7 วิธีตอบคำถาม ‘ทำไมถึงอยากเปลี่ยนงาน’ ?

7 วิธีตอบคำถาม ‘ทำไมถึงอยากเปลี่ยนงาน’ ?

“ทำไมอยากเปลี่ยนงาน ?” หนึ่งในคำถามยอดฮิตที่หลายบริษัทใช้ในการสัมภาษณ์งาน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคำถามง่าย ๆ แต่พอได้เข้าไปนั่งอยู่ในห้องสัมภาษณ์ก็กลายเป็นคำถามที่ตอบยากอยู่เหมือนกัน แม้จะมีเหตุผลของตัวเอง แต่ควรพูดอย่างไรดีล่ะ ? ที่จะส่งผลดีกับการสัมภาษณ์ ได้ใจผู้สัมภาษณ์ และได้งานไปพร้อมกัน

ทำไมถึงอยากเปลี่ยนงาน?

ทำไมถึงอยากเปลี่ยนงาน ?” เป็นคำถามยอดฮิตที่ผู้สัมภาษณ์มักนำมาใช้ และมีจุดประสงค์หลักเพื่อทดสอบทัศนคติ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำก็คือ ควรพูดให้สั้น กระชับ ชัดเจน เลี่ยงพูดถึงบริษัทเก่าในแง่ลบ เพราะไม่ได้ทำให้เราดูดีขึ้น แต่จะส่งผลเสียกับตัวเองมากกว่า

วินาทีแรกที่ได้ยินคำถามนี้ หลายคนอาจจะนึกถึงสิ่งที่เราไม่ชอบหรือปัญหามากมายที่กำลังเผชิญอยู่กับบริษัทปัจจุบัน เช่น ไม่ชอบวิธีการจัดการของหัวหน้า เข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ สวัสดิการของบริษัทไม่ดี ฯลฯ แม้มันจะเป็นเหตุผลจริง ๆ ที่ทำให้เราอยากลาออก แต่คงไม่ดีแน่ ๆ

หากพูดถึงบริษัทเก่าในแง่ลบ ที่นอกจากจะส่งผลเสียกับตัวเองมากกว่า อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการชวดงาน เพราะทำให้ผู้สัมภาษณ์ไม่มั่นใจว่า หากได้ร่วมงานกันและทำให้คุณไม่พอใจ สิ่งที่พวกเขาทำจะถูกนำไปพูดต่ออย่างไร หรือจะทำให้คุณตัดสินใจลาออกจากที่ใหม่อีกหรือเปล่า

เพราะจุดประสงค์ส่วนหนึ่งของการถามคำถามนี้ก็คือ เพื่อทดสอบทัศนคติของผู้ถูกสัมภาษณ์ ฉะนั้นควรตอบด้วยคำพูดเชิงบวก เช่น แสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกรวมถึงบอกถึงความแตกต่างระหว่างหน้าที่ปัจจุบันและขอบเขตงานของบริษัทเก่าและบริษัทใหม่ที่เราไปสัมภาษณ์​ รวมถึงร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านและการนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์งานที่เราสมัครไปได้ยังไงบ้าง

วิธีตอบ ทำไมถึงอยากเปลี่ยนงาน?

ก่อนอื่นจะขอบอกแนวทางหรือเทคนิคการตอบอย่างไรให้ได้ใจผู้สัมภาษณ์และไม่ต้องพูดถึงของบริษัทเก่าให้ที่ใหม่ฟังแบบเสีย ๆ หาย ๆ 

  • ความก้าวหน้าในอาชีพ : แม้งานใหม่ที่สมัครไปจะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า หรืออาจจะตำแหน่งที่น้อยกว่าเดิม แต่เราก็สามารถแสดงมุมมองการเติบโตในสายอาชีพได้ โดยการอ้างอิงถึงหน้าที่ความรับผิดชอบ โอกาสการเติบโตในบริษัทสำหรับองค์กรที่มีขนาดใหญ่กว่า
  • พูดถึงงานปัจจุบันในแง่บวก : โดยการเล่าถึงประสบการณ์การทำงานในที่เก่า หน้าที่ความรับผิดชอบ ผลงานที่ผ่านมา ความสัมพันธ์กับที่ทำงานเก่าและลูกค้า รวมถึงการแก้ไขปัญหาระหว่างการทำงาน เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการปรับตัวและพัฒนาตัวเองอย่างไรบ้าง
  • บอกเหตุผลไปตรง ๆ : หากเป็นเหตุผลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเพื่อนร่วมงานก็อาจจะบอกไปตรง ๆ เช่น กรณีที่จำเป็นต้องย้ายบ้านไปต่างถิ่น หรืออยากเปลี่ยนที่ทำงานเพราะใกล้บ้าน เป็นต้น

หากเราทำงานที่เดิมมาหลายปี เราก็อาจจะให้เหตุผลเช่นเรียนรู้เยอะแล้ว อิ่มกับตำแหน่งนี้แล้ว หรืออยากได้ความท้าทายใหม่ๆในบริษัทอื่น อุตสาหกรรมอื่น หรือตำแหน่งอื่นๆ

ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อ คุณทำงานที่เก่ามาไม่กี่เดือน แล้วก็เลือกที่จะสมัครงานที่ใหม่ในตำแหน่งเดิม … ในส่วนนี้ คนสัมภาษณ์ก็จะดูออกอย่างแน่นอนว่าเราแค่ไม่ชอบที่เก่า (ซึ่งยกเว้นว่าที่ทำงานเก่าจะมีชื่อเสียงที่ไม่ดีเรื่องการดูแลพนักงานจริงๆ สถานการณ์นี้ก็มักจะดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่)

ถ้าคุณไม่มีเรื่องเล่าจริงๆ ให้พยายามหาข้อแตกต่างระหว่าง 2 บริษัทให้ได้ ยกตัวอย่างเช่น คุณไม่ชอบงานบัญชี คนก็เลยอยากจะไปทำฝ่ายบริหาร หรือคุณไม่ชอบงานด้านน้ำมัน ก็เลยคิดว่างานด้านอุปกรณ์ก่อสร้างน่าจะดีกว่า 

แต่อย่างไรก็ตามการตอบคำถามนี้ควรพูดให้สั้น กระชับ และตรงประเด็นเข้าไว้ ไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดในเชิงลึก และไม่ควรโกหก แล้วต่อด้วยการอธิบายว่าทำไมเราถึงเหมาะกับงานนั้นจะดีที่สุด คราวนี้มาดูตัวอย่างคำตอบว่า ทำไมถึงอยากเปลี่ยนงาน ? กันครับ

7 วิธีตอบคำถามทำไมถึงอยากเปลี่ยนงาน

1. ตำแหน่งที่เปิดรับสมัครน่าสนใจ

คำตอบสำหรับคนที่อยากลองออกจาก Comfort Zone ถึงแม้ที่ทำงานเก่าจะแฮปปี้มีความสุขดี แต่การทำงานเดิม ๆ ซ้ำกันเป็นเวลาหลายปี โดยรู้สึกว่าไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เพิ่มเติม จนเกิดความเบื่อหน่าย แล้วบังเอิญไปเปิดรับสมัครงานใหม่ที่น่าสนใจ อยากลองความสามารถของตัวเองในเวทีใหม่ ๆ

แต่หากพูดแค่ว่า “งานน่าสนใจ” ไม่พอให้บริษัทใหม่รับคุณเข้าไปทำงานอย่างแน่นอน ดังนั้นก่อนจะไปสัมภาษณ์ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทและรายละเอียดงาน พร้อมอธิบายไปด้วยว่ามีจุดไหนที่เราสนใจ เคยมีหรือไม่เคยมีประสบการณ์ตรงไหนบ้าง รวมถึงตั้งใจจะพัฒนาตัวเองอย่างไร

2. ต้องการความก้าวหน้า

แต่หากตอบในลักษณะนี้ ก็ควรเตรียมคำตอบสำหรับคำถามต่อไปที่จะตามมาด้วยว่า เราเห็นตัวเองมีความก้าวหน้าในที่ทำงานใหม่อย่างไร หรือทำไมคิดว่าการทำในบริษัทต่อไปจะไม่มีความก้าวหน้า

เช่น ที่ทำงานเดิมยังไม่มีตำแหน่งที่เราต้องการ หรือตำแหน่งใหม่ที่เราสมัครไปมีหน้าที่ความรับผิดชอบที่มากกว่า สร้างความท้าทายใหม่ ๆ มากกว่า และคิดว่าประสบการณ์ทำงานที่เคยมีมาจะช่วยให้เราสามารถทำงานนั้นได้อย่างไร เช่น เปลี่ยนจากตำแหน่งระดับ Junior ไปเป็น Senior หรือจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานไปเป็นหัวหน้างาน เป็นต้น

3. ไม่ได้ทำงานตรงความสามารถ

เช่น ในกรณีที่บริษัทเก่ารับเราเข้าไปทำงานในตำแหน่ง A และมีการพูดคุยถึงรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว แต่พอถึงเวลาทำงานจริง ๆ กลับไม่ได้รับผิดชอบเนื้องานที่เราสนใจ ป้อนงานให้ไม่ตรงกับหน้าที่ของเรา ก็สามารถใช้เหตุผลนี้ตอบได้ แต่หากจะให้ดีก็ควรบอกไปด้วยว่า งานใหม่ที่เราสมัครเข้าไปนั้นตรงกับประสบการณ์หรือความสนใจอย่างไรบ้าง

4. ต้องการสร้างความท้าทายใหม่ ๆ

หลังจากทำงานที่เดิมมาหลายปี จนเริ่มไม่มีอะไรใหม่ เช่น เป็นหัวหน้าทีมที่เดิมมามากกว่า 3 ปี ก็อาจจะใช้เหตุผลนี้ตอบไปตามตรงได้เหมือนกัน โดยแจ้งไปว่าอยากทำงานที่ได้เพิ่มทักษะและความท้าทายใหม่ในทีมหรือองค์กรที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม เป็นต้น

5. ต้องการเปลี่ยนสายงาน

สำหรับคนที่ทำงานอาชีพเดิมมานาน อยากลองเปลี่ยนสายอาชีพใหม่ ก็สามารถใช้คำตอบนี้ในการตอบคำถามได้ และอธิบายเพิ่มความเรามีความสนใจหรือมีความสามารถอะไรบ้างที่เราคิดว่าสามารถนำมาใช้กับงานได้ หรือหากยังไม่มีประสบการณ์ตรง เราวางแผนจะเรียนรู้ทักษะที่เป็นประโยชน์กับงานนั้น ๆ เพิ่มเติมอย่างไร

6. อยากย้ายมาทำงานใกล้บ้านมากขึ้น

อย่างที่ทราบกันดีว่า หากทำงานไกลบ้านมาก ๆ นอกจากจะเสียค่าเดินทางและเสียเวลาในการเดินทางไป-กลับระหว่างบ้านกับออฟฟิศหลายชั่วโมงต่อวันแล้ว ยังเสียพลังงานแถมยังส่งผลเสียต่อสุขภาพด้วย ดังนั้นหากจะใช้เหตุผลนี้เพื่อเปลี่ยนงานใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

7. บริษัทลดจำนวนพนักงาน

ในช่วงเกิดวิกฤตต่าง ๆ เช่น การระบาดของโควิด 19 หรือบริษัทเก่าต้องปิดตัว ทำให้หลายองค์กรจำเป็นต้องลดขนาดบริษัทและเกิดการจ้างออก หากเป็นสาเหตุนี้ก็สามารถแจ้งบริษัทใหม่ไปตรง ๆ เพราะเป็นเหตุผลที่เข้าใจกันได้

แต่อย่างไรก็ดีควรเลี่ยงคำว่า “โดนบริษัทเก่าไล่ออก” หรือลงรายละเอียดที่ไม่จำเป็นเยอะเกินไป แล้วเปลี่ยนมาเป็นการแสดงความคิดเห็นว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากสถานการณ์ดังกล่าว และต่อด้วยการอธิบายว่าทำไมคุณเหมาะกับงานตำแหน่งนี้

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด