมัยนี้ก็ยังทำได้ยากเพียงแค่บนมือถือเครื่องเดียวอยู่ดี สำหรับมือใหม่ที่หัดเริ่มเปิดร้านหรือหัดออกแบบรูปต่างๆ ผมแนะนำให้ลองศึกษาเกี่ยวกับ Application (และเว็บไซต์) Canva.com ดู ใช้ง่ายและฟรีไม่แพ้กันเลย (ลองดูคู่มือการทำบน Canva ของผมก็ได้)

#2 Shopee เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีเวลาหาลูกค้าเอง

นอกจากเรื่องความง่ายในการเปิดร้านแล้ว Shopee ยังง่ายต่อการให้ลูกค้าสามารถหาร้านคุณเจอด้วย เพราะทาง Shopee อัดงบการตลาดเยอะมากเพื่อให้ผู้ใช้งานกลับมาเข้ามาซื้อของบ่อย ผมหมายถึงการอัดงบการตลาดแบบพันล้านบาทต่อปีนะครับ ซึ่งจากข่าวสารต่างๆบอกว่า Shopee มีผู้ใช้งานมากกว่า 30-40 ล้านคนแล้ว (ครึ่งประเทศไทย)

แต่…สิ่งที่คุณต้องรู้และหาวิธีหลบหลีกก็คือเรื่องของคู่แข่ง เพราะอะไรที่ได้มาง่ายๆคนอื่นก็อยากจะได้ด้วย ในกรณีของ Shopee เราต้องรู้จักการตั้งชื่อสินค้าและคำอธิบายสินค้าให้คนค้นหาได้ง่าย (เรียกว่า SEO) นอกจากนั้นเราต้องขยันโพสสินค้าบ่อยๆ Shopee จะได้มองว่าเราเป็นร้านค้าน่าสนใจ เป็นการเพิ่มการเข้าถึงอย่างหนึ่ง (แถมยิ่งสินค้าเยอะ โอกาสขายได้ก็มีเยอะ)

#3 Shopee เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีงบหาลูกค้าเอง

อีกหนึ่งคำถามที่เราต้องเปรียบเทียบก็คือ ถ้าเราไม่ขายบน Shopee แล้วเราจะไปขายที่ไหนได้อีก สำหรับคนส่วนมากทางออกก็มีแค่การเปิดเพจ Facebook Instagram แล้วก็ยิงแอด (หรือใครเก่งหน่อยก็ทำเว็บไซต์ตัวเอง… แล้วก็ยิงแอด)

ในยุคนี้ หากคุณอยากจะขายของออนไลน์ผ่านโฆษณา Facebook คุณต้องรู้อยู่สองอย่างก็คือ 1) ถึงแม้ว่าคุณจะลงค่าโฆษณาวันละหลักร้อยได้ แต่กว่าคุณจะทำโฆษณาเก่งและขายได้จริงก็ต้องใช้เงินในการลองผิดลองถูกหลักหมื่นอยู่ดี และ 2) เนื่องจากว่าค่าโฆษณาสมัยนี้แพงมาก การขายของถูกกว่า 300 บาทอาจจะไม่กำไรบน Facebook

อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้คุณทำบน Facebook นะครับ ในความเป็นจริงแล้วคุณควรจะเริ่มบน Shopee ไปก่อนจนสามารถหาลูกค้าได้บ้างและมีเงินหมุน และคุณก็ต้องนำเงินหมดเหล่านี้มาเปิดช่องทางอื่นๆ (เช่น Facebook) เพื่อลดความเสี่ยงอยู่ดี

#4 Shopee เหมาะสำหรับสินค้าที่มีคนต้องการอยู่แล้ว 

ข้อนี้เป็นเหมือนข้อจำกัดแล้วก็ข้อดีในส่วนเดียวกัน หากคุณกำลังขายของที่คนต้องการอยู่แล้ว ค้นหาอยู่แล้ว คุณก็จะขายได้ง่ายขึ้น…แต่สินค้าที่มีคนต้องการหมายความว่ายังไงกัน?

ผมหมายความว่าคุณต้องขายของที่มีคนค้นหาใน ‘ช่องค้นหาของ Shopee’ (Search Bar) เพราะในฐานะคนที่เปิดร้านใหม่ ถ้าอยู่ดีๆคุณไปโพสขายอะไรแปลกแหวกแนวไปเลย Shopee ก็ไม่ได้มีช่องทางในการให้ลูกค้าเข้าถึงคุณได้…ในกรณีนี้ ผมแนะนำให้ตั้งราคาแพงและไปลองยิงแอดใน Facebook เลยจะดีกว่า

โดยรวมแล้วสินค้าของคนส่วนมากก็จะมีคนค้นหาอยู่แล้ว แต่สินค้าบางประเภทเช่น แก็ดเจ็ตใหม่ๆ อุปกรณ์ทำครัวตลกๆ ก็อาจจะขายยากหน่อย (สินค้าที่แบบดูแปลกมากจนคนเห็นแล้วต้องหยุดดู แต่ว่าจะไม่มีคนค้นหา)

