Brand Awareness คืออะไร? ความสำคัญและการวัดผลของแบรนด์

Brand Awareness คืออะไร? ความสำคัญและการวัดผลของแบรนด์

สิ่งที่สำคัญที่สุดอาจจะเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น สำหรับการทำธุรกิจแล้ว การสร้างแบรนด์และการทำให้แบรนด์ ‘ติดตลาด’ นั้นถือว่าวัดผลได้ค่อนข้างยาก และเครื่องมือที่นักการตลาดใช้กันก็การวัด Brand Awareness หรือ การรับรู้ต่อแบรนด์นั่นเอง

ในบทความนี้เรามาดูกันว่า Brand Awareness คืออะไร สำคัญยังไง และ ที่สำคัญที่สุดก็คือเราจะวัดผลของการทำแคมเปญเพิ่ม Brand awareness ได้ยังไง

Brand Awareness คืออะไร?

Brand Awareness หรือ การรับรู้ต่อแบรนด์ หมายถึงการรับรู้ของแบรนด์ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เช่น ลูกค้าจำแบรนด์ได้ดีและมากแค่ไหนภายใต้ปัจจัยและสถานการณ์ต่างๆ การสร้างแบรนด์ที่ลูกค้าจดจำได้ จะช่วยให้องค์กรสามารถทำการตลาดและขายผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น 

หลายคนอาจมองว่า ‘แบรนด์’ เป็นสิ่งที่คลุมเครือ วัดผลได้ยาก ซึ่งถึงแม้ว่าเราอาจจะวัดมูลค่าของแบรนด์ (เป็นตัวเลขเงินที่ชัดเจน) ไม่ได้ แต่เราก็สามารถวัดได้ว่าลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเราจดจำแบรนด์ของเราได้ดีแค่ไหน…ซึ่งก็จะเป็นตัวบอกได้ว่าที่ผ่านมา แคมเปญการตลาดต่างๆของเรามีประสิทธิภาพแค่ไหน

โดยที่ Brand Awareness มักถูกโยงถึง 2 ปัจจัยนี้

Brand Recall หรือ การรู้จักแบรนด์แบบระลึกได้ เป็นการที่ผู้บริโภคสามารถนึกถึงแบรนด์ได้จากความทรงจำโดยไม่ต้องมีตัวช่วย เช่น คุณสามารถบอกได้หรือเปล่าว่าธงชาติไทยเรียงสีกันยังไง แล้วคุณตอบได้หรือเปล่าว่าโลโก้เป๊ปซี่เรียงสียังไงบ้าง

Brand Recognition หรือ การรู้จักแบรนด์แบบมีสิ่งกระตุ้น หมายถึงการที่เจ้าของแบรนด์ต้องช่วยกระตุ้นผู้บริโภคให้นึกถึงแบรนด์ เช่นเราอาจจะจำสโลแกน MK ไม่ได้ แต่ถ้าคนถามว่า ‘กินอะไร’ เราก็จะตอบได้ทันทีว่า ‘กิน MK’

อย่างที่บอกครับ จำแบรนด์ได้ นึกถึงแบรนด์บ่อย แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าลูกค้าจะซื้อ (แค่มีความน่าจะเป็นเยอะมาก) ทำให้การวัดค่าแบรนด์ทำได้ยาก…เพราะเราตีมูลค่าไม่ได้

ในส่วนท้ายของบทความผมจะอธิบายวิธีการวัด Brand Awareness อีกทีนะครับ

ความสำคัญของ Brand Awareness

ถึงผมจะบอกว่า Brand Awareness สามารถวัดค่าได้ยาก แต่ก็ไม่ได้แปลว่านักการตลาดทุกคนควรจะเลิกใส่ใจกับการทำให้ลูกค้า ‘จดจำแบรนด์’ นั่นก็เพราะว่าแบรนด์ที่มีคนจดจำได้นั้นมีประโยชน์หลายอย่าง 

Brand Awareness สร้างความเชื่อมั่น – ซึ่งจะตอบโจทย์ธุรกิจได้ 2 อย่างก็คือทำให้ลูกค้าซื้อได้ง่ายขึ้นและทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำได้บ่อยขึ้น ถึงแม้มนุษย์จะมีตรรกะหรือโลจิกมากเพียงไหน ปัจจัยในการตัดสินใจส่วนมากก็มาจากอารมณ์และความรู้สึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกผูกพันกับตัวตนของแบรนด์ ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถได้มาจากร้านค้าออนไลน์ที่ตัวเองไม่รู้จักและบังเอิญเปิดเจอ 

Brand Awareness ช่วยตอบโจทย์ลูกค้าได้ทันที – ในโลกที่ผู้บริโภคมีตัวเลือกหลายอย่าง ผู้บริโภคหลายคนจะไม่ได้เลือกตัวเลือกที่มีราคาถูกที่สุดหรือดีที่สุด แต่จะเลือกตัวเลือกที่นึกถึงก่อน เช่น กินอะไรไปกินMK หรือ หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา พอเรานำข้อนี้มาผสมกับความเชื่อมั่นที่ลูกค้าได้จากแบรนด์แล้ว เราก็จะทำให้ลูกค้าสามารถเข้าหาเราก่อนได้

Brand Awareness สร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ – มูลค่าของแบรนด์ (Brand Equity) เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้เพื่อตีค่าของผลตอบแทนการตลาดในการสร้างแบรนด์ ซึ่งก็มองได้หลายมุมมองนะครับตั้งแต่การตั้งราคาผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น การเพิ่มราคาหุ้น ราคามูลค่าบริษัท หรือความสามารถในการต่อยอดบริษัท ด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์ในชื่อแบรนด์เดียวกัน 

ผมคิดว่าหลายคนคงเห็นภาพแล้วว่าการมี Brand Awareness จะช่วยให้กิจกรรมการตลาดหลายอย่างง่ายมากขึ้น จะทำอะไรลูกค้าก็รับฟังและจดจำมากกว่าเดิม แถมลูกค้าบางกลุ่มยังยินยอมที่จะให้เงินกับเรามากกว่าเดิมด้วย

ปัญหาสำคัญของการสร้างแบรนด์ในยุคดิจิตอลก็คือ พอโฆษณาการตลาดทุกอย่างสามารถวัดมูลค่าได้ (track conversion) เช่นโฆษณาตัวนี้ลูกค้าคลิกเท่าไหร่ ลูกค้าทักมากี่คน หรือทำให้ลูกค้าซื้อของกี่บาท ความสำคัญของโฆษณาจำพวกการสร้างแบรนด์ก็จะถูกลดน้อยลง เพราะการวัดผลแบรนด์ที่ต้องทำในระยะยาว 1 ปี 5 ปี คงนานเกินไป

ในส่วนต่อไปเรามาลองดูวิธีวัด Brand Awareness ในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ (Quantitative Analysis & Qualitative Analysis)

การวัด Brand Awareness ในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ (Quantitative Analysis & Qualitative Analysis) 

ผมจะขอย้ำเป็นครั้งที่หนึ่งร้อยครับว่า ‘การสร้างแบรนด์เป็นสิ่งที่ดี… แต่เราจะรู้ได้ยังไงว่าแบรนด์ของเราออกมาดีแล้ว?’ คำตอบว่าจะวัดผลของแบรนด์ฟังดูง่าย แต่ในเชิงปฏิบัติ ให้ทำจริงๆแล้วนั้นยากมาก

โดยพื้นฐานแล้ว การที่เราจะวัดว่าผู้บริโภคหรือลูกค้าสามารถจดจำแบรนด์เราได้มากแค่ไหนนั้นเรียกว่าเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม เราก็มีตัวเลขและวิธีวัดผลอื่นๆที่สามารถใช้แทนการวัดผลแบบดั่งเดิมได้ ลองเอาข้อแนะนำเหล่านี้ไปปรับใช้ดูนะครับ 

การวัด Brand Awareness ในเชิงปริมาณ Quantitative Analysis

แต่เดิมที วิธีวัดผลของการสร้างแบรนด์นั้นทำได้ยาก หากเราไม่เสียเงินทำแบบสอบถามเปรียบเทียบก่อนและหลังแคมเปญ เราก็จะไม่รู้ว่าลูกค้าตอบรับแบรนด์เราดีแค่ไหน ที่สำคัญก็คือจำนวนของผู้ทำแบบสอบถาม ที่หากเราไม่เก็บแบบสอบถามเยอะๆ คำตอบที่ได้ก็จะไม่มีนัยยะสําคัญทางสถิติ (เหมือนคุณโยนเหรียญได้หัว 2 ครั้ง แล้วบอกว่าโอกาสในการโยนได้หัวเฉลี่ยคือ 100%)

เครื่องมือส่วนมากจะเป็นเครื่องมือออนไลน์ และจะยิ่งได้ผลดีหากคุณมีเว็บไซต์ครับ 

Social Engagement – หมายถึงว่ากลุ่มลูกค้าไลค์ แชร์ และคอมเม้น กับแบรนด์ของคุณใน Social Media บ่อยแค่ไหน 

Direct Traffic – เป็นตัวเลขที่คุณดูได้ในหลังบ้านเว็บไซต์ผ่าน Google Analytics ตัวเลขนี้จะบอกว่าคนพิมพ์ URL เว็บของคุณลงไปใน browser เพื่อเข้าเว็บคุณบ่อยแค่ไหน ให้เทียบกับจำนวนคนเข้าผ่าน Google และช่องทาง Social Media อีกที

Brand Query – หมายถึงคนพิมพ์ชื่อแบรนด์คุณลงไปใน Google เพื่อค้นหาเว็บไซต์ของคุณมากแค่ไหน เช่น คุณอาจจะเคยพิมพ์ค้นหาตำแหน่ง 7-11 ใกล้ตัว หากตัวเลขนี้โตขึ้นปีต่อปี ก็แปลว่าแบรนด์คุณมีคนค้นหาเยอะขึ้นเรื่อยๆ วิธีที่ดีที่สุดก็คือดูใน Google Analytics เช่นกัน

แน่นอนว่าตัวเลขเหล่านี้ บอกได้แค่ว่ากลุ่มลูกค้าเข้าหาคุณเยอะแค่ไหน หากคุณจะเทียบผลประกอบการของการสร้างแบรนด์ คุณก็ต้องเทียบตัวเลขนี้กับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรม ซึ่งก็อาจจะต้องจ้างบริษัทอื่นเก็บข้อมูลอีกที

การวัด Brand Awareness ในเชิงคุณภาพ Qualitative Analysis

หมายถึงการนำปัจจัยต่างๆมาวัดเป็น ‘คะแนน’ เพื่อดูว่าผลประกอบการคุณดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน ปีต่อปี หรือเทียบกับคู่แข่ง

Google Alerts – เป็นเครื่องมือฟรีของ Google ที่จะบอกว่ามีเว็บไซต์อื่นพูดถึงเว็บคุณเยอะแค่ไหน ส่วนมากจะใช้ในการติดตามสื่อออนไลน์ หรือเวลาคนพูดถึงบน Pantip

Hashtag – หมายถึงคนใช้ แฮชแท็ก เกี่ยวกับแบรนด์เราบน Social Media แค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบน Twitter

แบบสอบถาม – วิธีวัดผลของแบรนด์แบบเก่าดั้งเดิม หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับแบบสอบถามเรื่องแบรนด์มากแล้ว พูดง่ายๆก็คือให้คนทำแบบสอบถามให้คะแนนระหว่าง 1-10 ว่าจดจำแบรนด์เราได้มากแค่ไหน มีโอกาสในการแนะนำเพื่อนนานแค่ไหน 

ตัวเลขในส่วนนี้อาจจะดูเชื่อถือได้น้อย แต่หากเรานำมารวมกันเป็นคะแนน เราก็จะสามารถดูภาพรวมได้ว่าแบรนด์เรามีการพูดถึงบ่อยแค่ไหน

หลายคนอาจจะเห็นว่า จุดด้อยของวิธีวัดผลเหล่านี้ก็คือตัวเลขส่วนมากเป็นตัวเลขของผู้ใช้ออนไลน์ ซึ่งก็แปลว่าประชากรประมาณ 20-30% ในประเทศไทยจะไม่ถูกคำนึงถึง

สุดท้ายนี้เกี่ยวกับ Brand Awareness

สรุปก็คือ Brand Awareness เป็นตัวเลขที่คุณควรวัดผลเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าตัวเลขแต่ละอย่างอาจจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็จะเป็นตัวบอกทิศทางเราได้ว่ากลยุทธ์การตลาดที่ผ่านมาของเราดีแค่ไหน

สุดท้ายนี้ ผมแนะนำให้ทุกคนอ่านบทความเรื่อง การสร้างแบรนด์ ของผม ที่จะเรียบเรียงขั้นตอนต่างๆให้คุณสามารถสร้างแบรนด์ออกมาได้ดีและคนจดจำเยอะนะครับ

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด