แผนธุรกิจ คืออะไร? ข้อดีข้อเสียและองค์ประกอบ

แผนธุรกิจ คืออะไร? ข้อดีข้อเสียและองค์ประกอบ

เรื่องของธุรกิจมีความละเอียดอ่อนอยู่ในตัวเองเสมอ ไม่ว่าประเภทใดก็ตาม สังเกตว่าคนที่ทำธุรกิจมีเยอะ แต่ถ้ามองถึงคนที่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ย่อมไม่ใช่ทั้งหมด สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจเป็นไปตามแผนที่คาดหวังคือต้องมี “แผนธุรกิจ” ที่ถูกต้อง

สิ่งนี้คือปัจจัยสำคัญในการช่วยให้บรรดาผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการมองเห็นภาพรวมได้กว้างขึ้น มีการวางแผนล่วงหน้าตามหลักความเหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง มีแนวทางแก้ไขปัญหาชัดเจน อีกทั้งยังช่วยให้คนที่ทำงานร่วมกันเข้าใจจุดประสงค์ได้ง่ายขึ้นด้วย ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญและการนำไปใช้งานอย่างถูกต้อง มาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันว่า แผนธุรกิจ มีอะไรน่าสนใจบ้าง

แผนธุรกิจ คืออะไร

Business Plan หรือ แผนธุรกิจ คือ เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการทุกคนสามารถสร้างธุรกิจของตนเองขึ้นมาได้ตามแผนงานที่ถูกคิดค้นและวางเอาไว้ แผนธุรกิจคือ “คู่มือ” ในการทำธุรกิจ เพราะทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs ก็จำเป็นต้องมีการวางแผนก่อนลงมือทำจริง

เราต้องทำแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับการดำเนินงาน เพื่อเป็นตัวช่วยในการวางโครงสร้างและตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ และให้ธุรกิจเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง

เนื้อหาสำคัญในแผนธุรกิจจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้น ๆ เอาไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอก และสิ่งอื่น ๆ ที่มีผลกระทบกับการดำเนินกิจการ เพราะโดยธรรมชาติคนที่ต้องการมีธุรกิจมักจะมองถึงอนาคตและสร้างไอเดียในการทำงานของตนเองขึ้นมา

แต่ถ้าหากไม่มีวิธีบริหารจัดการหรือแผนงานที่เหมาะสม มองไม่เห็นข้อมูลในทุกมิติของธุรกิจ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้มากมายในอดีตการวางแผนธุรกิจนี้จะใช้ลักษณะของวิธีสร้าง Mind Map หรือการลิสต์ข้อมูลเอาไว้ในกระดาษ แต่ปัจจุบันเมื่อโลกมีความทันสมัยมากขึ้นก็สามารถวางแผนได้ผ่านมือถือหรืออุปกรณ์ไอทีชนิดต่าง ๆ

ข้อดีและข้อเสียของการเขียนแผนธุรกิจ

เป็นเรื่องปกติในการทำสิ่งใดก็ตามย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียปะปนกันไป การเขียนแผนธุรกิจเองก็เช่นกัน และเพื่อให้ผู้ที่สนใจจะจัดตั้งธุรกิจของตนเองหรือคนมีธุรกิจอยู่แล้วทว่ายังไม่มีแผนชัดเจน ลองนำเอาข้อดีข้อเสียของการเขียนแผนธุรกิจเหล่านี้ไปพิจารณาว่าควรปรับอย่างไรให้เหมาะสมกับงาน สร้างความทันสมัยและช่วยให้เติบโตอย่างมีแบบแผนเหมาะสม

ข้อดีของการเขียนแผนธุรกิจ

#1 มองเห็นภาพรวมของธุรกิจทั้งหมด

ประเด็นแรกอันถือว่าเป็นข้อดีหลักสำหรับผู้ประกอบการทุกคนที่มีการเขียนแผนธุรกิจนั่นคือ จะช่วยให้มองเห็นภาพรวมทั้งหมดของธุรกิจว่าเป็นอย่างไรบ้าง คำว่าภาพรวมตรงนี้เสมือนกับการยืนอยู่ด้านนอกแล้วมองลงไปในพื้นที่ใดสักแห่ง

ธุรกิจเองก็เช่นกัน การมีแผนธุรกิจจะช่วยให้เข้าใจถึงแนวทางที่เกิดขึ้นทั้งหมด อาทิ ต้นทุน, ค่าใช้จ่าย, ผลกำไร, จุดเด่น จุดด้อยของธุรกิจ, ความคุ้มค่าของการลงทุน ฯลฯ พอเห็นภาพเหล่านี้ก็แยกต่อไปได้ว่าสิ่งไหนดีแล้วควรทำต่อไป สิ่งไหนยังไม่ถูกต้องก็ปรับแก้ไขให้เหมาะสม เพื่อการดำเนินธุรกิจที่เติบโตยิ่งขึ้น

#2 ผ่อนภาระในด้านบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหา

เป็นข้อดีต่อยอดมาจากเรื่องแรก เมื่อมีการมองเห็นภาพรวม รู้จุดบกพร่องของธุรกิจแล้วก็รีบดำเนินการแก้ไขจะช่วยลดภาระในด้านบริหารจัดกาลงไปได้เยอะมาก ไม่ต้องมานั่งปวดหัวว่าปัญหานี้เกิดจากอะไร แล้วควรแก้ไขอย่างไร เพราะได้มีการวางแนวทางเอาไว้คร่าว ๆ หมดแล้ว เพียงแค่เลือกหยิบนำมาใช้ว่าควรเอาวิธีไหนเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว เมื่อความยุ่งยากในการแก้ปัญหาตรงนี้น้อยลงก็ช่วยให้เจ้าของกิจการมีความคิดอยากต่อยอดด้านอื่น ๆ ไปอีก

#3 มองเห็นช่องทางในการเติบโต

ในการวางแผนธุรกิจ ไม่ใช่แค่การนำเอาเทคนิค วิธีต่าง ๆ มาใช้เพื่อให้การจัดการภายในมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการช่วยสร้างความเติบโต ความก้าวหน้าให้กับองค์กรมากขึ้นด้วย พอทำได้ตามแผนที่วางเอาไว้ในขั้นแรก ก็จะมีการวางแผนเพิ่มเติมเพื่อขยับตัวให้ใหญ่ขึ้นทีละระดับ มองเห็นว่ามีช่องทางใดบ้างที่ช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาก้าวสู่ความสำเร็จไปอีกขั้น

หลายธุรกิจขนาดใหญ่ก็เริ่มต้นจากการเป็น SMEs เล็ก ๆ แต่เมื่อมีการวางแผนธุรกิจที่ดี ก็ช่วยให้เติบโตเพราะมองเห็นช่องทางหรือจุดแข็งของธุรกิจว่าควรเลือกวิธีไหนในการขยายองค์กรของตนเอง

#4 มีการดำเนินงานตามขั้นตอนชัดเจน

การทำงานให้เป็นไปตามขั้นตอนอันเหมาะสม คืออีกหัวใจสำคัญที่ทุกธุรกิจต้องมี ถ้าต่างคนต่างทำผลลัพธ์ที่ได้ย่อมไม่สอดคล้องและทำให้ธุรกิจเกิดผลเสียมากกว่าได้ ดังนั้นเมื่อมีแผนธุรกิจชัดเจนก็จะช่วยให้ทุกคนรู้ว่าควรดำเนินการอย่างไรให้เป็นตามแนวทางที่วางเอาไว้ โอกาสการเกิดข้อผิดพลาดก็ลดน้อยลง และได้ผลตามเป้าหมายที่คาดหวัง สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริหารตั้งแต่แรก

#5 เพิ่มทุนให้กับธุรกิจได้จริง

บรรดานักธุรกิจหน้าใหม่ที่ต้องการกู้เงินจากสถาบันการเงินอาจไม่รู้ว่า ก่อนจะกู้ได้นั้นต้องมีการเขียนแผนธุรกิจให้กับสถาบันฯ ประเมินว่ามีความเหมาะสมเพื่อปล่อยกู้มากน้อยเพียงใด หากแผนธุรกิจมีความชัดเจน ทุกอย่างสอดคล้องและมีโอกาสทำได้จริง การปล่อยสินเชื่อก็จะง่ายขึ้น ในทางกลับกันหากแผนธุรกิจไม่มีหลักชัดเจน เขียนแล้วไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง หรือไม่มีแผนธุรกิจใด ๆ ไปนำเสนอ โอกาสการปล่อยสินเชื่อจะลดลงกว่าครึ่งเลยทีเดียว

ข้อเสียของการเขียนแผนธุรกิจ

#1 เกิดความล่าช้าในการจัดตั้งหรือดำเนินธุรกิจ

ถ้ายิ่งวางแผนธุรกิจนานเท่าไหร่ ก็จะเกิดความล่าช้าในการจัดตั้งหรือดำเนินธุรกิจมากเท่านั้น ตรงนี้ถือเป็นความผิดพลาดสำหรับคนที่คิดนานเพราะมักมองถึงความรอบคอบและความปลอดภัยมากที่สุดในการทำธุรกิจ จึงถือเป็นข้อเสียที่อาจทำให้คู่แข่งก้าวไปข้างหน้าเร็วกว่าและกลายเป็นผู้นำตลาดแทน คราวนี้ต่อให้แผนธุรกิจดีแค่ไหนก็อาจกลายเป็นผู้ตามแบบถาวร

#2 ทฤษฎีกับปฏิบัติย่อมมีความแตกต่างกัน

นี่คือเรื่องปกติของการทำงาน ระหว่างภารทฤษฎีกับภาคปฏิบัติมักมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว ทั้งปัจจัยต่าง ๆ ที่แวดล้อมในขณะเกิดปัญหา หรือรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นการยึดติดกับแผนธุรกิจเพียงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นได้เท่าไหร่นัก หากผู้บริหารไม่มองภาพความเป็นจริงและยึดติดกับทฤษฎีที่ตนเองมั่นใจมากจนเกินไป

#3 แผนบางอย่างเกินขีดความสามารถที่จะปฏิบัติจริง

เข้าใจดีว่าเวลาวางแผนธุรกิจย่อมต้องนำเอาแนวทางต่าง ๆ มาสร้างเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์แบบมากที่สุด แต่อย่าลืมว่าขีดจำกัดในการทำงานของแต่ละธุรกิจย่อมต่างกันออกไป เช่น ความสามารถของบุคคล, เงินทุน, กฎหมาย ฯลฯ ดังนั้นบ่อยครั้งที่แผนบนกระดาษอาจดูสวยหรู แต่เมื่อนำไปปฏิบัติจริงแล้วไม่สามารถทำตามได้ทั้งหมดจากข้อจำกัดบางอย่าง ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงไม่เป็นตามเป้าหมาย สร้างความผิดพลาดในการบริหารจัดการให้เกิดขึ้น

องค์ประกอบของแผนธุรกิจ ที่ช่วยให้คุณประสบความสำเร็จ

มาถึงส่วนสำคัญสำหรับคนที่กำลังจะสร้างธุรกิจหรือเริ่มต้นธุรกิจของตนเองไปแล้วและอยากมีแผนธุรกิจที่ถูกต้อง ก็จำเป็นต้องรู้องค์ประกอบทั้งหมดเพื่อให้เกิดการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างโอกาสแห่งความสำเร็จในการทำกิจการ ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

#1 บทสรุป

เป็นแนวทางความคิดและการบอกแนวทางที่ชัดเจนของผู้บริหารว่าต้องการให้ธุรกิจเป็นอย่างไรบ้าง พยายามบอกความสำคัญของธุรกิจดังกล่าวออกมาให้ชัดเจน การสร้างความน่าสนใจที่จะช่วยสร้างการเติบโตในอนาคตได้จริง ไม่ใช่แผนในจินตนาการ ถ้าอธิบายกันแบบเข้าใจง่ายก็คือ การบอกแนวคิดทั้งหมดของผู้บริหารในการสร้างธุรกิจตัวนี้ขึ้นมาว่าเป็นอย่างไรบ้าง ข้อไหนมีโอกาสทำได้จริง และข้อไหนต้องอาศัยแนวทางอื่น ๆ เพิ่มเติม จุดเด่น-จุดด้อยของสินค้า / บริการ ที่คิดว่าใช่ของตนเองมีอะไรบ้าง

#2 ภาพรวมกิจการ

เป็นการเขียนภาพรวมคร่าว ๆ ว่ากิจการนี้เป็นอย่างไร มีรูปแบบดำเนินการ การหาต้นทุน หาลูกค้าอย่างไรบ้าง กำหนดกลุ่มเป้าหมาย สร้างช่องทางการตลาด มีเป้าหมายระยะสั้น ระยะยาว ฯลฯ ข้อนี้จะช่วยให้ทุก ๆ คนที่อ่านเข้าใจถึงแนวทางในการทำธุรกิจของผู้เขียนได้ชัดเจนขึ้น และมองเห็นถึงภาพรวมความน่าจะเป็นที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจเมื่อปฏิบัติตามแนวทางที่เหมาะสม

#3 การวิเคราะห์ SWOT Analysis

หากบอกว่านี่คือหัวใจสำคัญของแผนธุรกิจคงไม่ใช่เรื่องผิดนัก เพราะมันคือการวิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อยที่มาจากปัจจัยภายในและภายนอกของธุรกิจว่ามีอะไรที่โดเด่นและมีจุดไหนที่ต้องปรับแก้ไข โดยการวิเคราะห์ SWOT สามารถแบ่งลิสต์ออกได้ดังนี้

S = Strength จุดแข็ง เป็นการวิเคราะห์จุดแข็งภายในองค์กรของตนเองว่ามีอะไรที่นับเป็นความพิเศษซึ่งเหนือกว่าธุรกิจอื่น เช่น สินค้ามีคุณภาพ, มีระบบการชำระเงินหลายช่องทาง, เปิดให้บริการตลอด 24 ชม., เป็นสินค้าใหม่ที่ยังไม่เคยมีในตลาดมาก่อน ฯลฯ เป็นปัจจัยภายในที่สามารถควบคุมและพัฒนาให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ

W = Worth จุดอ่อน การวิเคราะห์จุดอ่อนที่เกิดขึ้นในองค์กรว่าเรื่องไหนที่ยังต้องแก้ไข ด้วยความเป็นปัจจัยภายในจึงถือว่ายังพอควบคุมได้ และสามารถปรับปรุงเพื่อให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่น มีพนักงานน้อยไม่เพียงพอต่อการผลิต, ราคาขายสูงกว่าคู่แข่ง, มีช่องทางการขายน้อยเกินไป ฯลฯ

O = Opportunity โอกาส การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกธุรกิจอันถือเป็นโอกาสที่จะช่วยให้เกิดการเติบโตได้จริงในอนาคต เช่น กฎหมายใหม่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจมากขึ้น, กระแสพฤติกรรมผู้บริโภคที่เน้นเทรนด์เดียวกับสินค้า / บริการ เป็นต้น

T = Threat อุปสรรค ปิดท้ายด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกในด้านของอุปสรรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับธุรกิจ เป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้แต่ต้องพยายามหาทางแก้ไข เช่น การเกิดโรคระบาด, การสั่งห้ามของกฎหมายใหม่ในบางประเภทสินค้า ฯลฯ

ส่วนนี้เป็นแค่ข้อมูลเบื้องต้น หากอยากได้รายละเอียดด้านการเขียน SWOT สามารถอ่านได้ที่บทความนี้ SWOT คืออะไร

#4 แผนการตลาด

ในการเขียนแผนธุรกิจจำเป็นต้องวางแผนการตลาดให้ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางบริหาร พร้อมวิเคราะห์ความเหมาะสมในการทำธุรกิจที่จะเกิดขึ้นว่าควรเป็นทิศทางใด หลัก ๆ แล้วแผนการตลาดทั่วไปจะมีอยู่หลายส่วนแต่สิ่งที่ต้องมีแน่ ๆ คือ การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย, การแบ่งส่วนการตลาด กำหนดตำแหน่งธุรกิจ, หลัก 4P’s (Product, Price, Place, Promotion), 4C’s (Consumer Needs, Consumer Benefits, Convenience, Communication) และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับกลุ่มเป้าหมาย

เรื่องของแผนการตลาดก็มีรายละเอียดเยอะเช่นกัน ผมแนะนำให้อ่านบทความเรื่อง การเขียนแผนการตลาด และ การวิเคราะห์ 4P นะครับ

#5 แผนบริหารจัดการภายในองค์กร

เมื่อมีการวางแผนในด้านของปัจจัยต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจเติบโตในตลาดแล้ว ก็ต้องหันกลับมามองในเรื่องการพัฒนาองค์กรด้วย หลัก ๆ แล้วแผนในด้านนี้จะเน้นเรื่องทั่วไปขององค์กรเป็นหลักเพื่อให้เกิดแนวทางบริการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การมีสถานที่ตั้งเหมาะสมกับการดำเนินงาน, โครงสร้างผู้บริหารและผู้รับผิดชอบตำแหน่งต่าง ๆ, เครื่องมือ เครื่องจักร เป็นต้น

#6 แผนการดำเนินงาน

เมื่อมีแผนที่ช่วยจัดการภายในองค์กรก็ต้องต่อด้วยแผนสำหรับการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับการสร้างประสิทธิภาพจนเกิดผลลัพธ์อันน่าพึงพอใจ เช่น มีการวางระบบของแต่ละฝ่ายงาน วางหน้าที่ชัดเจน, กระจายระบบการทำงาน, แบ่งกะเวลาเพื่อให้การผลิตเพียงพอต่อความต้องการ, การสร้างมาตรฐานในการทำงานอย่างชัดเจน, มีกฎระเบียบให้พนักงานปฏิบัติตามไปในทิศทางเดียวกัน เป็นต้น

#7 แผนการเงิน

ในการทำธุรกิจต้องมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การวางแผนเรื่องนี้ควบคู่ไปด้วยจะช่วยให้บริหารง่ายขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการขาดทุนในทุก ๆ ด้าน ซึ่งแผนการเงินต้องเริ่มตั้งแต่การนำเอาทุนจากส่วนต่าง ๆ มารวมกัน, รายรับ – รายจ่าย, ภาษี, ต้นทุน, ยอดขาย, กำไร – ขาดทุน, ค่าเสื่อมสินทรัพย์, การมีสินค้าคงคลัง, ค่าใช้จ่ายเสียเปล่า, ลูกหนี้การค้า – เจ้าหนี้การค้า ฯลฯ โดยส่วนใหญ่จึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญในด้านบัญชีเข้ามาแนะนำหรือเป็นผู้ร่วมเขียนแผนธุรกิจในด้านนี้ด้วย

#8 แผนสำรองหรือแผนฉุกเฉิน

ท้ายที่สุดในการเขียนแผนธุรกิจย่อมต้องมีแผนสำรองหรือแผนฉุกเฉินเอาไว้เสมอ เพราะอย่างที่รู้กันว่าแผนที่เขียนไปนั้นเป็นแนวทางเบื้องต้นสำหรับคาดการณ์ความน่าจะเป็น แต่เมื่อลงมือทำจริง ๆ แล้วอาจไม่เกิดขึ้นอย่างที่คิดไว้ การมีแผนสำรองนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้อย่างทันท่วงที ลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดปัญหาที่ใหญ่โตมากขึ้นจนเกินการควบคุม ตัวอย่างบางเรื่องที่ควรมีแผนสำรองเอาไว้

เช่น วางแผนด้านช่องทางการขายออนไลน์ แต่ยอดขายไม่เป็นตามเป้า จึงต้องเปลี่ยนมาใช้ออฟไลน์แทน, วัตถุดิบต่างประเทศไม่สามารถนำเข้าได้ ต้องเปลี่ยนมาใช้ของในไทย, สินค้าซ้ำกับแบรนด์อื่น ต้องเปลี่ยนวัตถุดิบเพื่อสร้างความแตกต่าง, มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าที่คาดไว้ ต้องลดบางส่วนลงเพื่อให้ได้กำไรตามเป้าหมาย, หุ้นส่วนบางคนไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน เป็นต้น

ทั้งหมดนี้คือเรื่องของแผนธุรกิจที่คนทำธุรกิจทุกคนควรรู้และมีการทำเอาไว้เสมอ ซึ่งการทำแผนดังกล่าวไม่ใช่แค่การเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่เท่านั้น แต่คนที่ทำมานานก็สามารถวางแผนได้เรื่อย ๆ หรือมีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสมอยู่ตลอดได้อย่างไร้ปัญหา

เพราะส่วนใหญ่การเขียนแผนเหล่านี้จะแบ่งเป็นแผนระยะสั้น 1-2 ปี, แผนระยะกลาง 5-7 ปี และแผนระยะยาวมากกว่า 10 ปี ขึ้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับความเหมาะสมในการทำธุรกิจแต่ละประเภท การเขียนแผนธุรกิจที่ดีย่อมเพิ่มโอกาสในการบริหารให้ประสบความสำเร็จดังที่คาดหวังไว้ และช่วยเพิ่มการเติบโตในอนาคต นี่จึงเป็นสิ่งที่คนทำธุรกิจทุกคนต้องสัมผัสและพยายามทำออกมาให้ดีที่สุดด้วย

สำหรับคนที่อยากได้ตัวช่วยในการเขียนแผนธุรกิจเพิ่มเติม ลองดูคู่มือการเขียนแผนธุรกิจของผมได้นะครับ

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด