ทําไมพนักงานไม่พัฒนาตนเอง – 7 เหตุผลและวิธีแก้ไข

ทําไมพนักงานไม่พัฒนาตนเอง - 7 เหตุผลและวิธีแก้ไข

การที่พนักงานไม่พัฒนาตัวเองนั้นทำให้เกิดปัญหาสำหรับองค์กรหลายอย่าง ธุรกิจที่มีแต่พนักงานที่อยู่คงที่ก็จะปรับตัวยากพอประสบปัญหาอะไรก็จะติดขัดบ่อย ในบทความนี้เรามาดูกันว่าเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้พนักงานไม่อยากพัฒนาตัวเอง และวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นมีอย่างไรบ้าง

7 เหตุผลเรื่อง ทําไมพนักงานไม่พัฒนาตนเอง

#1 พนักงานไม่รู้หน้าที่สูงสุดของตัวเองคืออะไร

เหตุผลเบื้องต้นก็คือพนักงานไม่รู้ว่าเป้าหมายการทำงานของตัวเองคืออะไร ซึ่งก็หมายความว่าพนักงานไม่เข้าใจว่าทักษะไหนถึงจะจำเป็นสำหรับการทำงาน สุดท้ายก็เลยไม่เข้าใจว่าทักษะไหนที่ต้องพัฒนากันแน่

ปัญหานี้เกิดขึ้นได้บ่อยกับพนักงานที่ทำงานหลายหน้าที่ หรือมีหัวหน้าคอยสั่งงานอยู่ตลอดเวลา 

วิธีแก้ง่ายๆก็คือการนั่งคุยกับพนักงานทีละคน เพื่อตั้งความคาดหวังจากการทำงาน หัวหน้าต้องสามารถบอกพนักงานได้ว่าหน้าที่ไหนสำคัญสุดและหน้าที่ไหนสำคัญรองลงมา ผมแนะนำให้ลองศึกษาคู่มือนี้ของผม เรื่องการตั้ง KPI

#2 พนักงานไม่รู้ว่าจะตั้งใจทำไปเพื่ออะไร

ในส่วนนี้เป็นเรื่องของการให้ค่าตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนตำแหน่ง การเพิ่มเงินเดือน หรือการให้รางวัลตอบแทนเล็กๆน้อยๆ

นักร้องก็คงอยากร้องเพลงให้เก่ง เพราะจะได้สามารถรับงานได้เยอะขึ้น พนักงานในองค์กรก็เช่นเดียวกัน

ปัญหานี้เกิดได้บ่อยในองค์กรที่ไม่มีระบบเรื่องการดูแลทรัพยากรมนุษย์ที่ดีพอ เช่นการประเมินผลการทำงานของพนักงานอย่างต่อเนื่อง และการให้รางวัลที่เหมาะสมกับผลประกอบการ เช่น ในกรณีที่พนักงานฝ่ายขายได้รับโบนัสเยอะหากขายได้ดี พนักงานฝ่ายบัญชี ฝ่ายการเงิน หรือแผนกการปฏิบัติการต่างๆก็ควรได้รับโบนัสหากสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้

ในส่วนนี้เราให้รางวัลอย่างเดียวไม่พอนะครับ เราต้องสื่อสารให้พนักงานเข้าใจว่าทำอย่างไรถึงจะได้รางวัล และต้องแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วย

#3 ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไร

ในบางครั้งหากเรามองมาจากด้านบนขององค์กร เราก็จะไม่เข้าใจวิธีคิดและปัญหาของคนด้านล่าง

หากเรามองว่าพนักงานเป็นคนที่มีประสบการณ์น้อยกว่าเจ้าของธุรกิจ เราก็อาจจะเข้าใจได้ว่าพนักงานบางคนไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไร 

การบอกให้พนักงานไปพัฒนาตัวเอง ก็เหมือนกับการบอกให้เด็กประถมไปหัดเรียนเลขด้วยตัวเอง คนที่ไม่เคยเรียนมาก่อนก็อาจจะไม่รู้ว่าต้องไปเรียนเรื่องอะไรกันแน่

หากหัวหน้าหรือฝ่ายบุคคลสามารถบอกพนักงานได้อย่างชัดเจนก็จะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด แต่หากไม่มีเวลา การหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาอบรมก็เป็นตัวเลือกที่ดี

#4 พนักงานไม่อยากทำงาน

ในส่วนนี้เราก็ต้องยอมรับว่าพนักงานบางคนนั้นไม่ได้มีแรงจูงใจในการทำงานเหมือนพนักงานทั่วไป ซึ่งบุคคลเหล่านี้ทางองค์กรอาจจะต้องใช้แรงจูงใจเป็นอย่างมากเพื่อเป็นการผลักดันให้พนักงานอยากทำงานและอยากพัฒนาตัวเอง

โดยเบื้องต้นแล้ว พนักงานที่ไม่อยากทำงานเป็นพนักงานที่เจ้าของธุรกิจทุกที่กลัว จะเชิญออกก็มีค่าใช้จ่าย จะเก็บไว้ก็อาจทำให้เสียงานใหญ่ๆได้ ยังไงก็ไม่คุ้มสักทาง

ให้ลองสังเกตุแต่เนิ่นๆ ว่าพนักงานคนไหนดูชอบงานให้ตัวเองทำ และพนักงานคนไหนไม่มีแรงจูงใจในการทํางาน 

องค์กรควรเรียกพนักงานที่มีแรงจูงใจน้อยมาคุย ในเบื้องต้นที่สุดก็ควรหางานที่เหมาะกับพนักงานคนนี้ให้ทำ อย่างไรก็ตามวิธีที่ดีที่สุดก็คือการรับพนักงามาให้เหมาะกับตัวงาน และไม่จ้างคนที่ไม่มีแรงจูงใจมาตั้งแต่แรก

#5 สภาพแวดล้อมการทำงานไม่เอื้ออำนวย

หมายถึงว่า พนักงานบางคนอยากที่จะพัฒนาตัวเอง แต่สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เอื้ออำนวยให้พนักงานสามารถพัฒนาตัวเองได้ เช่น ผู้บริหารไม่สนับสนุน ภายในองค์กรมีการแข่งขันเยอะเกินไป มีการแย่งหน้าที่

สภาพแวดล้อมการทำงานที่มีการแข่งขันสูง อาจจะเหมาะกับพนักงานบางประเภทที่มีแรงกระตือรือร้นเป็นพิเศษ แต่องค์กรประเภทนี้ก็จะเจอปัญหาใหญ่เวลาอยากจะขยายองค์กร เพราะบุคคลประเภทนี้มีอยู่น้อย (แถมทำให้คนประเภทอื่นกลัวได้)

คำตอบก็คือการสร้างรางวัลให้พนักงานที่สามารถร่วมงานกันได้ เช่น ฝ่ายขายหรือฝ่ายผลิตอาจจะได้โบนัสเพิ่มในกรณีที่ทั้งทีมสามารถทำยอดได้ครบ การทำแบบนี้เป็นทั้งการเพิ่มแรงจูงใจ และการทำให้ทีมยอมร่วมมือกัน

#6 อาการหมดไฟ

แทนที่เราจะมองว่าพฤติกรรมของพนักงานเหล่านี้เป็น ‘นิสัย’ หากเรามองว่าพนักงานก็เป็นคน และคนส่วนมากก็มีช่วงเวลาที่ไม่อยากทำงานได้ เราก็อาจจะเข้าใจวิธีกระตุ้นพนักงานได้ดีมากขึ้น เพราะไม่ว่าใครก็เกิดอาการหมดไฟ (Burnout) ได้ 

ปัญหาก็คือหากพนักงานหมดไฟแล้วเราจะทำอย่างไรได้บ้าง สำหรับบางองค์กรทางออกก็อาจจะมีมากกว่าการเชิญพนักงานออก

โดยเบื้องต้นนั้นปัญหาเรื่องการหมดไฟสามารถแก้ได้หลายวิธี แต่ทางออกส่วนมากแก้ได้ด้วยการเข้าใจมนุษย์มากกว่าการเข้าใจกลไกธุรกิจ อย่างน้อยที่สุดการพูดคุยกับหาทางออกร่วมกับพนักงานก็เป็นทางเลือกที่ดี 

อาการหมดไฟเป็นหนึ่งในเหตุผลที่รัฐบาลบังคับให้ทุกธุรกิจมีวันหยุด เป็นข้อบังคับของกฏหมายแรงงาน แต่หากเรามาดูกันจริงๆแล้ว งานบางประเภทก็ทำให้เราเครียดกว่าปกติ พนักงานก็ต้องการพักแบบยาวๆบ้างเช่นกัน 

เรื่องอาการหมดไฟเป็นสิ่งที่แก้ได้ยาก หากคุณคิดว่าปัญหานี้เป็นสิ่งสำคัญก็อาจจะต้องลองพูดคุยกับที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ (HR Consultant) หรือแพทย์เฉพาะทางดู แต่ละธุรกิจมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน เราต้องพยายามปรับในส่วนที่เราสามารถยอมรับได้

#7 กลัวโดนว่า กลัวทำผิด

‘หัวหน้าดุ’ อาจจะเป็นปัญหาเรื่องการทำงานที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับองค์กรสมัยใหม่ เพราะในยุคที่หัวหน้างานไม่สามารถทำทุกอย่างด้วยตัวเองได้แล้ว (โดยเฉพาะงานสำคัญ) หัวหน้าต้องพึ่งพาพนักงานมากขึ้น ปัญหาก็คืองานที่ต้องพึ่งพาพนักงานนั้นต้องอาศัยความเชื่อใจมากกว่าความกลัว

การที่ลูกน้องกลัวโดนหัวหน้าว่า ในเบื้องต้นอาจจะเป็นการทำให้ลูกน้องตั้งใจทำงานมากขึ้น แต่จริงๆแล้วผลวิจัยหลายๆอย่างบอกว่า ลูกน้องส่วนมากก็แค่ปกปิดความผิดพลาดของตัวเอง เพราะกลัวโดนว่า

หมายความว่าการควบคุมลูกน้องด้วยความกลัว จะทำให้ส่งผลร้ายหลายๆอย่าง ในกรณีนี้ก็คือลูกน้องกลัวไม่กล้ารับความผิด หรือไม่กล้าสื่อสารจุดอ่อนของตัวเองออกมา ทำให้ลูกน้องไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้

หมายความว่าการส่งเสริมให้ลูกน้องสามารถรายงานความผิดพลาดของตัวเองให้หัวหน้าฟังได้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้ลูกน้องเห็นว่าจะพัฒนาตัวเองต่อไปได้อย่างไรบ้าง

สุดท้ายนี้เกี่ยวกับการพัฒนาพนักงาน

มาถึงจุดนี้ หลายคนคงเข้าใจเราว่าหากพนักงานไม่พัฒนาตัวเององค์กรจะเกิดปัญหาอะไรบ้าง และเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้พนักงานมีความคิดไม่อยากจะพัฒนาตัวเอง

อย่างไรก็ตาม แต่ละองค์กรก็มีโครงสร้างและมีวัฒนธรรมองค์กรไม่เหมือนกัน ปัญหาบางประเภทก็สามารถแก้ได้ง่าย แต่ปัญหาบางอย่างก็อาจจะต้องแกด้วยการรื้อถอนระบบใหม่ทั้งหมดเลย…ซึ่งก็อาจจะใช้เวลานาน

หากเรามองว่าทักษะพนักงานเป็นปัจจัยที่อย่างหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ อีก 2 ปัจจัยอย่างผู้บริหารและระบบการทำงานในองค์กร ก็คือสิ่งที่เราสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้ดีขึ้นได้เช่นกัน

ผมแนะนำให้ทุกคนลองนำข้อแนะนำในส่วนนี้ไปใช้ เพื่อทำให้องค์กรพัฒนาได้เร็วขึ้น มีพนักงานเท่าเดิมแต่งานออกมามากขึ้น

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด