Sunk Cost คืออะไร? ต้นทุนจมที่เราไม่ควรจมปลัก

Sunk Cost คืออะไร? ต้นทุนจมที่เราไม่ควรจมปลัก

ค่าใช้จ่ายทางธุรกิจส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งสิ้น เช่น ค่าผลิต ค่าขนส่ง ค่าที่พัก หรือค่าจ้างเป็นต้น ดังนั้นธุรกิจจึงมักจะติดกับดักที่ว่าต้องลดต้นทุนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย หรือลงทุนอย่างไรเพื่อถอนทุนที่ลงทุนไปแล้วกลับคืนมาให้ได้ ทำให้บ่อยครั้งที่ธุรกิจเสียโอกาสจากการสร้างกำไรในโครงการใหม่ๆ หนึ่งในนั้นเราเรียกว่า ‘ต้นทุนจม’ หรือ Sunk Cost

ในบทความนี้เราจะมาเรียนรู้กันว่าต้นทุนจม (Sunk Cost) เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนธุรกิจให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร

Sunk Cost คืออะไร? (ต้นทุนจม)

Sunk Cost หรือ ต้นทุนจม คือต้นทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หรือเป็นต้นทุนที่มีพันธสัญญาผูกมัดระยะยาว รวมถึงค่าใช้จ่ายทางธุรกิจที่ได้จ่ายไปแล้วในอดีตซึ่งไม่ว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ไม่มีผลต่อการตัดสินใจในอนาคตหรือนำต้นทุนส่วนนั้นกลับมาได้

ธุรกิจคือการลงทุน นั่นหมายถึงต้นทุนที่ธุรกิจต้องจ่ายเพื่อการดำเนินการ โดยทั่วไปแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ

#1 ต้นทุนเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจหรือค่าใช้จ่ายเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าได้ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน๊ต หรือค่าอุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น

#2 ต้นทุนที่ใช้ในการพัฒนาธุรกิจจะเข้าข่ายของการเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักหรือเติบโตตามเป้าหมาย เช่น ค่าใช้จ่ายในการทำโฆษณา งบประมาณในการจัดกิจกรรมทางการตลาด หรือค่าใช้จ่ายในการซื้อสื่อเป็นต้น

ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้ง 2 ประเภทเรียกได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น (ต่อไปนี้เราจะเรียกว่าต้นทุน) เพื่อต้องการให้เกิดรายได้หรือยอดขายของธุรกิจซึ่งยังสามารถแบ่งออกได้เป็น

#1 ต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น ประหยัดค่าขนส่งทางรถยนต์มาเป็นขนส่งทางไปรษณีย์แทน เป็นต้น

#2 ต้นทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ค่าเช่าอาคาร ค่าน้ำ ค่าไฟเป็นต้น

#3 ต้นทุนจม (Sunk Cost) คือต้นทุนที่ใช้จ่ายไปแล้วในอดีตซึ่งไม่มีผลต่อการตัดสินใจในปัจจุบันที่ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นก็ยังคงต้องใช้จ่ายในส่วนนั้นอยู่ดี เช่น ค่าเช่าอาคารที่ติดสัญญา ที่ไม่ว่าจะเกิดโรคโควิด-19 หรือไม่ พนักงานเปลี่ยนไปทำงานจากที่บ้านแทนหรือไม่ ค่าเช่าอาคารที่เราจ่ายเป็นประจำต่อเดือนทุกเดือนก็ยังคงต้องจ่ายต่อไป เป็นต้น

นอกจากนี้เรายังมีเรื่องของ ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่ธุรกิจควรได้แต่ไม่ได้เนื่องจากได้เลือกปฏิบัติหรือดำเนินการในส่วนอื่นไปแล้วอีก เช่น ธุรกิจเลือกที่จะนำเงินไปลงทุนในการผลิตสินค้าแทนที่จะนำไปใช้ในการลงทุนหุ้นทุน แทนจึงทำให้เสียโอกาสในการรับดอกเบี้ยจากเงินปันผลจากการลงทุนเป็นต้น

ตัวอย่างของ Sunk Cost

ตอนนี้เรารู้แล้วว่า Sunk Cost คือต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่กู้หรือเรียกคืนมาไม่ได้แล้วไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามในปัจจุบันหรืออนาคต ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้ Sunk Cost เกิดความคุ้มค่า คุ้มทุน หรือไม่ก่อให้เกิดความเสียดายก็คือการสร้างเงื่อนไขให้เกิด Sunk Cost น้อยที่สุด หรือไม่นำ Sunk Cost ไปเป็นเงื่อนไขในการพิจารณา ผมจะยกตัวอย่าง Sunk Cost ทางธุรกิจกับ Sunk Cost ทั่วๆ ไปให้พอมองเห็นภาพชัดขึ้นสัก 2 – 3 ตัวอย่าง

Sunk Cost เรื่องที่ 1

ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโรงงาน เช่นค่าที่ดิน ค่าอุปกรณ์ก่อสร้าง ส่วนนี้คือ Sunk Cost เพราะไม่ว่าโรงงานจะสร้างจนเสร็จหรือไม่เสร็จเราก็ได้ลงทุนส่วนนี้ไปแล้วซึ่งไม่สามารถเรียกคืนมาได้

ต่อมาเมื่อพบปัญหาจากการก่อสร้างซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้สูงว่าจะทำให้โรงงานสร้างไม่เสร็จก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาว่าจะดันทุรังสร้างต่อโดยที่ยังต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมา เช่น ค่าจ้างคนงาน ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ หรือตัดสินใจหยุดการสร้างเพื่อนำเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนด้านอื่นต่อ

Sunk Cost เรื่องที่ 2

ธุรกิจได้ลงทุนเปิดร้านขายของชำขึ้นมา ส่วนนี้คือ Sunk Cost ต่อมาปรากฎว่ามี 7 – 11 มาเปิดอยู่ใกล้กัน ซึ่งแน่นอนเลยว่าร้านเราเทียบ 7 – 11 ไม่ได้แน่นอน ก็มีทางเลือกให้ตัดสินใจอยู่ 3 ทางคือ

#1 ปิดร้านเพราะเปิดไปก็มีแต่เจ๊ง แถมยังเรียกคืนเงินที่ลงทุนสร้างร้านและลงของขายกลับมาไม่ได้ แล้วหันไปเปิดร้านที่อื่นแทน

#2 หาสินค้าอื่นที่ 7 – 11 ไม่มีขายหรือพัฒนาคุณภาพของสินค้าที่มีขายเหมือน 7 – 11 ให้แตกต่างออกมาเพื่อดึงฐานลูกค้าบางส่วนกลับคืนมา

#3 ปรับรูปแบบของร้านเป็นบริการประเภทอื่นแทน หรือเปลี่ยนเป็นร้านขายอาหารที่ไม่มีขายใน 7 – 11

Sunk Cost เรื่องที่ 3

เราตัดสินใจซื้อรถหรูราคาหลักล้านมาใช้ถือว่าเป็น Sunk Cost ต่อมาราว 4 – 5 ปีเริ่มมีค่าใช้จ่ายจุกจิกตามมาอย่างค่าซ่อมรถ ค่าประกัน หรือค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา พอตัดสินใจจะขายก็เสียตรงที่ราคาขายค่อนข้างต่ำแถมเสียดายค่ารถหลักล้านที่ซื้อมาอีก

แต่พอดันทุรังใช้ต่อก็จะกลับมาพบกับปัญหาเดิมๆ คือค่าซ่อมรถแพง แถมต้องบำรุงรักษารถไปเรื่อยๆ นี่ก็เรียกว่าติดกับดัก Sunk Cost เพราะรักพี่เสียดายน้องเพราะมัวแต่เสียดายค่าซื้อรถที่ซื้อมาครั้งแรกซึ่งถอนทุนอะไรคืนไม่ได้แล้ว

เพราะอะไรจึงไม่ควรนำ Sunk Cost มาใช้ในการตัดสินใจ?

การดำเนินธุรกิจในหลายๆ โครงการคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเกิด Sunk Cost ได้ เพราะเป็นส่วนที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในอดีต และธุรกิจก็ไม่ทราบด้วยว่าสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ธุรกิจจะพิจารณาโครงการในอนาคตต้องไม่นำ Sunk Cost มาพิจารณาร่วมด้วยเพราะอาจเป็นกับดักให้ธุรกิจพลาดโอกาสในการเดินหน้าหาความเติบโตในด้านต่างๆ

เช่น ซื้อทองคำมาราคา 20,000 บาท ต่อมาราคาทองคำตกลงเหลือ 15,000 บาท เงิน 20,000 บาทคือ Sunk Cost ไม่ว่าจะเก็บทองก้อนนั้นไว้หรือจะขายตอนนี้อย่างมากก็ได้เงินคืนแค่ 15,000 บาท คนที่เสียดายเงิน 20,000 บาทไม่ยอมขายอาจกลายเป็นคนที่เสียเปรียบคนที่ยอมขายขาดทุน เอาเงิน 15,000 ไปลงทุนขายของออนไลน์แทนซึ่งเผลอๆ อาจได้เงินกลับมามากกว่า 20,000 บาทเสียอีก

นี่คือตัวอย่างง่ายๆ ของคนที่นำ Sunk Cost มาใช้ในการตัดสินใจซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ไม่คุ้มค่ากับสถานการณ์ปัจจุบันแม้แต่น้อย ดังนั้นถ้าจะให้บอกว่าเพราะอะไรเราถึงไม่ควรนำ Sunk cost มาใช้ในการตัดสินใจด้วยก็ขอตอบว่าเพราะ Sunk cost อาจเป็นสาเหตุให้เสียโอกาสทางธุรกิจในหลายๆ ประการ

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด