โดนก็อปรูปภาพ-บทความทำอย่างไรดี?

โดนก็อปรูปภาพ-บทความทำอย่างไรดี?

คอนเทนต์ทุกอย่างมีลิขสิทธ์ แต่เราจะทำอย่างเมื่อลิขสิทธ์เหล่านี้ถูกคนอื่นก็อปปี้ไปใช้งาน ในบทความนี้เรามาดูกันว่าหากมีคนนำรูปภาพและบทความของเราไปใช้ เราควรทำอย่างไรได้บ้าง และขั้นตอนป้องกันในอนาคตของเรามีอะไรบ้าง

โดนก็อปรูปภาพ-บทความทำอย่างไรดี

รูปภาพและบทความเป็นของที่มีลิขสิทธิ์ หากเราสามารถหาหลักฐานว่าเราเป็นเจ้าของหรือผู้ผลิตของรูปภาพและบทความได้ เราก็สามารถดำเนินการทางกฏหมายกับผู้ที่นำรูปภาพและบทความไปใช้โดยที่เราไม่ได้ยินยอม

สิ่งแรกที่คุณต้องทำให้ได้ก็คือการหาหลักฐาน หากคุณสามารถพิสูจน์ได้ว่ารูปภาพและบทความที่ถูกลอกไปใช้นั้นมาจากต้นฉบับของคุณ คุณก็สามารถทำหลักฐานเหล่านี้ไปดำเนินการต่อได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ผมแนะนำให้ทำดังนี้

ขั้นตอนดำเนินการผู้ลอกรูปภาพและบทความ

#1 ติดต่อขอให้เปลี่ยนก่อน

ถึงแม้ว่าทุกอย่างจะแก้กันด้วยกฏหมายได้ แต่ในเกือบทุกกรณีเราก็ควรหาวิธีพูดคุยกันแบบดีๆก่อน ในหลายครั้งผู้ที่นำผลงานเราไปใช้อาจจะไม่ได้เข้าใจกฏหมายลิขสิทธิ์อย่างถี่ถ้วนและยินดีที่จะเปลี่ยนตามคำขอของเจ้าของลิขสิทธิ์

พูดง่ายๆก็คือให้ลองติดต่อคนที่ก็อปปี้สินค้าและรูปภาพไปก่อน ในหลายกรณีเราก็สามารถบอกไปตรงๆว่าเราเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเราไม่อนุญาติให้ผู้อื่นนำไปใช้งาน โดยเฉพาะในเชิงพาณิชย์ 

อย่างไรก็ตามในกรณีที่อีกฝ่ายไม่ทำตามที่เราขอ หรือที่แย่ที่สุดก็คือบล็อกเราไปและไม่ติดต่อกลับมาอีก เราก็สามารถดำเนินตามขั้นตอนต่อไปนี้ได้

#2 แจ้งเจ้าของแพลตฟอร์มที่ถูกนำไปใช้

ในโลกออนไลน์นี้ จริงๆแล้วเราไม่จำเป็นต้องพึ่งพากฏหมายและตำรวจก็ได้ คนส่วนมากต้องใช้ช่องทางใดทางหนึ่งในการเผยแพร่ข้อมูล เช่น Facebook YouTube Shopee หรือแม้แต่ Hosting ของเว็บไซต์ตัวเอง (ภาษาทั่วไปก็คือการเช่าพื้นที่คอมคนอื่นเพื่อให้เว็บเราสามารถออนไลน์ได้ 24 ชม)

เว็บไซต์เหล่านี้มีหน้าที่ในการตรวจลิขสิทธิ์อยู่แล้ว (เพราะไม่อยากช่วยโจรขายของ) หากเราสามารถติดต่อเจ้าของเว็บไซต์ได้ ทางเว็บก็จะทำการช่วยลบรูปให้เราเอง และหากคนที่ก็อปปี้ถูกรายงานหลายๆรอบก็อาจจะโดนแบนด์หรือโดยลบบัญชีได้ ให้ลองดูฟิเจอร์การ ‘รายงานผู้ใช้ (รีพอร์ท)’ ดูนะครับ

สำหรับคนที่นำรูป/บทความของเราไปใช้ในเว็บไซต์ตัวเอง ในกรณีส่วนมากเว็บไซต์เหล่านี้จะมี Hosting Server อยู่ เรียกว่าเป็นการเช่าคอมที่อื่นในการทำให้เว็บไซต์ใช้งานได้ หากเราสามารถติดต่อเจ้าของบริษัทเหล่านี้ เราก็สามารถบังคับปิดเว็บไซต์นี้ได้เลย 

https://who.is/ เป็นเว็บสำหรับดูว่าชื่อโดเมน (www.กขค.com) จนสิทธิในการใช้งานกับเว็บอะไร
https://www.whoishostingthis.com/ เป็นเว็บสำหรับดูว่าเว็บ Hosting อยู่ที่ไหน

ปล. เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่าใครเป็นเจ้าของ แต่เราก็สามารถดำเนินการให้เว็บเหล่านี้ปิดเว็บไซต์ที่ลอกเราไปได้

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์และแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็ไม่ได้มีหน้าที่ในการช่วยเราจับตามองตลอดเวลา (อาจจะทำงานช้า หรือหลุดกระบวนการใดบ้าง) ในทางที่ดีที่สุดก็คือหาวิธีป้องกันไม่ให้คนมาลอกตั้งแต่แรก ซึ่งผมจะอธิบายในส่วนหลังของบทความอีกที

#3 แจ้งความดำเนินคดี

หากขั้นตอนทุกอย่างยังไม่สามารถหยุดการถูกลอกได้ ในส่วนนี้แล้วก็ควรดำเนินการทางกฎหมาย ในการนำหลักฐานทุกอย่างไปคุยกับตำรวจและก็ทนาย

ถึงแม้ว่าการฟ้องร้องจะทำให้คุณสามารถแก้ทางอีกฝ่ายได้ก็จริง แต่การดำเนินคดีนั้นก็ต้องใช้เวลานาน ยกเว้นว่าคุณจะมีเวลาจริงๆผมก็ไม่แนะนำให้ทำวิธีนี้เป็นวิธีแรกๆ 

หมายเหตุ: ผมไม่ใช่ทนายและนี่ก็ไม่ใช่คำแนะนำทางกฎหมายนะครับ หากต้องถึงขั้นการพูดคุยเรื่องกฎหมาย ผมแนะนำลองคุยกับคนที่รู้เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ด้านการออกแบบ

การป้องกันการโดนก็อปรูปภาพ-บทความในอนาคต

รูปภาพ บทความ หรือแม้แต่วีดีโอนั้นถือว่าเป็นสื่อที่หาคุณผลิตแล้วคุณก็มีสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ แต่ในโลกออนไลน์การจะให้ทุกคนเคารพสิทธิ์ของคุณ (และการตรวจสอบคนที่มาลอกเลียนแบบ) ทำได้ยากมาก

เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือหาวิธีป้องกันไม่ให้ content ของเราถูกลอกตั้งแต่ตอนแรก และหาวิธีป้องกันสร้างหลักฐานเยอะๆว่าเราเป็นเจ้าของจริงๆ

โดยวิธีที่คนส่วนมากใช้กันก็มีดังนี้

#1 ใส่หน้าเราไปในรูปภาพเรา

หน้าตาของเราเป็นทรัพย์สินของเรา 100% หมายความว่าหากมีคนอื่นนำรูปภาพของเราไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เราก็สามารถดำเนินคดีได้อย่างแน่นอน ในส่วนนี้ไม่มีข้อถกเถียงอะไรทั้งนั้น 

ผมแนะนำให้คุณพยายามเปลี่ยนมาใช้รูปที่มีนางแบบนายแบบที่คุณถ่ายเอง หรือหากเป็นไปได้ก็ออกมาขายของเองเลย เพราะการทำแบบนี้เราสามารถพิสูจน์ได้ง่ายมากกว่า (ถึงแม้จะครอปรูปมาเหลือแค่แขนขาก็ยังสามารถพิสูจน์ได้)

#2 ใส่โลโก้เราไปในรูปภาพเรา

โลโก้ชื่อแบรนด์ชื่อร้านก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้เราสามารถแยก content เราจากคนอื่นได้ 

ปัญหาที่เราเห็นบ่อยก็คือหากเราไม่นำโลโก้มาวางไว้ตรงกลางภาพสินค้า คนอื่นก็สามารถนำโลโก้ไปตัดออก ไปตกแต่งเพิ่มได้ แต่หากโลโก้มาอยู่ภาพกลางสินค้าจริงๆ ภาพของเราก็จะดูไม่สวย ดูไม่น่าซื้อ

ในส่วนนี้ผมมองว่าเป็นคำแนะนำทางด้านศิลปะการออกแบบและการตกแต่งภาพ ซึ่งเราก็อาจจะทำได้หลายอย่างเช่น การคุมโทนสีเพื่อให้ลูกค้าแยกออกอย่างชัดเจนว่าเป็นภาพจากเราทั้งนั้น หรือแม้แต่การพยายามใส่โลโก้ไปในภาพสินค้า (เหมาะอย่างยิ่งเวลาคุณออกแบบสินค้าด้วยตัวเอง)

#3 ใส่ชื่อแบรนด์หรือชื่อบริษัทไปในบทความ

เวลาทีคนลอกบทความของเราไป บางทีเขาก็อาจจะไม่ได้ตั้งใจดัดแปลงหรือว่าคัดลอกขนาดนั้น ทำให้อาจจะมีการลอกชื่อสินค้าหรือว่าชื่อแบรนด์ของเราตามไปด้วย 

ซึ่งยกเว้นว่าคนที่ลอกจะมีชื่อเหมือนคุณ และขายสินค้าที่มีแบรนด์คล้ายคุณ (ซึ่งหากใช้ชื่อแบรนด์เหมือนกันก็อาจจะดำเนินคดีตามกฎหมายได้เช่นกัน) คุณก็สามารถดำเนินคดีได้เช่นกัน

#4 แคปหน้าจอเก็บไว้เยอะๆ จดวันเวลาไว้ด้วย

สิ่งที่ต้องจำก็คือ content online นั้นเปลี่ยนได้ง่ายมาก สามารถลบรูป เปลี่ยนแปลงแก้ไขบทความได้ตลอดเวลา หากเราสามารถแคปหน้าจอเก็บไว้พร้อมด้วยหลักฐานวันเวลา เราก็สามารถนำหลักฐานเหล่านี้มาดำเนินการต่อได้

ส่วนตัวแล้วผมมองว่าผมพึ่งพอใจกับแค่อีกฝ่ายเอา content ของผมออก เพราะตัวรวมแล้วผมก็ไม่ได้อยากดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ในหลายครั้งที่ถ้าผมพูดดีๆแล้วอีกฝ่ายไม่ทำตาม พอผมตั้งใจจะดำเนินคดีอีกฝ่ายก็ดันลบข้อมูลเก่าทิ้งทันที ซึ่งในส่วนนี้ก็ไม่ทันแล้วเพราะว่าผมได้เก็บหลักฐานไว้ทุกอย่าง

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด