4 ข้อเข้าใจผิดด้าน SEO ที่นักการตลาดออนไลน์ควรเลิกทำ

4 ข้อเข้าใจผิดด้าน SEO ที่นักการตลาดออนไลน์ควรเลิกทำ

ในบทความนี้จะมาพูดเรื่องวิธีการทำ SEO ที่มีการสอนกันมาเยอะ ซึ่งผมก็เคยทำมาก่อน ใช้เวลากับสิ่งเหล่านี้เยอะมาก แต่สุดท้ายพอผมเลิกทำ ผมก็ค้นพบว่าเครื่องมือและวิธีทำเหล่านี้ ไม่ได้กระทบต่อ SEO ผมเลย จะเรียกว่าเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ก็ได้

และในตอนจบของบทความ ผมจะบอกอีกทีว่าสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญมากกว่าสำหรับการทำ SEO คืออะไร และทำไมผมถึงอยากให้ทุกคนใส่ใจกับสิ่งนี้มากกว่าพวกเครื่องมือหรือว่าวิธีการอื่นๆที่ผมเลิกทำไปแล้วทั้งหมดเลย

4 ข้อเข้าใจผิดด้าน SEO ที่นักการตลาดออนไลน์ควรเลิกทำ

#1 Yoast SEO (WordPress Plugin)

Yoast SEO คือเครื่องมือเสริมของ WordPress ที่นักการตลาดหลายคน ‘พึ่งพา’ เพื่อดูว่าตัวเองปรับหน้าเว็บไซต์ได้ ‘ตามหลัก SEO’ มากแค่ไหน

ซึ่งปัจจัยหลักของ Yoast ก็ได้แค่ Outbound Link, Inbound Link, Key phrase Length, Meta Description Length, และ Text Length เป็นต้น

จริงๆแล้วหากเราเป็นมือใหม่ที่ไม่รู้เรื่อง SEO เลย การทำที่ Yoast แนะนำก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้แย่เท่าไร เพราะอย่างน้อยเราก็จะได้มีทิศทางและมี checklist เราจะได้ไม่พลาดอะไรง่ายๆ แต่หากคุณทำ SEO มาซักพัก ปรับหน้าเว็บไซต์เป็นแล้ว คุณก็จะรู้ว่าคำแนะนำบางอย่างนั้นไม่ได้สำคัญมากขนาดนั้น

ผมเป็นนักการตลาดสายการสร้างคอนเทนต์ และ ผมคิดว่า ‘เนื้อหาที่ดี’ นั้นสำคัญกว่าปัจจัยหลายๆอย่างที่ Yoast แนะนำ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าเศร้ามากเพราะบางทีเราปรับตาม Yoast มากเกินไปจนเนื้อหาจริงๆของเราบนหน้าเว็บไซต์กลายเป็นผิดเพี้ยนได้

#2 Keyword Density

Keyword Density หมายถึงจำนวน Keyword ที่เรามีบนเว็บไซต์ ปกตินัก SEO ทั่วไปจะแนะนำว่าเราควรมี Keyword อยู่ประมาณ 2-3% ของจำนวณคำทั้งหมดในหน้านั้นๆ หากหน้าเว็บไซต์เราทำเรื่อง การซื้อรองเท้าผ้าใบ ซึ่งเราเขียนไป 1000 คำ เราก็ต้องมีคำว่า การซื้อรองเท้าผ้าใบอยู่ 20-30 คำ

การมีจำนวน keyword ไว้ในใจก็ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากว่าการทำ SEO ในสมัยนี้เปลี่ยนไปเยอะมาก ทำให้การดูแต่ปริมาณ keyword นั้นมีข้อเสียอยู่สองอย่าง

อย่างแรกก็คือเรื่องของ Keyword Stuffing ซึ่งหากเรามัวแต่ดูปริมาณ keywords โดยไม่สนใจเนื้อหา เราก็อาจจะพยายามยัดคำมากเกินไปจนคนอ่านไม่รู้เรื่อง ซึ่ง Google จะเริ่มจริงจังกับการทำ SEO แบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างที่สองคือเรื่องของ Semantic Keywords แปลตรงตัวก็คือ ‘คำเหมือน’ แปลว่า Google สามารถเข้าใจได้ว่าคำบางประเภทมีความหมายเหมือนกัน อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน โดยไม่ต้องสะกดเหมือนกันก็ได้ แน่นอนว่า Semantic Keywords นั้นเปลี่ยนวิธีการคิด Keyword Density อย่างแน่นอน

เราไม่จำเป็นต้องเลือกคำว่า หมาก็ได้ เพราะ Google สามารถเข้าใจคำว่า สุนัข หรือ โกเด้นรีทรีฟเวอร์ ว่าเป็นหมวดหมู่เดียวกัน

#3 การสร้าง Social Signal

อันนี้หมายถึงการที่เราทำบทความเราเสร็จแล้ว เราเอาไปแชร์ลง Social Media อย่าง Facebook Twitter… เพื่อเป้าหมายว่าจะทำให้มีการจัดอันดับที่ดีขึ้น 

ในปี 2014 Matt Cutts จาก Google บอกว่า Social Signal อย่างจำนวน Like และ ผู้ติดตาม ซึ่งควรจะเป็นสัญญาณของความน่าเชื่อถือและเชี่ยวชาญไม่ได้กระทบต่อการจัดอันดับ SEO

เอาจริงๆ ส่วนนี้ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับ google นะครับ ปัญหาหลักอยู่ที่ Facebook มากกว่า 

สมมุติว่าถ้าผมทำบทความเสร็จแล้ว เป็นบทความที่ผมปรับมาให้เหมาะกับ SEO …ถ้าผมเอาไปโพสต์ลงไปใน Facebook Page ของธุรกิจ ผมบอกตามตรงครับ ผมแทบจะไม่มีความคาดหวังให้ความนี้มียอดไลค์ ยอดแชร์ เยอะเลย

ในส่วนนี้ถ้าใครคิดต่าง สามารถโพสต์หลักฐานลงไปใน Comment ได้นะครับ ผมอยากศึกษามากๆ แต่จากประสบการณ์ของผมคอนเทนต์ SEO มักจะมีผลประกอบการ์ไม่ดีเท่าไรใน Facebook

อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่าผมมี Content บทความลงไปในเว็บไซต์แล้ว ผมจะเอาไปโปรโมทใน Facebook Page ผมหรือเปล่า ผมก็ยังโปรโมทอยู่ดีครับ แต่เป้าหมายในการโปรโมทจะไม่ใช่ในการดันคนเข้าเว็บไซต์ หรือการทำให้บทความนี้มี Ranking ดีขึ้นในGoogle แล้ว

เป้าหมายของผมคือ ผมจะเอาเนื้อหาในบทความมาทำ minor change อย่างไรได้บ้างเพื่อให้คนอ่านมากขึ้น เพื่อให้มียอดไลค์ ยอดแชร์ เยอะขึ้น เพื่อให้เพจของผมมีผู้ติดตามมากขึ้นมากกว่า

#4 เครื่องมือหา Keywords Tools ต่างๆ

หมายถึงเครื่องมือที่สามารถประเมินตัวเลขให้เราได้ว่า คำค้นหาแต่ละคำ มีคนค้นหาเดือนละเท่าไร น่าทำ SEO มากแค่ไหน

เอาเป็นว่าสำหรับเครื่องมือแบบนี้…เป็นเครื่องมือที่เหมาะถ้าเราอยากจะทำงานให้เป็นระบบ แต่เราก็ต้องยอมรับว่ามีข้อเสียอยู่ 2 อย่าง 

1) เครื่องมือส่วนมากต้องเสียเงิน ซึ่งค่าใช้จ่ายหลักเดือนละหลายพันบาท ผมคิดว่าเครื่องมือพวกนี้ไม่จำเป็นสำหรับมือใหม่เลย ถ้าคุณเป็นมือใหม่ คุณมีกลยุทธ์วิธีทางเลือกอื่นๆได้ง่ายๆโดยไม่ต้องจ่ายตังค์ (ลองดูวิดีโอนี้นะครับ)

2) ถึงแม้ว่าเครื่องมือพวกนี้จะพยายามตีความ Google ก็ออกมาเป็นตัวเลขต่างๆได้ เช่นเว็บไซต์นี้มีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน  keyword นี้มีคนค้นหาเดือนละกี่คน แต่จากที่ผมใช้มา ไม่ค่อยมีเครื่องมือไหนตรงเท่าไหร่เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภาษาไทย

คำค้นหาจากบางเครื่องมืออาจจะบอกผมว่าเดือนนึงมีคนค้นอยู่ 100 คน แต่พอผมจัดอันดับได้จริงๆผมกลับดึงคนเข้าเว็บไซต์ได้เดือนละเป็นหลักพันคน สุดท้ายแล้วการประเมินก็ไม่ได้ตรงตลอดเวลา และอาจจะทำให้เรามองผ่านโอกาสบางอย่าง

สรุปแล้ว ทำ SEO ยังไงดี?

ผมพูดมาขนาดนี้อาจจะมีแต่การพูดด้านลบ เพราะฉะนั้นผมอยากจะแนะนำอะไรที่เป็นด้านบวกบ้าง สุดท้ายนี้สิ่งที่ผมอยากจะให้ทุกคนใส่ใจในการทำ SEO คือ คำว่า Search Intent 

Search Intent หมายถึง เจตจำนงในการค้นหา แปลว่าเราต้องทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งาน Google ใช้คำค้นหาเพื่อทำอะไรกันแน่

สรุปก็คือ เราต้องทำความเข้าใจครับว่าคนที่ใช้งาน Google ที่เราอยากจะดึงเข้ามาในเว็บไซต์ หรือที่เรียกว่าลูกค้าของเราก็ได้ … เขามีนิสัยยังไง มีพฤติกรรมยังไง และที่เขาพิมพ์คำค้นหาไปแต่ละอย่าง เขาคิดยังไงบ้าง 

แน่นอนว่า ถ้าเป็นคำค้นหากว้างๆเลย แบบ ‘จักรยาน’ เราไม่สามารถตีค่าได้ง่ายๆว่าคนที่พิมพ์คำว่าจักรยานอยากจะได้อะไร จะซื้อจักรยาน จะหาภาพจักรยาน หรือจะร้านซ่อมจักรยานหรือเปล่า

แต่ถ้าเป็นคำค้นหาแบบ จักรยานแม่บ้าน จักรยานพับได้ จักรยานเสือภูเขา หรือ วิธีขี่จักรยาน เราก็จะพอเห็นภาพรวมได้มากขี้นแล้วใช่ไหมครับ

สุดท้ายแล้วเราก็ต้องกลับมาทำความเข้าใจพื้นฐานของสิ่งที่เรียกว่าการตลาดออนไลน์ครับ เพราะถ้ามีคำว่า ‘การตลาด’ อยู่ ถึงแม้เครื่องมืออาจจะเปลี่ยนไปเป็น Google หรือ Facebook แต่สุดท้ายหัวใจของการตลาดก็คือ ความต้องการของลูกค้า 

ความต้องการของลูกค้าหรือผู้ใช้งานเนี่ยเหล่ะครับ ก็คือสิ่งที่เรียกว่า Search Intent 

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณบทความนี้จบแล้วคุณยังเห็นต่างอยู่ บอกว่าวิธีนี้มันก็ดีวิธีนั้นมันก็ยังใช้ได้อยู่ เครื่องมือนี้มันก็สุดยอดดีนะ ผมไม่ห้ามเลยครับอยากใช้อะไรทำต่อไปเลย เพียงแต่อยากจะให้เข้าใจว่าเครื่องมือหรือว่าวิธีการต่างๆเนี่ยเป็นสิ่งที่นำมาใช้เพื่อช่วยให้เราทำการตลาดได้ดีขึ้น 

ไม่ใช่เป็นตัวตัดสินทิศทางในการทำการตลาดของเรา 100%

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด