สิ่งที่โรงเรียนบริหารธุรกิจระดับโลกให้ความสำคัญที่สุดก็คือ ภาวะผู้นำ (Leadership) แต่คำว่า ‘ภาวะผู้นำ’ จริงๆแล้วสามารถใช้กับองค์กรอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ ศาสนา หรือการเมืองก็ตาม
ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าภาวะผู้นําคืออะไรกัน ภาวะผู้นำแบบไหนถึงจะมีประโยชน์ที่สุดสำหรับองค์กร แล้วเราจะพัฒนาภาวะผู้นำของตัวเองได้อย่างไรบ้าง บทความนี้อาจจะยกตัวอย่างจากโลกธุรกิจมาเยอะ แต่โดยรวมแล้วข้อคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำสามารถใช้ได้กับหลากหลายกรณีเลยครับ
Leadership หรือ ภาวะผู้นําคืออะไร
Leadership หรือ ภาวะผู้นำ หมายถึงความสามารถของบุคคลในการนำพาผู้ติดตามหรือสมาชิกในองค์กร เพื่อให้ประสบความสําเร็จ ผู้นำที่ดีต้องมีความสามารถในการตัดสินใจที่ดี สามารถสร้างและสื่อสารวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนได้ และสามารถชักจูงผู้ติดตามไปสู่เป้าหมายร่วม ที่ผู้นำคนเดียวไม่สามารถทำได้
ในโลกธุรกิจ ผู้นำองค์กรไม่ใช่คนที่รู้เรื่องบัญชี การเงิน การตลาด หรือกฎหมายมากที่สุดหรอกครับ ผู้นำองค์กรที่ดีคือคนที่สามารถบริหารและชี้นำคนในองค์กรได้ เป็นตำแหน่งที่ส่งเสริมให้พนักงานคนอื่นสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และมีวิสัยทัศน์สามารถวางแผนระยะยาวให้กับองค์กรได้
ซึ่งคนส่วนมากคิดว่าทักษะที่จำเป็นที่สุดของผู้นำก็คือความสามารถในการ ‘ตัดสินใจ’ เพราะการตัดสินใจแทนผู้ติดตามกลุ่มมาก หมายความว่า ‘ผู้นำ’ ต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและมีเด็ดเดี่ยวใจเย็นที่จะเลือกตัวเลือกที่อาจจะยาก…แต่ส่งผลดีต่อองค์กรโดยรวม
‘ภาวะผู้นำ’ และ ‘ผู้นำที่ดี’ เป็นสองคำที่เรามักได้ยินพร้อมกันบ่อยๆ แต่สองคำนี้เหมือนกันไหมนะ?
แล้ว … ผู้นำที่ดีเป็นยังไง
ผู้นำที่ดีคือคนที่มีความมั่นใจ รับฟังความคิดเห็นของผู้ติดตาม ตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีทักษะในการสื่อสารสูง และสามารถชักจูงคนอื่นได้ ความสำคัญของทักษะเหล่านี้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมขององค์กร ความคาดหวังของผู้ติดตาม และ ชนิดของงานด้วย
ในโลกการบริหารธุรกิจ คำที่เราได้ยินกันบ่อยที่สุดก็คือ ‘แล้วแต่’ (it depends) หมายความว่าทักษะและการตัดสินใจทุกอย่าง มีประสิทธิภาพประสิทธิผลไม่เหมือนกัน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์
องค์กรแต่ละที่ เช่น บริษัทก่อสร้าง บริษัทไอที โรงงาน หรือแม้แต่พรรคการเมือง ก็ต้องการผู้นำที่มีทักษะและบุคลิกไม่เหมือนกัน บริษัทที่ทำงานเฉพาะทางก็ต้องการผู้นำที่มีความรู้ด้านอุตสาหกรรมเยอะ องค์กรที่มีแรงงานรับจ้างเยอะก็อาจจะต้องการผู้นำที่สามารถบริหารแรงงานส่วนนี้ได้ดี
คำที่เรามักนิยมได้ยินบ่อยก็คือ ‘ผู้นำที่ดีก็ต้องสามารถชักนำองค์กรได้ทุกชนิด’ แต่มันก็คงเหมือนการเอา ‘มีด อเนกประสงค์’ ไปเป็นมีดทำครัว ใช้งานได้เหมือนกันแต่ประสิทธิภาพต่ำกว่ากันมาก
การพัฒนาภาวะผู้นำ – ทักษะที่ผู้นำควรมี
ก่อนที่เราจะมาดูการพัฒนาภาวะผู้นำ เราก็ควรวิเคราะห์ก่อนว่า ‘ภาวะผู้นำ’ ส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับองค์กรในตอนนี้คืออะไรและภาวะผู้นำส่วนไหนที่ผู้นำยังขาดอยู่ โดยรวมแล้วทักษะภาวะผู้นำที่คนนิยมพัฒนากันมีดังนี้
- ความกล้า (ความสามารถในการรับความเสี่ยง) – ความกล้าของคนมีภาวะผู้นำไม่ได้หมายความว่าต้องทำอะไรบ้าบิ่น ในทางตรงข้ามความกล้าของคนมีเหตุมีผลคือการทำความเข้าใจความเสี่ยงและเลือกตัวเลือกที่ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดในความเสี่ยงที่องค์กรยอมรับได้ ยิ่งองค์กรมีขนาดใหญ่ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงก็ต้องเปลี่ยนให้เหมาะสมกับภาระที่มี
- การสื่อสาร – ในส่วนนี้หมายถึงการสื่อสารกับคนที่เกี่ยวข้อง อาจจะหมายถึงพนักงาน ลูกค้า หรือผู้ถือหุ้น หากพนักงานในองค์กรพูดภาษาอีสาน ผู้นำที่ทำงานกับพนักงานเหล่านี้บ่อยๆก็ควรเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมการทำงานของพนักงานด้วย นอกจากภาษาพูดแล้ว ภาษาทางร่างกายสีหน้า และ วิธีการพูด (เช่นพูดตรง พูดอ้อมค้อม การใช้ภาษาธุรกิจยากง่าย) ก็ควรปรับให้เหมาะสมกับคนฟังเพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากที่สุด
- การกระจายงาน – ส่วนมากแล้วสาเหตุที่ทำให้องค์กรไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้เร็วเท่าที่ควรก็เพราะผู้นำทำงานไม่ทันนั้นเหล่ะครับ หากผู้นำรู้ว่าตัวเองทำงานไม่ทัน คุมพนักงานไม่ได้ ไม่มีเวลาทำงานสำคัญเพราะมัวแต่ติดอยู่กับงานประจำ ทักษะการกระจายงาน หาคนมาช่วย หรือการจ้างคนเพิ่มก็เป็นสิ่งสำคัญ บางคนอาจจะมองว่าการกระจายงานเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานให้เป็นระบบก็ได้
- ความสามารถในการตัดสินใจ – รวมถึงการตัดสินใจใหญ่ๆและการตัดสินใจเล็กน้อยประจำวันด้วย ผู้ติดตามส่วนมากอยากได้ผู้นำที่สามารถตัดสินใจได้ถูกต้อง…แต่ความหมายของคำว่าถูกต้องนั้นก็ขึ้นอยู่หลายอย่าง ผู้นำองค์กรส่วนมากมี ‘ผู้คน’ หลายส่วนที่ต้องดูแลครับ หมายถึงพนักงาน ลูกค้า คู่ค้าทางธุรกิจ ผู้ถือหุ้นเป็นต้น การตัดสินใจหลายอย่างหมายความว่าเราต้องเลือกทำอะไรที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะไม่พอใจ
- ความฉลาดทางอารมณ์และความเห็นคนเห็นใจ – ผู้นำที่มาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างจากผู้ติดตามมักมีปัญหานี้ ‘วัฒนธรรม’ ในที่นี้อาจจะหมายถึงชนชั้น การศึกษา ฐานะครอบครัว หรือแม้แต่ชาติศาสนา องค์กรเล็กที่มีความสามารถในการหาผู้ติดตามใหม่ได้เรื่อยๆอาจจะไม่ใส่ใจเรื่องนี้มาก แต่สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่ ‘ไม่สามารถโตขึ้นได้เพราะคนไม่พอ’ การสร้างระบบทำงานที่คนทุกประเภททุกชนชั้นสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็เป็นเรื่องที่จำเป็น
หากคุณเป็นผู้นำองค์กรขนาดเล็ก เช่น SME คุณก็อาจจะต้องเป็นผู้นำที่ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ทำงานได้หลายอย่าง เพื่อที่จะขับเคลื่อนบริษัทให้วิ่งเร็วกว่าคู่แข่งเจ้าเก่าและเจ้าใหม่ หากคุณเป็นผู้นำองค์กรใหญ่ หน้าที่หลักของคุณก็คือการดูแลพนักงานและทำระบบงานให้คนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
คำว่า ‘ภาวะผู้นำไม่มากพอ’ เป็นคำพูดที่กว้างมากเกินไป ถึงแม้ว่าโดยรวมแล้วผู้นำคนนี้อาจจะไม่มีภาวะผู้นำ แต่คำว่าภาวะผู้นำไม่มากพอในสายตาแต่ละคนไม่เหมือนกัน
ตัวอย่างภาวะผู้นำ
ในส่วนนี้ผมอยากจะขอยกสองตัวอย่างเพื่อเป็นกรณีศึกษา ตัวอย่างผู้นำองค์กรขนาดใหญ่และผู้นำองค์กรขนาดเล็ก
ตัวอย่างภาวะผู้นำองค์กรขนาดใหญ่
ตัวอย่างแรกผู้นำองค์กรขนาดใหญ่ก็คือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าของบริษัทเฟสบุ๊ค ในสมัยปี 2007 ที่เฟสบุ๊คมีพนักงานแค่ 400-500 คน (ก็ถือว่าเริ่มจะกลายเป็นองค์กรขนาดใหญ่แล้ว) ผู้ถือหุ้นของเฟสบุ๊คมองว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ยังมีประสบการณ์ไม่มากพอที่จะบริหารองค์กรเฟสบุ๊คด้วยตัวเอง ทำให้เฟสบุ๊คต้องจ้าง ‘เชอริล เซนเบิก’ (Sheryl Sandberg) มาช่วยดูแลองค์กรในส่วน ‘หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ’ หรือ COO ในปีถัดมา
หมายความว่าตัว มาร์ก ที่มีความรู้และวิสัยทัศน์ทางธุรกิจและเทคโนโลยี อาจจะไม่มีทักษะการบริหารองค์กรในขนาดใหญ่มากพอ หน้าที่หลักของเชอริลคือการทำให้ ‘เฟสบุ๊คมีกำไร’ ความหมายในเชิงธุรกิจก็คือการเพิ่มรายได้ (พัฒนาระบบโฆษณา) และการลดค่าใช้จ่าย (ใช้คนยังไงให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด)
เรื่องของเฟสบุ๊คสอนเราได้สองอย่างเกี่ยวกับการเป็นผู้นำ อย่างแรกก็คือ หากองค์กรเรามีทรัพยากรณ์มากพอ (หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘มีเงิน’ จ้างคนนอกเข้ามาช่วย) ผู้นำที่ดีก็ควรยอมรับทักษะจุดด้อยตัวเองและหาคนที่สามารถทดแทนทักษะนี้แทน การปลดภาระที่ทักษะเราไม่เอื้ออำนวยจะทำให้เราโฟกัสส่วนที่สำคัญกว่าได้ง่ายขึ้น
อย่างที่สองเราจะเห็นได้ว่าในบริษัทใหญ่ ‘ผลผลิตของผู้นำไม่กี่คน’ ไม่เยอะเท่าการที่เรา ‘บริหารพนักงานให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ’ คนหนึ่งคนไม่สามารถทำงานแทนคนห้าร้อยคนได้
ตัวอย่างภาวะผู้นำองค์กรเล็ก เช่น SME
สำหรับองค์กรเล็กอย่าง SME โดยเฉพาะองค์กรที่มีผู้นำน้อย ปัญหาขององค์กรแบบนี้ก็คือ ‘มีผู้นำที่สามารถทำการตัดสินใจได้น้อย’ ทำให้เจ้าของกิจการหรือผู้นำหลักต้องทำงานหลายอย่างเพื่อที่จะผลักดันกิจการ
ตัวอย่างก็คือภัตตาคารหรือร้านอาหารเล็กๆ แบบมีหนึ่งสาขา ในกรณีที่ไม่มีผู้จัดการร้าน เจ้าของต้องดูแลพนักงาน ดูแลความเรียบร้อยของร้านเอง เจ้าของก็จะไม่มีเวลามาหาวิธีทำการตลาดใหม่ๆหรือหาวัตถุดิบราคาที่ถูกลงเป็นต้น ในกรณีนี้หน้าที่หลักของผู้นำคนนี้ก็คือการดูแลปฏิบัติการหรือดูว่าจะให้พนักงานทำงานยังไงให้ดีที่สุด
แต่หน้าที่ของผู้นำส่วนการปฏิบัติการก็ต้อง ‘มีวันหมดอายุ’ ธุรกิจที่เจ้าของกิจการหรือผู้นำหลักมัวแต่พะวงอยู่กับงานปฏิบัติประจำวันก็จะไม่สามารถหาอะไรใหม่ สร้างความแตกต่าง หรือปรับตัวเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจได้ (เช่นลูกค้าประจำหาย มีคู่แข่ง โฆษณาขึ้นราคา ซัพพลายเออร์ปิดกิจการ)
เพราะฉะนั้นหน้าที่หลักของผู้นำก็คือการสร้างระบบทำงานและรีบจ้างผู้จัดการร้านเพื่อ ‘กระจายงาน’ ส่วนบริหารพนักงานให้เร็วที่สุด
‘หน้าที่แรก’ ของเจ้าของกิจการ SME คือการทำทุกอย่างเองเสมอ แต่เมื่อไรที่ SME มีเงินทุนและบุคลากรมากพอ หน้าที่ของผู้นำองค์กรของ SME ก็ควรเป็นการสร้างระบบและกระจายงานเพื่อลดหน้าที่การทำ ‘งานประจำ’ สำหรับเจ้าของ ในแง่นี้ ทักษะของผู้นำบริษัท SME ก็คือการเรียนรู้ในช่วงแรก และ การกระจายงานในช่วงรองลงมา
ประโยชน์ของภาวะผู้นำ
คนที่มีภาวะผู้นำดีก็คงมีคนชอบมีคนอยากเดินตามเยอะขึ้น อย่างไรก็ตามประโยชน์ของภาวะผู้นำนั้นสำคัญตรงที่ผลลัพธ์ที่ผู้นำมีต่อผู้ติดตามหรือองค์กร องค์กรที่มีภาวะผู้นำที่ดีย่อมสามารถขับเคลื่อนตัวได้ดีกว่าองค์กรอื่นๆ จากทักษะภาวะผู้นำที่ดีในหัวข้อข้างบน เราจะเห็นได้ว่าประโยชน์มีดังนี้
- แรงงานสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่า – ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือการกระจายงานอย่างเหมาะสมและผลักดันให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- องค์กรสามารถประสบความสำเร็จได้ในภาวะกดดัน – ผู้นำที่สามารถบริหารคนได้ดีจะตัดสินใจและชักจูงให้องค์กรขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดี ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะไหนก็ตาม
- องค์กรมีความฉลาดทางอารมณ์มากกว่า – คนที่มีภาวะผู้นำที่ดีย่อมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นและส่งเสริมให้องค์กรเปิดรับความคิดเห็นใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง
- มีเสน่ห์และสามารถดึงดูดคนได้มากกว่า – ไม่ว่าใครก็อยากจะติดตามคนที่มีภาวะผู้นำที่ดี พนักงาน คู่ค้าทางธุรกิจ หรือลูกค้าก็อยากจะร่วมงานด้วย
- สร้างความมั่นใจให้ผู้ติดตาม – หากพนักงานหรือผู้ติดตามมีความมั่นใจในผู้นำ พนักงานก็จะต่อต้านการตัดสินใจน้อยลง ซึ่งก็จะทำให้ประสิทธิภาพขององค์กรมากขึ้น
- พัฒนาทักษะการสื่อสารโดยรวม – นอกจะผู้นำจะสามารถสร้างระบบให้คนในองค์กรสามารถสื่อสารได้ดีขึ้นแล้ว คนในองค์กรยังมีแนวโน้มที่จะแบ่งบันความรู้ทักษะต่างๆมากขึ้นด้วย
- ทำให้องค์กรเห็นค่าของความแตกต่างทางทักษะและประสบการณ์ – การจัดวางกระจายงานให้ถูกคนถูกสถานที่ทำให้ทุกคนสามารถใช้ทักษะได้ช่วยเหลือกันและกันได้อย่างเต็มที่
- มีความคิดสร้างสรรค์และส่งเสริมนวัตกรรม – การสื่อสารและวัฒนธรรมองค์กรที่ดีจะสร้างนวัตกรรมที่ดีได้
ความสำคัญของภาวะผู้นำ
องค์กรที่ทำงานซ้ำเหมือนกัน เจอกับคู่ค้าหรือลูกค้ากลุ่มเดิม ไม่มีคู่แข่งใหม่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็จะสามารถคงตัวอยู่ได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะไม่มีผู้นำหรือผู้คอยบัญชาก็ตาม
แต่หากเรานำ ‘ผู้นำ’ ออกไปจากระบบทำงาน เราจะเห็นได้ว่าพนักงานที่ไม่มีแรงจูงใจในการทำงานส่วนมากก็จะตั้งใจทำงานน้อยลง เหมือนคำว่าแมวไม่อยู่หนูร่าเริง และเมื่อไรที่มีคนทำตัวขี้เกียจ พนักงานคนอื่นก็จะรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกเอาเปรียบอยู่…จนทำตัวขี้เกียจตาม
ในกรณีนี้ ผู้นำมีหน้าที่ ‘สร้างกำลังใจในการทำงาน’ ให้กับพนักงาน บางคนอาจจะกระตุ้นด้วยเงิน บางคนอาจจะกระตุ้นด้วยกำลังใจแนวบวก ขึ้นอยู่กับวิธีการบริหารและวัฒนธรรมของผู้ติดตาม
ซึ่งหลักการบริหารและวัฒนธรรมองค์กรก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะการเข้าใจวัฒนธรรมองค์กร ก็เป็นหน้าที่หนึ่งของคนที่มีภาวะผู้นำ หากใครสนใจศึกษาเรื่องนี้ ผมแนะนำให้อ่านบทความเรื่อง วัฒนธรรมองค์กรคืออะไร? วัฒนธรรมองค์กรที่ดีมีอะไรบ้าง?
อย่างไรก็ตาม ภาวะความเป็นผู้นำจะมีความสำคัญมากขึ้น…ทุกครั้งที่องค์กรประเชิญปัญหาหรือต้องการปรับตัว เหมือนคำพูดที่ว่า ‘สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ’
ในช่วงที่องค์กรประสบปัญหา ความสำคัญของภาวะผู้นำจะอยู่ที่การตัดสินใจ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และการสร้างแรงจูงใจในผู้ติดตาม (ในการช่วยกันแก้ปัญหา) บางคนอาจจะบอกด้วยว่าความสำคัญของผู้นำอาจจะอยู่ที่ ‘การเตรียมตัวล่วงหน้า’ เพื่อรองรับสถานการณ์พวกนี้ด้วยซ้ำ
ความสำคัญของภาวะผู้นำขึ้นอยู่กับขนาดขององค์กร ขนาดของปัญหา และขนาดของคนที่เจอผลกระทบจากภาวะผู้นำ
ย้อนกลับไปเมือปี 2017 บริษัท ซัมซุงได้ผลิตมือถือรุ่น Note 7 ออกมา ซึ่งก็คือว่าเป็นมือถือตัวทำเงินหลักของบริษัทเลย แต่ปัญหามีอย่างเดียว…แบตเตอรี่มือถือระเบิด บางคนอาจจะมองว่าบริษัทไม่ควรเร่งผลิตสินค้าออกมาเร็วจนควบคุมคุณภาพไม่ได้ ซึ่งมันก็จริง แต่ตัวเลือกที่สำคัญมาจากเวลาที่ปัญหาเกิดขึ้นแล้วครับ
ซัมซุมยอมเรียกคืนสินค้าทั้งหมดกว่า สองล้านเครื่อง (คิดเป็นเงินประมานหลายแสนล้านบาท) เพื่อรักษาชื่อเสียงที่เหลืออันน้อยนิดของไลน์สินค้านี้ไว้ ในกรณีนี้ผมมองว่าภาวะผู้นําจริงๆไม่ได้มาจากทักษะอะไรมากมายเลย แค่ขอให้องค์กรมีความรับผิดชอบต่อลูกค้าและต่อความผิดของตัวเองก็ถือว่ามีภาวะผู้นำสูงแล้ว
หากเราดูในประเทศไทย เราจะเห็นได้ว่ายักษ์ใหญ่อย่าง ซีพี ปตท เอสซีจี สามารถส่งผลกระทบต่อพนักงานและผู้บริโภคได้เยอะมาก การตัดสินใจเล็กๆน้อยๆก็อาจจะทำให้พนักงานหลายคนตกงาน เจ้าของกิจการขนาดเล็กเจ๊งได้ ซึ่งกลุ่มคนพวกนี้ก็มีครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดูแลอีก
ในกรณีนี้สิ่งที่คนเริ่มถกเถียงกันมากในโรงเรียนบริหารธุรกิจระดับโลกก็คือ…ผู้นำที่แท้จริงต้อง ‘นำ’ อะไรบ้าง นำแค่พนักงาน? นำแค่องค์กร? นำแค่รายได้กำไร? หรือต้องแบกรับนำทั้งประเทศ?
Leadership is a responsibility, not a skill
ภาวะผู้นำ คือหน้าที่อย่างหนึ่ง ไม่ใช่ทักษะ
สำหรับคนที่ชอบบทความบนบล็อกนี้แล้วรู้สึกว่าอยากอ่านเพิ่ม ผมได้ทำ ‘สารบัญ’ ที่เรียบเรียงบทความพื้นฐานในการทำธุรกิจมาให้ทุกคนแล้ว สามารถ โหลดฟรีได้ที่นี่ ครับ และสุดท้ายนี้ เรื่องของการทำงานให้เร็วเป็นหัวข้อที่ผู้อ่านหลายคนเรียกร้องให้ผมเขียน ในส่วนนี้ผมได้ทำคู่มือ มินิอีบุ๊ค ทำงานให้เร็ว ทำงานอย่างฉลาด ที่ทุกคนสามารถโหลดได้ฟรีๆเลย คลิกตรงนี้ ครับ