#5 Shopee เหมาะสำหรับคนที่ทำหน้าร้านออนไลน์ไม่เป็น 

ในฐานะที่ผมทำงานบริษัทต่างประเทศด้านขายของออนไลน์ (ecommerce) มาหลายที่แล้ว ผมบอกได้เลยว่าถึงแม้เราจะสามารถเปิดร้านบน Shopee ได้ง่าย และ ถึงแม้ Shopee จะหาลูกค้าให้เราได้จริง แต่การขายของออนไลน์โดยการพึ่งพาบริษัทอื่นนั้นก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ดี

อาจารย์ที่สอนบริหารธุรกิจของผมเรียกกรณีนี้ว่า ‘การยืมจมูกคนอื่นหายใจ’ หาก Shopee อยากจะเปลี่ยนกฎหรืออยากเก็บเงินเพิ่ม เราก็ไม่มีตัวเลือกอื่นนอกจาก Lazada แล้ว

เพราะฉะนั้นผมถึงได้บอกว่าในระยะสั้นถ้าคุณกำลังเริ่มขายของออนไลน์ใหม่ๆ Shopee เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคุณแล้ว อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ควรพึ่งพาช่องทางไหนมากเกินความจำเป็น เพราะสุดท้ายหากคุณอยากจะสร้างรายได้จากการขายของออนไลน์จริงๆ คุณก็คงอยากจะให้รายได้นี้อยู่กับตัวคุณในระยะยาว 

#6 Shopee เหมาะสำหรับคนขี้เกียจออกไปส่งของ 

ส่วนนี้เป็นอีกหนึ่งข้อดีที่หลายคนอาจจะลืมนึกกัน เพราะเราสามารถเรียกรถ Shopee Express มารับของที่หน้าบ้านเราได้ หรือถ้าเราทำงานประจำไปด้วย เราก็นัดรถให้มารับหน้าที่ทำงานได้ด้วย เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีเวลามากๆ

แต่ไม่ใช่กับแค่คนที่ทำงานประจำแล้วอยากขายของออนไลน์นอกเวลานะครับ ร้านค้าออนไลน์ใหญ่ๆหลายๆร้านก็ชอบ Shopee ก็เพราะแบบนี้ บางร้านไม่ยอมรับออเดอร์นอก Shopee ด้วยซ้ำ เพราะขี้เกียจออกไปส่งเองที่ไปรษณีย์หรือเคอรี่ (ผมเคยโดนบอกให้ไปซื้อบน Shopee ของร้านแทน 555)

หากคุณเป็นคนที่เปิดร้านขายของออนไลน์บนช่องทางอื่นอยู่แล้ว (Facebook หรือ LINE ON) คุณอาจจะใช้ช่องทางเหล่านี้เป็นการพูดคุยกับลูกค้าอย่างเดียว แล้วค่อยบอกให้ลูกค้าไปซื้อในร้านของคุณบน Shopee ก็ได้ (สามารถลดโต้แย้งเรื่องความน่าเชื่อถือและกลัวโดนโกงลูกค้าได้ด้วย) 

#7 Shopee ทำให้คุณสร้างระบบได้ง่าย

เรื่องสุดท้ายที่ผมต้องชม Shopee เลยก็คือเรื่องของระบบหลังบ้าน ไม่การพูดคุยกับลูกค้า การแจ้งเตือน หรือการจัดออเดอร์ ที่ทำให้คุณบริหารงานได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าคุณจะขายแค่ตัวคุณเองหรือว่าจะมีทีมงานช่วยขายก็สามารถบริหารงานกันได้ง่ายมาก

คนที่ขายของออนไลน์ไปสักพักก็จะรู้ดีว่าการนั่งจดออเดอร์ จดข้อมูลลูกค้าแต่ละครั้งนั้นยุ่งยากมาก  หากเราทำออเดอร์ตกหรือว่าลืมส่งไปหนึ่งที ลูกค้าอาจจะบ่น ทำให้เกิดปัญหาตามมาเยอะ ผมไม่ได้พูดให้ทุกคนกลัวจนไม่กล้าเริ่มขายของนะครับ แต่แค่อยากจะเน้นเรื่องความสำคัญของการสร้างระบบ โดยเฉพาะหากคุณมีสินค้าหลายชนิด เริ่มขายได้ประมาณ 10 ออเดอร์ต่อวัน

แน่นอนครับ ถึงแม้ว่า Shopee จะช่วยให้ชีวิตคุณสะดวกแค่ไหน คุณก็ไม่ควรพึ่งพาระบบเหล่านี้มากเกินไป พอคุณโตไประดับหนึ่งแล้ว ผมก็แนะนำให้จ้างคนมาคอยดูข้อมูลเหล่านี้อีกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องข้อมูลด้านเงินทอง (เพราะขนาดธนาคารเจ้าดังยังเคยทำข้อมูลใน Statement การเงินออนไลน์ผมหายได้เลย Shopee คงไม่เหลือเหมือนกัน)

อย่างไรก็ตามนี่ก็เป็นเพียงแค่ 7 สิ่งที่คุณต้องรู้ก่อนเปิดร้านใน Shopee แต่สำหรับคนที่จริงจังอยากจะเริ่มขายของ ผมก็มีบทความเพิ่มเติมให้ลองศึกษาดังนี้นะครับ 

5 สิ่งที่ควรรู้สำหรับคนที่เริ่มขายของวันแรก
5 วิธีแก้ปัญหา ขายของไม่ออก ในแต่ละสถานการณ์
ขายของแต่โดนตัดราคาทำอย่างไรดี? ต้องตัดราคาแข่งหรือเปล่า?

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด