ไม่ว่าจะเล่นหวย เล่นหุ้น หรือทำธุรกิจ…ทุกการลงทุนก็ต้องมีการหวังผลตอบแทน หรือ ROI ทั้งนั้น และถ้าจะให้ดีเราก็ควรจะหวังให้ผลตอบแทน ให้ได้กำไร หรือ ได้เงินมากกว่าที่ลงไปใช่ไหมครับ?
โลกของธุรกิจเป็นโลกแห่งการวัดค่าและการเทียบผลตอบแทน ซึ่งวิธีวัดค่าการลงทุนก็มีหลากหลายมากไม่ว่าจะเป็น NPV IRR หรือ ROAS แต่โดยรวมแล้วนักการตลาดส่วนมากจะนิยมใช้ค่า ROI หรือที่เรียกว่า Return on Investment เป็นตัววัดผลครับ
ในวันนี้เรามาศึกษากันว่า ROI คืออะไร คำนวณยังไง และใช้ทำอะไรได้บ้าง (สำหรับคนที่อยากดูวิธีคำนวณสามารถกดตรงนี้เพื่อข้ามไปส่วนคำนวณทันที)
ROI คืออะไรกันนะ
Return on Investment (ROI) คือตัวเลขที่แสดงถึงผลตอบแทนของการลงทุน นิยมใช้ในการวิเคราะห์การลงทุนการตลาด ROI สูงเท่ากับว่ากำไรเยอะถ้าเทียบกับทุนที่ลงไป ROI ใช้ในการเปรียบเทียบการลงทุนต่างๆ เพื่อเลือกการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดได้
ยกตัวอย่างเช่น ROI = 0.5 (หรือบางคนอาจจะบอกว่า ROI = 50%) แปลว่าทุกๆ 1 บาทที่เราใส่เข้าไป เราจะได้ผลตอบแทนกลับมา 1.5 บาท หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือกำไร 50% ถ้าสมมุติว่าถ้า ROI = 2 (หรือ ROI = 200%) ก็เท่ากับว่าทุกๆ 1 บาทที่เราใส่ไปเราจะได้กำไร 2 บาท (กำไร 2 บาทเท่ากับได้เงินมา 3 บาท ลบ 1 บาทในการลงทุน)
สาเหตุที่คนนิยมใช้ ROI ก็เพราะว่า ROI เป็นตัวเลขที่คำนวณและสื่อสารได้ง่าย หากเราลงเงินไปหนึ่งก้อน เราจะได้เงินกลับมาใส่สัดส่วนเท่าไร? ในบริบทของการตลาดหรือการลงทุนแล้ว การเปรียบเทียบตัวเลขพวกนี้ของแต่ละโปรเจคก็จะทำให้เราเลือกวิธีหรือช่องทางที่ทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดได้
วิธีคำนวณ ROI
ROI ก็คือสัดส่วนของกำไรต่อค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการลงทุน วิธีคำนวณ ROI สามารถดูได้ข้างล่างนี้เลยครับ
Return on Investment หรือ ROI = (กำไร ÷ ต้นทุน) x 100%
และ
กำไร = รายรับ – เงินลงทุนทั้งหมด
ความหมายของ ‘กำไร’ ก็คือกำไรรวมที่รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว เช่นค่าสินค้า ค่าการตลาด ค่าจ้างพนักงาน และต้นทุนหรือเงินลงทุนก็คือเงินก้อนที่ใช้ในการลงทุนโปรเจคนั้นๆ
ตัวอย่างการคำนวณ ROI
ยกตัวอย่างการคำนวณ ROI
สมมุตว่าร้านค้า A ขายเสื้อผ้าเด็กทำโฆษณาออนไลน์ได้รายได้ 10,000 บาทจากช่องทางนี้ ด้วยค่าโฆษณา 3000 บาท และค่าสินค้า 2000 บาท เราก็จะสามารถคำนวณ ROI ออกมาได้ดังนี้ครับ
ROI = (10000 – 3000 – 2000) / 3000
= 1.67 หรือ 167% นั่นเอง
แปลว่า ‘การทำการตลาด’ ครั้งนี้เราได้เงินกลับมา 1.67 เท่า หรือลงโฆษณาไป 3000 บาทได้กำไร 5000 บาทนั่นเอง
การคำนวณอาจจะยากง่ายขึ้นอยู่กับแต่ละคน สำหรับการทำธุรกิจคำนวณผิดนิดเดียวก็ขาดทุนแล้ว ในส่วนนี้ผมได้ทำ คู่มือเรื่องการคำนวณในธุรกิจ มาให้ทุกคนโหลดอ่านฟรีกันครับ
ROI ใช้ทําอะไร
วิธีใช้ ROI เบื้องต้นก็คือใช้ดูว่าแต่ละโปรเจค แต่ละแคมเปญการตลาด หรือแต่ละการลงทุนมีผลตอบแทนเท่าไร ยิ่งตัวเลขเยอะก็ยิ่งดี
ในการขาย เรายังสามารถใช้ ROI วัดผลตอบแทนของสินค้าและพนักงานขายได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นสินค้า A หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วมี ROI 1.2 แต่สินค้า B มี ROI 2.5 การใช้ ROI วิเคราะห์การขายหรือการตลาดช่วยทำให้เราเห็นโอกาสการพัฒนายอดขายเพิ่มเติมมากขึ้นด้วยการแบ่งตลาด (Segmentation) เพิ่มเติมภายหลัง
หรือในกรณีของพนักงานขาย เราก็สามารถใช้ ROI วัดยอดขาย และ รายได้ เทียบกับค่าใช้จ่ายของพนักงานขายได้เช่นกัน โดยที่ค่าใช้จ่ายส่วนมากคือเงินเดือนและค่าคอม
ROI มากกว่า 0 | การลงทุนมีกำไร |
ROI เท่ากับ 0 | การลงทุนไม่มีกำไร แต่ก็ไม่ขาดทุน (เท่าทุน) |
ROI น้อยกว่า 0 | การลงทุนขาดทุน |
ตารางข้างบนเป็นแค่ตัวเลขที่ช่วยตัดสินใจเบื้องต้นนะครับ ตามความจริงแล้วคนที่ดูเรื่องการลงทุนหรือการตลาดจะมีเกณฑ์ตัดสินที่ดีกว่านี้ บางคนอาจจะมองว่าขอแค่ ROI มากกว่า 0 ก็ดีแล้ว (ได้กำไร) แต่บางคนอาจจะไม่คิดอย่างนั้น
ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนต่อปีแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ บางคนอาจจะมองว่าเอาเงินไปฝากธนาคารยังปลอดภัยกว่าเป็นต้น
ใช้ ROI เพื่อจัดลำดับความสำคัญของการลงทุน
นอกจากนั้นแล้วเรายังสามารถใช้ ROI เพื่อจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนได้อีกด้วย เพราะไม่ใช่ทุกธุรกิจที่จะมีเงินลงทุนและทรัพยากรไม่จำกัด ในความเป็นจริงธุรกิจอาจจะมีเงินลงทุนแค่ 1 หรือ 2 ก้อนเท่านั้น
ตามหลักของการลงทุน ถ้าเรามีเงินและมีทรัพยาการณ์ไม่จำกัดเราก็ควรทำทุกโปรเจคที่ได้กำไร ไม่ว่า ROI จะน้อยแค่ไหน แต่ในโลกความเป็นจริงมันคงทำไม่ได้
เพราะฉะนั้นเจ้าของธุรกิจก็ต้องวิเคราะห์ ROI ของโปรเจคที่น่าลงทุนทั้งหมดและเลือกแค่ไม่กี่โปรเจคที่จะทำ จากข้อจำกัดเรื่องเงินลงทุน เวลา หรือจำนวนพนักงานเป็นต้น
และเพื่อที่จะทำให้เราดู ROI ได้ชัดเจนกว่าเดิม บางคนอาจจะนำ ROI มารวมกับการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้วยก็ได้ยกตัวอย่างเช่น การลงทุน A มีโอกาส 40% ที่จะได้ ROI มากกว่า 2 (ได้กำไร) มีโอกาส 30% ที่จะได้ ROI เท่ากับ 0 (เท่าทุน) และก็มีโอกาสอีก 30% จะได้ ROI ต่ำกว่า 0 (ติดลบหรือขาดทุน) เป็นต้นครับ
ข้อเสียของการใช้ ROI
ROI คือตัววัดกำไรจากการลงทุนในระยะเวลาระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เท่ากับว่าการวิเคราะห์ผลลงทุนด้วย ROI จะไม่สามารถใช้ดูภาพรวมของการลงทุนได้ทั้งหมด แต่มันหมายความว่ายังไงกันนะ?
ปัญหาแรกที่ธุรกิจอาจจะเจอก็คือ บางครั้ง ROI ในระยะยาวอาจจะสูง แต่ในระยะสั้นนั้น โปรเจคนี้ต้องใช้เงินลงทุนเยอะทำให้อาจจะมีปัญหาเรื่องการระดมทุนหรือเรื่องการหมุนเงินในระยะสั้น
และแน่นอนว่า ROI เป็นแค่หนึ่งในเครื่องมือวิเคราะห์ผลการลงทุนเท่านั้น เท่ากับว่าโอกาสที่จะวิเคราะห์ผิดหรือถูกขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฝีมือของคนวิเคราะห์ หรือปัจจัยที่เกี่ยวกับตอนปฏิบัติทำโปรเจคเช่นปัจจัยภาครัฐหรือปัจจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมภายนอกเป็นต้น
ข้อแนะนำสำหรับการใช้เครื่องมือนี้ก็คือเราควรที่จะใช้เครื่องมือวิเคราะห์ผลตอบแทนอื่นๆในการประกอบการตัดสินใจด้วยยกตัวอย่างเช่น NPV (Net Present Value) หรือ IRR (Internal Rate of Return) เป็นต้น
สำหรับคนที่ชอบบทความบนบล็อกนี้แล้วรู้สึกว่าอยากอ่านเพิ่ม ผมได้ทำ ‘สารบัญ’ ที่เรียบเรียงบทความพื้นฐานในการทำธุรกิจมาให้ทุกคนแล้ว สามารถ โหลดฟรีได้ที่นี่ หรือหากใครชอบเรียน ชอบศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการทำธุรกิจ การบริหาร ผมได้เขียนอีบุ๊คเรื่องข้อมูลการทำธุรกิจ ที่ถูกสอนในโรงเรียนบริหารธุรกิจทั่วโลก หวังว่าทุกคนจะชอบครับ อีบุ๊ค ฉลาดรู้ ฉลาดทำธุรกิจ