การทำโครงการ เป็นศัพท์ที่เราได้ยินตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือมาจนถึงการทำงาน ไม่ว่าจะประเภทไหนก็ตามทุกรูปแบบล้วนเป็นสิ่งที่มีความน่าสนใจทั้งสิ้น เพราะจุดมุ่งหมายสำคัญคือต้องการพัฒนาสิ่งรอบตัวให้ดีขึ้นในทุก ๆ รูปแบบตามความเหมาะสมของโครงการนั้น ๆ
ผมเชื่อว่าคงมีหลายคนเกิดคำถามตามมาจำนวนไม่น้อยเกี่ยวกับสิ่งที่ถูกเรียกว่า “โครงการ” หรือ Project จริง ๆ แล้วมันมีความหมายอย่างไรกันแน่ มีกี่ประเภท แล้วรูปแบบการเขียนโครงการที่ดีต้องเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้จะขอนำเสนอเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและนำเอาไปปรับใช้ได้จริง
โครงการคืออะไร?
Project หรือ โครงการ คือ แผนหรือเค้าโครงที่ได้ถูกกำหนดวางรูปแบบเอาไว้ โดยมีลำดับขั้นต่าง ๆ ที่ชัดเจน ส่วนประกอบของการเขียนโครงการที่ดีได้แก่วัตถุประสงค์การจัดทำโครงการขึ้นมา ระยะเวลาของโครงการ วิธีขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำโครงการ งบประมาณที่ถูกใช้งาน และรายงานผลลัพธ์ตอนท้ายหลังดำเนินการ
ซึ่งลักษณะของโครงการที่ว่าสามารถทำได้หลากหลาย ไล่ตั้งแต่โครงการขนาดใหญ่ระดับอำเภอ, จังหวัด, ประเทศ ซึ่งมักเป็นสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ต่างกันออกไป หรือจะเป็นโครงการเล็ก ๆ ในระดับชั้นเรียน, สถานศึกษา, ชุมชน, หมู่บ้าน ฯลฯ
ทั้งนี้ความซับซ้อนของโครงการก็จะแยกย่อยออกไปอีก เช่น บางโครงการมีการรวบรวมแผนดำเนินการเอาไว้หลายเรื่อง เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมในช่วงหน้าแล้ง ที่ต้องมีโครงการแยกย่อยในด้านการจัดหาแหล่งน้ำ, วิธีกักเก็บน้ำ, การปล่อยน้ำหรือแจกจ่ายน้ำอย่างเหมาะสม เป็นต้น
ขณะที่อีกหลายโครงการอาจไม่ต้องซับซ้อนมากถึงขนาดนั้น เพียงแค่ระบุกันตรง ๆ ได้เลยว่าต้องการทำอะไร เช่น โครงการจัดเก็บขยะมูลฝอยในชุมชน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามทุกโครงการจำเป็นต้องมีเรื่องของเงินทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการหาผู้สนับสนุนเอง, มีคนอยากเข้ามาสนับสนุน หรือการได้งบจากองค์กรใด ๆ เพื่อนำมาใช้ในการทำโครงการ ซึ่งตรงนี้มักเป็นเรื่องน่าปวดหัวขอคนที่รับผิดชอบงาน
เช่น นำเสนอไปแล้วนายทุนยังมองว่าไม่ดีพอ ไม่อนุมัติเงินให้ทำ, การเขียนโครงการไม่มีความสอดคล้องกัน บางเรื่องเกินที่จะทำได้ ฯลฯ ดังนั้นคนที่คิดจะทำโครงการไม่ได้หมายความว่าจะผ่านทั้งหมด แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
โครงการมีกี่ประเภท
ในเรื่องของประเภทโครงการต้องยอมรับว่าจริง ๆ แล้วไม่มีประเภทตายตัวแน่นอน เพราะแต่ละคนที่คิดจัดทำโครงการขึ้นมาอาจเป็นได้มากกว่า 1 ประเภท แต่จะขอแบ่งกลุ่มโดยใช้เกณฑ์ลักษณะโครงการต่าง ๆ เป็นหลักว่ามีประเภทไหนบ้างและวัตถุประสงค์พื้นฐานของการจัดทำโครงการคืออะไร
1. โครงการด้านการวิจัยและทดลอง
โครงการประเภทนี้จะเน้นเรื่องของการตั้งสมมุติฐานแล้วพยายามหาแนวทางแก้ปัญหาด้วยวิธีต่าง ๆ โดยเฉพาะการทดลอง ออกแบบ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์อันน่าพึงพอใจหรือเป็นไปตามการตั้งสมมุติฐานขึ้นมาในเบื้องต้น (มักเรียกว่าการทดสอบสมมุติฐาน) และสามารถนำไปพัฒนาเพื่อต่อยอดความสำเร็จในอนาคตได้ มีการศึกษาตัวแปรต่าง ๆ รวมถึงการควบคุมตัวแปรเพื่อให้อยู่ในผลของโครงการตรงกับวัตถุประสงค์มากที่สุด
2. โครงการด้านทฤษฎี
เป็นการนำเอาทฤษฎีต่าง ๆ มาตั้งเป็นสมมุติฐานขึ้นมา แล้วพยายามใช้แนวคิดอีกหลาย ๆ ด้านเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดเป็นโครงการอันน่าสนใจ ประเด็นสำคัญคือคนที่เลือกทำโครงการลักษณะนี้จะต้องมีความเชี่ยวชาญในภาคทฤษฎีนั้น ๆ อย่างเข้าถึงและละเอียดสุด ๆ เพราะถือว่าเป็นการศึกษาแบบเฉพาะทางล้วน ๆ
3. โครงการด้านสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมใหม่
ถือเป็นประเภทโครงการที่มักเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง หลัก ๆ คือ พยายามนำเอาองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่มีมาศึกษาและพัฒนาให้เกิดเป็นสิ่งของชิ้นใหม่ในโลกที่ยังไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน ทั้งนี้ในด้านวัตถุประสงค์ของการจัดทำโครงการประเภทดังกล่าวอาจมีความหลากหลายมาก ไล่ตั้งแต่ทำเพื่อพัฒนาสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้นอีก, ต้องการสร้างสิ่งของใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์การใช้งาน, จัดทำโครงการเพื่อหวังสร้างความเจริญก้าวหน้า เป็นต้น
4. โครงการด้านการสำรวจ
โครงการแนวนี้จะเน้นการใช้แหล่งข้อมูลและการลงพื้นที่จริงในการศึกษารายละเอียดต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง ไม่จำเป็นต้องสร้างตัวแปรหรือสมมุติฐานใด ๆ ขึ้นมา เนื่องจากมองเห็นผลกันตอนลงสำรวจอยู่แล้ว เมื่อได้ข้อมูลก็จับแยกออกเป็นหมวดหมู่ พอถึงช่วงของการนำเสนอก็มักจะใช้รูปแบบที่มีความชัดเจน เข้าใจง่าย สำหรับการนำไปใช้เพื่อศึกษาข้อมูลสำหรับคนที่สนใจในโครงการดังกล่าวนี้ต่อไป
5. โครงการด้านพัฒนาธุรกิจ
หลาย ๆ ธุรกิจโดยเฉพาะภาคเอกชนมักร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยหรือผู้สนับสนุนต่าง ๆ ในการจัดทำโครงการเพื่อหวังจะช่วยพัฒนาธุรกิจในกลุ่มของตนเองก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งโครงการลักษณะนี้ต้องเน้นเรื่องของสถิติเก่า ๆ, แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภค และปัจจัยอื่น ๆ ทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะทำให้คนในแวดวงมีข้อมูลในการต่อยอดมากขึ้นกว่าเดิม
การเขียนโครงการต้องมีอะไรบ้าง
มาถึงสิ่งที่จะช่วยทำให้โครงการของทุกคนเสร็จสมบูรณ์นั่นคือ แนวทางในการเขียน พูดง่าย ๆ คือ หากใครอยากจัดทำหรือทำโครงการใด ๆ ขึ้นมา ก็ควรต้องรู้แนวทางการเขียนด้วยว่ามีอะไรบ้าง โดยในที่นี้จะขออธิบายส่วนสำคัญเท่านั้น
#1 หลักการและเหตุผล (Theory) เป็นส่วนแรกสุดเพื่อบ่งบอกถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้น และมีการนำเอาแนวทางเบื้องต้นใด ๆ ที่คาดว่าน่าจะใช้งานได้บ้างระบุลงไป
#2 วัตถุประสงค์ (Purpose) เป็นเรื่องปกติของการทำโครงการเมื่อคิดจะทำก็ต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าโครงการนี้ทำมาเพื่ออะไร
#3 วิธีดำเนินงาน (Methodology) เขียนระบุวิธีที่จะใช้ในการทำโครงการครั้งนี้ โดยแบ่งออกเป็นขั้นตอนต่าง ๆ อย่างครบถ้วน เหมาะสม พร้อมทั้งเป็นขั้นตอนที่ต้องทำออกมได้จริง ๆ ด้วย
#4 แผนการปฏิบัติงาน (Planning) ตรงนี้จะต่างกับวิธีดำเนินงาน คือ แผนนั้นหมายถึงการวางระบบ วางแนวทางที่ชัดเจนในการทำงาน ซึ่งไม่ใช่มีแค่แผนเดียวแต่ควรคิดเผื่อเอาไว้ด้วย
#5 ระยะเวลา (Timeline) เพื่อให้รู้ว่าโครงการดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อไหร่ และมีวันสิ้นสุดเมื่อไหร่
#6 งบประมาณ (Budget) เป็นการแจกแจงรายละเอียดด้านการเงินว่าโครงการครั้งนี้เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ตรงกับที่วางแผนเอาไว้หรือไม่
#7 ผลของโครงการ (Results) เป็นตัวระบุผลของโครงการดังกล่าวว่าสรุปแล้วเป็นอย่าไงไรบ้าง ตรงตามที่คาดหวังเอาไว้มากน้อยเพียงใด
จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะเห็นว่าโครงการเป็นสิ่งที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้จริง แต่ก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเหมาะสม ทั้งเรื่องของการเลือกโครงการที่ตอบโจทย์ในช่วงเวลาดังกล่าว ผลโครงการเอาไปใช้งานหรือสร้างประโยชน์ได้ ฯลฯ เท่านี้ก็ถือว่าเป็นวิธีจัดการที่ประสบความสำเร็จในระดังหนึ่งแล้ว ส่วนโครงการไหนจะใหญ่หรือเล็กก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง แต่จุดมุ่งหมายของทุก ๆ งานย่อมเหมือนกันคือ ได้ผลลัพธ์ตรงตามที่คาดหวังเอาไว้