วิธีเขียนโน้มน้าวใจสะกดคนอ่านให้อยู่มัด ไม่ยากอย่างที่คิด!

วิธีเขียนโน้มน้าวใจสะกดคนอ่านให้อยู่มัด ไม่ยากอย่างที่คิด!

เมื่อพูดถึงเรื่องภาษาโน้มน้าวใจ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยเพราะเราสามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน เคยบ้างไหมที่อ่านหนังสือหรือสื่อสิ่งพิมพ์ชนิดใด ๆ แล้วรู้สึกว่า เราคล้อยตามการเขียนของเขาได้อย่างง่ายดายโดยที่ไร้ข้อโต้แย้งเนื่องจากภาษาที่เขาใช้ช่างโน้มน้าวใจได้เป็นอย่างดี

สำหรับการโน้มน้าว ถือเป็นการใช้จิตวิทยาอย่างหนึ่งเพื่อให้ผู้อื่นเชื่อหรือมอบบางอย่างให้กับตนอย่างมีเหตุผล ซึ่งไม่ใช่การหลอกลวงแต่เป็นการเขียนให้เข้าไปถึงจิตใจของผู้อ่าน วันนี้เราจะพามาดูกันว่าการเขียนโน้มน้าวใจคืออะไร มีกี่ประเภทและมีเคล็ดลับในการสะกดคนอ่านอย่างไร หากพร้อมแล้ว มารับชมพร้อมกันเลย

ภาษาโน้มน้าวใจคืออะไร มาทำความเข้าใจกันก่อน

ภาษาโน้มน้าวใจ คือ การพูด เขียนหรือแสดงท่าทางเพื่อพยายามที่จะเปลี่ยนความเชื่อ ทัศนคติหรือการกระทำของผู้อื่นด้วยวิธีที่ถูกต้อง ส่งผลให้บุคคลนั้นเปิดรับความคิดใหม่และทำตามสิ่งที่ผู้โน้มน้าวเสนอ ซึ่งการเขียนโน้มน้าวมีความสำคัญต่อวงการโฆษณามากที่สุด หากสามารถโน้มน้าวใจผู้บริโภคได้ ผลิตภัณฑ์จะขายดีแบบเทน้ำเทท่าอย่างแน่นอน

2 ประเภทหลักของภาษาโน้มน้าวใจ

1. โฆษณา

การโน้มน้าวเพื่อโฆษณาสินค้าหรือบริการมักจะมีลักษณะดังต่อไปนี้ อย่างแรกคือการสร้างสรรค์ถ้อยคำที่มีความแปลกใหม่สะดุดตาผู้รับสาร และวลีหรือประโยคที่ใช้ต้องมีความกระชับเข้าใจได้ทันที เนื้อหาของโฆษณาจะแสดงสรรพคุณชั้นเลิศและประโยชน์ของสินค้าเพื่อโน้มน้าว อย่างไรก็ตามบางครั้งสารเหล่านี้ก็อาจขาดเหตุผลที่หนักแน่น ข้อสุดท้ายคือการนำเสนอซ้ำ ๆ บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เป็นระยะเวลาหลายวัน

2.คำเชิญชวน

คำเชิญชวน โน้มน้าวใจ หมายถึง การแนะนำแนวทางอย่างหนึ่งเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนส่วนมาก เช่น คำขวัญ เพลง/บทความปลุกใจ คำแถลงการณ์ โปสเตอร์ ใบปลิว รวมถึงการเผยแพร่ทางวิทยุและโทรทัศน์ สำหรับลักษณะที่สำคัญของ ‘คำเชิญชวน’ คือ ผู้ส่งสารจะแจ้งวัตถุประสงค์อย่างตรงไปตรงมาพร้อมกับชี้แนะประโยชน์และวิธีการปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น การเชิญชวนให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง การเชิญชวนให้บริจาคโลหิตและการเชิญชวนให้รักษาสิ่งแวดล้อม

เขียนภาษาโน้มน้าวใจอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

สำหรับเคล็ดลับในการเขียนโน้มน้าวใจให้สะกดผู้อ่านจนอยู่หมัดนั้นไม่ใช่เรื่องยาก มาดูกันเลยว่าคุณต้องพิจารณาองค์ประกอบใดบ้าง

  • ผู้รับสาร

ก่อนจะเริ่มต้นเขียนต้องทราบก่อนว่าผู้รับสารหรือผู้อ่านของคุณมีลักษณะอย่างไรอย่าง อายุ เพศ และอายุ เป็นต้น การกำหนดขอบเขตอย่างเหมาะสมจะทำให้ผู้เขียนสามารถนำเสนอข้อมูลได้อย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น การหยิบคำพูดเกี่ยวกับความอ่อนโยนและปลอดภัยมาใช้ในการโฆษณาผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก

  • หลักจิตวิทยา

ผู้เขียนต้องใช้หลักจิตวิทยาเข้าช่วย โดยต้องเรียนรู้พฤติกรรมของผู้อ่านว่ามีความสนใจหรือความต้องการใด เพื่อจะเขียนโน้มน้าวได้อย่างน่าสนใจเรียกกลุ่มเป้าหมายมาซื้อหรือใช้สินค้าหรือบริการของคุณ

  • เหตุผล

นักเขียนต้องหาเหตุผลที่หนักแน่นมาสนับสนุนการตัดสินใจของผู้รับสาร วิธีการนี้ถือว่าสำคัญมากเพราะจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้ ยกตัวอย่างเช่น การให้เหตุผลว่าผลิตภัณฑ์ของคุณมีความแตกต่างกับยี่ห้ออื่นอย่างไร ซื้อแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไร

  • ภาษา

ข้อสุดท้ายเปรียบเสมือนหัวใจของการโน้มน้าว นั่นคือภาษาโน้มน้าวใจ นั่นเอง โดยควรเป็นภาษาที่เร้าอารมณ์กระตุ้นให้ผู้รับสารอยากทำตามหรืออยากซื้อผลิตภัณฑ์ ซึ่งหากภาษามีความน่าสนใจตัวผลิตภัณฑ์ก็จะน่าสนใจมากตามไปด้วย โดยเราขอแนะนำให้เน้นการใช้ภาษาดังนี้

3 ขั้นตอนเขียนโน้มน้าวใจคน

1.การใช้คำที่ดูเป็นประโยชน์ต่อผู้รับสาร

ในการร้องขอให้ผู้อื่นทำตามความต้องการของคุณ มีวิธีโน้มน้าวง่าย ๆ เพียงเพิ่มคุณค่าของคำขอ ยกตัวอย่างเช่น คุณต้องการให้เพื่อนช่วยกันจัดสวนหลังบ้านซึ่งดูเหมือนเป็นงานยากและใช้เวลานาน หลายคนอาจจะไม่เต็มใจ ดังนั้นให้พูดถึงเรื่องความสนุกสนานในการตกแต่งสวนหรือเกี่ยวกับอาหารที่จะเลี้ยงตอบแทนจะดีกว่าพูดถึงข้าวของจำนวนมากและขั้นตอนที่เหน็ดเหนื่อย

2.ใช้คำอย่างระมัดระวัง

การเลือกใช้คำนั้นมีผลต่อความรู้สึกของผู้อ่าน คำบางคำใช้แทนกันได้และให้ความรู้สึกในเชิงบวกและสร้างความน่าเชื่อถือได้มากขึ้น เช่น ‘ผู้มีรายได้น้อย’ แทน ‘ชนชั้นรากหญ้ายากจน’ การจัดเรียงคำให้เหมาะสมเพื่อสื่อความหมายให้ถูกต้องจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกดีกว่า

3.เน้นอนาคต

อีกหนึ่งวิธีที่ดีในการโน้มน้าวเพราะผู้รับสารจะรับรู้ว่าเราจะก้าวไปข้างหน้าดังที่กล่าว และมั่นใจว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นจริงในอนาคต เช่น การวิ่งในระยะยาวจะช่วยให้มีสุขภาพและรูปร่างที่ดี

วิธีเขียนภาษาโน้มน้าวใจสะกดคนอ่านให้อยู่มัด ไม่ยากอย่างที่คิด!

ก็จบไปแล้วสำหรับรายละเอียดที่น่าสนใจของการเขียนภาษาโน้มน้าวใจ ซึ่งในยุคที่ความคิดความเชื่อของทุกคนในสังคมต่างเป็นปัจเจก (individualism) การโฆษณาหรือการเชิญชวนต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบไป ผู้บริโภคต่างต้องการความจริงใจ เหตุผลที่สามารถพิสูจน์ได้ ดังนั้นหากผู้เขียนต้องการเขียนโน้มน้าวใจให้สะกดคนดูอยู่หมัด อย่าลืมนำเคล็ดลับที่เรานำมาฝากวันนี้ไปใช้กันเชียว!

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด