วิธีเขียนบทความให้เสร็จภายใน 1 ชั่วโมง (คู่มือทำบล็อก SEO)

วิธีเขียนบทความให้เสร็จภายใน 1 ชั่วโมง (คู่มือทำบล็อก SEO)

ในบทความนี้ผมจะมาสอนว่าเราจะเขียนบทความยังไงให้เสร็จภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งผมก็จะบอกว่าเราควรจะเตรียมตัวยังไงบ้าง มีขั้นตอนอะไรบ้าง และทริกต่างๆที่จะทำให้เขียนได้เร็วขึ้นมีอะไรบ้าง

3 ขั้นตอนเขียนบทความใน 1 ชั่วโมง

ก่อนที่เราจะไปเริ่มลงมือเขียนกัน ผมอยากจะอธิบายก่อนว่ารายละเอียดของบทความที่จะเขียนมีอะไรบ้าง และ กฎเกณฑ์ที่เราใช้ในการเขียนมีอะไรบ้าง  

บทความที่จะเขียนจะมีอยู่ 1,000-1,200 คำ โดยผมจะเตรียมแค่หัวข้อและข้อมูลต่างๆเพื่อประกอบการเขียนไว้ก่อน แต่จะไม่ได้อ่านรายละเอียดพวกนี้ก่อนเริ่มเขียน และจะมีเวลาเขียนแค่ 1 ชั่วโมง โดยบทความที่จะเขียนเป็นบทความ SEO (ทำมาเพื่อให้จัดอันดับบน Google)

เรื่องหัวข้อและรายละเอียดที่ผมเตรียมไว้ให้ตัวเองจะมีอยู่ดังนี้นะครับ สามารถดูภาพข้างล่างประกอบได้ ผมศึกษามาก่อนที่จะเขียนแค่นี้ และไม่ได้ดูรายละเอียดในลิงค์ reference ก่อนเริ่มเขียน แต่ถ้าระหว่างเขียนผมอยาากได้ข้อมูลเพิ่ม ผมก็จะไปหามาเพิ่มทีหลังด้วย

3 ขั้นตอนเขียนบทความใน 1 ชั่วโมง

#1 ร่างโครงสร้างบทความก่อน 

เนื่องจากว่าเรากำลังเขียนบทความที่มีความยาวในระดับหนึ่ง เราก็จำเป็นที่จะต้องแบ่งหัวข้อใหญ่ออกมาเป็นหัวข้อย่อยหลายหัวข้อ 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหัวข้อของคุณคือ ‘ยาหม่องคืออะไร’ คุณก็อาจจะแบ่งเป็น 3 หัวข้อย่อยคือ ยาหม่องคืออะไร ยาหม่องมีประโยชน์อะไร และวิธีใช้ยาหม่อง หรือ ถ้าหัวข้อของคุณคือวิธีออกกำลังกายที่บ้าน คุณก็สามารถแบ่งออกมาเป็น 7 วิธีออกกําลังกายที่บ้าน เป็นต้น

ในตอนที่ผมเริ่ม ผมจะลองกดอ่านลิงค์ reference คร่าวๆดูก่อน แล้วก็นำความรู้หรือความคิดเห็นของคนรวมๆกันมาสรุปเป็นหัวข้อย่อยอีกทีหนึ่ง โดยผมใช้เวลาประมาณ 5-7 นาทีในการเปิดผ่าน reference และ เอาข้อมูลมาร่างเป็นโครงดังนี้ 

#1 ร่างโครงสร้างบทความก่อน 

(แต่ไม่ต้องห่วงครับ ถ้าในระหว่างที่เขียนอยู่ ผมไม่ชอบหัวข้อไหนผมก็จะกลับมาเปลี่ยนทีหลัง)

#2 เขียนชื่อหัวข้อให้มีความน่าอ่าน

เนื่องจากว่าคุณมีโครงสร้างคร่าวๆแล้ว ต่อไปก็เป็นการเขียนชื่อหัวข้อบทความ เป้าหมายของชื่อหัวข้อก็คือการดึงดูดให้คนอยากจะอ่านเนื้อหาทั้งหมด เพราะฉะนั้นตอนนี้จะเป็นเรื่องของกลยุทธ์ทางด้านจิตวิทยาการเขียน ยกตัวอย่างเช่น การใส่วงเล็บเพิ่มคำอธิบาย การใส่ตัวเลขเชิญชวนให้คนอยากอ่าน 

ในกรณีนี้ ถ้าผมเริ่มว่า ‘ประโยชน์ของการฝึกงาน’ อย่างเดียว คนส่วนมากก็คงไม่อยากอ่านบทความการ เพราะฉะนั้นหัวข้อที่ดีกว่าก็คือ X ประโยชน์ของการฝึกงาน (เพื่ออนาคตที่ดีกว่า)’ โดยตัว X ก็คือจำนวนหัวข้อย่อยต่างๆที่หลังจากเขียนเสร็จแล้วจะนำมาเติมอีกทีนึง 

สำหรับคนที่เขียนบทความ SEO ข้อแนะนำเพิ่มเติมก็คือ 1) ใส่ keyword คำค้นหาไปในชื่อหัวข้อด้วย และ 2) จำนวนตัวอักษรที่ดีที่สุดคือประมาณ 55-57 เพราะคนจะสามารถเปิดอ่านบนมือถือได้ง่าย

ขั้นตอนนี้ใช้เวลาทำไม่นานเท่าไหร่ ไม่ถึงนาทีนึงก็เสร็จแล้ว

#3 โครงสร้างการเขียน

การเปิดบทความ: ให้เริ่มบทความให้ได้ใน 1-2 ย่อหน้า เพราะถ้าคนเปิดเข้ามาแล้วไม่เจอเนื้อหาซักที คนก็มักจะปิดไปโดยไม่อ่านต่อ ผมมักจะจบการเปิดบทความด้วยคำว่า ‘ในบทความนี้ เราจะ…’ อาจจะไม่ใช่อะไรที่สร้างสรรค์นัก แต่ตรงไปตรงมาดีครับ ขึ้นอยู่กับทักษะการเขียนและการคิดคำของแต่ละคนด้วย

การจัดโครงสร้างต่างๆในบทความ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อให้ผู้อ่านสามารถอ่านบนมือถือที่มีหน้าจอเล็กได้ง่าย ย่อหน้าห้ามยาว เพราะเวลาเปิดอ่านบนมือถือแล้วจะไม่สวย ผมแนะนำว่าอยู่ระหว่า 3-5 ประโยคกำลังดี ไม่ได้สั้นเหมือนการเขียนสเตตัสเฟสบุ๊ค แต่ไมได้ยาวเหมือนรายงานที่ส่งในห้องเรียน

การปิดบทความ: เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญน้อยที่สุด เพราะคนส่วนมากอ่านไม่ถึงตอนจบครับ แต่โดยรวมแล้วผมก็ปิดด้วยการสรุปเล็กน้อยไม่ถึง 2 ย่อหน้า แล้วก็ลงท้ายด้วยการแนะนำให้ไปอ่านบทความอื่นเพิ่มเติมในเว็บไซต์ผม 

บทความที่ผมเขียนเสร็จแล้วสำหรับการทำบทความนี้ ผมใส่ลิงค์ไว้ในนี้นะครับ สามารถไปกดอ่านดูได้ บทความประโยชน์ของการฝึกงาน (บทความนี้จากขั้นตอน 1-3 ใช้เวลาเขียน 38.57 นาที เขียนไป 1460 คำ)

ข้อแนะนำเพิ่มเติมในการเขียนบทความ

อย่างที่ผมได้อธิบายไว้ หากเราแบ่งบทความออกมาเป็นหัวข้อย่อย ซึ่งในแต่ละหัวข้อย่อยเราก็เอาข้อมูลมาจากลิงค์ reference ต่างๆ เราก็จะสามารถเขียนได้ง่ายขึ้น และหากเป็นหัวข้อที่เรารู้อยู่แล้ว หรือมีประสบการณ์อยู่บ้าง เราก็จะสามารถเขียนได้เร็วมากขึ้น 

เพื่อให้ทุกคนเขียนได้เร็วขึ้น ผมมีข้อแนะนำเพิ่มเติมดังนี้ 

จำนวนคำ: บทความในหัวข้อนี้ จริงๆผมไม่ต้องเขียนขนาด 1000 คำก็ได้ เพราะเป็นบทความที่ไม่ค่อยมีคู่แข่งเท่าไร แต่เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่าน ผมก็เลือกที่จะเขียนในจำนวนคำตามข้อกำหนด จริงๆแล้วการเขียนให้สั้นๆแต่ได้ใจความยากกว่าการเขียนยาวๆครับ 

Google Doc: เป็นเครื่องมือที่ทำให้ผมเขียนได้เร็วมากขึ้น เพราะมีฟีเจอร์ Voice Typing ที่เราสามารถพูดใส่ไมโครโฟนแล้วทางโปรแกรมก็จะนำมาแปลเป็นตัวอักษรได้เลย หลายคนพูดเร็วกว่าการพิมพ์อยู่แล้ว 

คุณภาพสำคัญกว่าความเร็ว: ถึงแม้ว่าบทความนี้จะสอนให้คุณเขียนให้เร็วขึ้น แต่โดยรวมแล้วผมก็อยากจะเน้นอยู่ว่าคุณภาพของบทความสำคัญกว่าความเร็วที่คุณใช้ในการเขียน บางบทความที่ผมเขียน 4000-5000 คำ ผมอาจจะใช้เวลาหาข้อมูลและเรียบเรียงข้อมูลเป็นอาทิตย์เลยก็มีครับ

แยกกระบวนการเขียนออกมาจากกระบวนการอื่น: เป็นสิ่งที่ผมมองว่าสำคัญที่สุด เพราะทั้งกระบวนการคิดหัวข้อ การหาข้อมูล ในตอนเริ่มเขียนบทความ หรือ การแก้คำผิด การจัดย่อหน้าให้อ่านง่าย และการหาภาพประกอบ หลังจากเขียนเสร็จแล้ว ก็ใช้เวลาและสมาธิมากพอสมควร (อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัวของผมนะ ฟรีแลนซ์หลายคนที่ทำให้ผมเหมือนจะเขียนรวดเดียวจบได้เลย)

หากคุณเขียนไปสักพักหนึ่ง คุณก็จะเข้าใจว่าสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความเร็วในการเขียนหรือพิมพ์ของคุณ แต่อยู่ในกระบวนการหาข้อมูลและคิดว่าจะเขียนอะไรมากกว่า ถ้าคุณรู้อยู่แล้วว่าคุณอยากจะเขียนอะไร เราใช้เวลาแค่ไม่กี่นาทีเราก็สามารถเขียนออกมาได้แล้ว (หรือพูดก็ได้…ในกรณีที่เราใช้ voice typing)

ผมขอย้ำว่าเนื้อหาที่เราเขียนสำคัญมาก เพราะหากให้ผมเขียนบทความวิทยาศาสตร์เรื่องทฤษฎีสัมพัทธภาพคืออะไร ผมก็ต้องใช้เวลาเขียนนานมากแน่ๆ แต่ถ้าคุณหาข้อมูลเก่ง อ่านเร็ว คุณก็จะได้เปรียบครับ

สุดท้ายนี้เกี่ยวกับการเขียนบทความให้เร็ว

บอกตามตรงนะครับ ทักษะนี้เอาไปใช้อะไรได้หลายอย่างเลย ใช้ในการเขียนโพสขายของในเฟสบุ๊คก็ได้ จะอยู่ระหว่าง 300-500 คำ แต่ในกรณีนี้เราไม่ต้องเร็วแล้วก็ได้ครับ เราใช้เวลานานๆเพื่อเขียนก็ได้เพราะโพสต์ขายแต่ละอันก ขายได้เป็นหมื่นเป็นแสนบาท

แน่นอนว่าประสบการณ์และทักษะเป็นปัจจัยสำคัญในการเขียนให้เร็วมากขึ้น แต่ของเหล่านี้สามารถฝึกกันได้ เพราะฉะนั้นผมอยากจะให้ทุกคนหารูปแบบการเขียนบทความของตัวเองให้เจอ และหากนำทริคหรือว่ากระบวนการต่างๆที่ผมแนะนำในบทความนี้จะใช้ได้ก็จะยิ่งดีครับ   

ส่วนหากใครอยากจะเห็นตัวอย่างบทความที่ผมเขียน ก็สามารถไปกดดูได้ที่ลิ้งค์นี้นะครับ

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด