Positioning คืออะไร? ทำการตลาดให้ปังด้วยการใช้ Positioning

Positioning คืออะไร? ทำการตลาดให้ปังด้วยการใช้ Positioning

‘คุณสมบัติของสินค้า’ กับ ‘มุมมองสินค้าในความคิดของลูกค้า’ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอ สินค้าบางอย่างอาจจะมีคุณภาพไม่ได้ดีมากแต่ลูกค้าคิดว่าสินค้าคุณภาพดีก็สามารถขายได้ สินค้าบางอย่างคุณภาพดีเยี่ยมแต่ลูกค้าไม่เชื่อถือ ก็ขายไม่ได้

การตลาดไม่ได้หมายถึง ‘การแสดงความเป็นอันดับหนึ่ง’ เสมอไป ถ้าเรามองว่าเป้าหมายของธุรกิจคือการขายของให้ลูกค้า และลูกค้าอยากจะซื้อสินค้าที่แก้ปัญหาให้กับตัวเองได้ หน้าที่ของการตลาดก็คือการแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าสินค้าของเราเหมาะสมกับการแก้ปัญหาให้ลูกค้ามากที่สุด ลูกค้าสามารถซื้อเสื้อผ้าที่ไหนก็ได้ ลูกค้าก็ย่อมอยากซื้อเสื้อผ้าที่ ‘ลูกค้าคิดว่า’ มีขนาด ‘พอดี’ กับตัวเองมากกว่าเสื้อผ้าของคนอื่น

marketing is battle of perceptions
การตลาดคือการต่อสู้ของการรับรู้ 

Positioning คืออะไร

Positioning หรือ การจัดวางตำแหน่งสินค้า คือการบริหารจัดการมุมมองที่ลูกค้ามีต่อสินค้าของบริษัท เพื่อให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายสามารถแยกแยะสินค้าของเราออกจากสินค้าคู่แข่งในตลาดได้ และการวิจัยตลาดกับกลุ่มเป้าหมายจะบอกให้เรารู้ได้ว่าลูกค้าตอบรับกับอะไรดีที่สุด

หลักการ Positioning หรือการจัดวางตำแหน่งสินค้าเป็นหลักการที่มีมานานแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นเครื่องมือการตลาดที่ยังทรงพลังและมีค่าให้เราศึกษาอยู่ทุกวันนี้

จุดหมายของการตลาดก็คือการทำให้สินค้าของเราโดดเด่นหรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ ‘แตกต่าง’ แต่ในโลกที่คุณสมบัติทุกอย่างของสินค้าสามารถถูกลอกเลียนแบบได้ สิ่งที่นักการตลาดค้นพบก็คือ เราก็สามารถปรับมุมมองของกลุ่มลูกค้าเราได้เช่นกัน

รองเท้า Nike ก็อาจจะเป็นรองเท้าคู่นึงถ้าไม่มีโลโก้บริษัทติด มือถือ iPhone ก็คงไม่ได้ต่างจากมือถือรุ่นอื่นเท่าไรถ้าไม่ได้มีโลโก้ของ Apple ติด คำว่า branding และ positioning อาจจะมีความหมายที่ไม่เหมือนกันแต่ผลลัพธ์ในเรื่องของการตลาดนั้นก็ต่างกันไม่มาก

Unique Positioning คือ

Positioning หรือการจัดวางตำแหน่งของเราคงไม่มีประโยชน์อะไรมาก ถ้าตำแหน่งของสินค้าของเราไม่แตกต่างไปจากเจ้าอื่นๆ ร้านมินิมาร์ทก็ยังคงเป็นร้านมินิมาร์ทถ้าเราไม่ได้มีความแตกต่าง (Unique Positioning)

ย้อนกลับไปจะยุคหลายร้อยปีก่อน ในสมัยที่ทุกคนยังเป็นชาวนา แล้วทุกคนก็สามารถผลิตสินค้าเหมือนกันออกมาขายได้ … ในยุคสมัยนั้น ส้มก็คือส้ม แตงโมก็คือแตงโม สินค้าไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้ผลิตแต่ละคน

และความไม่แตกต่างนี่เองก็สร้างปัญหาให้กับทางธุรกิจและกับลูกค้า ธุรกิจที่ไม่สามารถขายสินค้าที่แตกต่างได้ก็ไม่สามารถทำกำไรได้ ลูกค้าที่มีความต้องการแบบเฉพาะทางก็จะรู้สึกเหมือนกับว่าความต้องการตัวเองไม่ถูกตอบรับจากธุรกิจ

จนกระทั่งค้นพบว่า ส้มทุกลูกไม่ได้เหมือนกัน ส้มบางลูกหวานกว่าส้มอื่น ส้มบางลูกมีวิตามินซีสูงกว่าส้มอื่น แตงโมมีทั้งสีแดงและสีเหลือง แตงโมบางลูกก็มีน้ำชุ่มฉ่ำกว่าลูกอื่น คุณสมบัติที่ไม่เหมือนกันของสินค้าที่คล้ายๆกันนี้ทำให้เกิดตำแหน่งสินค้าในมุมมองของลูกค้า

ยิ่ง unique positioning ของเราเยอะ เราก็ยิ่งสร้างความแตกต่างได้เยอะ

อย่างไรก็ตามข้อเสียของการมี positioning เยอะก็คือเราต้องใช้งบในการสื่อสารและอบรมลูกค้าเยอะเช่นกัน เราอาจจะต้องเสียเงินหนึ่งก้อนเพื่อบอกลูกค้าว่าสินค้าเราราคาถูก และเสียเงินอีกหนึ่งก้อนเพื่อบอกว่าสินค้าเราคุณภาพดี

unique positioning เปรียบเทียบได้กับตัวเมืองในสมัยสงคราม เรามีเมืองเยอะทรัพยากรก็เยอะ แต่ก็ยิ่งทำให้เราตกเป็นเป้าหมายการโจมตีจากคู่แข่งได้เยอะจากหลายทิศทางเช่นกัน (ตำแหน่งตลาด เป็นคำที่ถูกใช้เปรียบเทียบด้วยคำศัพท์ด้านการสงครามเยอะ)

ประโยชน์ของการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ [Benefits of Positoning]

#1 สร้างความแตกต่าง

สาเหตุหลักที่ทุกธุรกิจควรจะมี Positioning ก็คือการสร้างความแตกต่างในสายตาของลูกค้า ในโลกธุรกิจที่การแข่งขันสูงและคู่แข่งทุกคนพยายามที่จะลอกเลียนแบบคนที่ทำได้ดีเสมอ ลูกค้าก็จะมองว่า ‘สินค้า’ นั้นสามารถ ‘ซื้อที่ไหนก็ได้’ และ ‘ซื้อจากใครก็ได้’ เพราะผู้ขายผู้ผลิตทุกคนสามารถสร้างสินค้าได้ในมาตรฐานใกล้เคียงกันหมด

แต่ถ้าเราสามารถนำหลักการของการจัดวางตำแหน่งมาใช้ เราก็สามารถสร้างตำแหน่งสินค้าในใจให้กับลูกค้าได้ และลูกค้าก็จะเข้าใจว่าสินค้าของเรามีความแตกต่างและโดดเด่น หมายความว่าเราจะสามารถตอบโจทย์ข้อแรกและโจทย์พื้นฐานที่สุดของการตลาดได้ ซึ่งก็คือ ‘การสร้างความแตกต่าง’

#2 การสร้างแบรนด์

แบรนด์กับตำแหน่งสินค้าเป็นสองคำที่เราได้ยินด้วยกันบ่อยๆ เพราะตำแหน่งสินค้าที่ดีจะช่วยสร้างแบรนด์ให้เรา และแบรนด์ที่ดีก็จะทำให้ตำแหน่งสินค้าของเราชัดเจนมากขึ้น แบรนด์เป็นสิ่งที่มาหลังจากเราสร้างตำแหน่งสินค้าที่แข็งแรงแล้ว

การจัดตำแหน่งสินค้าหมายความว่าเรารู้แล้วว่าสินค้าเราต้องอยู่ในตำแหน่งไหนถึงจะถูกใจลูกค้ามากที่สุด สินค้าเราต้องสร้างคุณค่าให้ลูกค้าได้อย่างไร สินค้าเราควรจะทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกอย่างไร และสินค้าเราทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์การใช้และการซื้อได้อย่างไร ตำแหน่งการตลาดที่ถูกสร้างขึ้นมาและถูกขัดเกลาเรื่อยๆไปตามเวลาก็จะกลายเป็นแบรนด์ให้แข็งแรง 

#3 การต่อยอดสินค้า

การจัดตำแหน่งสินค้าก็คือการหานิยามว่ากลุ่มเป้าหมายลูกค้าของคุณคือใคร และการสร้างความไว้วางใจระหว่างธุรกิจของคุณกับกลุ่มลูกค้าของคุณ เมื่อไรที่คุณมีความไว้วางใจจากลูกค้าคุณก็จะรู้ว่าลูกค้าคือใครและลูกค้าต้องการอะไร แล้วถ้าคุณสามารถตอบโจทย์ทั้งสองอย่างได้คุณก็จะรู้ว่าทิศทางของบริษัทที่ต้องการก้าวไปต่อไปคืออะไร

ลูกค้าที่เชื่อใจในตำแหน่งสินค้าของคุณก็จะเชื่อในสินค้าอื่นๆที่คุณนำออกมาขาย (ข้อแม้ก็คือว่าสินค้าชิ้นต่อไปก็ยังต้องตรงกับตำแหน่งสินค้าและกลุ่มลูกค้าเดิม) ซึ่งแปลว่าการขยายกิจการของคุณนั้นสามารถทำได้ง่ายขึ้นเพราะลูกค้าเข้าใจแล้วว่าสินค้าและบริการของคุณทำอะไรและเหมาะสำหรับลูกค้าแบบไหน (Apple จะออกนาฬิกา หูฟัง หรือที่ตั้งหน้าจอคอม คนก็ซื้ออยู่ดี)

#4 การสร้างลูกค้าประจำและลูกค้าที่ภัคดี

ตำแหน่งสินค้าที่ดีจะสร้าง ‘ตัวตน’ ให้กับธุรกิจสินค้าของคุณ และเมื่อไรที่ธุรกิจของคุณมีตัวตนลูกค้าก็จะรู้สึกว่าธุรกิจของคุณเป็นสิ่งที่เข้าหาได้ง่าย

ตัวตนในที่นี้อาจจะหมายถึงอะไรกว้างๆ เช่นการเป็น Application มือถือที่มีไว้เรียกแท็กซี่ (Uber) หรือการเป็นร้านขายของที่มีสินค้าทุกอย่างที่เราอยากจะได้ (Lazada) หรืออาจจะหมายถึงอะไรที่เรียบง่ายกว่านั้น เช่นคุณเป็นเครื่องดื่มสำหรับคนที่ต้องการพลังงานอย่างเร่งด่วน (กระทิงแดง)

ถ้าคุณสามารถขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในจิตใจลูกค้าสำหรับแต่ละตำแหน่งสินค้าของคุณ ลูกค้าก็จะได้นึกถึงสินค้าของคุณก่อนอันดับแรกเวลาที่ลูกค้ามี ‘ความอยากซื้อ’ (เปรียบเหมือนคนหิวน้ำแล้วนึกถึงน้ำเปล่าตราสิงห์) อันดับหนึ่งในใจของลูกค้านี่แหละที่จะทำให้เกิดการซื้อซ้ำ ทำให้มีลูกค้าประจำ และทำให้ลูกค้าอยากจะบอกต่อแนะนำผู้อื่นให้ซื้อสินค้านี้เช่นกัน

#5 ความง่ายในการสื่อสารและในการขาย

เวลาคนถามว่าอยากกินสุกี้กินที่ไหนดีคำตอบก็คือไปกิน MK ถ้าถามว่าอยากกินบิงซูที่ไหนคนส่วนมากก็คงจะแนะนำ After You ตัวอย่างสองบริษัทนี้แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งสินค้าในใจของลูกค้านั้นมีความสำคัญต่อการสื่อสารและการขายแค่ไหน

Category Positioning ก็คือการที่เราจัดตำแหน่งสินค้าหรือบริษัทเราให้เป็นตัวแทนของทั้งชนิดสินค้านั้นๆ เพื่อที่จะสร้างความง่ายในการที่จะให้ลูกค้าเห็นภาพบริษัทของเราและสินค้าของเรามีตัวตนอยู่เพื่ออะไร ถ้าคุณยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าธุรกิจของคุณทำอะไรภายในประโยคสั้นๆ 1 ประโยค (พูดภายใน 20 ถึง 30 วินาที) ธุรกิจของคุณก็คงยังไม่มีความชัดเจนพอที่จะสร้างตำแหน่งสินค้าในสายตาลูกค้าได้ 

ทำไมธุรกิจต้องมี Brand Positioning

Brand positioning คือการสร้างตัวตนให้กับธุรกิจของคุณ ซึ่งตัวตนธุรกิจที่ดีก็ควรจะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้ ถ้ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราต้องการความเรียบง่ายความสะดวกสบายตำแหน่งของแบรนด์ของเราก็ควรจะตอบโจทย์ความต้องการนี้ ถ้าลูกค้าต้องการความละเอียดอ่อนความสวยหรูตำแหน่งของแบรนด์เราก็ต้องตอบโจทย์ส่วนนี้เช่นกัน

บางครั้งตำแหน่งสินค้ากับผลประโยชน์ของสินค้าอาจจะไม่ได้จำเป็นต้องตรงกันเสมอไป ตัวอย่างเช่นสินค้าแบรนด์รังนก แบรนด์รังนกคนส่วนมากเข้าใจว่าเป็นสินค้าที่ดื่มเพื่อทำให้สุขภาพดี แต่ตำแหน่งสินค้าที่คนส่วนมากใช้กันก็คือการซื้อไว้เป็นของขวัญวันเกิดวันปีใหม่ เพื่อให้เป็นของฝากคนอื่นมากกว่าการใช้กินเอง 

สินค้าที่มีความชัดเจนในตำแหน่งก็ย่อมที่จะสามารถตั้งราคาได้แพงกว่าสินค้าอื่นๆที่ลูกค้าอาจจะไม่ได้เห็นค่ามากเท่า มือถือสมาร์ทโฟนอย่างของ Apple ในสายตาของหลายคนก็ถือว่าเป็นมือถือที่มีคุณภาพดีที่สุด ใช้งานง่ายที่สุด และแน่นอนว่าคนก็พร้อมที่จะซื้อมือถือนี้อยู่เรื่อยๆถึงแม้ว่าราคาจะแพงกว่ามือถือเจ้าอื่นก็ตาม

ตำแหน่งแบรนด์ที่ดีต้องใช้การลงทุนมหาศาล หลายบริษัทยอมลงทุนมหาศาลเพื่อ ‘กรอกข้อความ’ ซ้ำไปซ้ำมาให้ลูกค้าจำให้ได้

แต่ตำแหน่งแบรนด์ก็เหมือนกับดาบสองคมเช่นกัน หากวันไหนที่สินค้าและอุตสาหกรรมของคุณถูกแทรกแซงโดยเทคโนโลยีใหม่ (คิดถึงบริษัท Nokia กับ Fuji Film) ตำแหน่งแบรนด์บางอย่างที่เราทุ่มเทเงินมหาศาลก็จะกลับมาทำร้ายเราเพราะมุมมองของลูกค้าต่อเราอาจจะไม่เปลี่ยน…แต่พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไปแล้ว

วิธีการวางตําแหน่งผลิตภัณฑ์มีอะไรบ้าง 

การจัด ‘ตำแหน่งสินค้า’ ในมุมมองของลูกค้า ก็คือการเล่นกับมุมมองความคิดของคนครับ ซึ่งก็หมายความว่าตราบใดที่ลูกค้ายังใช้สมองและยังใช้อารมณ์ในการตัดสินใจและเรียบเรียงข้อมูลอยู่ ความเป็นไปได้ของตำแหน่งสินค้าก็มีไม่สิ้นสุด

ในมุมมองของนักการตลาดแล้วตำแหน่งของสินค้าที่ดีก็คือตำแหน่งของสินค้าที่ลูกค้าพร้อมที่จะควักกระเป๋าตังค์ออกมาจ่ายเงินให้กับเรา พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือตำแหน่งอะไรก็ได้ที่ลูกค้าเห็นค่าและทำให้เราแตกต่าง

วิธีการวางตําแหน่งผลิตภัณฑ์ที่นักการตลาดนิยมใช้การมีดังนี้ครับ

  • วางตำแหน่งจากคุณสมบัติสินค้า (คุณสมบัติและประโยชน์) – ยกตัวอย่างเช่นยาแก้ไอใช้บรรเทาอาการเจ็บคอ หรือยาสีฟันไว้ช่วยลดอาการเสียวฟัน การวางตำแหน่งแบบนี้ถือว่าเรียบง่ายและทำให้ลูกค้าเข้าใจได้ง่าย แต่บางครั้งตำแหน่งแบบนี้ก็อาจจะถูกแย่งความสนใจไปจากสินค้าทดแทนอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่นยาสีฟันกับบริการขัดฟัน ทั้งสองอย่างนี้ทำให้ ‘ฟันขาว’ ได้เหมือนกัน
  • วางตำแหน่งจากชนิดผู้ใช้ – ยกตัวอย่างเช่นคู่มือหนังสือการตลาดสำหรับมือใหม่ หรือเครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนวิศวะ การวางตำแหน่งแบบนี้มักเป็นตำแหน่งที่ใช้ควบคู่กับตำแหน่งคุณสมบัติสินค้าหรือตำแหน่งอื่นๆวิธีเพื่อให้ลูกค้าเข้าใจทั้งข้อดีของสินค้าและชนิดของกลุ่มลูกค้าที่เหมาะสมกับสินค้าตัวนี้
  • วางตำแหน่งจากระดับสินค้า – หมายถึงว่าดีที่สุดในโลก หรือขายดีที่สุด เป็นตำแหน่งสั้นและง่ายได้ใจความดี แต่ตำแหน่งแบบนี้ก็ง่ายที่จะถูกลูกค้าพลิกตำแหน่งได้ง่ายเพราะคำว่าที่หนึ่งเป็นคำพูดที่ค่อนข้างคลุมเครือพอสมควร อีกตำแหน่งที่ธุรกิจมักจะใช้การก็คือ สินค้าต้นฉบับหรือสินค้าของแท้ ที่แน่นอนว่าก็ อาจจะถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งที่ขายสินค้าที่พัฒนาแล้วหรือสินค้าที่ดีกว่าเป็นต้น
  • วางตำแหน่งเทียบกับคู่แข่ง – การวางตำแหน่งนี้เหมาะสำหรับธุรกิจอันดับ 2 อันดับ 3 ของอุตสาหกรรมเป็นต้น ไม่ว่าคู่แข่งอันดับ 1 ของเราจะขายดีแค่ไหน ก็ต้องมีลูกค้าที่ไม่พึงพอใจอยู่แล้วใช่ไหมครับ ในกรณีนี้การวางตำแหน่งที่ดีที่สุดของอันดับ 2 ก็คือ ‘เราไม่เหมือนอันดับหนึ่ง’ ตำแหน่งตลาดแบบนี้ ‘พรรคการเมือง’ ใช้กันบ่อยมาก ถ้าคุณไม่ชอบพรรคการเมือง A คุณก็อาจจะมาชอบพรรคการเมือง B แบบเราก็ได้
  • วางตำแหน่งตามการใช้งาน – การใช้งานกับคุณสมบัติสินค้าอาจจะฟังดูใกล้ๆกัน แต่จุดที่แตกต่างก็ยังมีอยู่ ยกตัวอย่างแสงสว่างที่มีการใช้งานคือการถือและเจาะรูและมีคุณสมบัติและประโยชน์คือการสร้างรู ในกรณีนี้เราก็ต้องมาดูกันอีกทีว่าการใช้งานสินค้าเราเหมาะสมกับลูกค้าที่สุดแล้วหรือยัง ปราณีการใช้งานก็ถือว่าเป็นคุณสมบัติด้วยยกตัวอย่างเช่นขวดใส่น้ำหอมพกพาขึ้นเครื่องบิน ที่มีการใช้งานกับคุณสมบัติเป็นอย่างเดียวก็คือใส่น้ำหอมพกพาในปริมาณที่นำขึ้นเครื่องบินได้
  • วางตำแหน่งตามคุณค่าหรือคุณภาพ – ส่วนนี้ก็ถือว่าเป็นตำแหน่งสินค้าที่คนใช้กันบ่อย ตำแหน่งนี้ส่วนมากจะมีไว้ตอบโต้ธุรกิจที่มีตำแหน่งคือ ‘ราคาถูก’ ยกตัวอย่างเช่นมือถือที่ขายดีที่สุดในโลกตอนนี้ก็คือ Xiao Mi (ตำแหน่งตลาดคือถูกและดี) เทียบกับตำแหน่งมือถือยี่ห้ออื่นอย่าง Samsung และ Apple ที่คนจัดตำแหน่งว่าเป็นมือถือที่คุณภาพดีมากกว่าสร้างคุณค่าให้ลูกค้าได้มากกว่า

โดยรวมแล้วตำแหน่งสินค้าที่บริษัททั้งหลายจัดวางกันก็มีดังนี้ อย่างไรก็ตามอิสระในการจัดตำแหน่งสินค้าของแต่ละธุรกิจก็ขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าเห็นคุณค่าของตำแหน่งนี้มากแค่ไหน

ในสมัยก่อนที่รถยนต์ของบริษัท Ford ผลิตแค่สีดำเท่านั้น Positioning สินค้าของคู่แข่งที่น่าจะขายดีก็อาจจะเป็น ‘รถสีขาว’ ก็ได้ ตลาดอาจจะเริ่มที่ตลาดชานม แต่ตอนนี้แต่ละบริษัทก็มีจุดขายพิเศษส่วนตัว เช่น ชานมหวานน้อย ชานมเกาหลี ชานมใต้หวัน ชานม brown sugar ชานมไข่มุกคาราเมล

‘Any color you like, as long as its black’ – Ford, 1909
เราขายรถทุกสีที่คุณชอบ ตราบใดที่เป็นสีดำ – Ford 1909

Repositioning คืออะไร

Repositioning คือการจัดวางตำแหน่งสินค้าใหม่ ส่วนมากมักจะถูกใช้เวลาตำแหน่งสินค้าเก่าไม่สามารถสร้างกำไรหรือโตต่อไปได้แล้ว ยกตัวอย่างเช่นเวลาที่บริษัทเราถูกคู่แข่งขโมยตลาดไป สาเหตุที่การจัดวางตำแหน่งสินค้าใหม่เป็นสิ่งที่ยากก็เพราะว่าเมื่อใดที่ลูกค้ามีความคิดหรือมุมมองต่อสินค้าของเราแล้วมันก็ยากที่จะปรับเปลี่ยนตำแหน่งนี้ได้ 

บางคนก็เรียกสิ่งนี้ว่า ‘การรีแบรนด์ธุรกิจ’ (Rebranding) 

การรีแบรนด์กับการจัดวางตำแหน่งสินค้าใหม่เป็นแนวคิดที่มีความเหมือนกันตรงที่ว่าเราต้องปรับเปลี่ยนมุมมองของลูกค้าให้ได้ อย่างไรก็ตามการรีแบรนด์อาจจะมีส่วนที่เราต้องออกแบบโลโก้ใหม่ ออกแบบสินค้าใหม่ หรือบางทีก็เปลี่ยนชื่อบริษัทไปเลยก็มี หรือถ้าบริษัทนึงถูกอีกบริษัทนึงซื้อหุ้นไป บางครั้งการรีแบรนด์ก็อาจจะเป็นแค่การนำแบรนด์ 2 บริษัทมารวมกัน 

มาเรื่องการจัดวางตำแหน่งสินค้าใหม่ (Repositioning) อีกรอบ หากธุรกิจหรือสินค้าคุณเข้าข่ายดังนี้อาจจะต้องคิดเรื่องการจัดวางตำแหน่งสินค้าใหม่

  • กลุ่มลูกค้ากำลังหายไป
  • กลุ่มลูกค้ากำลังถูกคู่แข่งแย่งไป แล้วเราคิดว่าไม่คุ้มที่จะแข่งขันตลาดนี้แล้ว
  • ลูกค้าหรือผู้ใช้งานมีความคิดมุมมองต่อสินค้าคุณไม่เหมือนกับที่คุณอยากให้ลูกค้ารู้สึก 
  • คุณกำลังอยากจะรีแบรนด์สินค้าอยู่แล้ว
  • คุณสูญเสียช่องทางการขายหรือช่องทางการตลาดหลัก จนไม่สามารถขายลูกค้ากลุ่มเดิมได้แล้ว

สุดท้ายนี้กับการจัดวางตำแหน่งสินค้า 

สุดท้ายนี้คุณก็ต้องกลับมาดูการจัดวางตำแหน่งสินค้าของคุณอีกรอบว่าเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของคุณหรือเปล่า หาคนมีงบการตลาดมากหน่อยก็อาจจะลองทำการสำรวจตลาดดูว่ามุมมองของลูกค้ากับมุมมองที่คุณอยากจะให้ลูกค้าเห็นคุณนเหมือนกันหรือต่างกันมากแค่ไหน

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด