จุดคุ้มทุนคืออะไร? ประโยชน์+วิธีคำนวณ [Break Even Point – BEP]

จุดคุ้มทุนคืออะไร? ประโยชน์+วิธีคำนวณ [Break Even Point - BEP]

ทุกธุรกิจที่ต้องมีการลงเงินเข้าไปก็ต้องมีการหวังเงินกลับมา แต่ยิ่งเราลงเงินเข้าไปเยอะ ความกังวลของเราก็จะเยอะมากขึ้นว่า ‘จะคุ้มทุน’ หรือที่หลายคนเรียกกันว่า break even หรือเปล่านะ 

ในวันนี้เรามาดูกันว่า คำว่า ‘จุดคุ้มทุน’ ในการทำธุรกิจคืออะไรกันแน่ ทำอะไรได้บ้าง และเราจะคำนวณ ‘จุดคุ้มทุน’ นี้ยังไงกัน

จุดคุ้มทุนคืออะไร [Break Even Point – BEP]

Break Even Point หรือ จุดคุ้มทุน คือจำนวนสินค้าที่บริษัทต้องขายให้ได้เพื่อที่จะคืนทุนค่าใช้จ่าย จุดคุ้มทุนคำนวณจากการหารต้นทุนคงที่ ด้วยกำไรต่อสินค้าหนึ่งหน่วย รายได้ที่มากกว่าจุดคุ้มทุนก็คือกำไร รายได้ที่ต่ำกว่าจุดคุ้มทุนคือขาดทุน และรายได้ที่เท่าจุดคุ้มทุนคือการขายเท่าทุน

ยอดขาย มากกว่า ค่าใช้จ่าย คือ ‘กำไร’
ยอดขาย น้อยกว่า ค่าใช้จ่าย คือ ‘ขาดทุน’
ยอดขาย เท่ากับ ค่าใช้จ่าย คือเท่าทุน หรือ ‘คุ้มทุน’

และธุรกิจที่รู้ว่าจุดคุ้มทุนตัวเองคือเท่าไรและสามารถก้าวผ่านจุดคุ้มทุนนั้นๆได้ก็จะเป็นธุรกิจที่อยู่รอดนั่นเอง

วิธีคำนวณจุดคุ้มทุน [Break Even Analysis]

วิธีคำนวณ ‘จุดคุ้มทุนต่อหน่วยขาย’ ก็คือ 

จุดคุ้มทุน = ต้นทุนคงที่ ÷ กำไรต่อหน่วย
โดยที่ กำไรต่อหน่วย = ราคาขายต่อหน่วย – ต้นทุนต่อหน่วย

ปกติแล้ว ‘หน่วย’ ที่ใช้วัดจุดคุ้มทุนก็คือจำนวนสินค้า แต่ในกรณีของธุรกิจบริการ เราก็สามารถใช้เป็น ‘หน่วย’ ที่เหมาะกับธุรกิจเรามากกว่าเช่น ‘ชั่วโมงทำงาน’ หรือ ‘จำนวนลูกค้า’ เป็นต้น

อีกหนึ่งวิธีที่ใช้กันบ่อยก็คือการใช้จุดคุ้มทุนใน การคำนวณราคาขาย โดยก่อนที่จะใช้วิธีนี้เราต้องคิดไว้ก่อนว่า ‘จำนวนที่เราอยากขาย’ คือเท่าไร ซึ่งก็ต้องเป็นจำนวนที่เราน่าจะขายได้จริง อาจจะคาดคะเนได้จากคู่แข่งในบริเวณ จำนวนลูกค้าปัจจุบันของเรา เป็นต้น

ราคาขายที่คุ้มทุน = ต้นทุนรวม ÷ จำนวนสินค้าที่จะขาย 
โดยที่ ต้นทุนรวม = ต้นทุนคงที่ + ต้นทุนแปรผันทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ‘ราคาขาย’ ที่ได้จากสูตรนี้ก็ต้องนำไปปรับกับแผนการตลาด แผนการขายอีกรอบด้วย ต่อให้สูตรบอกราคาเรามา เราก็คงไม่สามารถขายน้ำเปล่าในราคาห้าร้อยบาทได้…ถ้าเราไม่ปรับบรรจุภัณฑ์และวิธีการขายของตัวเอง ในส่วนนี้ผมแนะนำให้อ่าน คู่มือการตั้งราคาของผม ที่จะสอนวิธีการตั้งราคาตามพฤติกรรมของลูกค้านะครับ

สำหรับคนที่ยังไม่มั่นใจวิธีคำนวน เรามาดูความหมายของตัวแปรแต่ละอย่างอีกทีนะครับ

กำไรต่อหน่วย (Gross Margin) – คือกำไรที่คุณจะได้ต่อการขายสินค้าหนึ่งชิ้น หมายถึงการเอาราคาขายมาหักกับต้นทุนสินค้าที่ซื้อมา
ราคาขายต่อหน่วย (Selling Price) – คือราคาขายสินค้าต่อหนึ่งชิ้น อันนี้น่าจะตรงตัว
ต้นทุนต่อหน่วย (Variable Cost) – คือราคาสินค้าต่อหนึ่งหน่วยที่ซื้อมา หากเป็นธุรกิจแนวบริการอาจจะคิดเป็นเงินเดือนพนักงานต่อชั่วโมงแทน
ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) – คือต้นทุนอื่นๆที่ใช้ในการขายที่ไม่รวมต้นทุนสินค้า ยกตัวอย่างเช่นเงินเดือนฝ่ายขาย ค่าการตลาด
ต้นทุนแปรผันทั้งหมด (Total Variable Cost) – คือต้นทุนต่อหน่วยคุณจำนวณขายทั้งหมด

ตัวเลขที่มีประโยชน์สำหรับจุดคุ้มทุนก็มีแค่ด้านบน แต่ถ้าใครสนใจเรื่องการคำนวนตัวเลขบัญชีต่างๆ ผมแนะนำให้อ่านบทความนี้ วิธีทำบัญชีที่ใครก็ทำได้

วิธีคำนวณจุดคุ้มทุน [Break Even Analysis]

ประโยชน์ของการคำนวณจุดคุ้มทุน

ธุรกิจส่วนมากก็คงรู้ว่ายอดขายและค่าใช้จ่ายตัวเองเท่าไร และคนส่วนมากก็จะเริ่มกังวลเรื่องจุดคุ้มทุนเวลาที่มีปัญหาขาดทุนเท่านั้นเหล่ะครับ

ประโยชน์ของจุดคุ้มทุนในเบื้องต้นก็คือการดูว่า ‘เราต้องขายเท่าไรถึงจะกำไร’ โดยที่ถ้าจะให้ตอบแบบขอไปที คำตอบก็คือ ‘การเพิ่มยอดขาย’ กับ ‘ลดค่าใช้จ่าย’ ถ้าทำได้เดี๋ยวก็กำไรเอง…แต่ความเป็นจริงไม่ได้ง่ายขนาดนั้น

หากเราลองวิเคราะห์ให้ลึกหน่อย ยอดขายกับค่าใช้จ่ายมีอยู่หลายอย่าง แต่ยอดขายหรือค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่เราจำเป็นต้องลดเพื่อทำให้เรา ‘คุ้มทุน’ หรือ ‘กำไร’ กันนะ ยิ่งธุรกิจมีรายได้หลายทาง (เช่น มีสินค้าหลายชนิด หรือมีหลายช่องทางการขาย) หรือมีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง มันก็ยิ่งยากที่จะบอกว่าส่วนไหนกันแน่ที่ทำให้เราขาดทุน

การคำนวณกำไรไม่ได้ง่ายสำหรับทุกคน ในธุรกิจคำนวณผิดนิดเดียวก็ขาดทุนแล้ว ในส่วนนี้ผมได้ทำ คู่มือเรื่องการคำนวณในธุรกิจ มาให้ทุกคนโหลดอ่านฟรีกันครับ

จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดของการวิเคราะห์การขาดทุนและกำไร ก็คือดูก่อนว่าค่าใช้จ่ายส่วนไหน ‘ใหญ่สุดและสามารถลดได้ง่ายสุด’ และรายได้ส่วนไหน ‘น้อยสุดและสามารถเพิ่มได้ง่ายสุด’ …จากประสบการณ์ของผม จุดสำคัญที่จะเปลี่ยนจุดคุ้มทุนของคุณให้เป็นกำไรได้ ส่วนมากมีดังนี้ครับ

  • ราคาสินค้า – หากการคํานวณจุดคุ้มทุนบอกคุณว่าราคาตอนนี้ไม่สามารถขายได้กำไร มันก็ถึงเวลาที่คุณจะต้องเปลี่ยนอะไรใหม่ๆในธุรกิจแล้ว จะเป็นการเปลี่ยนราคา การลดต้นทุน หรือการหาตลาดใหม่ๆ หากคุณกำลังขายสินค้าตัดราคาคู่แข่งอยู่ (แล้วคุณไม่ได้กำไร) คุณก็ควรพิจารณาแผนการตลาดใหม่
  • วัตถุดิบ – ราคาวัตถุดิบและเงินเดือนพนักงานตอนนี้สมเหตุผลหรือเปล่า อย่างน้อยที่สุดคุณต้องเทียบกับราคาตลาดก่อนว่าคุณซื้อของมาแพงหรือเปล่า จ้างคนแพงเกินไปหรือเปล่า ถ้าต้นทุนที่คุณจ่ายอยู่ปัจจุบันไม่สามารถผลิตสินค้าในคุณภาพที่คุณต้องการได้ คุณก็ต้อง ‘วิจัยตลาด’ เพิ่มเติม
  • สินค้าใหม่ – เวลาคุณจะทำสินค้าใหม่ออกมาขาย อย่าดูแค่ราคาต้นทุนสินค้าอย่างเดียว เราต้องคิดถึงราคาการตลาด ราคาบรรจุภัณฑ์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นค่าออกแบบด้วย 
  • วางแผนเพิ่มประสิทธิภาพ – เงินเล็กๆน้อยๆบางทีก็เป็นส่วนสำคัญที่แยกคำว่า ขาดทุน กับ กำไร เลย ถ้าการคํานวณจุดคุ้มทุนบอกว่าคุณต้องขายสินค้าในจำนวนเท่านี้เท่านั้น คุณก็ควรตั้งเป้าหมายให้ธุรกิจสามารถไปสู่จุดนั้นได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โกดังเราต้องเก็บของได้เท่าไร หน้าร้านเรามีพนักงานขายเพียงพอหรือยัง เรามีทำลูกค้าตกหล่นตรงไหนบ้าง

หากคุณมีปัญหาด้านการตอบโจทย์ธุรกิจเหล่านี้ ผมแนะนำให้อ่านบทความเรื่อง การเขียนแผนการตลาด ของผมนะครับ จะสอนถึงพื้นฐานการเข้าไปในหัวลูกค้าเลย

ตัวอย่างการวิเคราะห์จุดคุ้มทุน

ตัวอย่างที่ 1 – จุดคุ้มทุนต่อหน่วยขาย

ในส่วนนี้เรามาดูกันว่า ‘เราต้องขายกี่ชิ้น’ กว่าจะกำไร

สมมุติว่าเราเปิดร้านขายของที่ตลาด โดยที่เราจ่ายค่าเช่าที่วันละ 300 บาทและค่าใช้จ่ายจิปาถะอีกวันละ 100 บาท หากเราขายขนมที่ราคา 50บาทต่อชิ้น โดยที่เราซื้อขนมมาในราคา 20 บาท เราต้องขายกี่ชิ้นกว่าจะกำไร

ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) = 300 บาท + 100 บาท = 400 บาท
กำไรต่อหน่วย (Gross Profit) = ราคาขาย (50 บาท) – ราคาซื้อ (20 บาท) = 30 บาท

จุดคุ้มทุน = ต้นทุนคงที่ ÷ กำไรต่อหน่วย
จุดคุ้มทุน = 400 บาท ÷ 30 บาท = 13.33 หรือ 14 ชิ้น

คำตอบจริงๆคือ 13.33 ชิ้น แต่เนื่องจากเราไม่สามารถขายขนมครึ่งกล่องได้ เราก็ต้องขายเป็น 14 ชิ้นแทน พูดอีกแง่หนึ่งก็คือ หากเราขายขนมในราคา 50บาทต่อชิ้น ในจำนวนต่ำกว่า 14 ชิ้นเราก็จะขาดทุน

ตัวอย่างที่ 2 – การคำนวณราคาขาย

ในส่วนนี้เรามาดูว่า ‘เราต้องตั้งราคาเท่าไร’ กว่าจะกำไร

ซึ่งข้อสันนิษฐานสำคัญที่สุดก็คือจำนวนขายของเราต้องคงที่ (หมายความว่าขึ้นราคาแล้วลูกค้าไม่หาย ลดราคาแล้วลูกค้าไม่เข้ามามากขึ้น) ในความเป็นจริงอาจจะทำได้ยาก แต่สำหรับสูตรคำนวนนี้ เราคิดไว้เพื่อเปรียบเทียบกลยุทธ์การขายของเรามากกว่า

สมมุติว่าเราเปิดร้านขายของออนไลน์ เรามีค่าการตลาดเดือนละ 1000บาท และเราอยากขายได้เดือนละ 20 ชิ้น โดยที่ราคาซื้อหรือต้นทุนผลิตของเราอยู่ที่ 50 บาทต่อชิ้น ราคาขายของเราต้องเท่ากับเท่าไร

ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) = 1000 บาท
จำนวนขาย (Selling Quantity) =  20 ชิ้น
ต้นทุนต่อหน่วย (Variable Cost) = 50 บาท

ต้นทุนรวม = ต้นทุนคงที่ + ต้นทุนแปรผันทั้งหมด
และ ราคาขายที่คุ้มทุน = ต้นทุนรวม ÷ จำนวนสินค้าที่จะขาย 

ต้นทุนรวม = ต้นทุนคงที่ (1000 บาท) + ต้นทุนแปรผันทั้งหมด (20ชิ้น x 50 บาทต่อชิ้น) 
ต้นทุนรวม = 1000 + (20 x 50) = 1000 + 1000 = 2000 บาท
หลังจากนั้น
ราคาขายที่คุ้มทุน = ต้นทุนรวม (2,000 บาท) ÷ จำนวนสินค้าที่จะขาย (20 ชิ้น) 
ราคาขายที่คุ้มทุน = 2000÷20 = 100 บาท

หรือก็คือเราต้องขายในราคา 100 บาทกว่าจะคุ้มทุนการขายในจำนวนและค่าใช้จ่ายเท่านี้นั่นเอง

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับจุดคุ้มทุน

สุดท้ายนี้สิ่งที่เราต้องทำใจให้ได้ก็คือ…จุดคุ้มทุนสามารถเปลี่ยนได้ ถึงแม้เราจะคำนวณจุดคุ้มทุนมาซะดิบดีตอนต้นปี ถ้าตอนปลายปีมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ มีคู่แข่งใหม่ ที่พักขึ้นราคา หรือลูกค้าประจำหาย เราก็ต้องเอาเครื่องคิดเลขมาคำนวณว่าจุดคุ้มทุนเรา ‘ยังเหมือนเดิม’ หรือเปล่า

การเปลี่ยนแปลงในเรื่องธุรกิจเป็นเรื่องปกติ แต่บางครั้งเจ้าของธุรกิจอาจจะยุ่งกับการทำอย่างอื่นจนลืมกลับมาคำนวณจุดเล็กน้อยเหล่านี้ ร้านขายน้ำบางที่แค่ค่าแก้วพลาสติกขึ้นราคาก็อาจจะไม่กำไรแล้วด้วยซ้ำ บางร้านถ้าลูกค้าหายเรื่อยๆทุกเดือนก็คงเจ็บตัวไม่น้อย

หากจุดคุ้มทุนเปลี่ยน โดยเฉพาะในกรณีที่เปลี่ยนแล้วธุรกิจแย่ลง คุณต้องกลับไปดูก่อนเลยว่า ‘ขาดทุน’ ไหม แล้วคำถามที่มาหลังจากคำว่าขาดทุนก็คือ ‘จะทำยังไงให้กำไร’ และระหว่างที่รอกำไร ‘เรามีเงินเก็บเงินหมุนเพียงพอหรือเปล่า’ 

หากคุณขายได้ไม่ถึงจุดคุ้มทุน และ ไม่รู้ว่าต้องทำยังไงถึงจะกำไร…คำสอนที่ธุรกิจระดับโลกพูดกันบ่อยๆก็คือ ‘ความหวังไม่ใช่กลยุทธ์’ (Hope is NOT a strategy)

ข้อมูลในการทำธุรกิจอื่นๆที่เราแนะนำ

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด