ไม่มีประสบการณ์ทํางาน จะหางานอย่างไร | คู่มือเด็กจบใหม่

ไม่มีประสบการณ์ทํางาน จะหางานอย่างไร | คู่มือเด็กจบใหม่

หนึ่งในปัญหาหนักใจของคนสมัยนี้ก็คือ ถึงแม้ว่าเราจะเรียนจบมาแล้วแต่เราก็ไม่สามารถหางานได้ เพียงเพราะว่าเราไม่มีประสบการณ์ที่ตรงกับสายงานที่เราอยากจะทำ ซึ่งจริงๆแล้วผมบอกได้เลยว่าปัญหานี้…ต่อให้ทำงานไปหลายปีแล้วก็ยังเจออยู่ดีครับ

การแก้ปัญหาว่าเราสมัครงานไม่ติด เพราะไม่มีประสบการณ์ก็มีอยู่หลายอย่างวิธีเลย ซึ่งบอกตามตรงว่าไม่ได้มีวิธีไหนถูกผิด หากเราอยากจะทำทุกวิธีก็ได้ ยิ่งเราพยายามเยอะโอกาสในการสมัครงานติดก็มีเยอะขึ้นนะครับ

5 วิธีหางาน หากเราไม่มีประสบการณ์

#1 นำเสนอวิชาหรือโปรเจคที่เกี่ยวข้อง

วิธีหางานที่ตรงไปตรงมาที่สุดก็คือหางานที่เราเคยทำมาแล้ว ยกตัวอย่างเช่นหากเราเป็นคนที่วิเคราะห์ข้อมูล Excel เก่ง หรือเป็นคนที่เขียนเก่ง มีทักษะตัดต่อวีดีโอ เราก็จะสามารถสมัครงานได้ง่ายมากขึ้น 

ในขณะเดียวกัน คนที่ทำบัญชี วิศวะที่อยู่โรงงาน สถาปนิกจบใหม่ ก็สามารถนำวิชาหรือโปรเจคงานที่เกี่ยวข้องมาลองนำเสนอบริษัทหรือผู้สัมภาษณ์งานดูได้ (เลือกวิชาหรือโปรเจคที่เราทำคะแนนได้ดีๆหรืออาจารย์ชมเยอะ) 

นอกจากเรื่องของทักษะที่เกี่ยวข้องแล้ว เราก็ยังสามารถใช้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่นหากเราอยากจะสมัครงานบริษัทรถยนต์ สมัครงานบริษัทเคมี เราก็อาจจะนำความรู้ที่เราได้จากการทำรายงานส่งอาจารย์เกี่ยวกับบริษัทเหล่านี้มานำเสนอในการสมัครงานด้วย 

#2 หาประสบการณ์เพิ่มด้วยงานฟรีแลนซ์

จริงๆแล้วงานฟรีแลนซ์ในสมัยนี้หาได้ง่ายกว่างานฟรีแลนซ์ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาอีกด้วยซ้ำ เพราะไม่ว่าจะเป็นทั้งเว็บไซต์จ้างฟรีแลนซ์อย่าง Fastwork.co หรือการเข้าไปในกรุ๊ป Facebook ที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถทำให้เราเข้าถึงนายจ้างงานฟรีแลนซ์ได้แล้ว

หรือหากเราใจกล้ามากหน่อย เราก็สามารถยื่นสมัครงานในฐานะนักศึกษาฝึกงานหรือเด็กฝึกงานก่อนก็ได้ อย่างไรก็ตามในส่วนนี้แต่ละบริษัทก็มีนโยบายเรื่องการรับเด็กฝึกงานไม่เหมือนกัน ข้อแนะนำก็คือสมัครไปก่อน แต่ว่าถ้าโดนปฏิเสธก็ไม่ต้องคิดมาก หรือว่าเราได้พยายาม 

โบนัสของข้อนี้ก็คือ ‘กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง’ เช่นหากเราเคยไปทำกิจกรรมของมหาลัย ไปแข่งอะไรมาก่อน ซึ่งโดยรวมแล้วถึงแม้ว่าจะเป็นหัวข้อที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหางานที่เราจะสมัครไว้ แต่ทักษะการ ‘ทำงานเป็นทีม’ ‘ทำงานร่วมกับคนที่เราไม่รู้จักมาก่อน’ หรือ ‘การโน้มน้าวคนที่ไม่เชื่อเราในตอนแรก’ ก็เป็นทักษะและเรื่องราวที่ดีที่เราสามารถใช้ในการสัมภาษณ์งานได้ภายหลัง

#3 หาเส้นสายผ่านอาจารย์และรุ่นพี่ 

หลายๆคนอาจจะไม่ชอบคำว่าเส้นสาย และหลายๆคนอาจจะมองว่าตัวเองไม่ได้มีเส้นสาย แต่จริงๆแล้วผมไม่ได้หมายถึงว่าคุณต้องมีนามสกุลชื่อใหญ่ เรียนจบมหาลัยชั้นนำอะไรเลยนะครับ 

ข้อแนะนำนี้ก็คือเราสามารถไปคุยกับรุ่นพี่และอาจารย์ต่างๆได้ เพื่อสอบถามเกี่ยวกับตำแหน่งงานหรือชื่อบริษัทบางบริษัทที่เราสนใจมากๆ บางครั้งเราก็อาจจะเข้าถึงโอกาสในการทำงานที่ไม่ได้ถูกโพสต์ในโลกออนไลน์ 

ยกตัวอย่างเช่น ‘แผนก A ของบริษัทนี้ รีบรับคนมากๆ เลยไม่สามารถไปโพสต์และให้คนสมัครเข้ามาได้เพราะใช้เวลานานไป ก็เลยใช้การสอบถามรอบตัวเอา เผื่อมีใครสนใจและว่างพอดี’

อีกหนึ่งข้อได้เปรียบของการทำแบบนี้ก็คือ เราจะสามารถเข้าถึงผู้ที่ตัดสินใจโดยตรงได้เลย ไม่ต้องรอให้ฝ่ายบุคคลพิจารณาว่าจะส่งให้หัวหน้าแต่ละแผนกหรือเปล่า ยิ่งไปกว่านั้นก็คือพวกรุ่นพี่หรืออาจารย์ก็อาจจะให้ข้อแนะนำได้ว่าบริษัทนี้ชอบคนแบบนี้ มีทักษะแบบนี้ ซึ่งเราก็สามารถนำไปใช้ในการเขียนเรซูเม่และในการสัมภาษณ์งานได้

#4 เขียนเรซูเม่ให้เก่ง (Resume/CV)

Resume หรือ CV ถือว่าเป็นความประทับใจครั้งแรกที่เราต้องทำให้ดีก็ได้ ปัญหาหลักที่เด็กจบใหม่หลายคนทำกันก็คือเขียน Resume มาตัวเดียวแล้วก็ใช้สมัครงาน 10-20 บริษัท 

ขอแนะนำได้ก็คือเราต้องปรับ Resume ให้เหมาะกับทั้งตำแหน่งงานและบริษัทที่เรากำลังสมัครอยู่ หากเราอยากจะสมัครงานด้านโลจิสติกส์ เราก็อาจจะต้องเขียนอธิบายเกี่ยวกับทักษะหรือประสบการณ์ด้านโลจิสติกส์ของเราให้เยอะๆ (และอาจจะไม่ต้องเขียนเรื่องว่าไปเรียนบัญชีหรือเรียนการตลาดมา เป็นต้น)

เด็กจบใหม่หลายๆคนอาจจะมีประสบการณ์หรือเรื่องให้เขียนในเรซูเม่ไม่เยอะ แต่โดยรวมแล้วผมก็อยากจะให้ทุกคนลองเรียบเนียนข้อมูลเรซูเม่ให้เหมาะกับหน้าที่ที่เราอยากจะสมัครนะครับ

อีกหนึ่งข้อแนะนำก็คือก่อนที่เราจะนำ Resume ยื่นสมัครงาน เราก็ควรให้เพื่อนๆหลายๆคนลองอ่านลองพิจารณาดูก่อนว่าสิ่งที่เราเขียนไปนั้นอ่านรู้เรื่องหรือเปล่า อ่านแล้วมีความประทับใจยังไงบ้าง เพราะหากเรามองในมุมมองของฝ่ายบุคคลหรือว่าบริษัทต่างๆที่ไม่เคยรู้จักเราเป็นส่วนตัวมาก่อน บริษัทเหล่านี้ก็จะตัดสินตัวเราจากแค่กระดาษใบเดียวนะครับ

#5 การนำเสนอตัวและการสัมภาษณ์งาน  

สำหรับหลายๆคนที่ยื่น Resume ไปแล้วได้รับการเรียกเข้าสัมภาษณ์ ผมก็มีข้อแนะนำอีกเล็กน้อย เพื่อเพิ่มโอกาสในการที่เราจะสมัครงานติดได้ 

อย่างแรกเลยก็คือการเตรียมคำตอบสำหรับคำถามพื้นฐานมาก่อนล่วงหน้า บริษัทส่วนมากถามคำถามอยู่ไม่กี่คำถามซ้ำไปซ้ำมานะครับ ตัวอย่างเช่น ข้อดีคืออะไร ทำไมถึงอยากสมัครงานนี้ เคยมีประสบการณ์อะไรที่เกี่ยวข้องหรือเปล่า

ส่วนมากแล้วคนที่จะผ่านการสัมภาษณ์งานก็คือคนที่ซ้อมหรือว่าเตรียมคำตอบมาอย่างดีแล้วนะครับ แต่เราก็จะพอเห็นได้บ้างว่าจะมีเพื่อนที่พูดเก่งๆ บุคลิกดูดี ที่สามารถสมัครงานได้หลายที่เลย แม้ว่าจะไม่มีประสบการณ์ก็ตาม

ข้อแนะนำก็คล้ายกับเรื่องของการเขียน Resume …  หมายความว่าเราต้องเตรียมคำตอบในใจมาก่อนแล้ว แล้วก็ซ้อมพูดให้เพื่อนๆของเราลองฟังดู หากเป็นไปได้ก็ให้หาเพื่อนๆมาจับกลุ่มร่วมกัน แบ่งปันประสบการณ์ว่าแต่ละคนตอบคำถามแนวนี้ยังไงบ้าง จะทำให้เราเห็นภาพรวมได้ง่ายมากขึ้นว่าคำตอบที่ดีเป็นอย่างไร 

สุดท้ายนี้เกี่ยวกับการสมัครงานไม่มีประสบการณ์

สุดท้ายนี้ผมอยากจะให้ทุกคนรู้สองอย่าง หนึ่งก็คือเรื่องของการสมัครงานเป็นเรื่องของ ‘เกมตัวเลข’ ยิ่งเราสมัครเยอะ เราก็ยิ่งมีโอกาสเยอะ ยิ่งิราสัมภาษณ์เยอะ เขียน Resume เยอะ เราก็จะยิ่งเก่งมากขึ้น ส่วนมากแล้วที่สมัครกันไม่ค่อยได้ก็คือพวกที่ยอมแพ้เร็ว หมดกำลังใจก่อนนะครับ เอาเป็นว่าลองพยายามเพิ่มขึ้นอีกนิดสัก 10-20 เปอร์เซ็นต์ทุกครั้งที่เราท้อละกัน

อีกหนึ่งเรื่องก็คือ ‘ปัญหาการสมัครงานโดยไม่มีประสบการณ์’ ต่อให้เรียนจบมาแล้ว เคยทำงานมาแล้ว คนส่วนมากก็เจอปัญหานี้ได้อยู่ดีๆนะครับ ยกตัวอย่างเช่นเพื่อนของผมที่ทำงานมา 3-4 ปีแล้ว อยากจะเปลี่ยนสายจากวิศวะเป็นนักธุรกิจ หรือคนที่อยากจะทำการตลาดทั้งที่เมื่อก่อนทำการเงินมาก่อน 

กรณีแบบด้านบน หากดูในมุมมองคนสัมภาษณ์งาน ก็ไม่ค่อยมีทักษะไหนที่สามารถนำมาใช้ต่อยอดได้เท่าไหร่หรอกครับ ส่วนมากย้ายงานมาก็ต้องมาเรียนรู้ใหม่อยู่ดี เพียงแต่ว่าคนเหล่านี้สามารถทำตามขอแนะนำเบอร์ 1-5 ของบทความนี้ได้อย่างดีเยี่ยม…อย่างที่บอกครับ ทุกอย่างสามารถฝึกกันได้ ยิ่งเราทำมาเยอะๆ เราก็ยิ่งเก่ง

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด