ต่อให้ผ่านมากี่ร้อยปี ต่อให้เทคโนโลยีพัฒนาโลกแค่ไหน หนังสือการตลาดก็ยังพูดถึงประโยชน์ของการสร้างแบรนด์อยู่ดี
บทความนี้จะอธิบายเกี่ยวกับ 17 ประโยชน์ของแบรนด์และการสร้างแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์สำหรับธุรกิจ หรือแบรนด์บุคคล เราไปดูกันเลยครับ อย่างไรก็ตาม หากคุณมีคำถามว่าแบรนด์คืออะไร และจะสร้างแบรนด์ที่ดีได้ยังไง ผมแนะนำให้อ่านบทความนี้ วิธีการสร้างแบรนด์
ทำไมต้องสร้างแบรนด์ – 17 ประโยชน์ของการสร้างแบรนด์
#1 ความแตกต่าง
ปัญหาสุดหนักใจของนักขายและนักการตลาดก็คือเรื่องของจุดขายและความแตกต่าง ซึ่งตัวช่วยในการโน้มน้าวลูกค้าว่าเราแตกต่างที่ดีที่สุดก็คือ ‘แบรนด์’ เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าคู่แข่งของเราจะมีคุณภาพดีแค่ไหน หรือจะราคาถูกกว่าเท่าไร เมื่อพูดถึงแบรนด์แล้ว สินค้าของคู่แข่งก็ไม่เหมือนสินค้าของเราอยู่ดี
#2 ทำธุรกิจในระยะยาว
แบรนด์คือสิ่งที่ทำให้คุณพัฒนาจาก ‘อาชีพค้าขาย’ ไปเป็นธุรกิจแบบเต็มรูปแบบ เพราะแบรนด์ที่ดีจะสามารถอยู่ได้นาน ห้าปี สิบปี หรือร้อยปี หากคุณเป็นคนที่มีปัญหาเรื่องต้องเปลี่ยนสินค้าบ่อย ต้องกังวลว่าจะขายอะไรใหม่ดีเรื่อยๆ การสร้างแบรนด์ก็เป็นทิศทางที่ถูกต้องแล้ว
ในส่วนล่างของบทความนี้ เราจะพูดถึงองค์ประกอบส่วนอื่นที่แบรนด์จะสามารถสร้างประโยชน์เพื่อทำให้ธุรกิจยืนยาวมากขึ้น
#3 ความง่ายในการสื่อสาร
คุณเคยเห็นโฆษณา Coke Nike หรือ Apple ไหมครับ? โฆษณาของแบรนด์เหล่านี้ ‘ไม่ต้องพูดอะไรมาก’ บางทีแค่ซื้อป้ายแปะโลโก้เท่าไปก็เท่านั้นเอง นั่นก็เพราะว่าลูกค้ารู้อยู่แล้วว่าแบรนด์นี้คืออะไร ทำอะไรได้ เพราะฉะนั้นธุรกิจที่มีแบรนด์ก็ไม่ต้องเสียเวลาอธิบายมากว่า ‘เราเป็นใคร’ ‘เราขายอะไร’
ธุรกิจเหล่านี้ต้องทำแค่บอกลูกค้าว่า ‘เราอยู่นี่’
#4 การตลาดทำงานง่ายขึ้น
ต่อยอดมาจากข้อที่แล้ว หากลูกค้ารู้อยู่แล้วว่าแบรนด์เราคืออะไร ขายอะไร ทำอะไรได้ โจทย์ของนักการตลาดและนักการขายก็จะง่ายขึ้นมาก หลังจากที่คุณสร้างแบรนด์เสร็จแล้ว จุดโฟกัสของธุรกิจก็คือการเข้าหาลูกค้าให้มากขึ้น
นอกจากนั้นแล้ว การรักษาแบรนด์ให้อยู่ในสภาพดีเหมือนเดิมในสายตาลูกค้า ก็ง่ายกว่าการเริ่มสร้างแบรนด์ใหม่ตั้งแต่แรกด้วย
#5 ความน่าเชื่อถือ
แบรนด์ก็คือตัวตนของเรา และลูกค้าส่วนมากก็มองหา ‘ตัวตนของบริษัท’ เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนซื้อสินค้า (ไม่อย่างนั่งลูกค้าธุรกิจคงไม่ขอใบ ภพ 20 เพื่อดูว่าบริษัทมีตัวตนหรือเปล่า) เราจะเห็นได้ว่าความน่าเชื่อถือเป็นจุดที่ทำให้ สินค้าราคาแพงกว่า ขายดีมากกว่าสินค้าราคาถูก เพราะในฐานะลูกค้า ‘ความเสี่ยง’ จากการซื้อของราคาถูก ก็เป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งเช่นกัน เพราะซื้อมาแล้วใช้ไม่ได้ก็ต้องซื้อใหม่
#6 สร้างลูกค้าประจำ
ลูกค้าประจำจะสร้างข้อได้เปรียบให้กับคุณ 2 อย่าง ข้อแรกก็คือการมีลูกค้าประจำหมายความว่าคุณไม่จำเป็นต้องพึ่งพางบการตลาดมากเท่าเดิม หากเทียบกับลูกค้าใหม่แล้วลูกค้าประจำมาซื้อของง่ายกว่าเยอะมาก ซึ่งก็จะทำให้เราเข้าถึงข้อ 2 ก็คือการสร้างรายได้ธุรกิจที่สามารถคาดเดาได้
หมายความว่าหากเรามีลูกค้าประจำ และเรารู้ว่าลูกค้าประจำจะกลับมาซื้อเดือนละกี่คนโดยเฉลี่ย เราก็จะสามารถสร้างธุรกิจที่มีรายได้แบบเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ต้องนั่งกังวลว่าจะมีลูกค้าใหม่หรือเปล่าทุกเดือน
#7 ลูกค้าบอกต่อ
และนอกเหนือจากการมีลูกค้าประจำแล้ว ลูกค้าที่ถูกใจ รักในแบรนด์ของเรา ก็จะช่วยโฆษณาบอกต่อสินค้าผลิตภัณฑ์หรือบริการของเราให้กับเพื่อนและครอบครัวด้วย ซึ่งคุณก็คงรู้อยู่แล้วว่า ‘ความน่าเชื่อถือ’ ของการบอกต่อแบบนี้มีเยอะ (เทียบกับการที่บริษัทโฆษณาโม้ความดี ความเก่งของตัวเอง…ด้วยตัวเอง)
เรียกว่าแบรนด์ที่ดีจะช่วย ประหยัดทั้งเวลาและงบการตลาดในการหาลูกค้าใหม่ๆ เพราะเรามีลูกค้าช่วยบอกต่อแทนแล้ว
#8 ตั้งราคาได้สูงกว่า
หากคุณดูสินค้าเครื่องเสริมความงาม สินค้าไอที หรือสินค้าแฟชั่น คุณก็จะเห็นได้ว่า ‘ราคาของสินค้ามีแบรนด์’ นั้นราคาแพงกว่ามาก ถึงแม้ว่าต้นทุนสินค้าจะไม่ห่างกันมากก็ตาม ไม่เพียงเราไม่โดนคู่แข่งตัดราคา เรายังสามารถควบคุมการตั้งราคาให้สูงได้ด้วย ที่สำคัญก็คือแบรนด์ยิ่งหายาก ลูกค้ายิ่งอยากซื้อ
#9 กำไรหลังหักค่าการตลาด
หากเราพูดเรื่องราคาแล้ว เราก็คงต้องคิดถึงกำไรด้วย หลายคนคิดว่าการสร้างแบรนด์ใช้เงินค่าการตลาดสูง แต่หากเรามาดูจริงๆแล้ว สินค้าแบรนด์ส่วนมากก็กำไรดีมากกว่าเช่นกัน
ในส่วนนี้ถึงแม้ผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์จะเถียงจนวายวอดว่าแบรนด์ตัวเองคุณภาพดีหรือลงทุนกับการตลาดเยอะ (แปลง่ายๆว่าที่เราราคาแพงเพราะต้นทุนเราสูงกวา) แต่หากเราดูกันจริงๆ ผู้ผลิตที่ไม่มีแบรนด์ส่วนมากจะมีกำไรแค่ 10-15% แต่เจ้าของแบรนด์ดังๆหลายที่กำไรมากถึง 30-40% เลยทีเดียว
#10 ดึงดูดลูกค้า
ใครที่ทำงานฝ่ายขายคงรู้ดีว่าการวิ่งเข้าหาลูกค้าเหนื่อยแค่ไหน บางครั้งพยายามแทบตายลูกค้าก็ไม่ซื้อ เสียทั้งเวลาเสีย เสียทั้งกำลังใจ ในส่วนนี้การสร้างแบรนด์และระบบการตลาดที่ดีจะทำให้ลูกค้าเข้าหาเราเอง แทนที่เราจะมีเซลล์วิ่งหาลูกค้า เรามีแค่หน้าร้านให้ลูกค้าเดินเข้ามาทักทาย
#11 ดึงดูดพนักงาน
นอกจากด้านการขายและการตลาด ผู้บริหารก็ยังต้องคิดถึงเรื่องการบริหารองค์กร และปัจจัยหลักของการบริหารก็คือการจ้างพนักงาน คนส่วนมากต้องการทำงานกับบริษัทใหญ่ บริษัทที่มั่นคง บริษัทที่เก่ง ซึ่งภาพลักษณ์ของบริษัทเหล่านี้ก็คือแบรนด์อย่างหนึ่ง ในส่วนนี้หากคุณรู้สึกว่าหาคนได้ยากหรือรับพนักงานมาแล้วลาออกบ่อย ก็ให้ลองพิจารณาการสร้างแบรนด์ดูนะครับ
#12 ดึงดูดคู่ค้าทางธุรกิจ
นอกเหนือจากลูกค้าและพนักงาน คู่ค้าทางธุรกิจต่างๆก็อยากร่วมงานกับบริษัทที่มีแบรนด์และน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตสินค้า ซัพพลายเออร์ หรือแม้แต่องค์กรของฝ่ายรัฐ ซึ่งหากคุณยังไม่เข้าใจคุณค่าของคู่ค้าทางธุรกิจ ผมบอกได้เลยว่าคู่ค้าช่วยเราสร้างทางความแตกต่าง เพิ่มฐานลูกค้า และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน เป็นสิ่งที่บริษัทใหญ่ๆเขาคำนึงถึงบ่อย
#13 ดึงดูดสื่อ และ Influencer
สื่อต่างๆก็เป็นปัจจัยที่แบรนด์จะช่วยดึงดูดเข้าหาธุรกิจเราได้ เพจต่างๆ บล็อกต่างๆ ส่วนมากก็อยากหาไอเดียคอนเทนต์ใหม่ๆเขียนเสมอนะครับ เพียงแต่ว่าสื่อพวกนี้ก็อยากเขียนคอนเทนต์ที่คนรู้จัก คนอยากอ่าน หากคุณมีแบรนด์ ผลประโยชน์ก็คือสื่อเหล่านี้ก็จะวิ่งเข้าหาคุณ คอยรายงานข่าวสารการประชาสัมพันธ์ต่างๆให้คุณแบบฟรีๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณจะไม่สามารถทำได้ถ้าคุณไม่มีตัวตนที่เรียกว่าแบรนด์
#14 สร้างทิศทางให้องค์กร
หากคุณมีการจ้างคน คุณก็ต้องคิดเรื่องการบริหาร และยิ่งบริษัทของคุณมีพนักงานเยอะ การบริหาร…โดยเฉพาะการสั่งงานพนักงานก็จะกลายเป็นเรื่องยาก คุณอาจจะสั่งพนักงาน 3 คนได้ แต่คุณจะทำยังไงให้พนักงาน 100-1000 คนทำงานโดยไม่ต้องตามงานเรื่อยๆ
แบรนด์ที่ดีจะเป็นทิศทางให้กับพนักงาน หากพนักงานมีปัญหาหรือต้องถกเถียงกันเอง พนักงานที่รู้ว่าแบรนด์ของบริษัทสื่อถึงอะไร ก็จะสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาเจ้าของ
#15 ลูกค้าออกมาช่วยปกป้อง
โลกโซเชียลเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าไปเยอะมาก บริษัทไหนแย่…ลูกค้าก็จะออกมาบ่น บริษัทไหนดี…ลูกค้าก็จะชื่นชม แต่ปรากฏการณ์ที่เราเห็นได้ในสมัยนี้ก็คือ ‘ลูกค้าทะเลาะกันเอง’ ระหว่างลูกค้าที่ชอบแบรนด์กับไม่ชอบแบรนด์ ตัวอย่างง่ายที่สุดก็คือสินค้า iPhone แล้วก็สินค้าของบริษัท Apple ทั้งหลาย ที่ผู้บริโภคเถียงกันมาหลายสิบปีแล้วว่า ‘เจ้าไหนดีกว่า’
การทำธุรกิจเป็นเรื่องยากครับ บางครั้งเราก็เลี่ยงข้อผิดพลาดไม่ได้ แต่มันคงดีมากกว่าถ้าลูกค้าเราพร้อมที่จะช่วยเราตลอดเวลา
#16 เพิ่มมูลค่าให้กับบริษัท
หลายคนทำธุรกิจสร้างแบรนด์อาจจะคิดไม่ถึงเรื่องนี้ แต่จุดสุดท้ายของบริษัททั้งหลาย หากไม่ปิดตัว ก็ต้องขายบริษัททิ้งหรือนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์
ผมคิดว่าเป็นไปได้ก็คงไม่มีใครอยากปิดตัวบริษัท เพราะเราได้ทุ่มทุน ลงแรงมาแล้ว ในส่วนนี้แบรนด์จะช่วยให้คุณสามารถขายบริษัทหรือนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ง่ายขึ้น เพราะบริษัทคุณมีทรัพย์สินที่เรียกว่าแบรน์ และมีฐานลูกค้าที่รักสินค้าของคุณ
มูลค่าของบริษัทอาจเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนหรือองค์กรที่เพิ่งเริ่มต้น แต่ก็เป็นเรื่องที่ควรรับรู้ไว้
#17 ความภูมิใจของลูกค้า
เคล็ดลับสุดท้ายของการทำบริษัทที่ยืนยาวก็คือ เราไม่ต้องวิ่งหาลูกค้าใหม่เดือนละหลายพันหลายหมื่นคนก็ได้ ตราบใดที่เรายังมีลูกค้า 100 คนที่ยังรักในตัวเราอยู่
ในบทความนี้ผมได้พูดเรื่องลูกค้าประจำ การกลับมาซื้อซ้ำ และข้อดีของการทำให้ลูกค้ารักแล้ว แต่สิ่งที่ต้องเน้นย้ำเป็นพิเศษคือ ‘ความภูมิใจ’ ของลูกค้า
หากเราทำให้ลูกค้าภูมิใจในการใช้แบรน์เราได้ ลูกค้าก็จะนำแบรนด์เราไปประกอบกับตัวตนลูกค้า และนี่ก็คือเคล็ดลับในการทำบริษัทที่อยู่ได้เป็นร้อยปี ยกตัวอย่างเช่น คนที่ถือแก้วสตาร์บัคเดินในออฟฟิศ คนที่ถือกระเป๋าแบรนด์เนม หรือคนที่ซื้อรถหรู บุคคลเหล่านี้ไม่ได้ต้องการสินค้าเพราะอยากใช้งาน แต่ต้องการสินค้าเหล่านี้เพราะอยากสร้างตัวตน
สุดท้ายนี้เกี่ยวกับประโยชน์ของการสร้างแบรนด์
บทความนี้ ผมพยายามเขียนข้อดีและประโยชน์ของการสร้างแบรนด์ให้เรียบง่ายที่สุด ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าจะให้พูดถึงเรื่องลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ ความภักดีของลูกค้า การให้ลูกค้าแนะนำกันเอง ผมก็สามารถเขียนได้เป็นบทความหลายพันคำ
ผมหวังว่าทุกคนคงเข้าใจประโยชน์ของการสร้างแบรนด์มากขึ้น หลายหัวข้อที่ผมนำมาพูดถึง ผมพยายามเลือกจากมุมมองต่างๆนอกเหนือแต่เรื่องการตลาด เพราะจริงๆแล้วแบรนด์ช่วยได้ทั้งการบริหาร การปฏิบัติการ หรือแม้แต่การตัดสินใจเล็กๆน้อยๆในองค์กร
สุดท้ายนี้ หากคุณ ‘พิศวาส’ กับไอเดียว่าต้องสร้างแบรนด์มากขึ้นสักนิด ผมก็แนะนำให้คุณอ่านบทความเรื่อง ขั้นตอนการสร้างแบรนด์ ที่ทำได้จริง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนมาก