หนึ่งในวิธีวิเคราะห์ลูกค้าที่ดีที่สุด ก็คือการวิเคราะห์ด้วย 4P Marketing Mix หรือการหาส่วนผสมการตลาด ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือการตลาดที่คนนิยมใช้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในโรงเรียนสอนบริหารธุรกิจ ในธุรกิจขนาดเล็กแบบ SME หรือในธุรกิจใหญ่ระดับโลกก็ตาม
ทุกคนเข้าใจดีว่าธุรกิจอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีลูกค้า และ ‘การตลาด’ ก็คือหัวใจสำคัญที่จะเชื่อมธุรกิจกับลูกค้าเข้าด้วยกันในบทความนี้เรามาดูกันว่า การวิเคราะห์ 4P Marketing Mix ที่คนนิยมใช้กันทั่วโลก เป็นยังไงแล้วทำไมถึงได้พิเศษกว่าการวิเคราะห์แบบอื่น
Table of Contents
การตลาด 4P คืออะไร?
4P หรือ Marketing Mix คือเครื่องมือวางแผนการตลาดผ่านการวิเคราะห์ส่วนผสมทางการตลาด 4 ส่วน ได้แก่ Product (สินค้า) Price (ราคา) Promotion (การส่งเสริมการขาย) และ Place (ช่องทางจัดจำหน่าย) กลยุทธ์การตลาด 4P ที่ไปในทิศทางเดียวกันจะทำให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้าและบรรลุวัตถุประสงค์ทางการตลาดได้
ส่วนประกอบของ 4P มีดังนี้ครับ
- Product (สินค้าหรือผลิตภัณฑ์) – หมายถึงสินค้าหรือบริการที่อาจจะเหมาะกับความต้องการของตลาดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทุกสินค้ามีวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์และมีข้อดีข้อเสียเฉพาะตัว ซึ่งหนึ่งในความท้าทายของการตลาดก็คือการเลือกและสื่อสาร ‘จุดขาย’ ของสินค้าให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าที่เราเลือกไว้
- Price (ราคา) – คือกลยุทธ์ส่วนการตั้งราคาสินค้า ลูกค้าแต่ละกลุ่มมีความสามารถและพฤติกรรมในการใช้เงินไม่เหมือนกัน นอกจากนั้นแล้วสินค้าบางอย่างก็มีมูลค่ามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับราคาและมุมมองของผู้ถือด้วย กลยุทธ์ด้านราคาที่ดีที่สุดกลยุทธ์ที่สามารถเพิ่มยอดขายและกำไรให้กับสินค้าได้มากที่สุด
- Promotion (การส่งเสริมการขาย) – กลยุทธ์การส่งเสริมการขายบางทีก็ถูกเรียกว่าการสื่อสารการตลาด (marketing communication) ซึ่งก็รวมทุกอย่างตั้งแต่การทำโฆษณา การจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย และการประชาสัมพันธ์ลูกค้า การส่งเสริมการขายคือกระตุ้นให้กลุ่มลูกค้าหลักของเรามีความอยากซื้อสินค้ามากขึ้น
- Place (ช่องทางการจัดจำหน่าย) – หมายถึงสถานที่ขายและช่องทางการขายของสินค้า สินค้าส่วนมากต้องมีการกระจายสินค้าเพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น ลูกค้าแต่ละกลุ่มจะมีช่องทางการขายไม่เหมือนกัน กลยุทธ์ด้านช่องทางการขายที่ดีต้องเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เราต้องการได้ และต้องมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม
เวลาที่เรามีไอเดียทําธุรกิจหรือไอเดียสินค้าใหม่ๆ สิ่งแรกที่เราควรคิดก่อนเลยก็คือว่าสินค้านี้เหมาะสมกับกลุ่มตลาดเป้าหมายของเราแค่ไหน โดยที่การวิเคราะห์ 4P นี่เหล่ะที่จะเป็นตัวบอกว่า สินค้า ราคา ช่องทางการขาย และ วิธีส่งเสริมการขาย ที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าของเราที่สุดคืออะไร
ประโยชน์ของ 4P Marketing Mix
หัวใจสำคัญของการวิเคราะห์ 4P Marketing Mix ก็คือการเข้าไปในหัวของลูกค้า และการเข้าใจว่าลูกค้าแต่ละกลุ่มมีความต้องการไม่เหมือนกัน
ส่วนมากแล้ว 4P Marketing Mix มีไว้ใช้เพื่อสร้างแผนการตลาดที่เหมาะสมกับสินค้าที่มีอยู่หรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย หากเรามีแค่กลุ่มเป้าหมาย เราก็สามารถใช้ 4P เพื่อสร้างสินค้าจากศูนย์ได้ (แต่คุณก็คงต้องใช้ข้อจำกัดอย่างอื่นในการช่วยหาสินค้า) แปลว่า ถ้าเรารู้ว่าลูกค้าชอบอะไร อยากได้อะไร มีปัญหาอะไร เราก็สามารถหาวิธีแก้ปัญหาให้ลูกค้าภายหลัง
หรือหากเรามีสินค้าอยู่แล้ว เราก็สามารถใช้ 4P โดยเฉพาะส่วน Product เพื่อพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมกับกลยุทธ์เรามากขึ้น
ในกรณีที่เราใช้เครื่องมือการตลาดอื่นร่วมในการวิเคราะห์ด้วย 4P Marketing Mix ก็อาจจะเป็นเพียงแค่หนึ่งปัจจัยที่เราควรพิจารณา เครื่องมือที่คนมักนิยมใช้ร่วมกับ 4P ก็คือ Porter’s Five Forces และ SWOT Analysis ที่ไว้พิจารณาว่าตลาดเป็นยังไง และองค์กรของเรามีศักยภาพในการผลิตสินค้าให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายเราแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเทียบกับคู่แข่งในปัจจุบัน
วิธีวิเคราะห์ 4P Marketing Mix
วิธีวิเคราะห์ 4P Marketing Mix ก็คือการเชื่อมส่วนประกอบการตลาดทั้งหมดให้เข้ากับลูกค้า ให้เข้ากับจุดแข็งขององค์กร (จุดแข็งรวม โดยเทียบกับคู่แข่งรายอื่น) และให้เข้ากับสถานการณ์นั้นๆ เรามาดูกันว่า Product, Price, Promotion, Packaging แต่ละอย่างทำยังไงบ้าง
ก่อนทำ 4P Marketing Mix
ก่อนที่จะเริ่มพูดเรื่องวิธีวิเคราะห์ 4P Marketing Mix เราต้องมีการเตรียมข้อมูลก่อน และข้อมูลที่เราต้องมีก็คือข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายหรือข้อมูลของลูกค้านั้นเอง
หากเราไม่มีข้อมูลของลูกค้าอยู่แล้ว เราก็ไม่สามารถคาดคะเนได้ว่า ‘ลูกค้า’ จะมีปฏิกิริยาต่อกลยุทธ์การตลาดแต่ละส่วนอย่างไร
- ถ้าคุณวิเคราะห์ 4P กับ บริษัทหรือสินค้าที่มีตัวตนอยู่แล้ว – คุณก็ควรแบ่งแยกกลุ่มลูกค้าด้วยการหาข้อมูลผ่านทางแบบสอบถามหรือการสัมภาษณ์ลูกค้า หากคุณวิเคราะห์สินค้าแบรนด์ดัง การแบ่งกลุ่มที่คนนิยมทำก็คือการแบ่งลูกค้าจากความดังของแบรนด์ (รู้จักแบรนด์และเป็นลูกค้าประจำ, รู้จักแบรนด์แต่ไม่ได้เป็นลูกค้าประจำ, ไม่รู้จักแบรนด์และไม่เคยใช้สินค้า)
- ถ้าคุณวิเคราะห์ 4P กับ บริษัทหรือสินค้าใหม่ – ในส่วนนี้การหาข้อมูลอาจจะยากหน่อย ให้คุณลองคิดดูว่ามีกลุ่มลูกค้าไหนที่คล้ายกับหรือมีแนวโน้มที่จะร่วมงานกับธุรกิจหรือสินค้าของคุณ ถ้าคุณมีสินค้าตัวอย่างหรือไอเดียบริการคุณก็อาจจะนำไปใช้ประกอบการสัมภาษณ์ลูกค้าก็ได้
อย่างไรก็ตามวิธีวิเคราะห์แบบนี้ก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของคุณด้วย ถ้าคุณเป็นนักการตลาดที่ดูภาพรวมคุณอาจจะสนใจแค่มุมมองของแบรนด์สินค้า แต่ถ้าคุณเป็นนักการตลาดที่ชอบลงรายละเอียดหน่อย คุณก็อาจจะต้องแตกข้อมูลลูกค้าเอามาแบ่งย่อยมากกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าคุณเป็นบริษัท Starbucks สตาร์บัคส์
- คุณอาจจะแบ่งกลุ่มลูกค้าเป็นคนที่ชอบสตาร์บัคส์ และคนที่ไม่ชอบ (การแบ่งกลุ่มลูกค้าแบบภาพรวมใหญ่ของแบรนด์)
- หรือคุณอาจจะแบ่งกลุ่มลูกค้าย่อย ตามพฤติกรรมต่างๆ เป็นคนที่ชอบสั่งกาแฟ ชอบสั่งชาเขียว ชอบนั่งร้านนานๆ หรือชอบเข้ามาในร้านเพื่อใช้อินเทอร์เน็ตเป็นต้น
หากใครสนใจเรื่องการแบ่งกลุ่มลูกค้าแบบเจาะลึก ผมแนะนำให้อ่านบทความเรื่อง การวิเคราะห์ STP นะครับ
วิธีทำ 4P Product (ผลิตภัณฑ์)
หลักการวิเคราะห์การตลาดส่วน Product หรือสินค้า ก็คือการสร้างสินค้าหรือบริการที่ลูกค้าจะ ‘พึงพอใจ’ อาจจะเป็นสินค้าที่มี ‘จุดขายที่แตกต่าง’ (unique selling point) เทียบกับคู่แข่ง หรือบริการที่ช่วยตอบโจทย์ปัญหาของลูกค้าให้ได้
[ส่วนของ Product อาจจะยาวนิดนึงนะครับ เพราะถ้าวิเคราะห์ส่วนนี้ผิดไป ส่วนอื่นก็จะไม่สามารถไปต่อได้]
ปัจจัยที่สำคัญของทางด้าน Product ที่คนนิยมดูกันก็คือ การออกแบบ เทคโนโลยี ประโยชน์ ความคุ้มค่า ความสะดวกสบาย คุณภาพ การรับประกัน แบรนด์ และ บรรจุภัณฑ์ เวลาที่เราวิเคราะห์ส่วน Product เราก็ควรดูว่าเราสามารถปรับปรุงปัจจัยพวกนี้ให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าของเรามากที่สุดได้อย่างไร
…และปัจจัยส่วนสินค้าที่ดีที่สุดก็คือปัจจัยที่ลูกค้าเห็นค่า…และยอมจ่ายเงินให้
ความเยี่ยมยอดของการวิเคราะห์ส่วนนี้ก็คือเราได้ตัดปัจจัยส่วน ‘ราคา’ ออกไปไว้อีกบทหนึ่ง ทำให้เราต้องกลับมาดูจริงๆว่าลูกค้าต้องการอะไรบ้างนอกจาก ‘ราคาถูก’ วิธีที่แนะนำของผมคือการจับปัจจัยที่สำคัญจากด้านบนนี้ มาชนกับกลุ่มลูกค้าทั้งหมดที่เราสามารถแยกออกมาได้
ตัวอย่างการวิเคราะห์ Product บริษัทมาม่า
ปัจจัยส่วนผลิตภัณฑ์ (เฉพาะที่สำคัญกับบริษัท) | กลุ่มลูกค้าหลัก 1 ชอบสินค้าราคาถูก | กลุ่มลูกค้าหลัก 2 อยู่ชานเมือง มีตัวเลือกไม่เยอะ | กลุ่มลูกค้าหลัก 3 ลูกค้าประจำ ชอบที่รสชาติ |
ประโยชน์ | ได้ประโยชน์จากความคุ้มค่าของราคา | ได้ประโยชน์จากความสะดวกสบายในการเลือกซื้อ | ได้ประโยชน์จากประสบการณ์ในการใช้สินค้า |
ความคุ้มค่า | คุ้มราคา | คุ้มราคา | คุ้มราคา |
ความสะดวกสบาย | สะดวกสบาย | สะดวกสบาย | สะดวกสบาย |
คุณภาพ | ไม่ได้ใส่ใจคุณภาพ | ใส่ใจที่ความหลากหลายของตัวเลือก | ใส่ใจที่รสชาติ |
บรรจุภัณฑ์ | ซื้อแบบซอง เพราะราคาถูก | ซื้อแบบถ้วย เพราะใช้งานง่าย | ซองใหญ่ทำให้ลูกค้ากินได้เยอะขึ้น |
ในการวิเคราะห์สินค้า เราก็ต้องดู วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Lifetime Value) และ วงจรชีวิตลูกค้า (Customer Lifetime Value) ด้วย
คำว่า ‘วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์’ ยกตัวอย่างง่ายที่สุดก็คงเป็นสินค้าที่มีอายุสั้นจําพวกสินค้าเทคโนโลยี เช่นกล้องถ่ายรูปหรือมือถือ หากสินค้าของคุณเป็นสินค้าที่มีวงจรผลิตภัณฑ์สั้น คุณก็ควรปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสมกับวงจรอายุที่สั้นนี้ สินค้าอื่นๆที่มีอายุวงจรผลิตภัณฑ์สั้น ได้แต่สินค้าเทรนด์ต่างๆ เช่น สินค้าที่เกี่ยวกับหนัง การ์ตูน หรือเกมส์ หรือสินค้าที่ดังเป็นช่วงๆ อย่าง ชานมไข่มุก และ บิงซู
วงจรชีวิตลูกค้า หมายถึงว่าลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเราจะอยู่กับเราได้นานแค่ไหน ในระยะสั้นพฤติกรรมของลูกค้าเป็นอย่างไร ในระยะยาวพฤติกรรมจะเปลี่ยนมากหรือเปล่า หากคุณเป็นคนวิเคราะห์การตลาดสายคำนวณ คุณก็ต้องดูว่า “คุณค่าของลูกค้าตลอดช่วงที่อยู่กับบริษัท” (Customer Lifetime Value) คือเท่าไร แล้วเราจะทำยังไงให้ตัวเลขนี้เยอะที่สุด
ผมขอสรุปส่วนนี้ด้วยการยูเทิร์นจากเรื่องสายเทคนิคสายคำนวณ กลับเข้ามาในส่วนภาพรวมการตลาดของส่วน Product ใหม่นะครับ หลังจากที่เราวิเคราะห์ข้อมูลทุกอย่างเสร็จ ผลผลิตของการวิเคราะห์ส่วนนี้ ก็คือ ‘คำตอบ’ ว่าสินค้าที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าหลักของเรามากที่สุดคือตัวไหน
วิธีทำ 4P Price (ราคา)
ทฤษฎีเรื่องการตลาดกับราคามีอยู่เยอะมาก เยอะขนาดที่โรงเรียนบริหารธุรกิจลงทุนเปิดวิชาให้เรียนทั้งเทอมเกี่ยวกับเรื่องการ ‘ตั้งราคาสินค้า’ การตั้งราคาเป็นการตัดสินใจทางการตลาดที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับตัวเลขส่วนกำไรมากที่สุดแล้ว ราคาถูกไปก็ขายไม่มีกำไร ราคาแพงไปก็ได้กำไรเยอะอาจจะขายไม่ออก แต่ราคาที่ดีคืออะไรกันนะ
ปัจจัยสำคัญในการตั้งราคา ส่วนมากจะเกี่ยวกับต้นทุนของสินค้า กลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าของคุณ และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวกับโฆษณากับการกระจายสินค้า โดยรวมแล้วหากมีการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยพวกนี้ราคาสินค้าก็จะเปลี่ยน
กลยุทธ์การตั้งราคาที่คนนิยมใช้กันได้แก่
- Skimming Pricing การตั้งราคาให้มีราคาสูงในช่วงแรกที่เข้าสู่ตลาด แล้วค่อยลดราคาสินค้ามาในช่วงหลัง ยกตัวอย่างเช่นสินค้าเทคโนโลยีใหม่ๆ
- Penetration Pricing การตั้งราคาสินค้าให้มีราคาถูกเพื่อเจาะกลุ่มตลาดใหม่ ส่วนมากใช้กับตลาดที่มีอุปสรรคในการเข้าถึงเยอะ ยกตัวอย่างเช่นคู่แข่งเยอะ หรือ สินค้ามีราคาแพงมาก
- Psychological Pricing การตั้งราคาทางจิตวิทยา เช่นการตั้งราคาให้มีลงท้ายด้วยเลข 5 เลข 9 การตั้งราคาสินค้าให้เป็นแพ็คเกจต่างๆ เช่นบริษัททัวร์
- Mark Up Pricing การตั้งราคาโดยการบวกกำไรขึ้นมาจากราคาต้นทุน ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจขายปลีกที่ตั้งราคาสินค้าตามต้นทุนที่รับมาบวกกำไรนิดหน่อย
- Loss Leader Pricing การตั้งราคาให้ถูกเข้าไว้ เพื่อกันคู่แข่งใหม่เข้ามาในตลาด ส่วนมากมักใช้โดยธุรกิจใหญ่ที่มีเงินทุนหมุนเวียนสูง
หากใครสนใจศึกษาเกี่ยวกับการตั้งราคาเพิ่มเติม สามารถอ่านบทความเรื่องกลยุทธ์การตั้งราคาของผมได้ วิธีการตั้งราคา
ตำแหน่งสินค้า (Positioning) และ คู่แข่งในตลาด จะเป็นตัวบอกว่าราคาสินค้าของคุณควรจะอยู่ที่เท่าไร หากในตลาดมีคู่แข่ง หรือมีคนที่ขายสินค้าคล้ายกับคุณเยอะ คุณก็อาจจำเป็นต้องปรับราคาให้สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ แต่ถ้าสินค้าของคุณมีตำแหน่งที่อยู่เหนือกว่าคู่แข่ง คุณก็จะสามารถตั้งราคาที่แพงกว่าได้ เป็นต้น
คนที่สนใจเรื่อง ตำแหน่งสินค้า สามารถอ่านบทความเจาะลงเฉพาะของผมได้ที่นี่ Positioning คืออะไร? ทำการตลาดให้ปังด้วยการใช้ Positioning
ซึ่งก็จะวนกลับมาคำถามเดิมว่ากลุ่มลูกค้าประจำของคุณคือใคร ถ้าคุณขายน้ำเปล่า คุณจะขายให้คนทั้งประเทศ ทั้งจังหวัด ทั้งอำเภอ หรือเฉพาะคนที่เดินผ่านปากซอยคุณเท่านั้น ยิ่งกลุ่มเป้าหมายและตำแหน่งสินค้าของคุณชัดเจนแค่ไหน การตั้งราคาก็จะชัดเจนขึ้นเท่านั้น
นอกจากนั้นแล้ว ผมมีตัวเลขอีก 3 อย่างที่อยากให้คุณคำนึงถึงก่อนตั้งราคาสินค้า
- มูลค่าสินค้าต่อการใช้งาน (expected value to a customer) – ทุกสินค้ามีอายุการใช้งาน สินค้าของคนมีอายุการใช้งานแตกต่างกับคู่แข่งคนอื่น (แล้วคุณสามารถสื่อสารข้อดีส่วนนี้ให้กับลูกค้าได้) คุณก็ควรปรับราคาให้เหมาะสม
- มูลค่าสินค้าต่อช่องทางการขาย (expected value to a channel) – ราคาขายปลีกขายส่งเท่าไร ราคาขายออนไลน์คือเท่าไร และ ราคาขายในกรุงเทพ ขายในต่างจังหวัด ขายในต่างประเทศ จะต่างกันหรือเปล่า
- จุดคุ้มทุน (break-even point) – ต้นทุนในการผลิตหรือในการรับสินค้ามาขายของคุณคือเท่าไร คุณจำเป็นต้องขายสินค้าเยอะแค่ไหนกว่าจะคุ้มทุนที่ลงไป
หลังจากที่เราวิเคราะห์ข้อมูลทุกอย่างเสร็จ ผลผลิตของการวิเคราะห์ส่วนราคา ก็คือ ‘ตัวเลข’ ที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าหลักและสำหรับช่องทางการขายทั้งหมดของเรา
วิธีทำ 4P Promotion (การส่งเสริมการขาย)
คนส่วนมากอาจจะเข้าใจว่าหน้าที่การตลาดส่วนมากคือการส่งเสริมการขายหรือการจัดโปรโมชั่น ซึ่งความคิดนี้ก็ไม่ได้ผิดซักทีเดียว เพราะการส่งเสริมการขายคือเครื่องมือการตลาดที่ดีและมีลูกเล่นเยอะมาก การส่งเสริมการขายได้แก่ การประชาสัมพันธ์ การจัดนิทรรศการ และการสาธิตสินค้าเป็นต้น
กลยุทธ์การส่งเสริมการขายที่คนนิยมทำกันได้แก่ การสร้างข้อเสนอพิเศษ การขอคำรับรองจากผู้ใช้หรือผู้มีอิทธิพล การโฆษณา การให้ผู้ใช้ทดลองของ การตลาดผ่านไปรษณีย์ แผ่นพับ/โปสเตอร์ การแจกของฟรี การจัดการแข่งขันระหว่างลูกค้า และ การร่วมมือพันธมิตรทางธุรกิจ
ความซับซ้อนของการส่งเสริมการขาย จะเกิดขึ้นเมื่อ ‘ผู้ใช้’ และ ‘ลูกค้าโดยตรง’ ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น โค้กขายสินค้าให้กับร้านขายปลีกร้านขายส่ง แต่ผู้บริโภคจริงๆก็คือบุคคลทั่วไป ในกรณีนี้บริษัทอย่างโค้กก็ต้องหาวิธีกระตุ้นให้ผู้บริโภคอยากซื้อ แล้วก็กระตุ้นให้ร้านขายปลีกขายส่งอยากร่วมงานตัวเองด้วย
การโฆษณา ก็ยังคงเป็นวิธีส่งเสริมการขายที่คนนิยมกันมากที่สุด โดยที่เป้าหมายก็คือการสร้างในการพัฒนาภาพลักษณ์ของสินค้าให้เหมาะกับความต้องการของตลาด
ไอเดียหลักของการทำ Promotion ส่งเสริมการขายมีดังนี้ครับ
- ศาสตร์และศิลป์ (Analytics and Creative) – การตลาดคือการนำเสนออะไรใหม่น่าตื่นเต้นให้กลุ่มเป้าหมายของเรา และการตลาดที่ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดคือการรวมศิลป์ของการทำอะไรใหม่ๆเข้ากับศาสตร์ของการคำนวณและวิเคราะห์ตัวเลข
- การเข้าหาลูกค้าและการดึงดูดลูกค้าเข้าหาเรา (Outbound and Inbound) – การส่งเสริมการขายแบบเข้าหาลูกค้าและการดึงลูกค้าเข้าหาเรามีวิธีทำและผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน การเข้าหาลูกค้าเหมาะกับสินค้าที่อธิบายได้ง่าย ลูกค้าเข้าใจอยู่แล้ว ส่วนการดึงลูกค้าเข้าหาเราเหมาะกับสินค้าที่ต้องใช้เวลาในการอธิบายและมีขั้นตอนการขายหลายระดับ
- การเดินทางของลูกค้า (Marketing Funnel) – โอกาสในการขายจะมีมากขึ้นหากเราสามารถสื่อสารให้ลูกค้าฟังได้อย่างน้อยเจ็ดครั้ง ซึ่งการตลาดที่ช่วยส่งเสริมการขายก็ควรคำนึงถึงจุดนี้ด้วย ลูกค้ากลุ่มไหนคือลูกค้าที่ไม่รู้จักเรามาก่อน ลูกค้ากลุ่มไหนเคยเห็นโฆษณาของเราแล้ว และลูกค้ากลุ่มไหนที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ
- กลุ่มตัวเลือกสุดท้ายของลูกค้า (Consideration Sets) – ในกรณีที่สินค้าของเรามีคู่แข่งหรือมีตัวเลือกทดแทนได้เยอะ กลุ่มตัวเลือกสุดท้ายที่ลูกค้าชอบนำมาเปรียบเทียบกับสินค้าของเราคืออะไร และเราจะทำยังไงถึงจะ ‘โดดเด่น’ ออกมาจากกลุ่มคู่แข่งและตัวทดแทนพวกนี้ได้
การวิเคราะห์ Promotion บริษัทมาม่า
ปัจจัยส่วนการส่งเสริมการขาย (เฉพาะที่สำคัญกับบริษัท) | กลุ่มลูกค้าหลัก 1 ชอบสินค้าราคาถูก | กลุ่มลูกค้าหลัก 2 อยู่ชานเมือง มีตัวเลือกไม่เยอะ | กลุ่มลูกค้าหลัก 3 ลูกค้าประจำ ชอบที่รสชาติ |
การสร้างข้อเสนอพิเศษ | ทำโปรโมชั่นลดราคาเมื่อซื้อจำนวนเยอะ | ทำโปรโมชั่นแพคใหญ่รวมหลายรสชาติ | โปรโมชั่นซองใหญ่ |
การโฆษณา | ลงโฆษณาเน้นความคุ้มค่าของราคา | เลือกใช้ micro-influencer หรือ เซเลปเฉพาะท้องถิ่น | ลงโฆษณาเน้นประสบการณ์จากรสชาติ |
การร่วมมือพันธมิตรทางธุรกิจ | ทำโปรโมชั่นร่วมกับร้านขายปลีก | ทำโปรโมชั่นร่วมกับร้านชานเมือง | ทำโปรโมชั่นร่วมกับร้านอาหารต่างๆ |
ผลผลิตของการวิเคราะห์ส่วนส่งเสริมการขาย ก็คือ ‘แผนการ’ ว่าเราต้องทำอะไรต่อ เราต้องร่วมมือกับคู่ค้าคนไหน และ ‘ข้อความ’ ที่เราอยากจะสื่อให้กับลูกค้าแต่ละกลุ่ม แต่ละช่องทางมีอะไรบ้าง
วิธีทำ 4P Place (ช่องทางการจัดจำหน่าย)
Place ของ 4P หมายถึงสถานที่หรือช่องทางการจัดจำหน่ายนั่นเอง ในสมัยก่อนเราอาจจะมองแค่ว่าสินค้าของเราจะไปขายตรงพื้นที่ไหนบ้าง หรือจะไปฝากร้านไหนขายบ้าง แต่ในยุคสมัยใหม่นี้ คำถามที่สำคัญกว่าก็คือ ‘เราจะเข้าถึงลูกค้าได้อย่างไร’
นอกจากนั้น หากคุณเป็นคนผลิตสินค้าให้ตัวแทนจำหน่าย…ที่ขายหลายทางช่องทาง คุณก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้าน การขายปลีก ขายส่ง ขายออนไลน์ ขายตรง ขายผ่านคำแนะนำลูกค้า และขายทางช่องทางอื่นๆด้วย
หรือถ้าคุณมีหน้าร้านออนไลน์ Place ก็อาจจะหมายถึงการขายบนเฟสบุ๊ค การขายบนไอจี การขายบนเว็บตัวเอง หรือการขายบน Shopee/Lazada ก็ได้
คำถามที่เราต้องตอบให้ได้ก็คือ ช่องทางการขายที่เหมาะสมกับสินค้าหรือบริการของเรามีอะไรบ้าง และช่องทางการขายไหนที่เราควรให้ความสำคัญมากที่สุด … ซึ่งคำตอบในเชิงธุรกิจก็มีอยู่อย่างเดียวครับ ช่องทางที่ดีที่สุดคือช่องทางที่ทำกำไรให้เราได้เยอะและมีโอกาสเติบโตมากในอนาคต
การเปิดช่องทางการขายใหม่แปลว่าเราต้องลงทุนลงเวลาเยอะ ซึ่งก็แปลว่าข้อจำกัดในการขยายช่องทางการขายก็คือทรัพยากรของบริษัท หากคุณเป็น SME เล็กๆ การเปิดแค่ร้านเดียวก็อาจจะถือว่าเยอะแล้ว แต่ถ้าคุณเป็นบริษัทใหญ่อย่าง Toyota หรือ Samsung คุณก็ต้องพยายามขยายช่องทางให้เยอะเข้าไว้เพื่อเพิ่มรายได้
แต่ถ้าคุณเป็นร้านขายกระเป๋าแบรนด์เนม คุณก็ไม่อยากจะไปเปิดช่องทางการขายใหม่ในตลาดสดตอนเช้าเพียงเพราะมีคนมาเดินเยอะใช่ไหมครับ ช่องทางการขายที่ดีคือช่องทางการขายที่กลุ่มลูกค้าหลักของเราอยู่ เพราะฉะนั้นตัวแปรในการวิเคราะห์ความเหมาะสมของช่องทางการจัดจำหน่ายมีดังนี้
- รายได้และกำไร – การเปิดช่องทางการจำหน่ายใหม่ก็ต้องมีค่าใช้จ่าย เราอาจจะต้องจ่ายค่าเช่าที่ให้ห้าง จ่ายค่าคอมให้พนักงานขายเฉพาะพื้นที่ หรือยอมลดราคาเพื่อเข้าหาลูกค้ากลุ่มใหม่ นอกจากนั้น หากคุณเปิดร้านหลายที่ใกล้ๆกัน คุณก็ยังต้องคำนึงถึงการแย่งลูกค้ากันเองอีกด้วย
- ความสามารถในการควบคุมการสื่อสาร (Communication Control) – หากเรามองแต่ละช่องทางการจำหน่ายว่าเป็นพนักงานขายหนึ่งหน่วย ตัวคุณที่เป็นหัวหน้าฝ่ายขายจะสามารถบริหารพนักงานขายได้กี่คนกัน ยิ่งไปกว่านั้นคุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าข้อมูลทุกโปรโมชั่น ทุกการเปลี่ยนแปลงในราคา และสินค้าใหม่ๆ จะถูกส่งไปยังแต่ละช่องทางได้อย่างถูกต้อง…คำตอบก็คือถ้าคุณมีระบบการสื่อสารที่ดีพอ คุณก็สามารถที่จะทำได้ครับ
- ความสำคัญของสินค้า (Product Importance) – ยิ่งคุณยืมมือคนอื่นในการขายเยอะ ความสามารถในการควบคุมสินค้าของคุณก็จะน้อยลง หากคุณเอาทีวีบริษัทคุณไปฝากขายที่ร้านในห้าง พนักงานขายจะมีแรงจูงใจที่จะขายสินค้าของคุณมากกว่าทีวีของผู้ผลิตคนอื่นหรือเปล่า การควบคุมการขายทุกอย่างเองแปลว่าระบบของคุณจะช้า แต่การยืมมือคนอื่นขายก็แปลว่าคุณจะสามารถควบคุมระบบได้น้อยลง
หากคุณไปเดินห้างใหญ่อย่าง Central World หรือ Paragon คุณจะเห็นได้ว่า Starbucks เปิด 3-4 สาขาที่ห้างเดียวกัน หมายความว่าตราบใดที่ความต้องการของลูกค้ายังมากพอ เราก็ควรขยายพื้นที่กิจการของเราไปเรื่อยๆ…แม้จะเป็นในตึกเดียวกันก็ตาม
ในส่วนตรง Place นี้หากใครสนใจสามารถอ่านบทความของผมเพิ่มเติมได้เรื่อง กลยุทธ์ช่องทางการตลาด
สุดท้ายแล้ว สิ่งที่คุณต้องมีหลังจากการวิเคราะห์ส่วนช่องทางการจัดจำหน่าย ก็คือช่องทางการขายไหนที่เหมาะสมที่สุดกับสินค้าหรือกลุ่มลูกค้าของเรา และกลยุทธ์การตลาดสำหรับแต่ละช่องทางจะเหมือนกันหรือเปล่า
สุดท้ายกับ 4P Marketing Mix
อ่านมาถึงขนาดนี้ ทุกคนคงเห็นแล้วว่า 4P Marketing Mix นั้นมีอะไรลึกกว่าการแค่ดูคร่าวๆว่า สินค้า ราคา การทำโปรโมชั่น และสถานที่ คืออะไรบ้าง
การวิเคราะห์ 4P ที่สมบูรณ์คือการทำข้อมูลทั้งหมดมารวมกันเพื่อดูว่าเราสามารถขายหรือบริการกลุ่มลูกค้าหลักของเราได้ดีที่สุดแค่ไหน…และมีกรณีไหนบ้างที่เราจะใช้ สินค้า ราคา การทำโปรโมชั่น และสถานที่ เดียวกันเพื่อขายลูกค้าหลายกลุ่มพร้อมกันได้
ข้อมูลสุดท้ายที่เราควรได้จากการทำ 4P ทั้งหมดก็คือการนำ 4P ทั้งหมดมาชนกับกลุ่มลูกค้าของเรา เพื่อดูว่ากลยุทธ์ที่เราสร้างมาเหมาะสมจริงหรือเปล่า และมีส่วนไหนที่เราสามารถสร้างกำไรได้มากที่สุด หรือมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
สำหรับคนที่สนใจอยากศึกษาเพิ่มเติม ผมมีคู่มือการทำธุรกิจและการตลาดแจกฟรีเยอะมาก สามารถดูได้ที่นี่นะครับ
ข้อมูลในการทำธุรกิจอื่นๆที่เราแนะนำ
- วิธีการพยากรณ์ยอดขาย (Sales Forecast) แบบง่ายแต่แม่นจริง!
- SWOT คืออะไร? วิธีวิเคราะห์ (+ ตัวอย่าง SWOT ร้านกาแฟ)
- STP คืออะไร? วิธีวิเคราะห์+ประโยชน์+ตัวอย่าง [STP Marketing]