การทำ SEO หรือ Search Engine Optimization เป็นสิ่งที่คนกลัวที่จะเริ่มทำกันครับ ทำไมหรอครับ?
เพราะ SEO ดูเข้าใจยาก คำศัพท์เฉพาะทางเยอะ แถมยังใช้เวลาวัดผลนานมากอีก หลายคนก็เลยถอดใจไปลงโฆษณาบน Google กับ Facebook แทน…แต่ผมจะบอกความลับอะไรให้ทุกคนฟังครับ เพราะว่าไม่ค่อยมีใครทำ SEO กัน การแข่งขันเลยต่ำ ในความจริงแล้วการเลือกหัวข้อให้ได้อันดับดีๆใน Google ค่อนข้างทำง่ายนะครับ
ยิ่งถ้าเว็บไซต์คุณทำอยู่บน WordPress การทำ SEO ก็ยิ่งง่ายขึ้นไปอีก เพราะว่าตัว WordPress นั้นถูกสร้างมาให้เหมาะกับการทำ SEO อยู่แล้ว ในวันนี้เรามาดูกันครับว่าจะทำ เว็บไซต์บน WordPress ให้ได้ SEO ตำแหน่งดีๆทำยังไงกัน
Table of Contents
วิธีการทํา SEO บน WordPress
วิธีทำ SEO ให้เว็บไซต์ติดอันดับผ่าน WordPress เริ่มจากการเลือก Keyword ที่มีการแข่งขันน้อยและมีคนค้นหาในระดับหนึ่ง หลังจากนั้นให้เขียนบทความที่มีประโยชน์ต่อคนอ่านตามหัวข้อ ปรับ Heading ให้เหมาะสมกับ Keyword และรอให้ Google จัดอันดับ 20-30 อาทิตย์
เพียงแค่นี้คุณก็ทำ SEO ไปประมาณ 90% แล้วครับ
แน่นอนครับว่าการทำ SEO ก็มีส่วนอื่นอีกมาก เช่นการทำ Internal Link และการทำ Backlink กลับมายังเว็บไซต์ของเรา ซึ่งคำศัพท์เหล่านี้ ผมก็จะอธิบายเช่นกัน แต่โดยเบื้องต้นแล้ว หลายหัวข้อและหลาย Keyword ภาษาไทย บน Google นั้นทำ SEO ไม่ได้ยากขนาดเลย (มีการแข่งขันต่ำ)
SEO คืออะไร
SEO (Search Engine Optimization) คือการทำให้เว็บไซต์อยู่ในอันดับที่สูงขึ้น ของผลการค้นหาเวลาทำ Google Search เพื่อให้คนเข้าเว็บไซต์มากขึ้น ในเชิงปฏิบัติก็คือการทำให้ Google สามารถอ่านข้อมูลเว็บไซต์ได้ง่าย และการสร้างคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ต่อผู้อ่าน
ก่อนที่จะเริ่มเข้าส่วนเนื้อหาหลัก ผมขออธิบายพื้นฐานของ SEO ก่อนนะครับ
ประโยชน์ของ SEO ก็คือการที่เราได้คนเข้าเว็บไซต์ฟรี (Website Traffic) นั่นเองครับ ทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายในการทำการตลาดออนไลน์ผ่าน Facebook Ads และ Google Ads แพงมากขึ้นทุกที การที่เราได้คนเข้าเว็บมาฟรีๆใครก็อยากได้ใช่ไหมครับ
การทำ Keyword Research
ความสำคัญของการทำ Keyword Research ใน SEO
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำ SEO ก็คือคุณต้องรู้ก่อนว่าคุณอยากทำ SEO บน Keyword อะไร บาง Keyword เช่นการลดน้ำหนัก การทำการตลาดออนไลน์ หรือการหาเงินออนไลน์ ก็อาจจะยากมากในการทำ SEO ให้ได้อันดับที่ดี
แต่ในทางตรงข้ามถ้าเราเลือก Keyword ที่ไม่มีใครค้นหา เราก็จะเสียแรงทำบทความฟรี ยกตัวอย่างเช่น ‘วิธีทำชาบูใส่ไอติมผสมเนื้อจระเข้’ ถ้าคุณเขียนบทความเรื่องนี้คุณก็จะได้อันดับหนึ่งภายในไม่กี่ชั่วโมงนะครับ แต่ก็คงไม่มีใครเข้ามาดู
ถ้าคุณเปิดเว็บไซต์ใหม่ ยังไม่มีบทความอะไรได้อันดับ 1 และเว็บไซต์ยังไม่มีอายุการใช้งานนานมาก ผมแนะนำให้คุณเริ่มจากการทำบทความเล็ง Keyword ง่ายๆก่อน พอบทความบางอย่างของคุณเริ่มได้อันดับดีๆใน Google แล้วค่อยเริ่มทำ Keyword ใหญ่ๆที่มีการแข่งขันสูงภายหลัง ถ้าคุณทำแบบนี้โอกาสในการได้อันดับของคุณก็จะมาขึ้น
วิธีการทำ Keyword Research สำหรับ SEO
วิธีทำ Keyword Research มีหลายวิธีนะครับ วันนี้ผมจะขอยกตัวอย่างเครื่องมือ 5 อย่างที่ผมคิดว่าใช้ง่ายและฟรี
#1 Google Keyword Planner
Google Keyword Planner คือเครื่องมือที่ Google ให้มาเพื่อที่จะบอกเราว่าในแต่ละเดือนมีคนหา Keyword แบบนี้เท่าไหร่
ซึ่งมันก็จะบอกเป็นตัวเลขเลยครับว่าคำนี้มีคนหาเดือนละ 10 ครั้งหรือ 1000 ครั้งเป็นต้น ปัญหาก็คือตัวเลขพวกนี้ไม่ค่อยตรงเท่าไหร่ครับ
ในสมัยนี้ Google ค่อนข้างหวงตัวเลขที่เป็นข้อมูลสำหรับผู้ใช้ แต่ยังไงเราก็ยังสามารถใช้ Google Keyword Planner ในการเปรียบเทียบได้ว่าแต่ละ Keyword ถ้าเทียบกันแล้วอันไหนดีหรือไม่ดี
Google Keyword Planner เป็นส่วนหนึ่งของ Google Ads นะครับ บางคนไม่มีบัญชี Google Ads อาจจะเข้าไม่ได้
#2 Google Auto Suggest
สำหรับผม Google Auto Suggest เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ที่สุดเลยครับ
วิธีง่ายๆก็คือพิมพ์บางคำเกี่ยวกับ Keyword ของคุณไปก่อนในช่อง Search ของ Google ซึ่งทาง Google ก็จะบอกหรือแนะนำมาเองว่าคนอื่นเขา Search คำอะไรคล้ายๆกับประโยคนี้บ้าง แต่ก่อนที่จะเริ่มหา Keyword ผ่าน Google Auto Suggest ผมแนะนำให้ใช้ Chrome Incognito / Mozilla Private Browsing เพื่อที่ Google จะได้ไม่ Suggest ข้อมูลเก่าที่คุณเคยหามาก่อน
ซึ่ง Google หาคำพวกนี้มาได้ยังไง? คำตอบก็คือหามาจากคำที่คนอื่นลองค้นหามาแล้วนั้นเอง หรือแปลได้ว่าเป็นคำที่มี Demand หรือมีคนค้นอยู่แล้ว
ทีนี้คุณก็แค่ลองกดดูว่าถ้าพิมพ์ทั้งประโยคนี้เข้าไปแล้ว มีคู่แข่งเยอะแค่ไหน คู่แข่งเขียนบทความยาวแค่ไหนบ้างก็แค่นั้นเอง
#3 Google Related Terms (การค้นหาที่เกี่ยวข้อง)
Google Related Terms ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ผมชอบครับ สมมุติว่าถ้าคุณหา Keyword อะไรอยู่ แล้วคุณลงไปข้างล่างของ Google คุณก็จะเห็นว่า Google แนะนำคำที่คล้ายๆกันออกมา
ซึ่งส่วนมากก็มาจากข้อมูลคนค้นหาจริงๆนะครับ
#4 Google Trends
Google Trends เป็นเครื่องมือช่วยดูว่าแต่ละ Keyword มีคนค้นหาเท่าไหร่ถ้าเทียบ เป็นระยะเดือนต่อเดือน หรือปีต่อปี
https://trends.google.com/trends
ยกตัวอย่างเช่นคำว่าของขวัญปีใหม่อาจจะมีคนค้นหาเยอะในช่วงเดือนธันวาคมกับเดือนมกราคม แต่ในระหว่างปีก็ไม่ค่อยมีใครค้นหาเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นคําที่คนค้นหาทั่วไปเช่น กินอะไรดี ก็จะเป็น Keyword ที่มีคนใช้ตลอดทั้งปีเป็นต้น
คำแนะนำของผมก็คือ ‘ให้เลี่ยง’ คำที่มีคนค้นหา ‘ไม่เท่ากันตลอดทั้งปี’ เช่น ของขวัญวันปีใหม่ เป็นต้น เพราะคำพวกนี้จะมีคนค้นแค่บางช่วงหรือไม่กี่เดือนในหนึ่งปีเท่านั้น เพราะถ้าเป็นไปได้คุณควรจะหาคนเข้าเว็บไซต์ทั้งปีใช่ไหมครับ?
#5 Ubersuggest.org
ณ ปัจจุบัน ubersuggest.org คือเครื่องมือหา Keyword ที่ดีที่สุด สิ่งที่เว็บไซต์นี้บอกเราได้ก็คือคำที่คนค้นหาคล้ายๆกันมีคำอะไรบ้าง และคำที่เว็บไซต์อื่นได้ Ranking กันมีคำอะไรบ้าง
จริงๆเว็บนี้ก็มีบอกนะครับว่าแต่ละเดือนแต่ละ keyword มีคนหาเท่าไหร่แต่ผมก็รู้สึกว่ามันไม่ค่อยตรงอยู่ดี
ผมอยากจะบอกว่า ณ ปัจจุบัน ไม่มีเครื่องมือไหนที่สามารถบอกได้ตรง 100% ว่าแต่ละ Keyword มีคนค้นหาเท่าไร ยิ่งเครื่องมือที่หา Keyword ภาษาไทยได้ยิ่งยาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็คือ ‘ใช้วิจารณญาณตัวเอง’ ในการเลือก Keyword ที่ดีที่สุด แต่ไม่เป็นไรครับค่อยๆทำไปเดี๋ยวก็เก่งเอง
ข้อแนะนำในการวิเคราะห์คู่แข่ง
อีกส่วนนึงเลยที่สำคัญของการทำ Keyword Research คือดูว่าคู่แข่งทำได้ดีแค่ไหนและเราจะแย่ง Ranking ได้หรือเปล่า
ข้อที่ใช้พิจารณามีดังนี้นะครับ
- หัวข้อของบทความคู่แข่งตรงกับ Keyword แค่ไหน
- บทความของคู่แข่งยาวแค่ไหน
- เว็บไซต์ของคู่แข่งใหญ่แค่ไหน อยู่มานานหรือยัง
- ความเก่าของบทความ (ยิ่งใหม่ยิ่งแย่ง Ranking ยาก)
ถ้าเป็นไปได้ในช่วงแรกให้เลี่ยง Keyword ที่มีการแข่งขันสูงเพื่อเก็บ Ranking สร้างความน่าเชื่อถือให้เว็บไซต์เราในสาย Google ไปก่อน พอเรามีซัก 10 บทความที่ Google เห็นว่าเราทำได้ดีแล้วค่อยไปเริ่มแข่ง Keyword ที่ที่มีการแข่งขันสูง ครับ
เขียนบทความให้ได้อันดับหนึ่งใน Google
ก่อนที่จะเริ่มเขียนบทความ มี 5 อย่างที่คุณควรจะเข้าใจและศึกษาก่อน
- หัวข้อบทความ – ควรจะมี keyword ของคุณรวมอยู่ด้วยและควรเขียนให้หน้ากดเข้ามาอ่าน หัวข้อควรมีความยาวไม่เกิน 60 ตัวอักษรเพื่อการทำ SEO ที่ดี
- Heading และ subheading – เฮดดิ้งแรกควรมี keyword ของคุณรวมอยู่ด้วย หรือจะทวนชื่อบทความไปเลยก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือคนควรจะจัดบทความคนให้เรียบร้อยดูน่าอ่าน
- ย่อหน้าไม่ควรติดกันยาว – สมัยนี้คนอ่านบทความบนมือถือเยอะครับ แล้วถ้าแต่ละย่อหน้ามันยาวมากผู้อ่านจะรู้สึกว่ามันไม่น่าอ่าน ทางที่ดี 1 ย่อหน้าควรจะมีไม่เกิน 5 ประโยคครับ
- ความยาวของบทความ – อยากตามคนจะเขียนอย่างน้อย 1,000-1,200 คำนะครับ
- ขนาดไฟล์ของภาพ – หากเราจะใช้ภาพทำ thumbnail หรือ ภาพประกอบบทความเราควรย่อไฟล์ด้วยนะครับ เครื่องมือย่อไฟล์ที่ผมใช้บ่อยคือ https://compressjpeg.com/ ที่ย่อไฟล์ได้ทั้ง JPEG และ PNG
วิธีการเขียนบทความช่วงแรก – บทความตอบคำถาม
บทความที่ได้ Ranking ง่ายที่สุดใน Google และเหมาะกับคนเพิ่งเริ่มมากที่สุดก็คือบทความที่เป็นข้อมูล หรือเป็นการตอบคำถามให้กับคนค้นหานั้นเอง ยกตัวอย่างเช่น
- ไม่มีสลิปเงินเดือนซื้อรถได้ไหม
- เลี้ยงสุนัขไม่ไหวควรทำยังไงดี
- ตอนซักผ้าใส่น้ำยาปรับผ้านุ่มตอนไหน
บทความแนวนี้มีคนถามเยอะแน่นอน แต่ว่าไม่ค่อยมีใครเขียนบทความตอบกัน ซึ่งถ้าคุณเขียนบทความสั้นๆประมาณ 1000-1500 คำ อธิบายให้ละเอียดผมรับรองว่าคุณได้ Rank ดีแน่ๆ (1000-1500 คำ คือบทความสั้นแล้วนะครับ ผมรับรอง)
ซึ่งบทความที่คนไทยส่วนมากเขียนกันอย่างมากก็มี 300 คำ 500 คำ 700 คำ ถ้าคุณเขียนบทความที่ดีกว่าและตอบคำถามค้นหาได้ละเอียดกว่าคุณก็จะเอาชนะ Ranking ได้แน่นอน
หากคุณคิดว่าถามเรื่องน้ำยาปรับผ้านุ่มจะเขียนยังไงให้ได้ 1000 คํา คำตอบก็คือให้คุณตอบหลายๆคำถาม ยกตัวอย่างเช่น
- ซักผ้าใส่น้ำยาปรับผ้านุ่มตอนไหน
- ช่องใส่น้ำยาปรับผ้านุ่มอยู่ที่ไหน
- วิธีใส่น้ำยาปรับผ้านุ่มให้หอมนาน
ผมใช้เวลาแค่ 3 นาทีหาหัวข้อจาก Google นะครับ แค่นี้ผมก็มีไอเดียเขียนได้ตั้งเกือบ 1,000 คำแล้ว ส่วนวิธีนับคำที่ดีที่สุดคือการใช้ Microsoft Word นะครับ เหมาะกับภาษาไทยมาก
วิธีการเขียนบทความช่วงที่สอง – บทความน่าแชร์
หลังจากที่คุณเขียนบทความตามวิธีข้างบนไปแล้วประมาณ 10 บทความ คุณก็ควรเริ่มหา Keyword ที่มีการแข่งขันสูงขึ้น แต่ก็ไม่สูงมากเกินไป
บทความในช่วงที่สอง จะเป็นบทความที่มีไว้ดึงผู้อ่าน หรือเป็นบทความที่น่าอ่านจนผู้อ่านอยากไปแชร์ใน Social Media ต่างๆ แล้วจะครอบคลุมถึงหัวข้อที่คนสนใจหรือคนอ่านมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น
- 10 น้ำยาปรับผ้านุ่มที่กลิ่นหอมที่สุด
- วิธีทำน้ำยาปรับผ้านุ่ม แบบง่ายๆด้วยตัวเอง
เป้าหมายของบทความแนวนี้คือเน้นความ ‘ว้าว’ หรือความมีประโยชน์ เพื่อให้คนอยากแชร์กันเยอะๆ พอคนแชร์แล้ว Google ก็จะเก็บข้อมูลมาเพื่อวิเคราะห์ว่าคนชอบเว็บของเราแค่ไหน
ซึ่งบทความในส่วนนี้ จะเป็นบทความที่มีความยาวระหว่าง 1,500 คำถึง 2500 คำนะครับ
วิธีการเขียนบทความช่วงที่สาม – บทความหลัก
ทีนี่ก็จะมาถึงช่วงที่ยากที่สุดในการทำ SEO นี่ก็คือช่วงที่คุณเล็ง Keyword ที่มีการแข่งขันสูงๆ ซึ่งในช่วงนี้บทความที่คนต้องเขียนเอามาส่วนมากจะเป็น บทความมหากาพย์ ครับ หรือบทความที่มีความยาวมากๆ
สมมุติว่าถ้า Keyword นั้นมีคนเขียน 2,000 คำ สิ่งที่คุณต้องเขียนก็คือบทความยาว 3,000 – 4,000 คำครับ ใช้พลังเข้าสู้ สร้างบทความที่มีคุณภาพดีกว่าเขาหลายเท่า เพื่อให้ถูกใจผู้อ่านแล้วกว่า
ข้อดีก็คือบทความในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ความยาวอย่างมากก็ 800 ถึง 2000 คำ ทำให้เราไม่ต้องพยายามเขียนบทความแข่งเยอะมากขนาดนั้น แต่ถ้าเราอยากจะป้องกันไม่ให้คนอื่นมาแย่ง Ranking เราได้ในอนาคตผมก็แนะนำให้เขียนไปเยอะๆไปเลยทีเดียวครับ ประหยัดแรง และวิธีนี้ก็ทำให้คนเข้าเว็บไซต์ผมมากกว่า 100,000 คนต่อเดือนเลยทีเดียว
ทำ SEO บน WordPress ต้องรอนานแค่ไหน
คำถามสำคัญของเจ้าของเว็บไซต์เลย คำตอบก็คือปกติแล้วสำหรับเว็บไซต์ใหม่บทความหนึ่งอาจจะใช้เวลามากถึง 25 อาทิตย์ หรืออย่างน้อย 6 เดือน กว่าจะได้ Ranking จาก Google (ไม่ใช่ Ranking อันดับ 1 แต่เป็น Ranking ที่บทความนี้จะคงอยู่ไว้ได้หลายปี)
แต่ถ้าเป็นเว็บไซต์ที่อยู่มานานแล้ว 2-3 ปี และมีหลายบทความที่ได้อันดับ 1 แล้ว ก็อาจจะใช้เวลาแค่ 3-4 อาทิตย์ก็ได้ครับ เพราะ Google เชื่อใจในคุณภาพของเว็บเราแล้ว
ผมขอเน้นว่า ไม่มีวิธีไหนที่จะการันตีว่าบทความคุณจะได้อันดับ 1 แต่วิธีที่ผมเสนอคือวิธีที่เน้นทั้งจำนวนและปริมาณ เท่ากับว่าโอกาสที่คุณจะได้อันดับดีๆมีเยอะกว่าการเขียนแค่บทความเดียว เราไปอาศัยเทคนิคการทำ SEO ตามเจ้าอื่นที่ Google จะลงโทษเมื่อไหร่ก็ไม่รู้
เลือก Theme WordPress ให้เหมาะกับ SEO
Theme เป็นส่วนสำคัญในการทำ SEO ของ WordPress ที่หลายๆคนอาจจะคิดไม่ถึงนะครับ เหตุผลไม่ได้มีแค่เพราะว่า Theme สวยแล้วคนจะชอบดูนะครับ แต่มันมีอะไรที่เป็นทางเชิงเทคนิคมากกว่านั้น
Google ไม่ชอบบทความหรือหน้าเว็บที่คน ‘ไม่สามารถเข้าถึงได้’ ในเว็บไซต์ของคุณ
หมายความว่าถ้าคุณเขียนบทความไว้ แล้วด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ Theme ของคุณไม่ได้มี Link ให้ Google เห็นว่า คนสามารถเข้าหาบทความนี้ได้จากหน้าแรกหรือหน้าบล็อก Google ก็จะไม่ Rank บทความให้ (เรียกว่าบทความกำพร้า ไม่มี internal link เข้าหาเลย)
เพราะฉะนั้นเวลาคุณเลือก Theme อะไรใน WordPress เราก็ต้องหาอะไรที่ดีหน่อย ส่วนตัวผมชอบอะไรที่เรียบง่ายมากกว่าเช่น Theme Astra ที่ฟรีและมีฟอนต์ภาษาไทยอ่านง่าย อีกอย่างหนึ่งเวลาเลือก Theme ก็คือเราไม่ควรเลือกอะไรที่ทำให้เว็บไซต์เราโหลดช้าครับ ยิ่งในประเทศไทยเราอินเตอร์เนตมือถือไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ถ้าโหลดช้าอีกคนอาจจะ bounce ออกได้ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ผมเลือกใช้อะไรง่ายๆไว้ก่อน
Plugin WordPress ที่เหมาะกับการทำ SEO
WordPress Plugin ที่ผมใช้ช่วยในการทำ SEO มีไม่เยอะครับ เหตุผลก็คือ WordPress เค้าออกแบบมาให้เหมาะกับการทำ SEO อยู่แล้วเลยไม่ต้องทำอะไรมาก ส่วนมาก Plugin ที่ผมติดตั้งเป็นแค่ตัวช่วยประหยัดเวลาและทำให้งานผมง่ายขึ้น
- Yoast SEO – ใช้ปรับ heading กับชื่อ Link ของเรา ผมชอบทำให้ชื่อ Link สั้นๆเพราะอ่านง่ายดีครับ Yoast SEO ยังช่วยทำ sitemaps ให้เราเพื่อส่งข้อมูลไปยัง Google ด้วยครับ (sitemap จะบอก Google ว่าเรามีบทความอะไรบ้างในเว็บไซต์)
- Really Simple SSL – ทำให้เว็บไซต์เรามี SSL ในตอนนี้ Google บอกว่า SSL ยังไม่กระทบต่อSEO มากแต่ในอนาคตต้องมีการแก้เรื่องนี้แน่นๆ
- Google Analytics for WordPress – เป็นเครื่องมือที่มีไว้ติดตั้ง Google Analytics มีไว้วิเคราะห์พฤติกรรมของคนอ่านบทความและดู Ranking
- Easy Table of Contents – สำหรับบทความที่ยาวมากๆ ผมติดตั้งไว้ให้คนอ่านสามารถข้ามไปส่วนที่ตัวเองสนใจได้
อย่าลืมนะครับว่า Plugin สิ่งใส่เยอะเว็บเรายิ่งช้า ผมแนะนำว่าใช้น้อยๆไว้ดีกว่า
Google Search Console และการทำ SEO
Google Search Console หรือที่เมือก่อนคนเรียกกันว่า Google Webmaster Tools คือเครื่องมือที่ Google ทำไว้เพื่อช่วยเจ้าของเว็บไซต์ทำ SEO โดยเฉพาะครัง
ซึ่งเราจะสามารถใช้เครื่องมือนี้ดูได้ว่าคน Search หาบทความเราด้วย Keyword อะไรบ้าง และมีคนคลิกเข้าเว็บเราบ่อยแค่ไหน และคุณก็จะสามารถนำข้อมูลพวกนี้มาแก้บทความคุณเพื่อให้ Ranking ดีขึ้นได้
ส่วนวิธีทำ Google Search Console คร่าวๆก็คือการเข้าไป https://search.google.com/search-console แล้วไปตรง Sitemaps เพื่อส่งข้อมูลให้ Google (Sitemaps ใช้ Yoast SEO Plugin สร้างได้ หากใครสนใจวิธีทำ Google Search Console เพิ่มเติม คอมเม้นมาได้นะครับ)
ส่วนตัวแล้ว ผมแนะนำให้เชื่อม Google Search Console เข้ากับ Google Analytics เพื่อที่จะทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลง่ายขึ้นนะครับ ผมแนะนำวิธีดูข้อมูลดังนี้
- CTR (Click Through Rate) ต่ำ – ให้แก้ชื่อบทความให้คนอยากคลิกมากขึ้้น
- Average Time on Page ต่ำ – ให้แก้บทความเพื่อทำให้ดูน่าอ่านมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการใส่ภาพ ถามคำถาม หรือจัดรูปแบบย่อหน้าให้ดี
- Page per session ต่ำ – ให้ใส่ Internal Link ในบทความให้เยอะขึ้น ถ้าเป็น internal link ช่วงต้นๆบทความให้ทำเป็น Open in new tab นะครับ
- Ranking ต่ำ – อันนี้แก้ได้หลายอย่างเลยครับ แต่ผมแนะนำให้เริ่มจากเนื้อหาของบทความ ควรกลับไปดูว่าเหมาะสมกับหัวข้อ Keyword แค่ไหน
การทำ Internal Link
Internal Link คือวิธีที่เว็บไซต์คุณสามารถทำได้เพื่อบอก Google เพิ่มเติมว่า แต่ละบทความหมายความว่าอะไรหรือเกี่ยวข้องกับ Keyword อะไร
สำหรับคนที่ไม่เข้าใจ ผมขออธิบายง่ายๆ Internal Link ก็คือการที่คุณ link จากบทความหนึ่งในเว็บไซต์ไปสู่อีกบทความหนึ่ง โดยที่คุณใช้ text ในการแทนตัว link ยกตัวอย่างเช่นคุณใช้คำว่า ‘วิธีใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม’ แทน link www.น้ำยาปรับผ้านุ่ม.com/how-to
ในช่วงที่เพิ่งเริ่มต้น ผมแนะนำว่ายังไม่ต้องทำ Internal Link เยอะก็ได้เพราะจำนวนบทความคุณยังไม่เยอะมาก แต่หลังจากผ่านไปซัก 3-4 เดือน พอคุณรู้สึกว่าเว็บไซต์คุณมีคนเข้าเยอะแล้ว ค่อยกลับไปแก้ Internal Link ให้เรียบร้อย
Internal Link ยังช่วยทำให้คนอ่านข้ามไปยังบทความอื่นของคุณได้ง่าย ทำให้ Average Time On Page เยอะขึ้นด้วยครับ ถ้าคุณเคยเข้า wikipedia เพื่อค้นหาอะไรซักอย่าง แต่รู้สึกตัวอีกทีอ่านไปหลายบทความเกินกว่าที่ตอนแรกอยากรู้ นั่นก็เพราะว่าเค้าทำ Internal Link ได้ดีมากครับ
การทำ Backlink
Backlink ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่นักทำ SEO นิยมใช้กันครับ แต่ก่อนที่ผมจะอธิบายเรื่อง backlink ต้องขอเท้าความย้อนกลับไปหน่อย
ประมาณหลายสิบปีที่แล้วในสมัยที่ Google เพิ่งกำเนิด Google สมัยนั้นไม่ได้ฉลาดและมีข้อมูลเยอะเหมือนสมัยนี้ ไม่ได้มีข้อมูลผู้ใช้เยอะจนบอกได้ว่าคนอ่านชอบบทความแบบไหน หรือบทความแบบไหนเหมาะกับ Keyword นี้มากที่สุด
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ Google ทำก็คือการดู backlink หรือดูว่าเว็บไซต์เรามีใคร link มาหาเยอะแค่ไหน ยิ่งถ้าเว็บไซต์อื่น link มาหาเราเยอะ Google จะคิดว่าเว็บไซต์เราเป็นเว็บไซต์ที่คนเชื่อถือเยอะเพราะมีคนอ้างอิงเยอะ
แน่นอนว่าปัจจุบัน Google ก็ยังใช้วิธีนี้อยู่ แต่ในขณะเดียวกัน Google ก็มีอีกหลายร้อยปัจจัยที่ช่วยวิเคราะห์เพิ่มเติมในการดูว่าผู้อ่านชอบบทความไหนมากที่สุด
ทีนี้กลับมาเรื่องวิธีการทำ backlink ใหม่นะครับ backlink เป็นวิธีที่คุณต้องระวังมากๆในการทำ เพราะมีสายมืดเยอะเลย สายมืดก็คือการทำ backlink ที่ Google ไม่แนะนำให้ทำแต่ก็ยังไม่มีการอัพเดทข้อมูลในระบบพอที่จะดันพวกที่ทำ backlink สายมืดออกไปได้
ในหลายปีที่ผ่านมามีหลายเว็บไซต์ที่ทำ backlink สายมืดแล้วโดน Google แบนหรือปรับ Ranking ให้ตกไปเยอะมากๆ และไม่มีวันที่จะกลับมาได้ Ranking สูงได้อีก (ต้องสร้างเว็บใหม่ เขียนคอนเทนต์ใหม่หมด)
ผมคิดว่า วิธีทำ backlink ที่ปลอดภัยที่สุดก็คือการเขียนบทความให้ออกมาคุณภาพดี และนำบทความพวกนี้ไปแชร์ให้กับเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือในสายตา Google และขอให้เขาแชร์บทความและลิงค์เว็บไซต์เราในเว็บไซต์ของเขา
หากใครสนใจเรื่องวิธีการทำ backlink ก็เขียนมาบอกได้นะครับ ผมก็รู้วิธีทำอยู่บ้างน่าจะตอบข้อสงสัยของทุกคนได้บ้าง
บทส่งท้ายเรื่องการทำ SEO บน WordPress
สุดท้ายนี้ผมอยากจะบอกอีกรอบว่า ‘SEO เป็นอะไรที่ใช้เวลา’ ไม่ว่าคุณจะทำเองหรือจ้างคนทำให้ คุณก็ต้องรออย่างน้อย 3 เดือนถึงครึ่งปีกว่าจะเริ่มเห็นผล แต่เมื่อคุณได้ SEO Ranking ที่ดีมาแล้ว มันจะอยู่กับคุณนานอีกหลายปีเลยครับ
Website Traffic แบบฟรีใครๆก็ชอบ
ผมหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์กับคู่มือการทำ SEO ของผมนะครับ ผมคิดว่ามันน่าเสียดายมากที่คนไทยไม่หันมาสนใจเรื่องการทำเว็บไซต์และการทำ SEO ซักที ทั้งๆที่โอกาสในการทำมีเยอะมาก หากใครมีคำถามอะไรเกี่ยวกับการทำ SEO การเขียนบทความ หรือการหา Traffic เข้าเว็บก็คอมเม้นมาได้นะครับ
หรือถ้าใครมีประสบการณ์ทำ SEO บน WordPress ก็แชร์ได้นะครับ ไม่ทราบผลออกมาดีแค่ไหน น่าพอใจหรือเปล่าครับ?