ในการขายสินค้า / บริการรูปแบบของธุรกิจที่จดทะเบียน จะต้องมีการบวกภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปด้วย เพราะไม่อย่างนั้นเมื่อมีการทำบัญชีแล้วปรากฏว่าไม่มีการคิดภาษีตัวนี้กับผู้ซื้อ ทางบริษัทก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วยตนเอง ใครที่กำลังวางแผนอยากเปิดธุรกิจเป็นของตนเองเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดผลกำไรที่แท้จริงและสามารถสร้างรายได้ในแบบที่ควรเป็น เรื่องภาษีไม่ได้ยากอย่างที่คิด
ในบทความนี้ ผมจะมีการยกตัวอย่างการคำนวณหลายอย่างนะครับ หากใครอยากคิดเลขตามไปด้วย ผมแนะนำให้เตรียมเครื่องคิดเลขไว้ก่อน สูตรคำนวณไม่ได้กดยาก แต่ถ้าทำตามไปด้วยจะทำให้เห็นภาพมากขึ้น
ภาษีมูลค่าเพิ่ม คืออะไร
VAT (Value Added Tax) หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีอีกหนึ่งประเภทอันเป็นไปตามประมวลรัษฎากร โดยทำการจัดเก็บจากมูลค่าของสินค้า / บริการ เมื่อมีการซื้อ-ขายเกิดขึ้นภายในประเทศ รวมถึงมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ (ผลิตในต่างประเทศแล้วนำมาขายในประเทศ) สำหรับธุรกิจที่จะทำการจดภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นต้องมีรายรับจากการขายสินค้า / บริการในรอบ 1 ปี เกิน 1.8 ล้านบาท
ซึ่งในเมืองไทยของเราจะมีอัตราอยู่ที่ 7% (อัตราจริงอยู่ที่ 10% แต่ได้มีการออกกฎหมายพิเศษขึ้นมาให้มีอัตราถูกลง) และโดยทั่วไปบรรดาธุรกิจต้องมีการเก็บเงินส่วนนี้จากผู้ซื้อหรือลูกค้า จากนั้นผู้ขายมีหน้าที่นำไปยื่นต่อกรมสรรพากรตามกฎหมาย
ทั้งนี้หลายคนอาจเข้าใจว่าการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องจ่ายเฉพาะบุคคลธรรมดาหรือบริษัท ห้างร้านที่ยังไม่มีการจดภาษีตัวนี้เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงบรรดาธุรกิจที่จดภาษีมูลค่าเพิ่มก็มีหน้าที่ในการจ่ายด้วยเช่นกัน ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบของ
ภาษีขาย เป็นภาษีที่ธุรกิจเรียกเก็บจากลูกค้า
ภาษีซื้อ เป็นภาษีที่ธุรกิจต้องจ่ายให้กับผู้ขายสินค้าให้กับธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ข้อดีอย่างหนึ่งของธุรกิจในการเก็บและจ่ายภาษีเหล่านี้คือ สามารถนำภาษีซื้อไปลบกับภาษีขายก่อนยื่นสรรพากรเพื่อให้มีต้นทุนในการทำธุรกิจลดลงกว่าเดิม ทว่าก็ยังมีค่าใช้จ่ายในเรื่องการทำบัญชีเพิ่มเติมขึ้นมาเช่นกัน
วิธีคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%)
หลักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ไม่ได้มีขั้นตอนใด ๆ ยุ่งยาก และเป็นสิ่งที่ธุรกิจควรต้องทำเพื่อไม่ให้ตนเองขาดทุนจากการขายสินค้า
สูตรที่ใช้ในการคำนวณจะมาจากมูลค่าสินค้า / บริการ เป็นฐาน ในกรณีที่มีส่วนลดต้องหักส่วนลดดังกล่าวออกหมดแล้วจึงได้สูตรดังนี้
มูลค่าสินค้า / บริการ x อัตราภาษี (7%) = ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตัวอย่างเช่น ราคาสินค้าอยู่ที่ 200 บาท มีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 7% เมื่อคำนวณตามสูตรจะได้
200 x 7% = 14
เมื่อมีการขายสินค้าชิ้นนี้ให้กับลูกค้าจะต้องเรียกเก็บเงินจากลูกค้าเป็นจำนวน 214 บาท เพื่อนำภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวไปยื่นให้กับกรมสรรพากรนั่นเอง
วิธีคิด VAT ย้อนกลับ (การถอด VAT)
การคำนวณหรือการคิด VAT แบบย้อนกลับ เป็นการตรวจสอบราคาสินค้านั้นจริง ๆ ว่าสรุปแล้วมูลค่าอยู่ที่เท่าไหร่กันแน่ ซึ่งสูตรของการถอด VAT ย้อนกลับคือ
มูลค่าสินค้า / บริการ ที่รวม VAT 7% x 7 ÷ 107
จากนั้นก็จะใช้สูตรการคำนวณอีกขั้นตอนคือ
มูลค่าสินค้า / บริการ ที่รวม VAT 7% – ผลลัพธ์ก่อนหน้าที่ได้ = ราคาสินค้าจริง
ตัวอย่างเช่น ราคาสินค้าที่จ่ายเงินไปทั้งหมดอยู่ที่ 16,050 บาท เมื่อต้องการหามูลค่าสินค้าที่แท้จริงก็แทนด้วยสูตรดังนี้
16,050 x 7 ÷ 107 = 1,050
16,050 – 1,050 = 15,000
เท่ากับว่าราคาที่แท้จริงของสินค้าดังกล่าวอยู่ที่ 15,000 บาท
วิธีคิดส่วนลดก่อน VAT
อีกหัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มคือ การคิดส่วนลดก่อน VAT เพื่อคำนวณให้กับผู้ซื้อว่าสรุปแล้วมูลค่าสินค้าจริงคือเท่าไหร่กันแน่ โดยการคำนวณในเรื่องนี้ประเด็นสำคัญคือต้องทำก่อนการบวก VAT เข้าไปเสมอ เพื่อให้ได้มูลค่าสินค้าที่แท้จริง โดยมีสูตรคือ
(มูลค่าสินค้า / บริการ ยังไม่รวม VAT 7% – ส่วนลด)
และเมื่อได้ราคามูลค่าที่แท้จริงก่อนเรียกเก็บลูกค้าให้ + VAT 7% เพิ่มเข้าไป
ตัวอย่างเช่น ร้านขายอาหารชาบูมีราคาต่อหัวไม่รวม VAT อยู่ที่ 399 บาท โดยมีส่วนลดให้ลูกค้า 5% ในวันเปิดร้าน ซึ่งร้านนี้มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่มีการคิด Service Charge การคำนวณเงินที่ลูกค้าต้องจ่ายเมื่อแทนตามสูตรคือ
(399 – 5%) = 379.05 บาท
เท่ากับว่าราคาที่แท้จริงเมื่อหักส่วนลดแล้วอยู่ที่ 379.05 บาท จากนั้นเวลาเรียกเก็บเงินจากลูกค้าก็จะ + VAT 7% เข้าไปด้วยก็จะได้
379.05 + 7% = 405.58 บาท
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ที่ผู้ประกอบการทุกคนควรต้องรู้ แม้ตอนนี้รายได้อาจยังไม่ถึงขั้นต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่มก็ตาม เพราะอย่าลืมว่าการทำธุรกิจเรื่องภาษีเป็นสิ่งสำคัญ หากไม่ทำตามอย่างถูกต้องก็มีโอกาสผิดกฎหมายและต้องโดนบทลงโทษตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ โดยไม่สามารถอ้างว่า ไม่รู้ หรือไม่ทราบในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม แค่ทำตามอย่างถูกต้องก็ช่วยให้ธุรกิจราบรื่น ไม่ต้องยุ่งกับการตรวจสอบของกรมสรรพากร มีเวลาคิดและพัฒนาให้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้อีกเยอะ
นอกจากธุรกิจแล้วบุคคลทั่วไปซึ่งถือเป็นกลุ่มหลักที่ต้องเสียภาษี VAT นี้ก็ควรต้องศึกษาเอาไว้ด้วยเช่นกัน อย่างน้อยที่สุดเวลาซื้อสินค้าใด ๆ ก็ตามจะรู้ว่าราคาที่แท้จริงของสินค้านี้คือเท่าไหร่กันแน่ แม้เราจะได้ยินกันมานานเกี่ยวกับ VAT หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่การมีความรู้อย่างถูกต้องก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการโดนโกงของบรรดาผู้ซื้อหัวหมอที่อาจใช้กลยุทธ์การขายแปลก ๆ แล้วมองว่าลูกค้าได้ประโยชน์ แต่แท้จริงก็ไม่ต่างจากการซื้อขายปกติเลย