Infographic เป็นคำที่เราได้ยินกันบ่อยมากในสมัยนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ทำงานหรือในโลกออนไลน์ เพราะจริงๆแล้วการนำข้อมูลยากๆมาย่อยให้เป็นรูปภาพที่ดูเข้าใจง่าย มีสีสันน่าดึงดูด ก็ถือว่าเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่ดีมากๆ เรียกได้ว่าเป็นวิธีการสอนที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียน มากกว่าความสะดวกสบายของผู้สอน
ในบทความนี้เราจะมาดูพื้นฐานกันก่อนว่า Infographic คืออะไร มีประโยชน์อะไรบ้าง และตัวอย่างหรือประเภทของ Infographic ต่างๆที่เราเห็นได้ในชีวิตประจำวันมีอะไรบ้าง
Infographic คืออะไร
Infographic (อินโฟกราฟิกส์) คือการการแสดงภาพกราฟิกผ่านภาพ แผนภูมิ แผนผัง และคำพูดเพื่อดึงดูดความสนใจและเพื่อให้ผู้อ่านสามารถซึมซับข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น Infographic เป็นคำที่ประกอบมาจาก Information (ข้อมูล) และ Graphics (ภาพกราฟิกส์)
ซึ่งเราก็สามารถเห็น Infographic ได้ในหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นในโลกออนไลน์ผ่าน Social Media หรือในโลกออฟไลน์ เช่น บนนิตยสาร ล่าสุดผมไปต่อใบขับขี่ผมก็เห็นทางขนส่งแปะ Infographic สอนคนเรื่องระเบียบการขับรถด้วย
หน้าที่ของ Infographic ก็คือการย่อยข้อมูลยากๆ เยอะๆ หรือน่าเบื่อๆ ให้คนสามารถเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น ภาษาเฉพาะทางของกระบวนการนี้ก็คือ Data Visualization ที่นำข้อมูลมาย่อยให้เป็นภาพ (แต่ Data Visualization ที่เรียนกันในมหาลัยจะหมายถึงการนำข้อมูลหลายพัน หลายหมื่นจุด มาจับกลุ่มและเรียบเรียงให้คนเข้าใจได้ง่าย)
สำหรับคนที่อยากเห็นตัวอย่างของ Infographic ผมก็แนะนำให้ลองศึกษาสื่อรูปภาพรอบตัวคุณให้ดี หรือถ้าคุณมีบัญชี Facebook ผมก็แนะนำให้ลองติดตามเพจของ ลงทุนแมน และ Jones Salad โจนส์สลัด ซึ่งผมมองว่าเป็นองค์กรที่เก่งเรื่องการสื่อสารข้อมูลถ่ายรูปภาพมากๆ (อันนี้โปรโทให้เขาฟรีๆเลย ไม่ได้มีใครจ้างมา 555)
ซึ่งก็มีงานวิจัยออกมาอธิบายไว้เหมือนกันว่าคนส่วนมากสามารถเรียนรู้ได้ดีกว่าเป็นการเรียนรู้จากรูปภาพแทนที่จะเป็นจากการเขียน ยิ่งเป็นรูปภาพที่มีสี ยิ่งสามารถจดจำได้ดี ซึ่งในหัวข้อถัดไปผมจะมาอธิบายเกี่ยวกับประโยชน์ของ Infographic ในหลายๆมุมมอง
7 ประโยชน์ของ Infographic ที่น่าสนใจ
การย่อยข้อมูลยากๆ – เป็นประโยชน์ที่ผมพูดถึงบ่อยแล้วในบทความนี้ แทนที่เราจะเรียนรู้จากคำพูดหรือว่าจากตัวอักษร Infographic สามารถสื่อสารข้อความต่างๆผ่านรูปภาพที่มีสีสัน ซึ่งหากเรานำข้อมูลเหล่านี้มาเรียบเรียงให้ถูกต้อง ผู้อ่านก็จะสามารถเรียนรู้สิ่งยากๆ ได้ง่ายมากขึ้น ยกตัวอย่างก็คือตัวเลขทางสถิติ
การสอนกระบวนการขั้นตอนง่ายๆ – Infographic เหมาะสำหรับการสอนกระบวนการต่างๆ เช่น ขั้นตอนที่ 1 2 3 ซึ่งก็เหมาะอย่างมากสำหรับการอบรมพนักงานหรือการสอนผู้อ่าน ถ้าการย่อยข้อมูลออกมาเป็นตัวอักษรแบบหัวข้อย่อยนั้นอ่านง่ายแล้ว การที่เรามีหัวข้อย่อยพร้อมสีและรูปภาพประกอบก็จะเข้าใจได้ง่ายมากกว่า
ทำให้คนอยากเรียนมากขึ้น – ตอนนี้สังเกตได้ง่ายมากๆในหนังสือเด็ก ซึ่งมักจะเป็นหนังสือที่มีภาพและสีสันเยอะมาก อย่างแรกเลยก็เพราะว่าเด็กยังอ่านตัวอักษรได้ไม่คล่องเลยต้องมีภาพประกอบ แต่อย่างที่สองก็คือหากไม่มีรูปภาพหรือสีสันอะไรเลย เด็กบางคนก็อาจจะไม่มีสมาธิมากพอที่จะอ่านให้จบ Infographic ก็ใช้หลักการเดียวกันแต่นำมาปรับให้เหมาะกับผู้ใหญ่
ทำให้คนจำได้นานขึ้น (Knowledge Retention) – การสื่อสารให้คนเข้าใจง่ายก็เป็นเรื่องดีอย่างหนึ่ง แต่การที่ผู้อ่านสามารถจดจำและนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ต่อนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า มีงานวิจัยบอกไว้ว่าคนส่วนมากสามารถจำข้อมูลจากรูปภาพได้มากถึง 65% (หากเทียบกับ 10% กับการจำข้อมูลที่ได้จากการฟัง)
การสร้างแบรนด์ – นอกจากจะใช้ในการสื่อสารและให้ความรู้คนแล้ว สื่อ Infographic ยังสามารถแสดงความน่าเชื่อถือและความเชี่ยวชาญของผู้เผยแพร่ได้ด้วย ซึ่งเราก็มักจะเห็นเพจโซเชียลของบริษัทดังๆต่างๆนำ Infographic มาใช้ในการให้ความรู้ผู้ติดตามเพื่อสร้างแบรนด์และทำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ เป็นการดึงดูดให้ลูกค้ากลับมาในระยะยาว
การเพิ่มทักษะให้พนักงาน – พอรวมข้อดีหลายๆหัวข้อเข้าด้วยกัน เราก็สามารถประยุกต์ใช้ Infographic ในการอบรมพนักงานได้ มีประโยชน์ทั้งการทำให้พนักงานเรียนรู้ได้เร็วและสามารถซึมทราบข้อมูลเยอะ เหมาะกับการสอนพนักงานใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการสอนกระบวนการที่พนักงานต้องทำซ้ำบ่อยๆ แต่เราไม่อยากให้พนักงานทำผิดพลาด (อย่างในโรงงานหรือการจัดส่งเป็นต้น)
ค้นหาข้อมูลได้ง่าย – เป็นอีกหนึ่งประโยคที่หลายคนมองข้ามกัน เพราะการหาข้อมูลในหนังสือที่มีแต่ตัวอักษร กับการหาข้อมูลใน Infographic ที่มีรูปภาพและสีสันโดดเด่นชัดเจนนั้นเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย เหมาะกับการใช้เป็นสื่อที่สามรถให้ผู้อ่านเก็บไว้ได้ เพราะผู้อ่านจะได้นำมาใช้อ้างอิงในอนาคต
สุดท้ายนี้เราก็ต้องจำไว้ว่า คนเรามีความชอบและความถนัดแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน บางคนก็อาจจะชอบอ่านหนังสือ บางคนก็อาจจะชอบฟัง บางคนก็อาจจะชอบดูวีดีโอ บางคนก็อาจจะได้รับความรู้จาก Infographic มาก ในความเป็นจริงแล้วเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าผู้อ่านของเราชอบสื่อแบบไหน
จริงๆแล้วข้อดีข้อเสียของ Infographic ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานและการเรียบเรียงข้อมูลอีกทีหนึ่ง หากเราออกแบบมาไม่ดีตั้งแต่ตอนแรก ผู้อ่านก็คงไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่เราพยายามสื่อสารได้ง่าย ในส่วนต่อไปเรามาลองดูชนิดของ Infographic ต่างๆ ซึ่งจะถูกแยกผ่านการใช้งานต่างๆและวิธีการนำเสนอข้อมูล
8 ประเภทของ Infographic ที่ใช้ได้จริง
ภาพ Visual – หมายถึง Infographic ที่แสดงภาพเพื่อสื่อสารข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อดีข้อเสียของการใช้สินค้า หรือการอธิบายเรื่องอะไรยากๆให้เข้าใจง่ายมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น XYZ คืออะไร หรือ ทำไม ABC ถึงดีและมีประโยชน์ต่อคุณ จริงๆแล้วเราจะมองว่าเมนูอาหารหรือแคตตาล็อกสินค้าก็เป็น Infographic อย่างหนึ่งก็ได้
รายการ List – เป็น Infographic ที่เจาะลงข้อมูลละเอียดเพื่อแสดงให้เห็นถึงรายการต่างๆที่เกี่ยวข้อง การย่อยข้อมูลออกมาเป็นรายการจะทำให้คนสามารถจดจำแต่ละหัวข้อของรายการได้ง่ายมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น 5 ข้อดีของการออกกำลังกาย หรือ 3 วิธีการหาเงินออนไลน์
แผนที่ Map – แต่เดิมทีแล้วแผนที่ก็ถือว่าเป็น Infographic อย่างไรก็ตามเราก็เห็นได้ว่าแผนที่ในสมัยใหม่ (เห็นได้ตามห้าง สวนสนุก หรือป้ายรถเมล์) จะถูกออกแบบมาให้มีสีสันมากขึ้น มีรูปภาพมากขึ้น เป็นการออกแบบที่ปรับให้เหมาะกับผู้ใช้งานยุคใหม่
กระบวนการ Process – เป็นการใช้ Infographic เพื่อสอนกระบวนการต่างๆตามขั้นตอน เหมาะสำหรับการย่อยข้อมูลที่อาจจะเป็นภาพรวมมากเกินไปออกมาให้เป็นขั้นตอนที่เล็กๆน้อยๆที่คนสามารถทำตามได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น ขั้นตอนการทำอาหาร หรือ วิธีเบิกเงินค่ารักษาหมอฟัน
Flow Chart (แผนภาพแสดงลำดับการเคลื่อนไหว) – มักจะเห็นได้บ่อยในบริษัทต่างๆ เพราะ Flow Chart จะมีหน้าที่ช่วยให้คุณสามารถตัดสินใจได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะซับซ้อนกว่า Infographic แบบกระบวนการ Process ที่เป็นเส้นตรง เพราะ Flow Chart จะรวมถึงกรณีและสถานการณ์ต่างๆด้วย เช่น Flow Chart การพูดกับคนแปลกหน้า หรือ Flow Chart ในการวินิจฉัยโรค ผมแนะนำให้อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง Flow Chart ของผม นะครับ
สถิติ Statistics – หมายถึงการใช้ Infographic เพื่อสื่อสารตัวเลขและสถิติ โดยรวมแล้วสถิติจะถูกนำมาใช้ประกอบและสนับสนุนข้อมูลอย่างอื่นมากกว่า (เช่น ใช้ตัวเลขเพื่ออธิบายข้อดีของการออมเงิน) อย่างไรก็ตามการนำตัวเลขออกมาแปลเป็นภาพอ่านง่ายๆ เข้าใจง่ายๆ ก็จะทำให้ตัวเลขนี้เข้าถึงคนได้มากขึ้น
เวลา Timeline – เป็นการอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตหรือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตปรับออกมาเป็นเวลาให้คนเข้าใจง่ายๆ เช่น ประวัติของประเทศไทย หรือ ตารางการทำงานทั้งวันของพนักงานทำความสะอาด การเรียบเรียงข้อมูลตามเวลาก็จะทำให้คนติดตามหรือทำตามได้ง่าย
เคลื่อนไหว Animation – เป็น Infographic แนวใหม่ที่เราเห็นในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไฟล์ภาพบนคอมพิวเตอร์ในสมัยใหม่ (เช่นไฟล์ gif) สามารถทำให้เกิดการเคลื่อนไหวต่างๆได้ ช่วยทั้งการดึงดูดความสนใจผู้อ่านและการสื่อสารข้อมูลด้วยวิธีใหม่ๆที่ไม่เคยทำได้มาก่อน การนำเสนอแบบนี้จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ออกแบบ Infographic จะผลิตออกมาได้ง่ายแค่ไหน
สุดท้ายนี้เราก็ต้องยอมรับว่าการผลิต Infographic นั้นก็ถือว่ายุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายพอสมควร หากรวมขั้นตอนการเก็บข้อมูล การวางแผน การออกแบบ และ การตรวจสอบรายละเอียด บางบริษัทก็อาจจะใช้เวลาหลายอาทิตย์ถึงหลายเดือนด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตามเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้อ่านส่วนมากได้รับประโยชน์จากข้อมูลบน Infographic จริงๆ ในกรณีนี้เราก็ควรตั้งเป้าหมายให้ดีก่อนที่จะเสียเวลาและเสียเงินออกแบบ เพราะการผลิต Infographic ควรมาจากความต้องการของผู้อ่าน ไม่ใช่เพียงเพราะเจ้าของข้อมูลอยากพูดให้ฟังหรือเพราะเจ้าของขี้เกียจหรือไม่อยากลงทุน
บทความนี้จะมีการลงข้อมูลไว้เยอะหลายมุมมองมาก ในขั้นตอนต่อไปหากคุณอยากจะเรียนรู้วิธีการออกแบบ Infographic ผมก็แนะนำให้กดตรงนี้เพื่อดูคู่ทือการใช้งาน โปรแกรมง่ายและฟรีที่ชื่อว่า Canva (เป็นที่นิยมสำหรับนักออกแบบสมัยใหม่มาก)