5 เคล็ดลับทำวิดีโอให้น่าสนใจ ทำอย่างไรให้ปังบนโลกโซเชียล

5 เคล็ดลับทำวิดีโอให้น่าสนใจ ทำอย่างไรให้ปังบนโลกโซเชียล

ปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่าโลกสังคมออนไลน์ที่เราอยู่กันในปัจจุบันนี้ อะไรๆ ก็ล้วนแล้วก็เป็นคอนเทนต์ได้ทั้งนั้น

ไม่ว่าจะเป็นข้อความหรือโฆษณา ระยะหลังนี้เรายิ่งได้เห็นสื่อที่เป็นคลิปวิดีโอปรากฏขึ้นมามากมาย แม้กระทั่งแพลตฟอร์มที่อุทิศเพื่อคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอโดยเฉพาะอย่าง TikTok ก็เกิดขึ้นมาแล้ว

5 เคล็ดลับทำวิดีโอให้น่าสนใจ ทำอย่างไรให้ปังบนโลกโซเชียล

ไม่น่าแปลกใจนักหรอก ที่ผู้คนในโซเชียลจะหันมาให้ความสนใจกับคอนเทนต์วิดีโอมากกว่าสื่อรูปแบบอื่นๆ เพราะต้องยอมรับว่าภาพเคลื่อนไหวนั้นสื่อสารได้ง่ายและน่าสนใจกว่าแค่รูปภาพหรือข้อความ แถมยังนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย

เพราะไม่ว่าจะเป็นบน YouTube, เพจ Facebook หรือโฆษณาขายของ เดี๋ยวนี้ก็หันมาใช้วิดีโอเพื่อดึงดูดความสนใจจากเหล่าลูกค้าหรือแฟนคลับกันทั้งนั้นเลยครับ

#1 โฟกัสที่เนื้อหาวิดีโอ ไม่ใช่การขายของ

ก่อนอื่นเราต้องไม่ลืมครับว่า ลูกค้าหรือผู้ชมส่วนใหญ่ในยุคนี้ฉลาดเลือกขึ้นมาก

การโฆษณาแบบขายตรงหรือประกาศโต้งๆ อย่างที่เราเคยพบเห็นกันในสมัยก่อนจึงถือว่าตกยุคไปแล้ว เพราะผู้ชมเดี๋ยวนี้ต้องการการบอกเล่าเรื่องราว (Storytelling) ที่สามารถทำให้เขาเข้าถึงและมีอารมณ์ร่วมหรือ “อิน” ได้มากกว่าคอนเทนต์โฆษณาหรือแบรนด์ที่เน้นแต่จะขายสินค้าอย่างเดียวเท่านั้น

คอนเทนต์วิดีโอที่เราเห็นเป็นไวรัลส่วนใหญ่จึงมักเป็นคลิปวิดีโอที่สนุก ตลก หรือลึกซึ้งกินใจ เพราะวิดีโอเหล่านี้เข้าถึงอารมณ์ร่วมได้ง่าย และทำให้ผู้ชมเปิดใจรับฟังได้มากกว่านั่นเองครับ

ดังนั้นถ้าหากเราสามารถหาทางเชื่อมโยงเนื้อหาในวิดีโอไปยังผู้ชมได้ก่อน ก็มีแนวโน้มที่ผู้ชมคลิปของเราจะยอมเปิดรับสารอื่นๆ ที่เหลือในวิดีโอของเรารวมถึงการขายของเราเช่นกันครับ

#2 ช่วงไม่กี่วินาทีแรกของคลิปสำคัญที่สุด

ในโลกที่หมุนเร็วและเต็มไปด้วยข้อมูลเช่นนี้ ผู้ชมคลิปวิดีโอส่วนใหญ่ไม่ค่อยรับชมคลิปกันเต็มๆ จนจบหรอกครับ ยกเว้นว่าคลิปของเราน่าสนใจจริงๆ

จากสถิติโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ชมในโลกออนไลน์ส่วนใหญ่จะชมคลิปไม่เกิน 8.5 วินาทีเท่านั้น ยิ่งถ้าหากเราทำโฆษณาลงในแพลตฟอร์มเช่น YouTube นั้น เวลาที่เหลือก่อนจะถูกกดข้ามนั้นก็อาจจะเหลือเพียงแค่ 5 วินาทีด้วยซ้ำ

ดังนั้นตัวที่จะตัดสินว่าคลิปของเราจะได้ไปต่อรึเปล่า ก็คือช่วงสองสามวินาทีแรกที่ผู้ชมเขาเปิดคลิปขึ้นมานั่นเอง ถ้าหากเราสามารถสร้างตัวดึงดูดความสนใจหรือ Hook ขึ้นมาได้ ก็มีโอกาสที่ผู้ชมจะดูคลิปของเราต่อไปเรื่อยๆ จนจบมากขึ้นครับ

ในการสร้างตัวดึงดูด (Hook) นั้นเองสามารถทำได้หลายวิธีครับ ผมขอยกตัวอย่างคร่าวๆ ดังนี้

  • สร้างรูปต้นคลิปหรือ Thumbnail ให้น่าสนใจ: วิธีนี้จะช่วยดึงดูดความสนใจผู้ชมตั้งแต่ก่อนจะกดเริ่มคลิปเลยครับ และจะมีประโยชน์มากในกรณีที่แพลตฟอร์มที่เราลงวิดีโอไม่ได้เปิดเล่นคลิปให้แบบ Autoplay ดังนั้นยิ่งภาพ Thumbnail ของเราน่าสนใจ ชวนให้คนกดคลิกบนคลิปมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีครับ
  • ชี้ให้เห็นปัญหา: หลายคนคงยังจำกันได้กับรูปแบบการโฆษณาของแบรนด์ๆ หนึ่งที่มีข้อความชวนตื่นเต้นอย่าง “ท่านกำลังประสบปัญหากับการ…..ใช่หรือไม่” นั่นเองก็เป็น Hook ประเภทหนึ่งครับ เพราะแค่นี้ก็สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้ในเสี้ยววินาทีแล้ว ยิ่งถ้าหากใช้ประกอบกับภาพและเสียงชวนตื่นเต้น ก็จะยิ่งช่วยเร้าให้ผู้ชมสนใจวิดีโอของเรามากขึ้นได้นั่นเอง

#3 สร้างความน่าเชื่อถือในวิดีโอด้วย Influencer

จากข้อที่แล้ว หลายๆ คนคงเริ่มเห็นปัญหาว่าถึงแม้ว่าเราจะสามารถดึงดูดความสนใจผู้ชมคลิปได้แล้ว ก็อาจประสบความสำเร็จแค่ในแง่ของยอดวิวเท่านั้น แต่ทำไมยอดขายถึงไม่กระเตื้องสักเท่าไหร่?

นั่นอาจเป็นเพราะว่าคลิปของเราขาดความน่าเชื่อถือนั่นเองครับ

อย่างที่ผมเกริ่นไปในข้อแรกว่าผู้ชมและลูกค้าเดี๋ยวนี้ฉลาดเลือกกันทั้งนั้น ดังนั้นถึงแม้เราจะทำให้เขายอมดูวิดีโอหรือโฆษณาของเราจนจบ ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะซื้อสินค้าหรือบริการของเราครับ

และจากการผลสำรวจเองก็พบว่า 90% ของคนในสมัยนี้เชื่อคำแนะนำของเพื่อนหรือคนรู้จัก มากกว่าสื่อโฆษณาด้วยซ้ำ

ปัญหาของการทำคอนเทนต์ในสมัยนี้คือผู้ชมรู้สึกขาดความเชื่อมั่นในเนื้อหา หรืออาจรู้สึกว่าถูกโฆษณาเกินจริงนั่นเอง จึงไม่แปลกที่ธุรกิจเดี๋ยวนี้จะเลือกจับมือกับดาราหรืออินฟลูเอนเซอร์ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่รู้จัก เข้าใจ และสามารถเข้าถึงพวกผู้ชมมากกว่าแบรนด์เยอะเลยครับ

ดังนั้นการได้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์มาอยู่ในวิดีโอของเราก็ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือได้มากทีเดียวเลยครับ เพราะผู้ชมส่วนใหญ่โดยเฉพาะแฟนคลับมักจะมองอินฟลูเอนเซอร์เป็นหัวขบวนหรือผู้นำทางความคิดที่เขาพร้อมจะคล้อยตาม และส่วนใหญ่คำพูดของคนจริงๆ ย่อมน่าเชื่อถือกว่าคำโฆษณาเป็นไหนๆ อยู่แล้ว

#4 คลิปต้องเล่าเรื่องได้ แม้ไร้เสียง

ในช่วงระยะหลังนี้เราคงได้เห็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลายๆ แห่งมีฟีเจอร์เริ่มเล่นคลิปวิดีโอแบบ Autoplay เองแล้ว ทราบมั้ยครับว่าฟีเจอร์นี้เองก็ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปเช่นกัน

ผมขอยกตัวอย่างสถิติของสื่อนอกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการรายงานว่า 85% ของคลิปบน Facebook นั้นถูกรับชมโดยที่ไม่ได้เปิดเสียงครับ ซึ่งนั่นเป็นปัญหาใหญ่ทีเดียวเพราะถ้าเนื้อหาที่เราต้องการจะสื่อนั้นอยู่ในรูปแบบเสียงทั้งหมดโดยไม่มีข้อความอื่นๆ บนวิดีโอ มีแนวโน้มที่ผู้ชมส่วนใหญ่จะไม่ได้รับสารจากเราครับ

เพื่อรับมือกับปัญหานี้ เราควรทำคลิปให้น่าสนใจและสามารถดูรู้เรื่องได้ทั้งในเวอร์ชั่นมีเสียงหรือไม่มีเสียงก็ตาม ผมขอแนะนำ 3 หลักการง่ายๆ ซึ่งได้แก่ 1) ภาพสวย (Visual) 2) มีคำอธิบาย (Text-heavy) และ 3) ใส่ซับไตเติ้ล (Subtitles) นั่นเองครับ ซึ่งเราสามารถเริ่มต้นจากการเลือกข้อใดข้อหนึ่งก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมดพร้อมกัน

#5 อย่าลืมใส่ Call to Action (CTA)

คนที่ทำงานในสายคอนเทนต์หรือการตลาดน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า Call to Action (CTA) อยู่บ้าง แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานด้านนี้มาก่อนก็อาจจะงงนิดหน่อยว่ามันคืออะไร

Call to Action หรือ CTA คือการกระตุ้นการตัดสินใจให้ผู้รับสาร “ทำอะไร” บางอย่างหลังจากที่ได้เสพหรือรับชมเนื้อหาไปแล้วนั่นเองครับ ซึ่ง Call to Action นั่นไม่ได้มีอยู่แค่ในคลิปวิดีโอเท่านั้นแต่ยังรวมถึงคอนเทนต์ประเภทอื่นด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ ข้อความหรือปุ่มกดประเภท “สั่งซื้อทันที” “โทรหาเราตอนนี้” “โหลดฟรี” พวกนี้ล้วนแล้วแต่เป็น Call to Action ทั้งสิ้นครับ

ซึ่งแน่นอนว่าการใส่ Call to Action ในคอนเทนต์ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรในโลกของการทำการตลาด แต่เชื่อเถอะครับว่าหลายๆ คนอาจจะลืมความสำคัญของการกระตุ้นเพียงเล็กน้อยนี้ไป คิดว่าแค่เราบอกเล่าเรื่องราวในวิดีโอก็เพียงพอแล้ว แต่ที่จริงเท่านั้นยังไม่พอครับ

อย่าลืมว่าที่เราสร้างคอนเทนต์วิดีโอขึ้นมานั้น เราไม่ได้ต้องการแค่ยอดวิวอย่างเดียว แต่เราต้องการ “แอ็กชั่น” หรือการกระทำของผู้ชมด้วย ถ้าหากเป็นธุรกิจ เราย่อมอยากให้คนดูมาซื้อสินค้าหรือบริการของเรา ถ้าหากเราเป็น Content Creator หรืออินฟลูเอ็นเซอร์ เราก็อยากให้ผู้ชมวิดีโอมากด Like, Share หรือ Subscribe เพื่อต่อยอดให้ช่องของเราเติบโตด้วยนั่นเอง

Call to Action ในรูปแบบของวิดีโอนั้นมีความแตกต่างไปจากคอนเทนต์ประเภทอื่นอยู่สักหน่อย รวมถึงอาจต้องแยกไปตามแพลตฟอร์มด้วย อย่างเช่นใน YouTube เราสามารถใส่ลิงก์ของเว็บไซต์หรือคลิปอื่นๆ ให้ผู้ชมสามารถกดดูต่อได้เลย แต่ถ้าหากเป็นวิดีโอบนแพลตฟอร์มอื่นที่ไม่สามารถใส่ลิงก์ได้ก็อาจจะต้อง Call to Action เป็นข้อความบนคลิปหรือใช้การพูดเชิญชวนแทน

การใส่ Call to Action ในวิดีโอนั้นมีทริกง่ายๆ คือ

  • โดดเด่น: ปุ่มหรือข้อความควรมองเห็นง่าย สะดุดตา
  • ดึงดูด: ข้อความควรน่าสนใจ ชวนให้ทำตาม
  • กระชับ: ข้อความควรสั้น ไม่ยืดเยื้อ ได้ใจความ
  • กำชับ:  ข้อความตรงไปตรงมา บอกชัดเจนว่าให้ผู้ฟังทำอะไรต่อ

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด